ThaiPublica > คอลัมน์ > มองการวัดผลนักเรียนใหม่ด้วยไอเดีย Student Wellbeing

มองการวัดผลนักเรียนใหม่ด้วยไอเดีย Student Wellbeing

21 มีนาคม 2023


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

มองการวัดผลนักเรียนใหม่ด้วยไอเดีย Student Wellbeing

โรงเรียนในประเทศไทยมักให้ความสำคัญกับแบบประเมินนักเรียนผ่านการสอบ เช่น การอวดคะแนน O-NET, GAT/PAT และแปะเป็นไวนิลหน้าสถานศึกษา ในขณะที่โรงเรียนจำนวนมากในแคนาดา ออสเตรเลีย รวมถึงประเทศแถวนี้อย่างไต้หวันกำลังให้ความสำคัญกับแบบประเมินอีกประเภทที่เรียกว่า แบบประเมินคุณภาพชีวิตนักเรียน (Student Wellbeing)

“ซึ่งให้ความสำคัญกับระดับความพึงพอใจต่อคุณภาพของการใช้ชีวิตในโรงเรียน คุณภาพชีวิตนักเรียนที่เหมาะสมคือ การมีความรู้สึกและทัศนคติเชิงบวกต่อชีวิตในโรงเรียน มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับเพื่อนและครู รวมทั้งมีความพึงพอใจในชีวิตและประสบการณ์การเรียนรู้” (Noble et al., 2008)

มีตัวชี้วัดจำนวนมากที่ประเทศเหล่านี้ใช้ เช่น ไอเดียเรื่อง Study-life balance และการให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต โดยพื้นฐานแล้ว แบบประเมินเหล่านี้สำรวจคุณภาพชีวิตหรือ wellbeing ของนักเรียนใน 3 มิติ ได้แก่

1.Physical wellbeing หรือ ความเป็นอยู่ที่ดีทางกาย เช่น ความปลอดภัยทางกาย (เคยถูกล่วงละเมิดมั้ย เคยเกิดอุบัติเหตุในโรงเรียนมั้ย) กิจกรรมทางกาย สารอาหาร พฤติกรรมส่งเสริม ความเสี่ยงทางกายภาพ

2.Cognitive wellbeing หรือ ความเป็นอยู่ที่ดีทางปัญญา เช่น ความคาดหวังและเป้าหมายในชีวิต ความสามารถในการทำงานได้เสร็จทันเวลาอย่างตั้งใจ สามารถถามคำถามที่สงสัยได้ รู้สึกว่าได้แสดงความคิดเห็นหรือออกไอเดียอย่างอิสระ รู้สึกว่ามีคนรับฟัง รู้สึกสบายใจ ปลอดภัย และเชื่อมั่นในตนเองเมื่อได้รับคำแนะนำจากเพื่อนหรือครู ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์

3.Socio-emotional wellbeing หรือ ความเป็นอยู่ที่ดีทางอารมณ์และสังคม เช่น รู้สึกเชื่อมโยงและเป็นส่วนหนึ่งกับห้องเรียนและโรงเรียน สามารถแสดงออกถึงความรู้สึก ความคิดเห็น และความเชื่อได้ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน ครู งานกลุ่ม โรงเรียน มีวิธีจัดการกับความเครียด แรงกดดัน และสามารถควบคุมตนเองได้

ในบทความนี้ ผมรวบรวมไอเดียและตัวอย่างโดยกว้างของแบบประเมินคุณภาพชีวิตนักเรียนจากประเทศต่าง ๆ ที่น่าสนใจจะนำมาปรับใช้กับการศึกษาไทย ในประเทศที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพชีวิตวัยรุ่นอย่างออสเตรเลียและแคนาดานั้น รัฐบาลนิวเซาท์เวลส์ ของออสเตรเลีย มีระบบการประเมินที่เรียกว่า Peer assessment and self-assessment ซึ่งไม่ได้สนใจแต่เพียงผลลัพธ์ของการประเมินเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับ “ความสามารถในการประเมินตนเอง ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ในระดับอนุบาลและพัฒนาเป็นพื้นฐานของทักษะการควบคุมตนเอง หรือ Self-regulation” (Lyn Sharratt) “ความสามารถดังกล่าวยังช่วยให้นักเรียนรู้สึกเป็นเจ้าของต่อการเรียนรู้ของตนเองด้วย” (Dylan Wiliam) ในกระบวนการนี้

