ThaiPublica > คอลัมน์ > สำรวจตลาดการเมืองคนรุ่นใหม่ (ตอนที่ 1) กระทรวงวัยรุ่น

สำรวจตลาดการเมืองคนรุ่นใหม่ (ตอนที่ 1) กระทรวงวัยรุ่น

18 ธันวาคม 2020


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ปลายปีก่อน ผมเขียนถึงแนวนโยบายพัฒนาเยาวชน 3 ข้อ ได้แก่ การสนับสนุนให้เกิดกระทรวงวัยรุ่น, การปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นประชาธิปไตยและไม่ละเมิดสิทธิผู้เรียน และการเพิ่มสัดส่วนคนรุ่นใหม่ในรัฐสภา หลังจากนั้นไม่กี่เดือนต่อมา กลุ่มประชากรคนรุ่นใหม่ที่เดิมเคยถูกปรามาสว่าเป็น Generation ME เป็นไทยเฉย เป็นกลุ่มที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยที่สุด ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า คำสบประมาทไม่เป็นความจริงอีกต่อไป

ข่าวนักเรียนลุกขึ้นปกป้องสิทธิเนื้อตัวร่างกายตัวเอง ตลอดจนเรียกร้องถึงโอกาสในการมีชีวิตที่ดีกว่าในประเทศนี้และในชาตินี้ โดยไม่ต้องอาศัยการสวดมนต์ กรวดน้ำ ทำบุญ ลุ้นให้ตัวเองเกิดมาถูกประเทศในชาติหน้า ปรากฏให้เห็นเป็น new normal ในพื้นที่การเมืองและวัฒนธรรมของสังคมไทย ชนิดที่ไม่มีวันหวนกลับไปเหมือนเดิม

ในบทความนี้ผมอยากชวนสำรวจหน้าตาและความจำเป็นในการมีกระทรวงวัยรุ่น (ซึ่งในท้ายที่สุดจะเรียกว่า กระทรวงคนรุ่นใหม่ กระทรวงอนาคตประชากร หรือชื่อเรียกอื่นใดก็ตามแต่วันเวลาและการมีส่วนร่วมจากประชาชนคงจะเป็นตัวกำหนด)

ก่อนจะเกิดไอเดียนี้

ปลายปี 2560 นิวกราว องค์กรวิจัยอิสระเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงทรัพยากรและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรในอนาคต จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าถึงสวัสดิการ ข้อมูลประชากร กระบวนการรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ก่อนจะได้ชุดข้อเสนอเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตวัยรุ่นในช่วงวันเด็กในปีต่อมา

กระทั่งราวกลางปี 2561 ผมและคณะมีโอกาสได้พาข้อเสนอดังกล่าวโลดโผนโจนทะยานไปในหลายพื้นที่ จนกลายเป็นแนวนโยบายคนรุ่นใหม่ ซึ่งได้มาจากกระบวนการต่างๆ เช่น การจัดกิจกรรมรับฟังปัญหา 21 พื้นที่ทั่วประเทศ, เวทีระดมไอเดีย 7 ครั้ง, การสำรวจความเห็นออนไลน์, กรณีศึกษาจากต่างประเทศ รวมถึงประสบการณ์และคำแนะนำจากคนทำงานด้านเด็กและเยาวชนที่ก้าวหน้า มีทางทีมคัดเลือกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอนาคตประชากร และศึกษารายละเอียดพร้อมทั้งความเป็นไปได้เพิ่มเติม

ทั้งนี้ คณะทำงานทราบดีว่า การลดขนาดรัฐส่วนกลาง เป็นเรื่องจำเป็นในการปรับโครงสร้างระบบราชการไทยซึ่งเรื้อรังมายาวนาน ดังนั้น ในปลายทาง สถาบันที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนคุณภาพชีวิตประชากรในอนาคต อาจอยู่ในรูปแบบของหน่วยงานรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย

