ThaiPublica > คอลัมน์ > 3 Body Problem ต้นตอแห่งทฤษฎีโกลาหล

3 Body Problem ต้นตอแห่งทฤษฎีโกลาหล

24 มีนาคม 2024


1721955

นี่คือการกลับมาร่วมกันทำซีรีส์ขนาดยาวอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งของ เดวิด เบนิออฟ และ ดีบี ไวส์ แห่ง Games of Thrones (2011-2019 / 8 ซีซั่น) เสริมทัพผนึกกำลังกับพันธมิตรใหม่อย่าง อเล็กซานเดอร์ วู หนึ่งในทีมเขียนบทและทีมโปรดิวเซอร์จาก True Blood (2008-2014 / 7 ซีซั่น) 2 ซีรีส์ระดับมหากาพย์ ขึ้นหิ้ง แฟนหนึบแน่นคับคั่ง ซึ่งซีรีส์ล่าสุดของพวกเขา 3 Body Problem กำลังสตรีมมิ่งอยู่ตอนนี้มาตั้งแต่เมื่อวานซืน (21 มีนาคม) และมาในแบบจัดเต็ม 8 อีพีรวด

ถ้าใครเป็นแฟนซีรีส์ทั้งสองเรื่องของพวกเขา เราเตือนไว้ก่อนว่าความเดือดไม่ปราณีใครพอ ๆ กับ Game of Thrones ผสมจริตมุขตลกคมคายฟาดปากจิกกัดกันเดือดปุดแบบ True Blood รวมไปถึงประเด็นห้ำหั่นทางการเมือง, ฉากสยองในความเหี้ยมโหดของมนุษย์ที่กระทำต่อกันและกัน และฉากโป๊เปลือยอย่างมีนัยยะแหลมคมที่ไม่ใช่แค่แก้ผ้าโง่ ๆ เฉย ๆ แต่เปี่ยมด้วยแง่มุมให้ขบคิด ที่ทั้งสองเรื่องนั้นเคยมีมากเท่าไหร่

เรื่องนี้จะยิ่งทำให้คุณเหวอแตก เซอร์ไพร์สชนิดว่าบางฉากกรามค้างหุบไม่ลงกันเลยทีเดียว นี่คือเคมีที่ลงตัวอย่างยิ่งใหญ่

ในซีรีส์ล่าสุดเรื่องนี้ของพวกเขา 3 Body Problem (2024) รับรองได้ว่าเรื่องนี้อีกเช่นกันที่จะขึ้นหิ้งซีรีส์แห่งปีดังเช่นผลงานที่ผ่าน ๆ มา

เตือนอีกครั้งว่า ใครที่ค่อนข้างโลกสวย ทนรับชะตากรรมอันโหดเหี้ยมที่มนุษยชาติเคยกระทำต่อกัน…ไม่ไหว เราขอแนะนำว่าอย่าดู เพราะมันชั่วร้ายมาก

แล้วยิ่งมันชั่วร้ายมากเท่าไร มันก็จะยิ่งสะท้อนภาพมนุษย์มากเท่านั้น มนุษย์ผู้เป็นเพียงเศษผงนาโนธุลีในจักรวาลที่มีดวงดาวราว สองร้อยล้านล้านล้านดวง และมีอายุ 13,787 ล้านปี (ปัจจุบันพบข้อมูลใหม่ว่าอาจนานถึง 26,700 ล้านปี) ควรหรือที่มนุษย์จะได้รับการแยแสจากพระเจ้า!

แต่ความยิ่งใหญ่ของซีรีส์นี้อีกอย่างคือมันดัดแปลงมาจากนิยายวิทยาศาสตร์เบสต์เซลเลอร์ของจีนที่มีแฟนคับคั่งไม่แพ้กัน ในชื่อไตรภาคว่า Remembrance of Earth’s Past โดยอดีตวิศวกรคอมพิวเตอร์ผู้ผันตัวมาเป็นนักเขียน หลิวฉือซิน ผู้มีตำแหน่งรองประธานสมาคมนักเขียนชานสี อีกทั้งยังเคยคว้ารางวัลกาแลกซี อะวอร์ดในประเทศจีนมาถึง 9 ครั้ง ไตรภาคอันโด่งดังของเขานี้ประกอบด้วย 3 เล่ม คือ The Three-Body Problem (2006), The Dark Forest (2008) และ Death’s End (2010) ฉบับแปลไทยใช้ชื่อเดียวกันหมดคือ ดาวซานถี่ อุบัติการณ์สงครามล้างโลก เล่ม 1-3