นอกจากจะให้นักเรียนประเมินเพื่อนร่วมห้อง ซึ่งจะได้เรียนรู้การให้ Constructive feedback แล้ว ยังช่วยให้ผู้เรียนฝึกรับ feedback จากผู้อื่นด้วย วิธีการข้างต้นยังช่วยลดความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ประเมินและผู้ถูกประเมินซึ่งเป็นนักเรียนด้วยกันด้วย ส่วน Self-assessment นั้นให้ความสำคัญกับ เป้าหมายในการเรียนรู้ของผู้เรียน (Learning goals) ว่าเชื่องโยงสอดคล้องกับตัวชี้วัดความสำเร็จของรายวิชานั้น ๆ (Success criteria) ขนาดไหน เป็นการประเมินโดยเอาเป้าหมายในการเรียนรู้และความต้องการของผู้เรียนเป็นที่ตั้ง

มหาวิทยาลัยโตรอนโต แคนาดา ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนหนึ่งของตัวผู้เรียนกับสถานศึกษา และ Study-life balanced หรือสมดุลชีวิตและการเรียน ผ่านชุดคำถามให้ผู้เรียนประเมินตัวเอง เช่น “ฉันกำลังรู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเอง” “ฉันรู้สึกเข้ากับคนอื่นไม่ได้” “ฉันหยุดคิดเรื่องเกรดไม่ได้” “ฉันไม่รู้จะรับมือกับการถูกปฏิเสธอย่างไรดี” “ฉันรู้สึกหนักใจไปหมด” “ฉันรู้สึกเบิร์นเอ้าท์” “ฉันไม่มีเวลาดูแลตัวเองเลย” “ฉันไม่มีเวลาสำหรับความสัมพันธ์นอกห้องเรียนเลย”

อีกหนึ่งแบบประเมินที่น่าสนใจมาจากแบบสอบถาม Mental Health Continuum Model (MHC) โดยหน่วยงาน The Department of National Defence ภายใต้ Canadian Armed Forces ซึ่งกำหนดโมเดลวัดสุขภาพดี-ไม่ดี ไว้เป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น

    1) สุขภาพดี หมายถึง หัวเราะได้ แอคทีฟ มั่นใจในตนเอง ทำสิ่งต่าง ๆ อย่างมั่นใจ มีอารมณ์ต่อส่งต่าง ๆ อย่างปกติ ไม่น้อย ไม่มากไป

    2) เริ่มมีอาการ หมายถึง คิดมาก กังวล หงุดหงิด เครียด ผัดวันประกันพรุ่ง ลืมบ่อย มีปัญหาการนอน พลังงานต่ำ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ทำงานเลยเดดไลน์ ใช้แอลกอฮอล์เมื่อคิดมาก ใช้สารเสพติด ควรได้รับการพักหรือความช่วยเหลือ

    3) บาดเจ็บ หมายถึง โกรธรุนแรง สิ้นหวัง มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อสิ่งรอบตัว ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ยาก รู้สึกพักผ่อนไม่เพียงพอ หลีกเลี่ยงพบปะผู้คน ควรได้รับการพูดคุยกับใครซักคน ให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเอง และรับความช่วยเหลือ

    4) เจ็บป่วย หมายถึง กังวลอย่างหนัก ตื่นตระหนก โกรธง่าย เศร้าซึม อารมณ์หม่นหมอง ไม่มีสมาธิ หลับไม่ได้ ง่วงตลอดเวลา ตัดสินใจอะไรไม่ได้ หายไปจากสังคม มีความคิดฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง หูแว่ว เห็นภาพหลอน ติดแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด ควรได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

ย้อนกลับไปปี 2009 ประเทศแคนาดาออกกฎหมายการบรรลุผลสำเร็จของนักเรียนและคณะกรรมการโรงเรียน (Student Achievement and School Board Governance Act) โดยกำหนดให้เขตการศึกษามีแนวทางส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน เป็นผลให้หลายโรงเรียนเริ่มให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตนักเรียนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น Ottawa-carleton district school board รัฐออนตาริโอ แคนาดา ได้พัฒนาสิ่งที่เรียกว่า Framework for Student Well-being หรือกรอบการทำงานเพื่อคุณภาพชีวิตนักเรียน ซึ่งให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตนักเรียน (Student Well-being) และเป้าหมายชีวิตนักเรียน (Student Achievement) โดยทำงาน 3 ระดับ ได้แก่ 1) Physical wellbeing 2) Cognitive wellbeing 3) Socio-emotional wellbeing

