ThaiPublica > เกาะกระแส > นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์แบบพลวัต” จะทำให้จีน “เปิดประเทศครั้งใหม่” ได้หรือไม่

นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์แบบพลวัต” จะทำให้จีน “เปิดประเทศครั้งใหม่” ได้หรือไม่

17 ตุลาคม 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

การเปิดประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ครั้งที่ 20 ที่มาภาพ: https://english.news.cn/20221016/c724ab3d19674095a9da5eec5c1d7365/c.html

เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา globaltimes.cn สื่อออนไลน์ของทางการจีน รายงานว่า ก่อนหน้าเทศกาลหยุดยาวในต้นเดือนตุลาคม ทางการจีนออกมาเน้นหนักเรื่องนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” แบบพลวัต (dynamic zero-COVID policy) และให้หลีกเลี่ยงการป้องกันการแพร่ระบาด โดยใช้วิธีการมาตรฐานเดียวแบบตายตัว ไม่มีการดัดแปลงเข้ากับสภาพท้องถิ่น (one-size-fit-all)

ผู้บริหารสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคระบาดของจีน (CDC) กล่าวว่า มาตรการป้องกันที่รวดเร็ว เป็นวิทยาศาสตร์ และชัดเจน ทำให้มณฑลที่เคยประสบปัญหาการระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 ลดลงไปอย่างมาก ทางการเรียกร้องให้หน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินมาตรการป้องกัน โดยยังยึดถือนโยบายโควิดเป็นศูนย์แบบมีพลวัต หลีกเลี่ยงมาตรการแบบเดียว หรือการป้องกันที่มากเกินไป

ในที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติ ครั้งที่ 20 พรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม สี จิ้นผิง เลขาธิการพรรค ได้กล่าวปกป้องนโยบายโควิดเป็นศูนย์ว่า…

“ในการรับมือกับการปะทุขึ้นมาอย่างฉับพลันของโควิด-19 เราให้ความสำคัญอันดับแรกกับประชาชนและชีวิตประชาชน เหนือสิ่งอื่นใด และมุ่งมั่นดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์แบบพลวัต โดยการทำสงครามประชาชนอย่างจริงจังกับไวรัส”

ถ้าจีนยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์

บทความของหนังสือพิมพ์ People Daily ชื่อ What would happen if China gives up current zero-COVID policy? ได้อธิบายว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากจีนยกเลิก “นโยบายโควิดเป็นศูนย์แบบพลวัต” เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 การแข่งขันเทเบิลเทนนิสชิงแชมป์โลกปี 2022 จัดขึ้นที่เมืองเฉิงตู มีนักกีฬา 60 คณะจากทั่วโลก ก่อนหน้านี้ วันที่ 29 สิงหาคม 2565 เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ครั้งใหม่ ในเมืองเฉิงตู ทางการจึงใช้มาตรการตรวจเชื้อกับประชาชน และปิดสถานบันเทิง สามสัปดาห์ต่อมา ก็สามารถยกเลิกมาตรการควบคุม และภายในหนึ่งเดือน ภาวะปกติก็กลับคืนสู่เมืองเฉิงตู

People Daily บอกว่า กรณีเฉิงตูเป็นตัวอย่างล่าสุดของจีน ที่แสดงให้เห็นว่า นโยบายโควิดเป็นศูนย์แบบพลวัตทำงานได้ผลอย่างไร หัวใจของมาตรการนี้ก็คือ การตรวจจับการแพร่ระบาดตั้งแต่ในระยะแรก และใช้มาตรการควบคุมอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับสายพันธุ์ที่แพร่ระบาด โดยมีเป้าหมายยุติการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุดที่เป็นไปได้ และเกิดต้นทุนทางสังคมที่ต่ำที่สุด

หากจีนไม่ใช้นโยบายนี้ จะเกิดผลลัพธ์ที่เป็นภัยร้ายแรงแก่ประเทศที่มีประชากร 1.4 พันล้านคน มีประชากรสูงอายุมากกว่า 60 ปี 267 ล้านคน หรือ 19% ของประชากรทั้งหมด และเด็กอีก 250 ล้านคน หรือ 17.8% ของประชากร

เปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาดของสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อมิถุนายน 2022 ว่า ที่ผ่านมา ประชากรสหรัฐฯ กว่า 40% ติดเชื้อโควิด และ 19% ของคนติดเชื้อยังมีอาการ Long COVID โดยเป็นอาการที่เกิดขึ้นแตกต่างกันไป และมีระยะเวลาเกิดขึ้นแตกต่างกันด้วย เช่น การไม่สบายที่ไม่ได้เกิดจากโรคดั้งเดิม การอ่อนล้า หายใจลำบาก ไมเกรน ฯลฯ