ส่วนเล่มที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ The Three-Body Problem ครั้นในปี 2015 เมื่อนิยายเล่มนี้ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ ก็ถึงขั้นคว้ารางวัลฮิวโกอะวอร์ด หนึ่งในสองเวทีสูงสุดที่บรรดานักเขียนแนวไซ-ไฟทั่วโลกต่างปรารถนา จัดมากว่า 71 ปี โดยสมาคมนิยายวิทยาศาสตร์โลก-WSFS (อีกเวทีหนึ่งคือ เนบิวล่า อะวอร์ด อายุ 58 ปี จัดโดยกลุ่มนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์และแฟนตาซีแห่งอเมริกา-SFWA ที่เล่มนี้ก็ติด 1 ใน 6 เล่มเข้าชิงด้วย) และนับเป็นนักเขียนเอเชียคนแรกที่คว้ารางวัลสูงสุดอันทรงเกียรตินี้อย่างที่ไม่เคยมีคนเอเชียคนไหนทำได้มาก่อนในประเภทโนเวล หรือนิยายความยาวไม่ต่ำกว่า 40,000 คำ (อันที่จริงจนถึงปัจจุบันนี้มีชาวจีนอีกสองคนเคยคว้ารางวัลจากเวทีเดียวกันนี้ คือ นักเขียนหญิงหาวจิ่งฟาง ในปี 2016 และ ไห่หยา ในปี 2023 แต่ทั้งคู่นั้นได้ในสาขารองลงมาคือประเภทโนเวลเล็ต หรือนิยายขนาดกลางที่มีความยาวไม่ต่ำกว่า 7,500 คำ และไม่เกิน 17,500 คำ)

นอกจาก 3 เล่มหลักดังกล่าวแล้ว อันที่จริงยังมีจักรวาลขยายอีก 2 เล่ม นั่นก็คือ Ball Lightning (2004 ฉบับแปลไทยชื่อ ปรากฏการณ์ลูกกลมสายฟ้า) โดย หลิวฉือซิน เขียนเอง อันเป็นเหตุการณ์ในจักรวาลเดียวกันแต่เกิดขึ้นก่อนที่เรื่องทั้งหมดจะเริ่มต้นขึ้น และถือเป็น Canon หรือไทม์ไลน์โครงเรื่องหลักอย่างเป็นทางการของนิยายชุดนี้ ส่วนอีกเล่มจะเป็นส่วนขยายต่อจากเล่ม Death’s End คือ The Redemption of Time (2010) ซึ่งน่าจะถูกนับเป็น Legend หรือตำนานของเรื่อง เพราะเติมต่อโดยผู้เขียนอื่นที่ใช้นามปากกาว่า เป่าฉู (ชื่อจริงคือ ลี่จุน) ซึ่งต้นฉบับเดิมใช้ชื่อว่า Three-Body X: Aeon of Contemplation เดิมทีเขียนเป็นตอน ๆ บนแพล็ตฟอร์มออนไลน์ ก่อนที่จะได้รับการตีพิมพ์ในจีน แล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษในภายหลัง

เวอร์ชั่นต่าง ๆ

อันที่จริงนิยายเล่มแรกนี้ถูกดัดแปลงมาแล้วมากมาย อาทิ (ลำดับจากภาพซ้ายบน) หนัง 3D ทุนสร้าง 200 ล้านหยวน (ราวพันล้านบาท) อันเป็นโปรเจกต์ที่มีแผนจะเข้าฉายในปี 2017 ถ่ายทำไปตั้งแต่ปี 2015 และมีข่าวเล็ดลอดว่าถ่ายทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ภายหลังถูกเลื่อนฉายออกไปอย่างไม่มีกำหนด พร้อมกับข่าวลือว่าหนังด้อยคุณภาพและไม่น่าจะคุ้มต่อการเข้าฉายโรง

เวอร์ชั่นต่อมาเป็นเว็บตูนในปี 2019 เป็นผลงานของ TENCENT Animation & Comics สามารถอ่านฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://webcomicsapp.com/comic/The-Three-Body-Problem/64d20f808c252b2e521a8ae3The Three-Body Problem in Minecraft (2014) เป็นเวอร์ชั่นที่เริ่มแรกเป็นอนิเมชั่นทุนต่ำสร้างจากเกมไมน์คราฟต์ แต่ทำไปทำมางอกเป็น 3 ซีซั่น แล้วนับตั้งแต่ซีซั่นสองก็มีสปอนเซอร์และถูกสร้างออกมาอย่างเป็นทางการ ผลงานกำกับโดย หลี่เจิ้นอี๋ นักศึกษามหาวิทยาลัยในฝรั่งเศส ทำเองคนเดียวทั้งหมด จนกระทั่งตอนที่ 4 (หรือซีซั่นสอง) เริ่มมีทีมงานมาช่วย จนเมื่อถึงตอนที่ 9 (ซีซั่นสาม) ก็กลายเป็นอนิเมชั่นเต็มรูปแบบ แพลตฟอร์มนอกประเทศจีนสามารถดูได้ทาง https://www.youtube.com/@zhenyili670Three Body Animation (2022) https://youtu.be/w_H0BMW95Eg อนิเมชั่น 16 ตอน ผลิตโดย สตูดิโอแอนิเมชัน YHKT Entertainment ซึ่งดูได้ผ่านทางแพล็ตฟอร์ม BilliBilli ในจีนเท่านั้น https://www.bilibili.com/bangumi/play/ss26257 ส่วนซับอังกฤษลองค้นจากยูเซอร์นี้ดู https://www.bilibili.tv/th/space/2059372037

