ThaiPublica > คอลัมน์ > 4 บทเรียนพัฒนาเยาวชนจากต่างประเทศ ที่สามารถนำมาใช้กับสังคมไทย

4 บทเรียนพัฒนาเยาวชนจากต่างประเทศ ที่สามารถนำมาใช้กับสังคมไทย

16 เมษายน 2021


เรียบเรียงโดย เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ และวิภาพรรณ วงษ์สว่าง

ตลอดเวลาที่คำอย่าง Generation gap เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ผู้เชี่ยวชาญมากมายหลากหลายด้านพยายามค้นหาวิธีสารพัดเพื่อกระชับช่องว่างระหว่างวัย ซึ่งถูกคั่นด้วยมิติทางเวลา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม อันส่งผลให้ความเป็นเด็กในอดีตและเด็กจริง ๆ ในปัจจุบัน เป็นความแตกต่างเสมือนคนละจักรวาล ในแบบที่คำพูดอย่าง ฉันเข้าใจเด็ก เพราะฉันเคยเป็นเด็กมาก่อนนั้น ไม่เคยเป็นความจริง ตราบเท่าที่สังคมยังไม่มีเครื่องมือใด ๆ ในการทำความเข้าใจเด็กเยาวชนในปัจจุบัน หรือ เครื่องมือนั้น ๆ ยังไม่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย และกว่าเราจะมีเครื่องมือที่ว่า ก็ดูเหมือน องค์กรพัฒนาเยาวชน กับ ประชากรเยาวชน จะถูกถ่างให้ห่างออกจากกันมากขึ้นทุกที คำถามคลาสสิคตลอดการเดินทางของผู้เขียนซึ่งได้พบปะคนทำงานพัฒนาเยาวชนจำนวนมากในหลายปีมานี้ คือ เราจะทำอย่างไรเพื่อลดช่องว่างระหว่างกลุ่มคนทำงานด้านเด็กเยาวชนและกลุ่มเด็กเยาวชนเอง

บทความนี้จึงชวนทุกท่านสำรวจ 4 บทเรียนการพัฒนาเยาวชนจากประเทศออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ที่นำมาประยุกต์ใช้กับสังคมไทยได้ และแน่นอนว่า ยังมีตัวอย่างน่าสนใจอีกมหาศาลจากหลายมุมโลกที่คงจะได้นำเสนอในบทความครั้งต่อ ๆ ไป

1. ศึกษาวิจัยประชากรเยาวชนในมิติวัฒนธรรมและในความต้องการของตัวเยาวชนเอง

ที่มาภาพ : http://generationz.com.au

ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชากรจำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่ จึงมีภาคส่วนที่สนับสนุนงานวิจัยเพื่อให้เข้าใจค่านิยมและคุณค่าของประชากรกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ความเข้าใจเหล่านี้สามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ในมิติเศรษฐกิจ การศึกษา และการพัฒนาสังคม โดยมีแนวคิดที่จะ “สร้างสรรค์วัฒนธรรมคนรุ่นใหม่ให้แข็งแรง เพื่อให้คนรุ่นใหม่ขับเคลื่อนและดูแลสังคมต่อไปในอนาคต”

ความเข้าใจเรื่องพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ถูกนำมาใช้ส่งเสริมศักยภาพตามความเป็นจริงและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในระดับโลก เช่น Leadership Skills จะต้องเปลี่ยนจากแบบ “สั่งและควบคุม” เป็นการ “บูรณาการสร้างสรรค์” หรือการแบ่งกลุ่มอายุแบบศตวรรษที่ 20 ที่แบ่งเป็น 3 ช่วงวัย ก็ไม่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงสมัยใหม่ที่สามารถแบ่งได้ถึง 8 ช่วงวัย

นอกจากหัวข้อวิจัยที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติทางวัฒนธรรมของเยาวชนเป็นศูนย์กลางแล้ว ยังมีองค์กรที่ผลิตงานวิจัยที่พยายามสำรวจคุณค่าของเยาวชนอย่างต่อเนื่อง งานวิจัยของ Mission Australia ศึกษาเสียงเยาวชนเกี่ยวกับปัญหาของพวกเขาทุก ๆ ปี โดยสำรวจในประเด็นต่อไปนี้

  • แผนการศึกษา
  • อุปสรรคที่มีต่อการศึกษาขั้นสูงและการจ้างงาน
  • สิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้คุณค่า
  • ความกังวลส่วนบุคคล
  • คนรุ่นใหม่ขอความช่วยเหลือในประเด็นสำคัญจากใคร
  • คนรุ่นใหม่ไปกันได้ดีกับครอบครัวแค่ไหน
  • คิดว่าประเทศมีปัญหาอะไรเป็นปัญหาสำคัญ
  • คนรุ่นใหม่ทำกิจกรรมอะไรบ้าง
  • เห็นอนาคตเป็นบวกขนาดไหน