ที่มาภาพ : globaltimes.cn

ชีวิตภายใต้ “โควิดเป็นศูนย์”

ส่วนบทความใน nytimes.com เกี่ยวกับการใช้ชีวิตในจีนในปัจจุบันว่า คนจีนไม่ได้มีชีวิตอยู่กับ “โควิด” แต่ใช้ชีวิตอยู่กับ “โควิดเป็นศูนย์” ขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยกเลิกมาตรการต่างๆ ที่เคยใช้รับมือกับโควิด-19 จีนยังคงยืนหยัดการใช้มาตรการเข้มงวดกับการแพร่ระบาดของโควิด การกำหนดให้ประชาชนต้องมาตรวจเชื้อ อาจนำไปสู่การล็อกดาวน์ทันทีทันใด แบบเดียวกับกรณีนครเซี่ยงไฮ้ ทำให้ประชาชนเตรียมตัวไม่ทันเรื่องการสำรองอาหารและยา

ชีวิตชะงักงันจากการระบาดของโควิด ทำให้จีนในยุคสมัยโควิด เต็มไปด้วยตาข่ายของ “ดิจิทัลโค้ด” (digital code) การเข้าไปในพื้นที่สาธารณะ จะต้องสแกน QR Code คนจีนทุกคนมีโค้ดสุขภาพส่วนตัว ที่ได้ข้อมูลจากการตรวจโควิดและสถานที่พักอาศัยมาเป็นตัวกำหนดสีของสุขภาพ

สีเขียวเป็นภาวะปกติ ส่วนสีเหลืองและแดงจะต้องมารับการตรวจเชื้อ ผู้โดยสารเครื่องบิน หากถูกตรวจพบประวัติสุขภาพเป็นสีเหลือง จะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นเครื่อง จนกกว่าจะทดสอบใหม่ได้เป็นสีเขียว

รายงานของ nytimes.com บอกว่า จีนในยุคโควิดทำให้เกิดการสร้างสรรค์หลายอย่าง หน่วยทดสอบการติดเชื้อมีทุกหนทุกแห่ง ในเขตตัวเมือง รัฐบาลกำหนดให้คนสามารถเดินมาไม่เกิน 15 นาที ผู้ผลิตอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อของจีน ผลิตชุดปรับอากาศ สำหรับพนักงานที่ตรวจเชื้อคนจำนวนมาก หรือ “พื้นที่กักตัวชั่วคราว” สำหรับคนที่มีความเสี่ยง ก่อนที่หน่วยสาธารณสุขจะมารับตัวไป

เซี่ยงไฮ้ ช่วงล็อคดาวน์ ที่มาภาพ : theguardian.com

จีนยังขาดทางเลือกอื่นชัดเจน

บทความของ foreignaffairs.com ชื่อ Can Xi Jinping Reopen China? กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศต่างๆหันมายอมรับว่า โควิด-19 เป็นโรคระบาดที่สามารถจัดการได้ และมาตรการควบคุมประชากรที่เข้มงวดมากนั้น ก่อให้เกิดต้นทุนสูงมาก แต่จีนยังคงเน้นหนักในเรื่องนโยบายและมาตรการ “โควิดเป็นศูนย์”

จีนยังเข้มงวดควบคุมพรมแดน การแยกตัวคนที่ใกล้ชิดคนติดเชื้อหรือมีความเสี่ยง การปิดสนามบิน หรือสถานที่สาธารณะแบบทันทีทันใด การล็อกดาวน์ละแวกที่พักอาศัยหรือเขตเทศบาลทั้งหมด เจ้าหน้าที่จีนที่รับผิดชอบตามเมืองต่างๆ มักใช้มาตรการเข้มงวด เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาด ที่จะสร้างปัญหาแก่รัฐบาลกลาง

แต่ท่าทีของจีนที่จะยังคงใช้นโยบายดังกล่าว ทำให้มีต้นทุนเพิ่มมากขึ้น การล็อกดาวน์ประชาชนเป็นเวลานานแบบกรณีนครเซี่ยงไฮ้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมากจนการเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย ขณะเดียวกันก็สร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชน การที่จีนยังไม่อนุมัติให้ใช้วัคซีน mRNA โดยเฉพาะกับคนสูงอายุ ทำให้ประชากรเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นในอนาคต

เนื่องจากขาดทางออกที่ชัดเจนแตกต่างจากนโยบายที่เป็นอยู่ ทำให้จีนเผชิญปัญหายากลำบาก แต่การไม่เปลี่ยนนโยบาย ก็ทำให้ประเทศประสบกับปัญหา “วงจรที่เกิดขึ้นไม่รู้จบ” คือการแพร่ระบาดนำไปสู่การล็อกดาวน์ นอกเหนือจากผลกระทบที่มีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจสังคม

บทความ foreignaffairs.com บอกว่า แม้จะมีผลเสียดังกล่าว ทางการจีนยังยืนยันใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ เนื่องจากเหตุผลสำคัญที่สุด คือหลีกเสี่ยงปัญหาวิกฤติสาธารณสุข หากเกิดการผ่อนคลายมาตรการนี้ขึ้นมา การใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ในระยะสองปีครึ่งที่ผ่านมา ทำให้เกิดสถานการณ์ที่ประชากรสัดส่วนสูงมากที่ไม่ติดเชื้อโควิด

จากตัวเลขของจีนระบุว่า มีคนจีนติดโควิด 996,000 คนเท่านั้น ทำให้จีนมีประชากรจำนวนน้อยมาก ที่มีภูมิคุ้มกันเกิดจากธรรมชาติ (natural immunity) ศูนย์ควบคุมโรคระบาดของจีนเอง (CDC) ก็ยอมรับว่า จีนมีสถานการณ์พิเศษเฉพาะตัวคือ เป็นประเทศที่อาศัยภูมิคุ้มกันแทบทั้งหมดจากวัคซีน

ตัวอย่างในอดีตของประเทศที่ประสบความเสียหายรุนแรง จากโรคระบาดที่มีต่อประชากรที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire) ในช่วงปลายของการแพร่ระบาดโรคไข้หวัดสเปนในปี 1918 ในช่วงคลื่นการระบาดลูกแรกและลูกที่สองของไข้หวัดสเปน ไม่กระทบต่ออาณาจักรแห่งนี้ แต่การระบาดในคลื่นลูกที่ 3 ทำให้อาณาจักรออสเตรียฯ เสียหายรุนแรง จนอาณาจักรแห่งนี้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 และพังทลายลงในที่สุด

“กลยุทธ์” ออกจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่

บทความของ foreignaffairs.com ได้เสนอกลยุทธ์สำหรับจีน ที่จะออกจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ หรือ exit strategy ว่า ประการแรก ทางการจีนต้องบอกความจริงกับประชาชนถึงความรุนแรงของโควิด-19 และการรักษาที่เป็นอยู่ เพื่อส่งเสริมการใช้ชีวิตของประชาชนในการอยู่กับโควิด องค์การอนามัยโลกช่วยได้โดยการออกประกาศว่า ระยะการแพร่ระบาดที่รุนแรงได้ผ่านพ้นไปแล้ว โควิดไม่ได้เป็นปัญหาฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่สร้างความกังวลระหว่างประเทศอีกต่อไป

ประการที่ 2 การป้องกันไม่ให้ระบบสาธารณสุขเผชิญปัญหาคนไข้ล้นเกิน โดยการใช้ระบบคัดเลือกคนติดเชื้อ (triage measures) ที่หลายประเทศนำไปใช้ได้ผลมาแล้ว คือคนไข้อาการรุนแรงเท่านั้น ที่รับการรักษาที่โรงพยาบาล คนมีอาการน้อย รักษาตัวที่บ้าน หากไม่สะดวก ก็เข้ารักษาที่ศูนย์กักตัว รัฐบาลควรยกเลิกระบบ QR code ในตรวจจับการติดเชื้อ หันมาส่งเสริมการใช้การตรวจวัดตัวเองที่บ้าน นอกจากนี้ จีนอาจเน้นการเข้าถึงวัคซีน ที่ใช้ได้ผลกับสายพันธุ์โอไมคอน และประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแบบ mRNA

เมื่อมีมาตรการรองรับดังกล่าว การผ่อนปรนที่เกิดขึ้นจะทำให้จำนวนคนติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น แต่กลยุทธ์ทางออกดังกล่าวจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก สมมติว่ามีคนจีนติดเชื้อ 10% อัตราการเสียชีวิต 0.1% หรือ 140,000 คนเท่านั้น

คนเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุ มีโรคประจำตัวเรื้อรัง จำนวนนี้น้อยกว่าคนที่เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ในแต่ละปี สาธารณสุขจีนสามารถรับมือได้ เศรษฐกิจก็จะฟื้นกลับมาปกติ คนจีนสามารถเรียนรู้การใช้ชีวิตกับโควิด เหมือนกับประชาชนในประเทศอื่นๆในโลก

เอกสารประกอบ
China to stick to dynamic zero-COVID, September 29, 2022, globaltimes.cn
What would happen if China gives up current zero-COVID policy? October 01, 2022, en.people.cn
In China, Living Not “With Covid”, but With “Zero Covid”, Oct 01, 2022, nytimes.com
Can Xi Jinping Reopen China? Yanzhong Huang, October 7, 2022, foreignaffairs.com