เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ [email protected]
เป็นคำถามเสมอว่า ผูกเงื่อน ก่อกองไฟ สวนสนาม วิชาลูกเสือ ต้องบังคับเรียนจริงหรือ ? ยังไม่นับว่า แต่ละปีประเทศไทยต้องจัดสรรงบให้กิจกรรมลูกเสือกว่า 337,000,000 บาท ซึ่งสามารถประหยัดเงินส่วนนี้เพื่อนำไปช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 12,000 แห่งที่มีครูไม่ครบชั้นเรียน, อุดหนุนนักเรียนให้ไม่ต้องลาออก เพราะหาเลี้ยงครอบครัว หรือเป็นกองทุนการเดินทางให้นักเรียนในพื้นที่ที่ไม่มีรถสาธารณะ
1 ในข้อเสนอนโยบายวันเด็กประจำปี 2561 ของนิวกราว ได้แก่ การยกเลิกกฎระเบียบกดขี่ บังคับตัดผม แต่งตัว ตลอดจนกิจกรรมบังคับเข้าร่วมทั้งหลาย ให้เลือกได้อย่างสมัครใจ ไม่ละเมิด และเปิดเผยข้อมูล เช่น รักษาดินแดน รับน้อง รวมไปถึงลูกเสือเนตรนารี
ลูกเสือมีไว้ทำไม เรียนไปทำไม ?
ในต่างประเทศ ญี่ปุ่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ไม่มีการบังคับเรียนลูกเสือ ในขณะที่บ้านเรา พ.ร.บ. ลูกเสือ พ.ศ. 2509 ระบุให้สมาชิกกองลูกเสือ เป็นตามความสมัครใจ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2544 กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้เป็นวิชาบังคับ ทำให้นักเรียนไทยจำนวนมากต้องเรียนลูกเสือตั้งแต่ประถมจนมัธยม เป็นเวลา 9 ปีเต็ม
อ้างอิงจากข้อมูลของสํานักงานลูกเสือเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 6 ระบุว่า ทั่วโลกแบ่งประเภทลูกเสือเป็น 2 แบบใหญ่ คือแบบอังกฤษ ที่ถือเอาแบบแผนตามที่ เบเดน เพาเวลล์ เคยปฏิบัติไว้ กับแบบอเมริกา ซึ่งปรับเปลี่ยนไปเล็กน้อย
สำหรับประเทศไทย ยึดตามแบบอังกฤษ คือมี
-
1. ลูกเสือสำรอง เนตรนารีสำรอง
2. ลูกเสือสามัญ เนตรนารีสามัญ
3. ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ เนตรนารีสามัญรุ่นใหญ่
4. ลูกเสือวิสามัญ เนตรนารีวิสามัญ
และไทยยังเป็นประเทศเดียวในโลกที่มี “ลูกเสือชาวบ้าน”
ท่ามกลางกระแสการต่อต้าน SOTUS ยกเลิกบังคับรับน้อง ในวิชาลูกเสือ กลับพบคำสอนที่เสมือน PRE-SOTUS เช่น กฎของลูกเสือสำรอง ได้แก่ 1.ลูกเสือสำรองทำตามลูกเสือรุ่นพี่ 2.ลูกเสือสำรองไม่ทำตามใจตนเอง มิหนำซ้ำ ตัว O ในคำว่า SCOUT หรือลูกเสือ ยังย่อมาจาก Obedience ที่แปลว่า อยู่ในโอวาท ซึ่งขัดแย้งกับการศึกษาที่ควรสอนให้คนตั้งคำถาม
วิชาลูกเสือจึงกลายเป็นเสมือนวิชาหน้าที่พลเมืองภาคปฏิบัติ เพื่อถ่ายทอดวิธีคิดจารีตนิยมจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านผลประโยชน์ทั้งตำแหน่งและเม็ดเงินมหาศาลอันมาจากภาษีประชาชน วิธีคิดที่จมเด็กและครูไทยให้อยู่กับปลักแห่งอดีต สวนทางกับโลกที่หมุนไปหาอนาคต เป็น 9 ปีแห่งการคุกเข่า ท่องจำ และเสี้ยมให้สำนึกถึงกำพืดตนในฐานะลูกสัตว์ชนิดหนึ่งภายใต้รัฐเผด็จการอำนาจนิยม กลายเป็นเครื่องมือสร้างพลเมืองที่ง่ายต่อการควบคุม ไม่มีสิทธิเลือกและไม่มีสิทธิปฏิเสธ หาใช่วิชาแห่งทักษะชีวิต หรือหน้าที่พลเมืองในระบอบประชาธิปไตย
ในกฎของลูกเสือ 10 ข้อ แม้จะผ่านมามากกว่า 100 ปีแล้ว แต่กลับไม่มีข้อใดเลยสอนให้ตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ เคารพความแตกต่างหลากหลาย มีความอดทนอดกลั้นต่อการวิพากษ์วิจารณ์ หรือยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย
ระบบการศึกษาไทยจึงเต็มไปด้วยโครงสร้างความรุนแรงที่กดทับนักเรียนให้อยู่ในโอวาท และ Oppressive structure ที่ว่านี้ กลับแทบไม่เคยอยู่ในวาระปฏิรูปการศึกษาใด ๆ