Three Body (2023) https://youtu.be/6GK6-xOcn_Q ฉบับซีรีส์ทีวีจีน มี 30 ตอน ในไทยสามารถดูได้ทาง wetv
Rendezvous with the Future (2022) ฉบับซีรีส์สารคดี 3 ตอนจบ ร่วมสร้างระหว่าง BilliBilli กับ BBC เจาะลึกไอเดียเบื้องหลังทางวิทยาศาสตร์ของนิยายชุดนี้ทั้งหมด ฉบับซับอังกฤษสามารถดูได้ทาง https://www.youtube.com/watch?v=-BUMHxa9eXU&list=PLMHobDMOyDN0pTuAcYSElPMk5mifDv5y0

3 Body Problem (2024) https://youtu.be/SdvzhCL7vIA เป็นเวอร์ชั่นเน็ตฟลิกซ์ อันเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดและเป็นเวอร์ชั่นหลักที่เราจะมาเจาะลึกกันในคอลัมน์นี้ ซึ่งซีซั่นแรกนี้จะมีทั้งหมด 8 ตอน และหากประสบความสำเร็จ น่าจะสร้างได้ครบทั้ง 3 เล่มภายใน 3 ซีซั่น แล้วหากใครเคยสนุกสนานกับเวอร์ชั่นก่อน ๆ เวอร์ชั่นนี้คืออัพเกรดขั้นสุด มีฉากมากมายที่เวอร์ชั่นจีนทำไม่ได้ ไม่ใช่แค่เพราะ CG ที่เหนือกว่าเท่านั้น แต่เพราะประเด็นทางการเมืองแบบจีนที่ถูกปิดกั้นเกินกว่าจะทำได้ ขณะที่ซีรีส์จากฝั่งโลกเสรีอย่างอเมริกาคือจัดเต็มอย่างไม่บันยะบันยัง!

ในซีรีส์มีการเล่าสลับไปมาไม่ลำดับเวลา แต่หากเราเรียงไทม์ไลน์เสียใหม่ เรื่องราวจะเริ่มต้นขึ้นในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมจีน ของเหมาเจ๋อตง ในช่วงปี 1966-1976 เกี่ยวกับ เย่เหวินเจี๋ย นักศึกษาด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่ทำการวิจัยเรื่องดวงอาทิตย์ ส่วนพ่อผู้เป็นครูสอนฟิสิกส์ตกเป็นเหยื่อในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม ที่ทางการอ้างแนวทางคอมมิวนิสต์ปลุกปั่นให้พวกหนุ่มสาวคลั่งฆ่าพวกผู้ใหญ่ปัญญาชน โดยเรียกพวกเด็กกว่ากลุ่มนี้ว่า “ยุวชนแดง” หรือ “เรดการ์ด” ออกมาต่อต้านคนรุ่นเก่า ไม่ว่าจะพ่อแม่ครูอาจารย์ กล่าวหาว่าเป็นพวกกะโหลกกะลาขวางทางการเปลี่ยนแปลงของชาติ เป็นภัยคุกคามเพราะฝักใฝ่ความรู้ของพวกตะวันตก อันขัดต่อแนวทางของจีน และเดินหน้าทำลายศิลปะวัฒนธรรมโบราณ ไปจนถึงทำลายศาสนา ความเชื่อ ภูมิปัญญาต่าง ๆ ไม่ว่าจะวิทยาการ การแพทย์ ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และภาษาต่างชาติ ฯลฯ

“กบฏอย่างถูกต้อง ปฏิวัติอย่างชอบธรรม!”

นับเป็นหนึ่งทศวรรษที่มติแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ในปัจจุบันยังยอมรับเองเลยว่าเป็นการสูญเสียที่ร้ายแรงที่สุด เสื่อมทรามถดถอยมากที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นมา จุดเริ่มต้นเกิดจากปัญหาภายในพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมาเจ๋อตงเอง เมื่อประธานพรรคกล่าวหาว่าสมาชิกระดับผู้นำฝักใฝ่ “ลัทธิแก้” อันหมายถึงฝักใฝ่อำนาจ ภูมิความรู้แบบพวกฝรั่งตะวันตก หวังจะเป็นชนชั้นศักดินา กระฎุมพี พวกนี้จึงคอยขัดขวางนโยบายพรรคที่ยกย่องชนชั้นแรงงาน จึงมีการประกาศเร่งด่วนให้ทำลายพวกลัทธิแก้ โดยให้อำนาจแก่คนรุ่นใหม่ ด้วยข้ออ้างว่าพวกเขาเปรียบเสมือนหงอคง(หรือเห้งเจีย) เทพวานรที่อาละวาดถล่มไปทั่วตั้งแต่เมืองบาดาลจนถึงสวรรค์ชั้นฟ้า ตราหน้าพวกผู้ใหญ่ว่าเป็น “ศัตรูแบ่งแยกชนชั้น” ไม่เว้นแม้แต่พ่อแม่ครูอาจารย์ของตัวเอง นำมาลงโทษกลางลานประชาคม ไปจนถึงสังหารโหด (ลือกันว่าบางรายถึงกับกินเนื้อเหยื่อที่ตนสังหารมากับมือ) มีการประเมินว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตตั้งแต่ห้าแสนไปจนถึงแปดล้านรายในช่วงนี้

