ThaiPublica > คอลัมน์ > วัฒนธรรมการทำงานที่เปลี่ยนไปกับสุขภาพจิตวัยรุ่น

วัฒนธรรมการทำงานที่เปลี่ยนไปกับสุขภาพจิตวัยรุ่น

12 มิถุนายน 2023


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

“พอไม่ได้ออกไปไหน Work From Home ตลอด 7-8 เดือน ก็วน ๆชีวิตก็อยู่แต่ในหอพัก ไม่ได้ไปเดินผ่อนคลาย อยู่แต่ในห้องและอยู่คนเดียวอาการแพนิกก็แย่ลง”

ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวถึงสาเหตุที่ตัดสินใจไปหาจิตแพทย์ด้วยอาการแพนิก

ผู้ให้สัมภาษณ์เป็นนักศึกษาจบใหม่ที่เริ่มทำงานใกล้เคียงกับสายที่ตนเองเรียนมาได้ราว2-3 ปี ก่อนจะเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากที่ทำงานจนทำให้ต้องมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในชีวิต

“โรคแพนิกที่เป็นมันมีแววเหมือนว่าจะกำเริบมาตั้งนานแล้วแต่มันจะไม่รุนแรงเท่าครั้งที่ตัดสินใจไปรักษา เป็นความเครียดที่สะสมมาเรื่อย ๆ
ตั้งแต่วัยเด็ก สู่วัยทำงาน แล้วมันระเบิดออกมา”

…ช่วง WFH เพราะทำงานอยู่บ้านแล้วต้องมอนิเตอร์งานอยู่ตลอด ช่วงนั้นกลัวแอพไลน์ไปเลย
แค่เปิดแอพไลน์แจ้งเตือนเกี่ยวกับงานก็จะเด้งมาตลอดเวลา ตีหนึ่งตีสอง เลยปิดแจ้งเตือนทั้งหมด

“พื้นฐานเราเป็นคนคิดมากและขี้กังวลอยู่แล้วด้วย พองานมาตอนกลางคืน เราก็กลัวผิดพลาด เลยกลายเป็นความกดดันให้ต้องรีบตอบ
เหมือนต้องตื่นตลอดเวลา”

ประสบการณ์ WFH ของหลายคนที่ประสบคือการไม่มีเวลางานที่ชัดเจน แม้เรื่องนี้จะผิดกฎหมายในหลายประเทศ แต่กับสังคมไทยที่ยังอาศัยวัฒนธรรมความอะลุ่มอล่วยและปลูกฝังวัฒนธรรมการทำงานแบบครอบครัว ทำให้เส้นที่ควรต้องขีดให้เข้มนี้จางลง และหายไปในท้ายที่สุด

“จนเราเริ่มกลัวร่างกายตัวเองจะไม่ไหว เพราะแพนิก พอออกอาการทีมันจะมือเท้าชา ใจสั่น เหมือนจะเป็นลม พอถึงจุดนั้นเลยตัดสินใจไปหาหมอ”

“ตอนแรกเราไปคลินิคทั่วไปก่อน พอหมอบอกว่า เป็นโรคทางความคิดเลยไปหาจิตแพทย์ พอเริ่มหา ก็รู้สึกว่า ได้กลับมาดูตัวเอง
ได้กลับมาทบทวนสุขภาพใจตัวเอง เหมือนตอนแรกคิดถึงแต่เรื่องงาน งาน งาน จนลืมเรื่องสุขภาพจิตตัวเองไป สุดท้ายก็เรียนรู้ว่า ควรจะปล่อยวางเรื่องงานบ้าง เหมือนพยายามเตือนตัวเองตลอดเวลา”

เมื่อชีวิตคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ถูกกดดันให้ต้องประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำให้เขาเหล่านั้นต้องยอมที่จะทำทุกอย่างให้ที่ทำงาน

“แต่ต่อให้เราตายไปปุ๊บ เค้าก็หาคนมาแทนได้อยู่แล้วภายในสองสามวันด้วยซ้ำไป เหมือนชีวิตการทำงานโดนปลูกฝังมาว่าต้องประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อย ๆ ต้องมีตำแหน่งที่เอาไปคุยกับเพื่อนแล้ว…ว้าว ให้ได้ สังคมรอบข้างพยายามให้เป็นแบบนั้น เราก็ต้องผลักดันตัวเอง สังคมที่ออฟฟิศ หัวหน้าก็พยายามเป่าหูว่า เรามีแววนะ มีหน้าที่ตำแหน่งดีขึ้น ถ้าเราพยายามมากขึ้น ตอนแรก ๆ เราก็ทุ่มเทเต็มที่ จนรู้ว่า
มันไม่ได้เป็นแบบนั้น พอเราเป็นโรคแพนิก เค้าก็ไม่ได้แคร์เรา”

วัฒนธรรมและค่านิยมนี้กำลังสวนทางกับความเป็นจริงที่วัยรุ่นต้องแบกรับปัญหาสุขภาพจิตที่มากขึ้นทุกวัน

“เหมือนเราเป็นแค่อุปกรณ์ตัวหนึ่งของเค้า” ผู้ให้สัมภาษณ์เปรียบเปรยตัวเองกับที่ทำงาน คงคล้ายกับระบบจำนวนมากที่พยายามบอกว่า เราเป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งเท่านั้น