2. การสื่อสารด้วยท่าทีที่ท้าทายความสามารถ

UN Youth Australia ใช้วิธีท้าทายและสร้างความรู้สึกพิเศษ ในการดึงดูดเยาวชนให้เข้าร่วมเป็นภาคี ลักษณะการสื่อสารจะใช้ภาษาที่มีความเคลื่อนไหว, มองเยาวชนในเชิงบวก, เปิดกว้างสำหรับผู้ที่มองหาโอกาส ทำให้ UN Youth Australia เป็นเวทีในฝันสำหรับเยาวชนที่มีศักยภาพ และสามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับเยาวชนที่หลากหลายได้

ตัวอย่างข้อความสื่อสารของ UN Youth Australia (แปลโดยผู้เขียน)

3. นโยบายที่ยืดหยุ่นและสอดรับกับประเด็นร่วมสมัย

ที่มาภาพ : http://www.youthaction.org.au/

Youth Action เป็นองค์กรสนับสนุนเยาวชนเพื่อสังคมที่เยาวชนได้รับการให้คุณค่า ความน่าสนใจของ Youth Action อยู่ที่รูปแบบพันธกิจขององค์กรและการออกแบบกิจกรรมให้สอดรับกับประเด็นที่ยืดหยุ่น ตัวองค์กรเริ่มตั้งธงจาก “การสนับสนุนให้เยาวชนเคลื่อนไหวในประเด็นที่เป็นปัญหาต่อตัวเอง” แล้วค่อยเจาะลึกลงไปในแต่ละประเด็นในฐานะ “ประเด็นที่เยาวชนเห็นว่าเป็นปัญหา” ประเด็นจึงมีความหลากหลาย เช่น คนไร้บ้าน, การศึกษา, เพศ, ความรุนแรง นอกจากนี้ยังรวมถึงการสนับสนุนภาพลักษณ์เชิงบวกของเยาวชนในสื่อด้วย

ตัวอย่างงานของ Youth Action (แปลโดยผู้เขียน)

4. สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในฐานะมืออาชีพ

ที่มาภาพ : https://www.edelements.com/

Edelements เป็นบริษัทให้คำปรึกษาเพื่อจัด Personalize Learning ในระดับ District ของอเมริกา (เป็นภาคเอกชนที่ให้คำปรึกษาภาครัฐในการขับเคลื่อน Policy) เพื่อช่วยให้โรงเรียนเกิดนวัตกรรม และพัฒนาศักยภาพของนักเรียนทุกคนร่วมกับเขตพื้นที่เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้ ซึ่งผลลัพธ์ทำให้เกิดอัตราการอ่านสูงขึ้น 142% และนักเรียนมีทักษะทางคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้น 121% ผู้นำพื้นที่กว่า 85% ระบุว่านักเรียนให้ความร่วมมือมากขึ้น

การมีอยู่ของบริษัทลักษณะนี้สะท้อนความก้าวหน้าของอเมริกาในยุคปฏิวัติเทคโนโลยี ซึ่งเกิดจากภาคเอกชนร่วมมือกับรัฐในฐานะมืออาชีพ บริษัทจะให้บริการปรึกษาและวางระบบให้เกิดผลลัพธ์ที่วัดผลได้จริง

ความร่วมมือในลักษณะนี้ง่ายต่อการจัดการของเขตพื้นที่ เพราะไม่ต้องรอให้นโยบายลงมาจากด้านบน สามารถแก้ปัญหาได้ทันทีและเป็นการแก้ปัญหาที่อิงกับบริบทพื้นที่เป็นหลัก เพราะไม่ต้องหารปัจจัยร่วมกับเขตอื่น ๆ บริษัทจะวิเคราะห์ขอบเขตของปัญหาตามจริง และแก้ปัญหาให้ด้วยวิธีที่เฉพาะตัว และมีแนวโน้มใช้งบประมาณน้อยกว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีทั่วไป

การมาถึงของ EdTech, Big Data ผลักดันให้สังคมเห็นการแก้ปัญหาในอนาคต จะไม่ได้แก้ด้วยการโฆษณาเพื่อส่งเสริมจิตสำนึกที่วัดผลไม่ได้ แต่สามารถแก้ด้วยการสร้างปัจจัยที่จะส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมใหม่ ๆ และใช้โปรแกรมช่วยคำนวณที่แม่นยำ

รูปแบบการแก้ปัญหาแบบทั่วไปที่ทำอยู่ในปัจจุบัน กำลังถูกแทนที่ด้วยกระบวนการเหล่านี้ในอนาคต