สุดท้ายหลังจากเหมาเจ๋อตงสำเร็จภารกิจในการกำจัดเสี้ยนนาม เขาก็สลายกลุ่มยุวชนแดงจำนวนกว่า 20 ล้านคน (ที่เขาให้อำนาจชั่วนี้เอง) ด้วยการออกมาตำหนิการใช้ความรุนแรงของพวกเรดการ์ด ส่งพวกเขาแยกย้ายกันไปใช้แรงงานหนักในไร่นาหรือเหมืองชนบทห่างไกล ที่บางรายถึงกับป่วย พิการ หรือบ้างก็โดนชาวบ้านข่มขืน (ลองนึกสภาพนักเรียนม.ปลายสวย ๆ ส่งไปอยู่ตัวคนเดียวกับตาลุงในป่าเปลี่ยวเป็นแรมเดือนจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง)

และนี่คือชะตากรรมของเหวินเจี๋ยกับพ่อของเธอในเรื่องนี้ คือพ่อของเธอถูกลากมาประจานแล้วฆ่ากลางที่ชุมนุม ส่วนตัวเหวินเจี๋ยภายหลังถูกส่งไปใช้แรงงานในมองโกเลีย ต่อมาหยางเหว่ยหนิงเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยลับหงอ้าน (ชายฝั่งแดง) ได้เลือกเหวินเจี๋ยให้ไปทำงานที่ศูนย์ ภายใต้การควบคุมศูนย์โดยผบ.เหลย โดยหลอกว่าหน้าที่ของศูนย์นี้คือการยิงสัญญาณเพื่อทำลายดาวเทียมฝ่ายศัตรู

จากจุดนี้เองต่อมาเหวินเจี๋ยพบความจริงว่าหน้าที่ของศูนย์นี้คือการส่งสัญญานเพื่อค้นหาทางติดต่อกับสิ่งมีชีวิตนอกโลก ซึ่งสุดท้ายเธอได้รับการติดต่อกลับมาจริง ๆ จากดาวซานถี่ โดยตอบกลับมาว่า “ห้ามตอบกลับ” เพราะหากติดต่อกลับ ซานถี่จะรู้ตำแหน่งของโลก แล้วจะเดินทางมารุกราน ซึ่งด้วยความกดดันความเกลียดชังต่าง ๆ ที่ผ่านมา ทำให้เหวินเจี๋ยเลือกจะตอบกลับ โดยหวังว่าพวกต่างดาวจะมาทำลายมวลมนุษยชาติ แต่การเดินทางอันแสนไกลต้องใช้เวลานานกว่า 400 ปี

และด้วยการตัดสินใจผิดพลาด(หรืออาจจะถูกต้องแล้ว)เพียงครั้งเดียวของเหวินเจี๋ยนี้เอง เหตุการณ์ยาวนานในไตรภาคนิยายนี้จึงลากยาวกลายเป็นมหากาพย์สงครามระหว่างดวงดาว ส่งผลกระทบโกลาหลไปอีกหลากหลายเหตุการณ์ในอนาคต เฉพาะที่เกิดขึ้นในเล่มแรกนี้ อาทิ การก่อตั้งองค์กรลับเพื่อติดต่อกับต่างดาวและเพิ่มสาวก, การฆ่าตัวตายหมู่ของเหล่านักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่ค้นพบว่า “ฟิสิกส์บนโลกนี้ตายไปแล้ว”, หน่วยงานความมั่นคงสืบเสาะต้นตอว่าทำไมนักวิทย์ทั่วโลกจึงฆ่าตัวตาย, เกมวีอาร์โลกสมมติจากเทคโนโลยีดาวซานถี่, ข้อตกลงระหว่างหน่วยความมั่นคงทั่วโลกในการค้นหาวิธีป้องกันการรุกรานมหันตภัยจากต่างดาว ฯลฯ

บ่อเกิดแห่งทฤษฎีโกลาหล

ในนิยายเรื่องนี้ เดิมในภาษาจีนชื่อ ซานถี่ หรือ 3 ร่าง อันหมายถึงดวงดาวเจ้าปัญหาที่กำลังมุ่งตรงมายังโลกในอีก 400 ปีข้างหน้า ที่ฉบับภาษาอังกฤษเรียกชื่อดาวนี้ว่า Trisolaris เพราะมันมีดวงอาทิตย์ 3 ดวง แต่อันที่จริง Three-body problem “3 ร่างเจ้าปัญหา” หรือส่วนใหญ่จะแปลไทยกันว่า “ปัญหา 3 วัตถุ” เป็นงานวิจัยของ อ็องรี ปวงกาเร (1854-1912) นักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ และนักปรัชญาวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส อันเป็นปัญหาระดับจักรวาลที่ทำให้เขาค้นพบ ทฤษฎีโกลาหล (Chaos theory)

