ThaiPublica > คอลัมน์ > การจัดวางสมดุลในชีวิตการเรียน

การจัดวางสมดุลในชีวิตการเรียน

16 เมษายน 2024


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ผู้เขียนมีโอกาสได้สัมภาษณ์วัยรุ่นซึ่งเรียนจบมาได้ 3 ปีแล้วและพบว่า ช่วงที่ยากลำบากที่สุดของชีวิต ไม่ใช่วัยทำงานอย่างที่เคยเข้าใจ แต่คือวัยแห่งการเป็นนักศึกษานี่แหละ

ขณะผู้ให้สัมภาษณ์เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย แน่นอนว่า หน้าที่หลักคือการใช้เวลาในห้องเรียน หรือบนหน้าจอซูม โดยอาจารย์ผู้สอนมักลืมไปว่า นักเรียนนักศึกษานั้นยังต้องแบ่งปันเวลาให้กับการมีเพื่อนเพื่อหล่อเลี้ยงสังคมในชีวิตมหาวิทยาลัย ซึ่งการมีเพื่อนยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการจะรอดผ่านแต่ละวิชาไปได้ โดยเฉพาะวิชาที่ต้องอาศัยการทำงานกลุ่ม

นอกจากนี้ยังต้องมีเวลาพอสำหรับการหารายได้เสริม เพื่อให้เพียงพอต่อค่าหอพัก ค่าเดินทาง ค่าอาหาร และในกรณีนี้ก็รวมถึงค่าเทอมและค่าหาจิตแพทย์ด้วย แต่การแบ่งเวลาให้ทุกกิจกรรมสำคัญ ก็ยังไม่ได้รวมถึงการบ้านในแต่ละวิชา ซึ่งหลายวิชาก็ใช้เวลามากกว่าการเรียนการสอนในห้องเสียอีก หรือกิจกรรมบังคับและกึ่งบังคับของมหาวิทยาลัย เช่น ชมรม กิจกรรมสาธารณประโยชน์ และการอบรมต่าง ๆ

สำหรับผู้ให้สัมภาษณ์ในฐานะนักศึกษา การเรียนคือส่วนใหญ่ของชีวิต การจะหาสมดุลระหว่างการเรียนและมิติอื่น ๆ ของชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อการเรียนเป็นหน้าที่ สิ่งที่ตามมาคือตัวชี้วัดว่า เราปฏิบัติต่อหน้าที่หลักนี้ได้ดีมากน้อยขนาดไหน และรูปธรรมของสิ่งนี้ก็คือ เกรด

เกรด หรือ GPA ดูเหมือนจะเป็นส่วนสำคัญมากสำหรับชีวิตการเรียนและชีวิตในอนาคต เกรดกลายเป็นเครื่องชี้วัดว่า จะมีโอกาสได้ทุนเรียนต่อปริญญาโทไหม เป็นเครื่องชี้ชะตาต่องานบางสาขาอาชีพ กระทั่งกลายเป็นความภาคภูมิใจส่วนบุคคลของผู้ปกครอง แต่พอเริ่มปล่อยวางว่า เอาเข้าจริง ๆ เกรดนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรา แต่กลับขึ้นอยู่กับอาจารย์ผู้สอนเป็นผู้ตัดสินเสียส่วนใหญ่ แรงกดดันในชีวิตมหาวิทยาลัยก็น้อยลงอย่างสัมผัสได้

ผู้ให้สัมภาษณ์เคยมีประสบการณ์ขออุทธรณ์เกรดที่ได้รับ เนื่องจากตนเองนั้นเข้าเรียนครบ ส่งงานหมด เพียงแต่ขาดเรียนวันพรีเซนท์งานกลุ่ม เพราะมีนัดกับจิตแพทย์ แม้จะไม่ได้มีหน้าที่เป็นผู้นำเสนอ เพราะหน้าที่หลักในกลุ่มก็คือการออกแบบสไลด์ แต่เมื่ออาจารย์ผู้สอนเห็นว่าส่งมาแต่ใบลาและใบรับรองแพทย์ เกรดที่ได้เลยต่ำกว่าเพื่อนคนอื่นในกลุ่มถึงหลายขั้น หลังใช้เวลาเนิ่นนานกับระบบอุทธรณ์ที่ซับซ้อนและไม่เป็นมิตร สุดท้ายก็ได้เกรดอันสมควร พร้อมด้วยอีเมลตำหนิจากอาจารย์ว่า การอุทธรณ์ของผู้เขียนครั้งนี้ทำให้อาจารย์ต้องลำบากเกินจำเป็น