(อ่านเพิ่มเติม ปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นประชาธิปไตย โดย เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์)
ทั้งที่ทุก ๆ ปี เด็กไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำอันดับ 1
สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากทั่วโลกกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากการตกน้ำ – จมน้ำ ปีละ 135,585 คน หรือเฉลี่ยวันละ 372 คน ส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจำนวนปีละ 32,744 คน เฉลี่ยวันละ 90 คน ขณะที่ประเทศไทยมีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำมากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว 5-15 เท่า เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งสูงกว่าอุบัติเหตุจราจรราว 2 เท่าตัว และมากกว่าไข้จากไวรัสที่มีแมลงเป็นพาหะและไข้เลือดออกถึง 24 เท่า คิดเป็นจำนวนปีละ 1,420 คน หรือวันละ 4 คน (อ้างอิงจาก ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี) แต่โรงเรียนกลับใช้เวลาถึง 9 ปีในการบังคับเรียนวิชาที่ไม่ได้มีส่วนแก้ไขตัวเลขที่น่าตกใจดังกล่าว
จากรายงานการใช้จ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ของสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ พบว่า สำนักงานลูกเสือแห่งชาติได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 337,443,100 บาท โดยแบ่งเป็นเงินอุดหนุนงบบุคลากร ราว 14 ล้าน, งบดำเนินงาน 35 ล้าน, เงินอุดหนุนลูกเสือจังหวัดและลูกเสือเขตพื้นที่ 34 ล้าน นอกจากนี้ยังมีเงินอุดหนุนค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างสูงถึง 122 ล้าน ยังไม่รวมโครงการชุมนุมลูกเสือต่าง ๆ เช่น โครงการพัฒนาลูกเสือจิตอาสา ตามพระราโชบาย รวมกันกว่า 124 ล้านบาท
งบประมาณกว่า 337 ล้านนี้ สามารถสอนให้เด็กไทยว่ายน้ำเป็นได้ปีละ 518,461 คน อ้างอิงจากงบประมาณโครงการว่ายน้ำเป็นเล่นน้ำได้ปลอดภัย สำนักงานเขตห้วยขวาง ปี 2560 ที่ใช้งบหัวละ 650 บาท/หลักสูตร รวมค่าตอบแทนครูผู้สอน, ค่าชุดว่ายน้ำพร้อมหมวก และค่าพาหนะเดินทางแล้ว
ยังไม่นับค่าบำรุงลูกเสือโลก, ค่าบำรุงสำนักงานลูกเสือจังหวัด, ค่าบำรุงกองลูกเสือชุดลูกเสือ และค่าเครื่องแบบลูกเสือ รวม ๆ กว่าพันบาท ที่กลายเป็นทั้งภาระของนักเรียนและผู้ปกครอง
ลูกเสือ is watching you.
คำปฏิญาณตนของลูกเสือไม่ว่าจะรุ่นใหญ่ รุ่นสำรอง เริ่มเหมือนกันคือ “ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ทั้งยังพบว่า มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อโครงการสร้างกระบวนทัศน์เพื่อพัฒนาลูกเสือ จิตอาสา ตามพระราโชบายด้านการศึกษา ฯ ผ่านพิธีถวายราชสดุดีและถวายบังคมในงานเฉลิมพระเกียรติต่าง ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกว่า 170,000 คน และใช้งบประมาณกว่า 18.9 ล้านบาท ยังไม่นับรวมกิจการลูกเสือชาวบ้าน
นอกจากนี้ ปี 2554 กระทรวงศึกษาธิการจัดทำโครงการสร้างลูกเสือบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ให้เยาวชนเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังการกระทำผิดและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วย