จะว่าไปปัญหานี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยไอแซค นิวตัน ค้นพบแรงโน้มถ่วงแล้วก็เป็นได้ สิ่งที่ไม่เคยเป็นปัญหา กลับเป็นปริศนาที่ทุกวันนี้มนุษย์ยังหาทางแก้ไม่ได้ เรารู้ว่าแรงโน้มถ่วงทำให้เรายืนอยู่บนโลกนี้ได้ น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ต่ำ กระแสน้ำขึ้นน้ำลง โลกหมุนรอบตัวเองและรอบดวงอาทิตย์ ฯลฯ

“แรงโน้มถ่วงถ้าไม่ดึงดูดเข้าหากัน ก็จะผลักออกจากกัน”

สิ่งที่จะรักษาระยะห่างระหว่างดวงดาวเพื่อให้วัตถุอย่างดาวโลก ยังทรงตัวบนจักรวาลอันว่างเปล่าได้ ก็คือแรงดึงดูดระหว่างวัตถุในสมัยนิวตัน และอันที่จริงแรงโน้มถ่วงมันมีของมันมาอยู่นานแล้ว เพียงแต่มนุษย์เพิ่งจะสังเกตเห็นและพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับมัน แต่ปัญหาคือในสมัยนิวตันเราเพิ่งจะเริ่มแสวงหาความรู้เกี่ยวกับมัน และทำการทดลองระหว่างวัตถุเพียงสองชิ้น โดยเราไม่เคยตระหนักเลยว่าถ้ามันมีวัตถุสามชนิดที่มีแรงโน้มถ่วงเคลื่อนที่เช่นกัน มันจะเกิดอะไรขึ้น ด้วยสามัญสำนึกเราคงคิดว่าก็ไม่เห็นจะเป็นปัญหาอย่างไรนิ ในเมื่อจักรวาลมีดวงดาวก็ยังประคองตัวอยู่ได้ มนุษย์รู้แค่นี้เลย คือมันเป็นระบบระเบียบ ประคองตัวอยู่ได้ แต่มันเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร…เป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่เคยรู้!

การจะทำความเข้าใจเรื่องนี้จะว่าซับซ้อนก็ยุ่งยากมาก แต่เราจะเล่ามันใหม่ให้คนไม่เข้าใจฟิสิกส์หรือปวดหัวกับคณิตศาสตร์อย่างเรา ๆ เข้าใจได้ง่ายขึ้น อันเกี่ยวกับการทดลองทางคณิตศาสตร์ของนักวิจัยคู่หนึ่งในปี 2009 พวกเขานำความรู้ทุกอย่างที่เรารู้ในเวลานี้เกี่ยวกับจักรวาล เพื่อทำนายอนาคตหรือความเป็นไปได้ต่าง ๆ เกี่ยวกับดาวเคราะห์ในอีกห้าพันล้านปีข้างหน้า พวกเขาจึงทำการจำลองเชิงตัวเลขกว่าสองพันครั้ง โดยทุกครั้งมีจุดเริ่มต้นเหมือนกันทุกประการ ยกเว้นว่าในแต่ละครั้งจะมีการแก้ไขระยะห่างระหว่าง ดาวพุธ กับ ดวงอาทิตย์ ซึ่งแต่ละครั้งห่างกันน้อยมาก น้อยกว่า 1 มิลลิเมตรเสียอีก

ผลลัพธ์ชวนช็อคคือ มากกว่าหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของการจำลองสถานการณ์เหล่านี้พบว่า วงโคจรของดาวพุธจะเปลี่ยนไปอย่างมากจนสามารถพุ่งเข้าชนดวงอาทิตย์ได้เลย หรือในทางกลับกันก็อาจจะหันไปชนดาวศุกร์ได้ด้วยเช่นกัน ที่แย่ไปกว่านั้นคือมันจะทำให้วงโคจรของระบบสุริยะชั้นในทั้งหมดบิดเบี้ยวจนถึงขั้นหายนะ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นปัญหาว่า จริง ๆ แล้วสุริยะจักรวาลของเราบอบบางกว่าที่คิด และมันไม่สเถียร พังทลายได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่ดาวสักดวงเคลื่อนหลุดออกไปจากวงโคจรเพียงนิดเดียว ก็พร้อมจะสร้างปัญหาใหญ่เดือดร้อนกันไปทั่วจักรวาล