อย่างไรก็ตาม เกรดในรายวิชาอื่น ๆ ก็ใช่ว่าจะทำให้ใบจบนั้นมีข้อความสั้น ๆ ต่อท้ายเพิ่มขึ้นอย่าง เกียรตินิยมอันดับ 1 หรือ อันดับ 2 เพราะจากสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ ผู้ให้สัมภาษณ์จึงได้ใบจบเปล่า ๆ พร้อมใบเกรดเฉลี่ยรวม ที่ก็ไม่ได้ชวนให้ภาคภูมิใจนัก นำมาซึ่งคำถามที่ว่า อะไรคือสิ่งสำคัญจริง ๆ กันแน่ที่เราต้องตระหนักเมื่ออยู่ในระบบการศึกษา

มีตัวแปรมากมายในระบบขนาดใหญ่นี้ ตั้งแต่ฝ่ายบริหาร อาจารย์ผู้สอน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักของระบบเช่น นักศึกษา เมื่อนักศึกษาไม่ค่อยมีบทบาทอะไรมากนักในการกำหนดตัวเอง เพราะหลักสูตรส่วนใหญ่ แม้จะกล่าวในวันปฐมนิเทศน์ว่า ออกแบบตามความต้องการของผู้เรียน แต่ในฐานะผู้เรียนคนหนึ่ง ก็ไม่เคยมีส่วนร่วมอะไรกับการออกแบบนี้ และไม่แน่ใจว่า จริง ๆ แล้วผู้เรียนที่เขาหมายถึงคือใครกันแน่

ใครกันที่อยากให้เราต้องมีการบ้านเยอะขนาดนี้ ทั้งที่ก็รู้ว่า เวลาในช่วงชีวิตวัยรุ่นมันจำกัดเหลือเกิน ใครกันที่ทำให้ระบบเกรดมันกลายเป็นการตัดสินชีวิตคน ๆ นึงได้มากเหลือเกิน และใครกันที่คิดว่า จะต้องมีวิชาอย่าง การพูดต่อหน้าชุมชน เป็นหนึ่งในวิชาบังคับ สำหรับคนที่ทั้งชีวิตคงไม่จำเป็นต้องพูดให้ใครฟัง

แล้วถ้าไม่ใช่เกรด อะไรคือสิ่งที่เราควรให้คุณค่าในฐานะนักศึกษา มีคนกล่าวว่า การเรียนหนังสือจะมีคุณค่าจริง ๆ เมื่อ เราเจอเพื่อนดี ๆ สักกลุ่ม หนังสือดี ๆ สักเล่ม และอาจารย์ดี ๆ สักคน ผู้เขียนไม่เคยเห็นแย้งใด ๆ กับประโยคดังกล่าว

เพียงแต่คิดเสมอว่า แล้วการต้องแลกเวลา 4 หรืออาจจะ 5 ปีสำหรับบางคนกับการเจอเพื่อนแย่ ๆ อีกหลายกลุ่ม หนังสือน่าเบื่ออีกหลายเล่ม และอาจารย์ชั้นเลวอีกกว่าร้อยคน นั่นนับเป็นส่วนที่คุ้มค่าของการเรียนหรือไม่

สำหรับผู้เขียนซึ่งต้องทำงานหาเลี้ยงชีพไปด้วยและเรียนไปด้วยนั้น พบว่า พื้นที่และบรรยากาศของการเรียนกลายเป็น Comfort Zone ให้ได้พักพิงความคิด การแข่งขัน และแรงกดดันบางประการจากโลกภายนอก เหมือนได้นั่งอยู่ท่ามกลางฝูงเพื่อนที่ไม่ได้มีแรงกดดันอะไรนอกจากการบ้านและการเรียนในแต่ละวัน หรืออาจจะกดดันนิดหน่อย เมื่อต้องแย่งชิงโต๊ะกินข้าวมื้อกลางวันในโรงอาหารกลาง แต่เมื่อเทียบกับชีวิตภายนอกที่ต้องคอยหาเงินไปด้วยแล้ว ชีวิตส่วนของการเรียนก็ค่อนข้างเป็นชีวิตที่สงบ