ตลาดประชากรคนรุ่นใหม่ 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

ปัจจุบันประชากรไทย 15-19 ปี และ 20-24 ปี รวมกันราว 9,000,000 คน โดยกลุ่มแรกมีสัดส่วนมากกว่า และในฤดูกาลเลือกตั้งครั้งหน้า คนอายุ 15 ปีในตอนนี้จะมีอายุครบ 18 ปี ซึ่งเลือกตั้งได้แล้ว หากรวมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ 25-29 ปีอีกราว 5,000,000 คน ประชากรกลุ่มนี้จะมีจำนวนรวมกันกว่า 15 ล้านเสียงภายในอีก 3 ปีข้างหน้านี้

หากดูจากสถิติการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2562 จำนวนผู้มาใช้สิทธิ 38,268,366 (74.69%) จาก 51,239,638 เสียง จะเห็นว่า 15 ล้าน ในจำนวนรวม 51 ล้าน คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมด และมีแนวโน้มที่ตัวเลขดังกล่าวจะสูงขึ้นจากสถานการณ์ความตื่นตัวทางการเมืองในระลอกหลัง ยังไม่รวมกลุ่มคนหลากอายุอีกจำนวนมากที่อยากเห็นประชาธิปไตยเต็มใบผ่านผู้แทนที่มืออาชีพและโดดเด่น

ประชากรกลุ่มนี้ แม้จะมีส่วนที่ผูกโยงเข้ากับปัญหาหนี้สิน สิ่งที่เป็นนโยบายรัฐด้านเศรษฐกิจ (เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ soft loan นโยบายลดหย่อน รวมไปถึง “ผลประโยชน์เชิงโครงสร้าง” ต่างๆ) ยังมีสิ่งที่พวกเขาให้น้ำหนักไม่แพ้กัน นั่นคือ “ผลประโยชน์เชิงอุดมการณ์” หรือความต้องการทางความคิด ซึ่งหมายรวมถึงความเป็นไปได้ที่จะมีชีวิตที่ดีกว่าในอนาคต

แม้ในรัฐสภาปัจจุบันมีผู้แทนที่อายุต่ำกว่า 30-35 ปีเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่ได้เป็นกระบอกเสียงให้นโยบายที่เกี่ยวข้องกับคนรุ่นใหม่โดยตรง ช่องว่างดังกล่าวจึงเป็นโอกาสให้พรรคการเมืองช่วงชิงกลุ่มตลาดที่มีมากถึง 30% ผ่านการนำเสนอคุณค่าในเชิงความคิดที่ไปไกลกว่าที่เคยมีอย่างเข้มข้นจริงจัง โดยนำเสนอทั้งนโยบายที่ตอบสนองรองรับชีวิตในอนาคต นำเสนอทีมผู้สมัครฯ การสื่อสาร การบริหารจัดการ การมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิภาพ และอื่นๆ ที่นำไปสู่การทำให้ “ตลาดใหม่” กลายเป็นที่หมายตาของทุกกลุ่มการเมือง

ที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่ไทยอยู่ตรงไหน เหตุใดการทำงานเยาวชนในอดีตจึงไม่อาจตอบสนองพวกเขา

จากระบบสถิติทางการทะเบียน เดือนธันวาคม 2560 ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรรวม 66,188,503 ล้านคน แบ่งเป็น กลุ่มอายุ 0-13 ปี 16.3%, 14-17 ปี 5 %, 18-25 ปี 11.6%, 26-35 ปี 14.5%, 35-60 ปี 37.9% และ 60 ปีอัพ 14.7%