นักวิทยาศาสตร์เรียกปัญหาแรงโน้มถ่วงของดวงดาวทำนองนี้ว่า “ปัญหาหลายวัตถุ (N-body problem)” แม้ว่าเราจะมีสมการที่สามารถทำนายการเคลื่อนที่ด้วยแรงโน้มถ่วงของวัตถุ 2 วัตถุได้อย่างแม่นยำ แต่จริง ๆ แล้วเราไม่สามารถใช้เครื่องมือหรือสมการเดียวกันนั้นทำนายได้เลยเมื่อมีการเคลื่อนที่ของวัตถุมากกว่า 2 วัตถุ

แล้วลองนึกดูว่าลำพังแค่ระบบสุริยะจักรวาล (Solar System) ที่เราอาศัยอยู่ประกอบไปด้วยดวงดาวทั้งหมดที่ต่างก็เคลื่อนที่ด้วยแรงโน้มถ่วงมีกันกี่ดวง และแปลว่าดวงดาวเหล่านี้เคลื่อนที่ตามสมการที่มีลักษณะเฉพาะตัว เนื่องด้วย ขนาดของวัตถุ ความเร็วในการเคลื่อนที่ของวัตถุ และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย กล่าวคือถ้าหากมันเคลื่อนที่ด้วยสมการเดียวกันทั้งหมด พวกมันจะเคลื่อนที่ชนกันเอง หรือเมื่อมันมีมากกว่า 2 วัตถุ พวกมันจะเปลี่ยนวงโคจรแล้วสร้างรูปแบบการเคลื่อนที่ที่เราไม่อาจทำนายได้ พฤติกรรมนี้นักวิทยาศาสตร์เรียกมันว่า “ทฤษฎีโกลาหล” แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับดาวซานถี่ ที่มีดวงอาทิตย์อันมีแรงโน้มถ่วงมหาศาลถึง 3 ดวง

ปัญหานี้บอกเราด้วยว่าหากระบบต่าง ๆ เริ่มต้นในเวลาเดียวกัน ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน จะได้ผลลัพธ์เดียวกันเสมอ ในทางกลับกันหากระหว่างทางของแต่ละระบบมีการเปลี่ยนแปลงแม้เพียงเล็กน้อย ผลลัพธ์จะต่างออกไปเสมอ สิ่งนี้มีความเกี่ยวพันอย่างชัดเจนต่อภารกิจอวกาศของมนุษย์ เมื่อต้องคำนวณแต่ละวงโคจรของวัตถุที่ซับซ้อนในเส้นทางอย่างแม่นยำ อย่างที่เราจะเห็นในอีพีสุดท้ายของซีซั่นแรก เมื่อมนุษย์พยายามจะส่งบางอย่างขึ้นไปบนอวกาศ ซึ่งปัจจุบันมนุษย์สามารถทำได้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่มีโปรเซสเซอร์อันทรงพลัง แต่ถ้าเราไม่มีเครื่องมือนี้อีกต่อไปล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น ในซีรีส์นี้แสดงให้เห็นว่าหากวันใดฟิสิกส์ใช้การไม่ได้ ผลลัพธ์อันน่าสยดสยองจะเป็นอย่างไร

ทฤษฎีโกลาหลนี้ อันที่จริงเราเคยได้ยินกันอยู่แล้วในนาม Butterfly Effect ที่บ้านเราแปลว่า “ทฤษฎีผีเสื้อขยับปีก” หรือ “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” อันเป็นหัวข้อบรรยายในปี 1972 ของ เอ็ดเวิร์ด ลอเรนซ์ ผู้บุกเบิกทฤษฎีนี้ที่ตั้งคำถามว่า “ถ้าผีเสื้อกระพือปีกที่บราซิลจะทำให้เกิดพายุทอร์นาโดในเท็กซัสหรือไม่”

อย่างไรก็ตามทฤษฎีโกลาหลที่ดูเหมือนจะเป็นการเคลื่อนที่แบบสุ่ม ไม่เป็นระบบระเบียบ แต่จริง ๆ แล้วมันมีแบบแผนของมัน สิ่งที่ซีรีส์ถ่ายทอดแนวคิดนี้ออกมาได้อย่างชัดเจนคือไตเติลเปิดเรื่องของซีรีส์นี้ที่ปรากฎในช่วงต้นอีพีแรก เราจะเห็นความยุ่งเหยิงอลหม่านของเส้นเลือดภายในจักรวาลร่างกายของเรา เหมือนจะไม่เป็นระบบระเบียบ แต่แท้จริงแล้วมันมีระเบียบแบบแผนและมีระบบของมันเอง ในไตเติลจากเส้นยุ่ง ๆ ขยุกขยุยมากมายก่อกลายเป็นมนุษย์ แล้วเป็นกรอบกฎ ไปสู่ระบบโปรเซสเซอร์ต่าง ๆ แล้วซ้อนด้วยภาพถนนหนทางอันยุ่งเหยิง แล้วกลายเป็นภาพจักรวาลอันใหญ่ยิ่ง มันกำลังเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ความโกลาหลมีอยู่ทุกที่ ความดูเหมือนจะไม่เป็นระบบระเบียบเหล่านี้ คือส่วนประกอบตั้งแต่ภายในร่างกายของเราไปสู่จักรวาลอันไพศาล ซึ่งดูเหมือนไร้ระบบแต่จริง ๆ แล้วมันมีอยู่ในทุกอณูประกอบของจักรวาลนี้