การเรียนในมหาวิทยาลัยยังเป็นพื้นที่ให้ได้แสวงหาบางความสนใจที่ไม่รู้จริง ๆ ว่าตนเองก็สนใจอยู่เหมือนกัน หากไม่ได้ลองไปนั่งซิทอินเรียนดู คงจะเหมือนการเปิดสารบัญหนังสือแล้วเห็นว่า นอกเหนือจากความสนใจพื้นฐานที่เรามีอยู่นั้น ก็มีแขนงความสนใจใกล้เคียงกันที่น่าลองค้นหาดู ผู้เขียนเองถึงจะเรียนในวิชาเกี่ยวกับการสื่อสาร เป็นหลักสูตรยอดฮิตของสถาบัน แต่ก็ได้ไปใช้เวลากับวิชาที่เกี่ยวข้องกับการโรงแรม เช่น วิชาทำอาหาร วิชาไวน์ วิชาค็อกเทล วิชาปรัชญา ซึ่งบางวิชาสามารถทำคะแนนออกมาได้ดีกว่าวิชาหลักของผู้เขียนเสียอีก และยังกลายเป็นว่า ความกดดันเรื่องเกรดของผู้เขียนในการเรียนวิชาตามความสนใจนั้น แทบไม่เคยเป็นเรื่องให้ต้องกังวลใจเลย

ถึงผู้เขียนจะตัดสินใจถอนตัวออกจากวิชาทำอาหารในท้ายที่สุดก็ตาม เพราะเมื่อเทียบกับความรู้สึกว่า หากเรียนจบไปคงจะยากที่จะได้สัมผัสพรมแดนความสนใจที่หลากหลายขนาดนี้ นี่คงเป็นโอกาสเดียวที่ผู้เขียนจะได้เข้าใกล้และเข้าใจความรู้ในรายวิชา เพื่อนต่างคณะ ซึ่งต่างพื้นฐาน และต่างบทสนทนา ประสบการณ์เช่นนี้คงจะหาได้ยากยิ่งนัก หากเราอยู่ในบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ซึ่งทุก ๆ คนมีภาระหน้าที่งานในกรอบกว้าง ๆ คล้ายกัน

จนนำไปสู่ความคิดที่ว่า คงจะดีไม่น้อย หากมหาวิทยาลัยกลายเป็นพื้นที่ให้เราเลือกความสนใจในการเรียนรู้ รวมถึงวิธีการในการตัดสินว่า เรารู้เรื่องใด ๆ ขนาดไหนที่ยืดหยุ่นและเห็นใจเวลาในชีวิตนักศึกษา ซึ่งมีมิติอื่น ๆ ด้วยนอกจากการเรียน โดยไม่ต้องจำกัดอยู่ภายใต้หลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่ง คงจะเป็นพื้นที่ที่ผู้เขียนได้พบเจอเพื่อนอีกหลากหลาย ความสนใจที่ปราศจากข้อจำกัดนี้ คงช่วยเปิดทางเลือกให้คน ๆ หนึ่งตัดสินใจว่า จะจัดวางอนาคตของเขาไว้ ณ ที่ใดในโลกใบนี้ต่อไป

ถึงสถานะที่ผู้เขียนเผชิญอยู่จะตรงกันข้าม เพราะหลังเรียนจบแล้วนั้น การเปลี่ยนสายอาชีพเป็นเรื่องยาก ทำให้ความใฝ่ฝันอื่น ๆ เช่น การเป็นเชฟ เป็นช่างปั้นเชรามิก หรือเป็นนักเคมีในห้องแล็บ จะเกิดขึ้นไม่ได้ หรือได้แต่ยาก แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น ผู้เขียนก็ยังคงคิดว่า อย่างน้อยที่สุดในเวลา 4 ปีของชีวิตมหาวิทยาลัย หากไม่ได้คาดหวังกับเกรดมากนัก การได้พบปะความสนใจที่แม้จะต่อยอดไม่ได้ในอนาคต ได้แลกเปลี่ยนบทสนทนากับเพื่อนต่างคณะที่คงไม่ได้สานต่อโลกธุรกิจกันต่อไป ก็กลายเป็นการทดลองชีวิต ที่หลังเรียนจบไปแล้วต้นทุนของการทดลองนี้ก็ย่อมมีแต่จะสูงขึ้น