เด็กเยาวชนในกลุ่ม 0-13 ปี และ 14-25 ปี มีสัดส่วนรวมกันราว 33% บ้างระบุว่าพวกเขาอยู่ในภาวะยากจน ? ในความเหลื่อมล้ำ ? ในภาวะเปราะบาง ? เราไม่สามารถปฏิเสธความเหลื่อมล้ำทางโครงสร้างได้ และในขณะเดียวกัน ภาครัฐและนักพัฒนาสังคมก็ไม่เคยยอมรับปัญหาในเชิงอุดมการณ์หรืออัตลักษณ์ ว่าแท้จริงแล้ว วัยรุ่นไทย (ถูกทำให้) อยู่ในโอวาท อยู่ในกรอบ อยู่ในการครอบงำ และอยู่ที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ในโครงสร้างการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา

มิติด้านการพัฒนาเยาวชนในไทยจึงขึ้นอยู่กับการใช้กรอบของหน่วยงานใดในการมอง เช่น กระทรวงศึกษาธิการพัฒนาเยาวชนในฐานะว่าที่แรงงาน, กระทรวงพัฒนาสังคมฯ พัฒนาเยาวชนในฐานะผู้รับสวัสดิการ และเครื่องมือในการรณรงค์ผลักดันเรื่องที่รัฐเห็นว่าจำเป็น ผ่านกลไกสภาเด็กฯ, กระทรวงวัฒนธรรม พัฒนาเยาวชนในฐานะผู้สืบทอดวัฒนธรรมอันดี และทุกกระทรวง พัฒนาเยาวชนในฐานะผู้มีโอกาสก่อปัญหา

การทำงานพัฒนาเยาวชนของประเทศไทย ไม่ว่าจะทั้งภาครัฐ หรือภาคเอกชนส่วนใหญ่ จึงตั้งอยู่บนฐานที่พยายามจัดการเยาวชนที่เป็นปัญหา มากกว่าปัญหาที่กระทบต่อเยาวชน หรือปัญหาที่เยาวชนให้ความสนใจ เราจึงเห็นการประโคมสนับสนุนงานทำนองสืบสานปณิธานในอดีต แก้ปัญหายาเสพติดในแบบเดิม หรือควบคุมเยาวชนให้อยู่ในพื้นที่แห่งจารีตประเพณี มากกว่าการสนับสนุนระบบช่วยเหลือเยียวยาอาการซึมเศร้า หรือสนับสนุนให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง

เมื่อประวัติศาสตร์พัฒนาเยาวชนไทยไม่ไปไหน แต่วัยรุ่นไทยเปลี่ยนไปทุกวัน

หากย้อนไปถึงแนวทางพัฒนาเยาวชนไทยเริ่มต้นขึ้นจากการเตรียมเข้าร่วมสงครามโลก และแนวคิดดังกล่าวยังเป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้การพัฒนาเยาวชนไทยยังมีพื้นฐานมาจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ปี 2535 ซึ่งกำหนดแนวทางและค่านิยมด้านเด็กไว้ ทว่าโลกพลิกผันจากอดีตไปอย่างสิ้นเชิง

และหากย้อนถอยหลังไปอีก ในประวัติศาสตร์การพัฒนาเยาวชน รัฐไทยเริ่มมีบทบาทด้านเยาวชนนับตั้งแต่การตั้งโรงเรียนราษฎรแห่งแรกในปี พ.ศ. 2427 มีการตรากฎหมายห้ามขายลูกและกำหนดหน้าที่บิดา มารดา และบุตรไว้ในกฎหมาย จนเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดีเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2499 เพื่อเปลี่ยนเยาวชนจากสมบัติของนายทาส มาเป็นของพ่อแม่ ซื้อขายได้เช่นวัวควาย และเปลี่ยนให้กลายเป็นสมบัติของรัฐ ในฐานะว่าที่แรงงาน รัฐจึงมีหน้าที่คุ้มครองและควบคุมเด็กเยาวชนเรื่อยมา