ไอเดียเรื่อง Student Well-being ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในโรงเรียนผ่านการวัดและประเมินผลในเขตการศึกษาเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นกิจกรรมน่าสนุกจำนวนมากซึ่งระบุไว้ในรายงาน เช่น กิจกรรมส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนร่วมกับโรงเรียนและผู้ปกครองอย่าง Me to We National Student Forum, Rainbow Youth Forum, “In Love and in Danger”, Tell Them From Me Survey, You Can Leadership, Spiritual Care Workers Program, Date for Diversity, Bullying Prevention and Intervention planning and supports, Suicide Prevention training, Promoting Resilience, หรือกิจกรรม Speaker Series ที่ชวนครอบครัวมาฟังผู้เรียนคุยกันเรื่องต่าง ๆ เช่น การบูลลี่, texting and sexting และสุขภาพจิต

ในออสเตรเลียเองยังมีหน่วยงานที่เรียกว่า Student Wellbeing Hub ซึ่งเน้นที่ทักษะการอยู่ร่วมกับความแตกต่างหลากหลายและเสียงผู้เรียนผ่านแบบสอบถามออนไลน์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ในเซาท์ออสเตรเลียมีการจัดตั้งคณะกรรมการด้านการศึกษาและบริการเด็ก ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการศึกษา การจ้างงาน ฝึกอบรมและกิจการเยาวชน (MCEETYA) ที่มีโมเดลการประเมินคุณภาพชีวิตนักเรียนโดยให้ความสำคัญกับทักษะในตัวเองของผู้เรียน เช่น ความเป็นอิสระ (autonomy), การควบคุมอารมณ์ (emotional-regulation), ความยืดหยุ่น (resilience), การรับรู้ความสามารถของตนเอง (self-efficacy), ความนับถือตนเองหรือความภูมิใจในตนเอง (self esteem), จิตวิญญาณ (spirituality), ความอยากรู้อยากเห็น (curiosity), การมีส่วนร่วม (engagement) และการวางแนวทางการเรียนรู้ (mastery orientation)

ในไต้หวันมีการสำรวจ Taiwan Education Panel Survey (TEPS) ซึ่งนอกจากให้ความสำคัญการเป้าหมายในการเรียนรู้ของผู้เรียนแล้วยังสนใจความสัมพันธ์ระหว่างสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่เชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตผู้เรียน สุขภาพจิต และผลกระทบในการเรียนรู้ด้วย ทำให้การสนับสนุนด้านการศึกษาสามารถพัฒนาได้อย่างเป็นองค์รวม ไม่ได้แยกขาดเฉพาะเรื่องความสำเร็จในการเรียนการสอนอย่างเดียว

ในไทยเอง แม้จะยังไม่มีแบบสอบถามที่ครอบคลุมทั้ง 3 มิติของคุณภาพชีวิตผู้เรียน แต่ก็มีแบบสอบถามโดยกรมสุขภาพจิตไว้ให้ประเมินตนเอง ซึ่งเป็นแบบสอบถามออนไลน์ที่ทั้งผู้เรียนและคนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ได้ ด้วยคำถามที่เข้าใจไม่ยาก เช่น ฉันปวดศีรษะ ปวดท้อง หรือไม่สบายบ่อย ๆ, ฉันอยู่ไม่นิ่ง นั่งนาน ๆ ไม่ได้, ฉันไม่มีความสุข ท้อแท้ ร้องไห้บ่อย, ฉันเสียความเชื่อมั่นในตนเองง่าย, ฉันเข้ากับผู้ใหญ่ได้ดีกว่าเด็กวัยเดียวกัน และสำรวจว่าปัญหาใดรบกวนชีวิตเรา เช่น ความเป็นอยู่ที่บ้าน, กิจกรรมยามว่าง, การคบเพื่อน, การเรียนในห้องเรียน เมื่อทำแบบสำรวจเสร็จแล้วก็ได้ปรากฏผลลัพธ์ทันที โดยแบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ อารมณ์ (Emotional problems), พฤติกรรมเกเร (Conduct problems), การอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity), ความสัมพันธ์กับเพื่อน (Peer problems) และสัมพันธภาพทางสังคม (Pro-social behavior)

ไอเดียเรื่องแบบประเมินคุณภาพชีวิตนักเรียนทำให้ย้อนกลับมาตั้งคำถามถึงหัวใจของระบบการศึกษาไทยว่า ท่ามกลางข่าวนักเรียนโดดตึกรายวัน โรงเรียนควรดำรงอยู่ในฐานะใดกันแน่ สำหรับผมแล้ว โรงเรียนไม่ควรเป็นอะไรเลย นอกจากพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้และใช้ชีวิต