“แรก ๆพอกินยาก็ง่วงเพลียมาก มีหลับในเวลางานบ้าง แอบหลับเอา ตื่นมาก็เหมือนจะโอเค แต่ผ่านไปสักพักแพนิกก็กลับมาอีก จนเราไปปรับยากับจิตแพทย์” ผู้ให้สัมภาษณ์ยังเล่าถึงประสบการณ์การเปลี่ยนสถานที่รักษา

“ตอนแรกเราหาโรงพยาบาลที่ใช้สิทธิประกันสังคมได้ เราต้องรอคิวอยู่เป็นชั่วโมง ๆ แต่ได้คุยกับหมอก็มีเวลาไม่ถึงสิบนาที เหมือนไม่ได้คุยอะไร แค่ไปเอายาต่อมาเลยเปลี่ยนที่ใหม่ ซึ่งก็ดีขึ้น เริ่มรักษาที่ใหม่มาประมาณปีหนึ่งแล้ว”

“ตอนนี้อยู่ในช่วงลดยา แรก ๆ กินสามเม็ด หมอบอกว่า ห้ามหยุดหรือลดยาเองเด็ดขา เราก็กินมาเรื่อย ๆ ล่าสุดที่ไปหาเมื่อเดือนก่อน
หมอก็ลดมาให้เม็ดนึง จะมีช่วงนี้ที่กลับมานอนไม่หลับ เพราะที่ทำงานมันวุ่นวายขึ้นด้วย”

“บริษัทที่เราทำอยู่เค้าย้ายออฟฟิศไปไกลขึ้น ซึ่งเค้าก็ให้เราเพิ่มเดือนละ 1,500 บาท กับรถตู้รับส่งจาก MRT จริง ๆ ถ้าไม่ได้มีปัญหาเรื่องอื่น เราก็คงอยู่ต่อ แต่ที่จะออกก็ไม่ใช่เพราะเรื่องการเดินทาง แต่มันหลาย ๆ เรื่องในออฟฟิศ” ผู้ให้สัมภาษณ์ตัดพ้อกับเราถึงความผิดหวังจากที่ทำงานที่ซึ่งวันหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว เค้าเคยตั้งใจว่าจะทุ่มเททุกอย่างให้

“ความไร้สาระตอนนี้คือ มันมีงานฟุตบอล แล้วเราก็ไม่อยากไปเตะเพราะมันกินเวลาวันหยุด แทนที่จะได้หยุด เราก็ต้องไปซ้อม พอวันแข่ง
ก็ต้องไปแข่งกับบริษัทอื่นหลายบริษัท อีก 5 วัน แล้วทุกวันตรงกับวันเสาร์อาทิตย์ แทนที่จะได้เอาเวลาไปพักผ่อนไปใช้ชีวิตส่วนตัว เค้าไม่เคยมองเลยว่าเราก็มีชีวิตของเรา”

“สังคมควรมองคนให้เป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น เหมือนเรากำลังมองคนเป็นภาพรวมใหญ่ แล้วคาดหวังว่าทุกคนจะเป็นแบบพิมพ์เดียวกัน ยิ่งทุกวันนี้ผู้ใหญ่คาดหวังกับคนรุ่นใหม่สูง ว่าต้องเป็นคนที่ทำหลาย ๆ อย่างได้ในเวลาเดียวกัน แต่เราควรจะมองว่า แต่ละคนมีความแตกต่าง มีชีวิตของตัวเอง ไม่ใช่มองเป็นกลุ่มก้อนองค์กรเพราะมันเป็นการมองข้ามความรู้สึกและสภาพจิตใจของมนุษย์ไป”

“เหมือนโดนหลอกในหลาย ๆ อย่าง เราเหนื่อยโดนขโมยความเป็นตัวเองมากเกินไป รู้สึกหมดตัว”

“ทุกคนเข้ามาออฟฟิศแล้วบอกว่า เราคือครอบครัว ทั้งที่ทุกคนก็มาทำงานเพื่อเงิน เพื่อคำชม เพื่อตำแหน่งที่มากขึ้น เราก็ควรยอมรับว่า มันไม่ใช่ครอบครัว และไม่ควรให้ความสำคัญกับระบบออฟฟิศขนาดนั้น ชีวิตเราไม่ใช่งาน ชีวิตเราเป็นของเราเอง ถึงเราทำงานที่ไหนเราก็ไม่ใช่บริษัทนั้น เพื่อนบอกให้เราทำงานต่อไป เพราะมีสวัสดิการดี แต่สวัสดิการออฟฟิศที่มีอยู่ เราก็ไม่ได้ใช้อะไร เหมือนเป็นสิ่งลวงตามากกว่า”

เมื่อสอบถามถึงอนาคตต่อไปหลังจากนี้ได้ความว่า “ตอนนี้รอโบนัส ตรง ๆ เลย ถ้าโบนัสมา ก็ออก อยากเที่ยวเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน พักผ่อน หยุดตัวเอง คิดนั่นนี่ แล้วก็วางแผนทำงานกับเพื่อน”

นี่อาจจะเป็น Gap year ที่ไม่ใช่หลังเรียนจบ แต่เป็นช่วงเวลาให้คนเราได้หยุดคิดทบทวนสิ่งต่าง ๆ และก็คงเช่นเดียวกับการหยุด

เมื่อเราเดินทางมาถึงจุดนึง คือ การหยุดนี้ไม่ใช่การถอยหลัง แต่เป็นการหยุดเพื่อมองไปข้างหน้า เพื่อที่เราจะได้เลือกเส้นทางที่เหมาะสมกับเราได้อย่างภาคภูมิใจ