จนปี 2525 ประเทศไทยเกิดองค์กรด้านเด็ก เริ่มมีการรณรงค์อนุสัญญาสิทธิเด็กและลงนามในปี 2535 ซึ่งเป็นปีที่ Gen Y ลืมตาดูโลก กระทั่งการเข้ามาของอินเทอร์เน็ตและอนุญาตเอกชนให้สามารถบริการอินเทอร์เน็ตได้ในปี 2537 การพัฒนาเยาวชนเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในแบบที่ทั้งรัฐและองค์กรด้านเด็กไม่สามารถปรับตัวให้เท่าทันได้ พ.ศ. 2542 เกิดเว็บเด็กดีและบอร์ดประมูล, 2545 เกมออนไลน์เข้าไทย, 2547 กำเนิด yenta4 และ exteen ในขณะที่ 2549 องค์กรที่ทำงานด้านเด็กเยาวชนจำนวนไม่น้อยยังคัดค้านนโยบายสนับสนุนคอมพิวเตอร์, 2550 กำเนิดสภาเด็กและเยาวชนหลังผลักดันร่าง พ.ร.บ. มาช้านาน, 2551 เยาวชนในขณะนั้นเริ่มรู้จัก Facebook และ 9Gag และเรียนรู้ที่จะเป็นสื่อเองได้ ในขณะที่รัฐบังคับนักศึกษาใส่เครื่องแบบอย่างจริงจัง, 2555 สภาเด็กฯ ถูกแฉเรื่องคอร์รัปชันระบาด อีกฝั่งหนึ่ง เยาวชนซึ่งก่อรูปเองมีการเคลื่อนไหวเรื่องทรงผมและสิทธิเนื้อตัวร่างกาย และเป็นเวลาเดียวกันกับที่องค์กรด้านเด็กเยาวชนเริ่มตื่นตัวเรื่องการรู้เท่าทันสื่อหลังเยาวชนเข้าถึงโลกอินเทอร์เน็ตแล้ว 20 ปีพอดี

จนปี 2558-2560 ไทยกลายเป็นประเทศที่ใช้ Facebook สูงสุดในโลกและเกิดกระแสการต่อต้านบังคับเกณฑ์ทหาร กระแสล้มล้างโซตัส เกิดกรณีนักเรียนโรงเรียนเสิงสาง ประท้วง ผอ. โกงค่า SMS และเป็นปีที่รัฐไทยผุดไอเดียค่านิยม 12 ประการ

จะเห็นว่า กระบวนการพัฒนาเยาวชนไทยในระนาบรัฐและองค์กรพัฒนาเยาวชนจำนวนไม่น้อย นอกจากไม่อาจปรับตัวให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเยาวชนแล้ว ยังมีแนวโน้มพัฒนาเยาวชนให้สวนทางกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

Disruption ระดับจิตสำนึก: คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันไม่ได้มองตัวเองเป็น “ผู้รอรับการพัฒนา” แต่เป็น “ผู้สร้างการพัฒนาสังคม” ไม่แพ้คนที่มีประสบการณ์มากกว่า

บทความ “Political Entrepreneur นวัตกรรมก็รู้เรื่อง การเมืองก็แอคทีฟ” โดย วิภาพรรณ วงษ์สว่าง เสนอไว้ว่า การเติบโตของเทคโนโลยีไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ในเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังทำให้โครงสร้างทางการเมืองสั่นคลอนด้วย อย่างเช่น การเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ส่งผลให้เกิด “อาหรับสปริง” ขึ้นมาแล้วเมื่อ 10 ปีก่อน ที่ทำให้ประเทศอาหรับทั้งในเอเชียตะวันตกและแอฟริกาเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมือง รวมถึงเกิดเหตุประท้วงในหลายประเทศ และทำให้ผู้นำของโลกยุคใหม่ จะไม่ใช่นักการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นคนที่เชี่ยวชาญนวัตกรรม และมีพาวเวอร์ในทางการเมืองด้วย ซึ่งเรียกว่า political entrepreneur (ผู้ประกอบการทางการเมือง)

ซึ่งคุณลักษณะทางอำนาจในรูปแบบใหม่นี้ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ แต่กำลังจะเป็นแกนหลักในการแก้ปัญหาด้วยหลักคิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอดีต

การคาดการณ์อื่นๆ ให้แนวโน้มไปในทางที่คล้ายคลึงกัน เช่น ในคอลัมน์ Life in 2030 What experts can’t predict จาก World Economic Forum สรุปถึงโจทย์ที่โลกยังคงค้นหาคำตอบไว้ 4 ข้อ คือ 1. เราจะเชื่อมต่อกันอย่างปลอดภัยได้อย่างไร 2. งานแบบไหนที่มนุษย์ควรทำ 3. เราจะไว้ใจและเชื่อใจกันได้อย่างไร 4. เราจะใช้นวัตกรรมแก้ปัญหาใหม่ๆ ได้อย่างไร

ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการมีส่วนร่วมที่มากขึ้น ทำให้ผมนึกถึงผลสำรวจของสวนดุสิตโพลในปี 2013 สมัยรัฐบาลพลเรือน พบว่าร้อยละ 45.6 ของเด็กไทย ไม่สนใจการเมือง พวกเขาคิดว่า “เพราะการเมืองไทยมีแต่เรื่องวุ่นวาย นักการเมืองมัวแต่ทะเลาะกัน ไม่เป็นประชาธิปไตย” และคิดว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองคือการ “เป็นคนดี ตั้งใจเรียนหนังสือ ไม่สร้างปัญหา”

ผ่านมาไม่ถึง 10 ปี วันนี้ท้องเรื่องการเมืองไทยในปัจจุบันกำลังแตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง ข้อกล่าวหาที่ว่า “คนรุ่นใหม่คือกลุ่มที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด” กำลังจางหายไป

กระทรวงวัยรุ่น!

ที่ผ่านมาปัญหาของวัยรุ่นถูกมองจากองค์กรซึ่งมีวัตถุประสงค์เดิมของหน่วยงานอยู่แล้ว เช่น หากมองผ่านหน่วยงานสุขภาพ วัยรุ่นต้องไม่ท้องไม่พร้อม ต้องลดละเลิกเหล้ายา มองผ่านองค์กรวัฒนธรรม วัยรุ่นรำสวย ไหว้สวย จนอะไรไร้สาระอย่างรางวัลมารยาทงามกลายเป็นเรื่องปกติในหลายโรงเรียน นำมาซึ่งปัญหาที่ว่า ไม่มีกลไกใดมองปัญหาจากวัยรุ่นเอง ในสายตาองค์กรเหล่านี้ วัยรุ่นจึงเป็นเพียง “ผู้รับ” ทั้งที่ควรเป็น “ผู้ตัดสินใจ” ในเรื่องที่เกี่ยวกับตัววัยรุ่นเอง

ปัญหาของวัยรุ่นจึงถูกจำกัดให้เป็นเพียงเครื่องตอบสนองตัวชี้วัดขององค์กรต่างๆ รวมไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่าประชากรอายุ 15-24 ปี มี 15% ของประเทศ แต่เข้าถึงทรัพยากรเพียงน้อยนิด ทรัพยากรที่เข้าถึงก็กลับไม่สามารถใช้ได้ งบประมาณพุ่งเป้าไปที่ตัดแต่งเยาวชนให้เป็นไปตามค่านิยม 12 ประการ กระจายอยู่หลายกระทรวง ละลายผ่านแผนงานยุทธศาสตร์ภาครัฐซึ่งมอมเมาเยาวชน 7 วัน และ 24 ชั่วโมง เช่น แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมและพัฒนาศาสนาฯ เพื่อเสริมสร้างและปลูกฝังประชาชนให้มีศีลธรรม คุณธรรม และค่านิยมที่ดี

รวมไปถึงงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนแต่กลับกระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน ทำให้ต้องทำงานเยาวชนเพื่อตอบโจทย์หน่วยงานนั้นๆ มากกว่าตอบความต้องการเยาวชน ซึ่งเป็นงบประมาณรวมกว่า 5,324.7 ล้านบาท ยังไม่รวมภาษีที่ควรจัดสรรเพื่อการพัฒนาเยาวชน เช่น ภาษีที่ควรต้องเก็บได้จากธุรกิจกวดวิชาและอื่นๆ

กระทรวงเยาวชน หรือกระทรวงวัยรุ่น ดังกล่าวต้องมีหน้าที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนวาระที่สำรวจแล้วเป็นประเด็นซึ่งวัยรุ่นให้ความสำคัญ สนับสนุนวัฒนธรรมประชาธิปไตย ความหลากหลาย นวัตกรรมสังคม และการศึกษาคุณค่าที่เกี่ยวกับประชากรในอนาคต สนับสนุนการรื้อสร้างมายาคติ ท้าทาย ตั้งคำถาม และพัฒนาพลเมืองให้มีความคิดเชิงวิพากษ์ เป็น non-conformism จัดตั้งและดำเนินงานศูนย์กฎหมายสิทธิวัยรุ่น ตรวจสอบ และประเมินมาตรฐานวัฒนธรรมประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของเยาวชน ความหลากหลายในสถานศึกษา ที่ทำงาน

และเป็นหน่วยงานที่ใช้งบประมาณภาครัฐดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเยาวชน สำรวจ ศึกษา วิจัยวัฒนธรรมและคุณค่าคนรุ่นใหม่แบบมองไปข้างหน้า ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่จำกัดศักยภาพคนรุ่นใหม่ เช่น การลดอายุผู้มีสิทธิและผู้สมัครรับเลือกตั้ง สัดส่วนคนรุ่นใหม่ในรัฐสภา พ.ร.บ.แรงงาน ที่ครอบคลุมนักศึกษาฝึกงาน พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาเด็กเยาวชนแห่งชาติที่เยาวชนมีส่วนร่วมเป็นหลัก แก้ไขนิยาม “ผู้เยาว์” ลดอายุผู้บรรลุนิติภาวะ พัฒนาระบบช่วยเหลือผู้มีอาการซึมเศร้า ผลักดันการยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร รวมไปถึงเงินอุดหนุนพื้นที่สร้างสรรค์ เช่น co-working space, ร้านหนังสือ ร้านฉายหนัง อิสระขนาดเล็ก, ร้านบอร์ดเกม, เมกเกอร์สเปซเอกชนรายย่อย ฯลฯ

หน้าตากระทรวงวัยรุ่น

นอกจากแนวคิดเรื่อง youth-centric model ซึ่งเอาเยาวชนไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ แทนที่จะเป็นการเอาประเด็นต่างๆ มาทำให้ย่อยง่ายขึ้นและแปะป้ายว่า “เพื่อเยาวชน” แล้ว ควรเริ่มด้วยภารกิจสำคัญคือ การสำรวจ รับฟัง จัดทำข้อเสนอ และแก้ไขปัญหาวัยรุ่นทุกกลุ่มที่แต่ละกลุ่มมีส่วนร่วมในการออกแบบชีวิตตนเอง ทั้งเยาวชนเมือง เยาวชนชนบท เยาวชนชานเมือง ผู้มีอาการทางสุขภาพจิต เด็กซิ่ว กลุ่มความหลากหลายทางเพศ คนในสถานพินิจ วัยรุ่นสร้างตัว นักศึกษาฝึกงาน อาชีวะ กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้อยู่ในความยากจน ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ท้อง แท้ง เด็กแลกเปลี่ยน คนในสถานบำบัด ผู้พิการ คนไร้สัญชาติ

กระทรวงวัยรุ่น ควรเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์อย่างน้อย 5 ประการ

    1) รับรองสิทธิ อิสรภาพ และความรับผิดชอบของคนรุ่นใหม่ด้วยกฏหมาย
    2) ยกระดับคุณภาพชีวิตและลดแรงกดดันในการใช้ชีวิต
    3) สนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่เพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์
    4) ลดต้นทุนทางสังคมและการเรียนรู้
    5) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่เพื่อสังคมประชาธิปไตย