และเราน่าจะสามารถคาดหมายทำนายความโกลาหลเหล่านี้ได้ ถ้าเพียงแต่เราจะหาสมการเฉพาะของวัตถุนั้นให้เจอ แล้วอันที่จริงแม้เราจะทำนายการเคลื่อนที่ของมันไม่ได้ แต่เราสามารถหาจุดสมดุลระหว่าง 3 วัตถุ (หรือจำนวนมากกว่า 2 ขึ้นไป) ที่เคลื่อนตัวด้วยแรงโน้มถ่วงได้ ด้วยหลักการที่เรียกว่า Restricted three-body problem เพื่อหาจุดสมดุลนี้ที่เรียกว่าจุด ลากร็องฌ์ (ตามชื่อของ โฌแซ็ฟ-หลุยส์ ลากร็องฌ์ นักคณิตศาสตร์ชาวอิตาเลียนผู้ริเริ่มทฤษฎีการหาจุดสมดุลระหว่าง 2 วัตถุโน้มถ่วงเอาไว้เมื่อปี 1772 ที่ไม่ค่อยใช้ประโยชน์เท่าไหร่ในเวลานั้น แต่ต่อมาแนวคิดของเขาสำคัญมากต่อการส่งดาวเทียมขึ้นไปยังจุดสมดุลเหล่านี้)

และด้วยปัญหาระหว่างโลกสามใบในซีรีส์เรื่องนี้ (ที่มีนัยยะซับซ้อนมากกว่าจะหมายถึงแค่ อาทิตย์ 3 ดวงบนดาวซานถี่เท่านั้น) แต่มันคือ โลกที่เราอาศัยอยู่ โลกในเกมวีอาร์ และโลกบนดาวซานถี่ในเรื่องนี้เอง เมื่อเหวินเจี๋ยในโลกของเราตัดสินใจทำบางอย่างในอดีต มันจึงส่งผลต่อการสร้างโลกจำลองในเกมวีอาร์ในเรื่อง และส่งผลอย่างยิ่งยวดต่ออนาคตของโลก ให้สังเกตเหตุการณ์ในเกมวีอาร์ของเรื่องที่จำลองอารยธรรมในดาวซานถี่ ที่ทุกครั้งเมื่อผู้เล่นตัดสินใจพลาดเพียงเล็กน้อย มันกลับสามารถผลาญชีวิตคนบนดาวได้ทั้งดวง แล้วยิ่งเมื่อชาวโลกรู้ชัดว่าชาวดาวซานถี่จะมาถึงโลกในอีก 400 ปีข้างหน้า ก็ยิ่งสร้างความโกลาหลให้ชาวโลกต่างต้องหาทางดิ้นรนแก้ปัญหาเพื่อหาจุดสมดุล หาทางต่อรอง และหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดหายนะ อันเป็นที่มาอันซับซ้อนของชื่อนิยายเล่มนี้


(จากซ้าย) ดีบี ไวส์, อเล็กซานเดอร์ วู และเดวิด เบนิออฟ
สัมภาษณ์

เดวิด เบนิออฟ โชว์รันเนอร์คนดังเล่าว่า “เรื่องนี้จะต่างจาก Game of Thrones ที่ในช่วงแรกเรายังคงองค์ประกอบทุกสิ่งไว้ตามนิยาย แต่สำหรับ 3 Body Problem ที่ในนิยายใช้ฉากส่วนใหญ่ในจีน เราจะยังคงเฉพาะฉากในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมไว้ที่จีนเท่านั้น นอกนั้นเราจะย้ายโลเคชั่นของเรื่องมาไว้ที่ลอนดอน ตัวละครบางตัวที่ควรจะมาโผล่ในเล่มสองหรือสาม เราก็ปรับให้พวกเขาโผล่มาในซีซั่นแรกนี้เลย หลายตัวละครมีชื่อต่างไปจากในนิยาย บางตัวคือการรวมเอาคาแร็คเตอร์หลาย ๆ ตัวละครรวบมาอยู่ในตัวเดียวกัน บางตัวอาจมีเพศที่ต่างไปจากในนิยาย รวมถึงเรามีตัวละครใหม่เอี่ยมที่ไม่มีอยู่ในนิยายด้วย เพื่อช่วยเพิ่มอรรถรสสำหรับซีรีส์ แต่ทั้งหมดทั้งมวลผมยืนยันว่าซีรีส์นี้จะซื่อตรงต่อจิตวิญญาณของหนังสือเล่มนี้ โดยไม่จำเป็นต้องเถรตรงตามตัวอักษรทุกบรรทัด และไม่แน่ว่านักแสดงคนโปรดของคุณบางคนจาก Game of Thrones อาจจะโผล่มาในซีรีส์ใหม่เรื่องนี้ก็ได้นะ หรือไม่ก็อาจมีตัวละครที่คุณรักถูกกำจัดไประหว่างทาง ที่อาจจะทำให้คุณลุ้นจนนั่งไม่ติด ประเด็นรวม ๆ ของซีซั่นนี้จึงต่างไปจากเล่มแรกอยู่มาก และไม่เหมือนเวอร์ชั่นอื่น ๆ เลย ตรงที่ในซีรีส์จะกลายเป็นเรื่องของ 5 ตัวละครสำคัญที่ถูกกำหนดให้มาปกป้องโลก แต่เงื่อนไขหลายอย่างทำให้พวกเขามีแนวทางแก้ปัญหาต่างกันแม้จะมีเป้าหมายในการกอบกู้โลกเช่นเดียวกันก็ตาม อย่างที่คุณก็รู้ว่าผลงานที่ผ่านมาของเรามีเซอร์ไพร์สที่ฉีกไปจากในนิยายเสมอมา”