ต่อมาปี 2561 เกิดสารวัตรออนไลน์ หากดูบทสัมภาษณ์ของ ทองพูล จันทบูรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนากิจการนักเรียนและนักศึกษา สำนักการลูกเสือ ยุวกาชาด และกิจการนักเรียน จะเห็นว่า ทองพูลตีความว่า การโพสต์รูปแสดงพฤติกรรมชู้สาว กระโปรงสั้น เสื้อบางรัดรูป เซลฟี่นุ่งน้อยห่มน้อย ลงในออนไลน์นั้น เข้าข่ายผิดกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา แก้ไขใหม่ ตามท่อนการห้ามแสดงพฤติกรรมชู้สาวอันไม่เหมาะสม ไม่ว่าในที่ส่วนตัวหรือสาธารณะ แถมยังให้ “ใครก็ได้” เป็นผู้แจ้งเบาะแสให้ดำเนินการ เป็นที่เข้าใจไม่ได้เลยว่า เหตุใด ลูกเสือนอกจากเรียนผูกเงื่อนและสวนสนามแล้ว ยังต้องมีหน้าที่สอดส่องต้นขาประชาชนด้วย
5 ประเด็นที่พวก Defend ลูกเสือตอบไม่ได้สักที กับ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
ก่อนการเรียกร้องให้ทบทวนการบังคับเรียนวิชาลูกเสือกลับมาอีกครั้งในช่วงปี 2563 หากย้อนไปราว 5 ปีก่อน เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนเรียกร้องข้อเสนอดังกล่าวอย่างจริงจัง (ก๊วน’เนติวิทย์’บุกกระทรวงจี้ปฏิรูป ชง13ค่านิยม-ลดทอนวิชาลูกเสือ) โพสต์ข้อความ “5 ประเด็นที่พวก Defend ลูกเสือตอบไม่ได้สักที” มีใจความดังนี้
1.การบังคับทุกคนเรียนลูกเสือไม่ได้ช่วยทำให้เกิดระเบียบวินัยแต่อย่างใด สมัยก่อนประเทศไทยก็ไม่มีการบังคับเรียนลูกเสือ ทุกวันนี้เราบังคับเรียนลูกเสือมานานแล้วแต่ประเทศเราก็ไม่ได้มีระเบียบวินัยกันมากขึ้นตรงไหน ปัจจุบันประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เค้าไม่มีการบังคับเรียนลูกเสือ แต่ประเทศเหล่านั้นก็มีระเบียบวินัยได้ เช่น ประเทศญี่ปุ่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ที่มีระเบียบวินัยสูงกว่าประเทศเราอย่างเห็นได้ชัด
เรากล้าพูดไหมว่าเด็กประเทศเราซึ่งเรียนลูกเสือกันทุกคนมีระเบียบวินัยมากกว่าประเทศญี่ปุ่นที่ไม่มีการบังคับเรียนลูกเสือ ? หรือเมื่อเทียบกันตรง ๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน เกาหลีใต้ พม่า กัมพูชา จีน ระหว่างประเทศที่เรียนลูกเสือและไม่เรียน เรากล้าพูดว่าเรามีระเบียบวินัยของเรามากกว่าประเทศเขาแล้วหรือ ?
แต่การที่กระทรวงศึกษาจะกำหนดวิชาหรือกิจกรรมใดๆบังคับนั้น ต้องแน่ใจว่าวิชาหรือกิจกรรมนั้นๆเอาไปใช้ได้ผลจริง เพราะเป็นวิชาที่ทุกคนต้องเรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่เอาวิชามั่วๆซั่วๆมาใส่ในหมวดวิชาบังคับแล้วใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง (กรณีของวิชาลูกเสือนี่เรียกว่าไม่ได้ผลเลยมากกว่า) แต่ที่ผ่านมาไม่มีผลการศึกษาหรืองานวิจัยที่น่าเชื่อถือได้รับรองว่า การเรียนลูกเสือจะช่วยทำให้นักเรียนมีระเบียบวินัยขึ้นมา ไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะทำให้วิชานี้กลายเป็นวิชาบังคับ แต่ถึงกระนั้นแล้ว วิชานี้ก็ได้เป็นวิชาบังคับมามากกว่า 10 ปีแล้ว และยังไม่ช่วยให้เยาวชนไทยมีระเบียบวินัยขึ้นมา ดังนั้นวิชานี้ควรถอดออกไปในฐานะวิชาบังคับไปได้แล้ว ถ้าจะให้มีอยู่ก็ควรจะให้เป็นวิชาเลือกแทน
2.บางคนชอบกล่าวอ้างว่าลูกเสือมีมา 100 กว่าปีแล้ว เราเรียนกันมาแบบนี้ตั้งนานแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่าการบังคับเรียนลูกเสือแท้จริงแล้วพึ่งมีมาในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้เอง โดยในสมัยรัชกาลที่ 6 นั้นก็ไม่ได้บังคับให้เด็กชายต้องเป็นลูกเสือแต่อย่างใด ขนาด พ.ร.บ. ลูกเสือ พ.ศ. 2509 ยังบอกเลยว่าให้เด็กชายเป็นสมาชิกของกองลูกเสือ ตามความสมัครใจ คนที่บังคับให้เรียนคือกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อไม่กี่ปีก่อนนี้