โดยมีกิจกรรมที่เห็นว่าจำเป็นในเบื้องต้น ดังนี้

    1. ทำให้เกิดกลไกสนับสนุนวัฒนธรรมประชาธิปไตย ความหลากหลาย นวัตกรรมสังคม และการศึกษาคุณค่าที่เกี่ยวข้องกับประชากรในอนาคต ด้วยนโยบายที่คิดไปข้างหน้า ปฏิรูประบบสภาเด็กฯ เปลี่ยนวิธีกระจายงบ เป็นสมทบทุนจากเงินออมตั้งต้น แก้ไขโครงสร้างบนลงล่าง-กลางออกนอก

    2. จัดตั้งศูนย์กฎหมายสิทธิเยาวชน ปกป้องนักเรียน นักศึกษาจากการละเมิดสิทธิโดยผู้มีอำนาจมากกว่า, ชำระเคสในอดีตให้ได้รับความเป็นธรรม และสร้างวัฒนธรรมการเคารพสิทธิเสรีภาพซึ่งกันและกัน รวมถึงมีโปรแกรมคุ้มครองโจทก์และพยานที่ออกมาเรียกร้องปัญหาในสถานศึกษา

    3. ตั้งคณะกรรมการแก้ไขกฎหมายที่จำกัดศักยภาพคนรุ่นใหม่ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับอายุผู้มีสิทธิและผู้สมัครรับเลือกตั้ง, กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน ให้ครอบคลุมนักศึกษาฝึกงาน, แก้ไขนิยามผู้เยาว์, ปรับปรุงกลไกบ้านพักเด็กฯ ตลอดจน พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ฯลฯ

    4. มีการตรวจสอบและประเมินมาตรฐานการมีส่วนร่วมของเยาวชนในภาคส่วนต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเยาวชน

    5. มีหน่วยสำรวจ ศึกษา วิจัย และสื่อสารคุณค่าประชากรในอนาคตเพื่อกำหนดประเด็นในการพัฒนาวัยรุ่นจากความต้องการของวัยรุ่น และพัฒนาสังคมที่คนทุกช่วงวัยถูกให้คุณค่า รวมทั้งผลักดันการพัฒนาบนแนวคิดแบบ cross-generation development

โดยงบประมาณ สามารถถ่ายโอนจากงบเดิมที่ต้องทำเรื่องเด็กเยาวชนในแบบล้าหลัง เช่น งบประมาณด้านการส่งเสริมจริยธรรมและความมั่นคง เพื่อเปลี่ยนคุณธรรมให้เป็นรูปธรรม รวมไปถึงการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของวัยรุ่น เช่น รายได้จากสถาบันกวดวิชา ฯลฯ

ท้ายนี้ผมขอขอบคุณผู้มีส่วนร่วมหลักในการตั้งต้นไอเดียและศึกษารายละเอียด ซึ่งบทความนี้คัดมาเพียงสังเขป ได้แก่ คุณกันต์พงศ์ ทวีสุข และคุณนานา วิภาพรรณ วงษ์สว่าง รวมถึงเพื่อนทีมงานของเราและผู้ที่สนใจทุกคน

ด้วยหวังว่า ในเวลาที่แสงแห่งความหวังได้ถูกจุดขึ้นแล้ว เนื้อหาพอสังเขปในบทความนี้จะช่วยให้ผู้ที่สนใจได้เข้าใกล้ความเป็นไปได้ ที่จะเห็นประเทศซึ่งประชากรทุกคนได้รับการพัฒนาและเข้าถึงโอกาสในการพัฒนาตนเอง โดยความแตกต่างทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เพศ ช่วงวัย และความต้องการเฉพาะ ไม่ใช่เครื่องกีดขวางอีกต่อไป