3.การฝึกระเบียบวินัยนั้นทำได้หลายวิธี — แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พ่อแม่ สถาบันครอบครัว ต้องเป็นผู้ปลูกฝังระเบียบวินัย พ่อแม่ย่อมรู้จักบุตรของตัวเองมากกว่าใคร พ่อแม่ย่อมต้องรู้ดีที่สุดถึงความสำคัญและวิธีการสั่งสอนลูกตัวเองให้มีระเบียบวินัย ดีกว่าหลักสูตรไหน ๆ สิ่งนี้เป็นหน้าที่ของพ่อแม่อยู่แล้วไม่ใช่หรือ ? ไม่ใช่มาโยนภาระให้สถาบันการศึกษา
มันไม่มีหลักสูตรใด ๆ ในโลกนี้หรอกที่เข้าไปเรียนแล้วออกมาจะได้ระเบียบวินัย มันอาจจะใช้ได้กับกลุ่มคนเล็กๆที่มีผู้สอนที่มีประสิทธิภาพ แต่ไม่มีทางเอามาใช้กับคนกลุ่มใหญ่ๆแล้วจะหวังให้เขามีระเบียบวินัยได้ ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยถ้าจะเอามาใช้กับระดับประเทศ เพื่อให้เยาวชนมีระเบียบวินัยกันทั้งประเทศ
บุคคลที่สำคัญที่สุดในการฝึกระเบียบวินัยคือพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กคนนั้น ใครที่คิดว่าวิชานี้มีประโยชน์กับทุกคนเพราะช่วยเรื่องระเบียบวินัย ก็คงต้องถามกลับว่า แล้วพ่อแม่คุณไม่ได้สั่งสอนเรื่องระเบียบวินัยมา หรือ ? แล้วคุณยังเอาความคิดพ่อแม่คุณไปคิดแทนพ่อแม่ของคนอื่นได้อย่างไร ?
4.การยกเลิกบังคับเรียนวิชาลูกเสือ ไม่ได้ทำให้ระเบียบวินัยของเด็กลดลง เฉกเช่นกับการยกเลิกการตัดผมทรงนักเรียน ที่พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ทำให้เด็กโง่ลงหรือมีระเบียบน้อยลงแต่อย่างใด ใครที่คิดแบบนี้เป็นพวกปัญญาทึบขาดการคิดอย่างมีเหตุผล คงจะคิดว่าหากเด็กชายถอดชุดนักเรียนออก ความรู้ก็จะหาย ไปพร้อมกับชุดนักเรียนเป็นแน่แท้
5.ถ้าวิชาลูกเสือดีจริง การยกเลิกบังคับเรียนวิชานี้ ก็จะไม่ทำให้คนที่เรียนลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะนักเรียนส่วนใหญ่ก็ยังจะเลือกเรียนวิชาลูกเสือเพราะเห็นว่าวิชานี้ดีกันเหมือนกัน แล้วจะกลัวอะไรกับการยกเลิกบังคับเรียนวิชานี้ ? กลัวคนจะไม่มาเรียนกัน ? ถ้างั้นแปลว่าวิชาลูกเสือก็ไม่ได้มีดีอยู่แล้วน่ะสิ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้การยกเลิกบังคับนี้ทำให้คนที่เรียนลูกเสือลดน้อยลง แต่คนที่เข้าไปเรียนก็จะเหลือแต่พวกที่สมัครใจเข้าไปเรียนจริง ๆ เยอะขึ้น ทำให้ผู้สอนสามารถสอนได้เต็มที่ มีประโยชน์ต่อทั้งตัวผู้เรียน ผู้สอน และวงการลูกเสือเอง
100 ปีลูกเสือไทย ถึงเวลาทบทวนใหม่เสียที
ปี 2463 ประเทศไทยส่งผู้แทนคณะลูกเสือ จำนวน 4 คน ไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลก ครั้งที่ 1 (1st World Scout Jamboree) ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกในโลก ณ อาคารโอลิมเปีย กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และ 2 ปีต่อมา ไทยกลายเป็นประเทศสมาชิกของสมัชชาลูกเสือโลก
และหากนับตั้งแต่ลอร์ดเพาเวลล์ ก่อตั้งกิจการลูกเสือ ในปี 2451 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่แผ่นดินสยามเพิ่งประกาศเลิกใช้เงินพดด้วงและเลิกโทษประหารชีวิตแบบตัดหัว ห้วงเวลากว่าร้อยกว่าปีนี้เปลี่ยนทุกสิ่งไปอย่างสิ้นเชิง เว้นเสียแต่วิชาลูกเสือที่แทบไม่เคยเปลี่ยนแปลงอะไรเลย…แม้แต่เครื่องแบบ
…
เกี่ยวกับผู้เขียน
เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ อดีตหัวหน้าหมู่ ลูกเสือสามัญ