ตามที่เบนิออฟให้สัมภาษณ์มา แปลว่าเรื่องราวจะกินความไปถึงเล่มที่สองด้วย ใน The Dark Forest อันเป็นโครงการ Wallfacer (นักจ้องกำแพง) ที่องค์การสหประชาชาติในนิยาย มีโครงการคัดเลือก 4 คนหลายเชื้อชาติขึ้นมาหาทางต่อต้านการรุกรานจากต่างดาว (ในซีรีส์ปรับให้เหลือเพียง 3 คน) โดยจะสนับสนุนทั้งอำนาจและทรัพยากรอย่างไม่มีขีดจำกัด

(จากซ้าย) จอห์น แบรดลีย์, เลียม คันนิ่งแฮม และโจนาธาน ไพรซ์

ส่วนเรื่องนักแสดงจาก Game of Thrones ล่าสุดเท่าที่ปรากฏมาแล้วมี 3 คน คือ จอห์น แบรดลีย์ จากบท แซมเวลล์ แสดงเป็นหนึ่งในศิษย์ของลูกสาวเย่เหวินเจี๋ย, เลียม คันนิ่งแฮม จากบท เซอร์ดาวอส ซีเวิร์ธ แสดงเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยข่าวกรอง และโจนาธาน ไพรซ์ หรือไฮ สแปรโรว์ จะมารับบท ไมค์ อีแวนส์ ในวัยชรา เขาคือนักธุรกิจผู้มั่งคั่งทรงอำนาจผู้สนับสนุนการทดลองของเย่เหวินเจี๋ย

“ทำลายโลกเก่า หล่อหลอมโลกใหม่”

หลิวฉือซิง ผู้แต่งนิยายต้นฉบับ

ย้อนกลับไปที่ผู้แต่งนิยายเรื่องนี้ หลิวฉือซิง เขาเคยเล่าว่า “ผมเริ่มอ่านนิยายวิทยาศาสตร์สมัยประถม อันเป็นปีสุดท้ายของการปฏิวัติวัฒนธรรม หนังสือจากชาติตะวันตกที่เคยเป็นหนังสือต้องห้ามถูกซ่อนเอาไว้อย่างมิดชิดใต้เตียงของพ่อ ผมรู้จักโลกภายนอกผ่านงานเขียนต่างชาติอย่าง ผลงานของตอลสตอย, โมบี้ ดิก, Journey to the Center of the Earth และ Silent Spring เวลานั้นงานพวกนี้ไม่ถือว่าเป็นหนังสือต้องห้ามอีกต่อไป เล่มโปรดของผมคือ War and Peace มีสองประการที่ผมรักเล่มนี้มาก หนึ่งคือฉากทางประวัติศาสตร์ที่ถูกเรียงร้อยอย่างสมจริง มันเป็นงานเขียนที่ยิ่งใหญ่มาก

แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็คือความเป็นรัสเซียของงานนี้ซึ่งมีรากฐานมาจากจิตวิญญาณของชาวรัสเซียอย่างลึกซึ้ง มันมีอิทธิพลครอบงำต่อผลงานของผมมาจนถึงตอนนี้ แม้ว่าผมจะทำได้เพียงลอกเลียนแบบในระดับที่ต่ำต้อยมาก และไม่อาจเทียบได้กับความลึกซึ้งของตอลสตอยเลยสักนิด”

“หากเรามองวิทยาศาสตร์เป็นโลกทัศน์ ตามโลกทัศน์ใบนี้จะมีเพียงภาพเดียวเท่านั้น แต่ปรัชญาแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง นักปรัชญาทุกคนมีโลกทัศน์ของตนเอง และทุกโลกทัศน์ก็แตกต่างจากกันและกันอย่างมาก หากมนุษย์ต่างดาวมาจากนอกจักรวาลนี้ พวกเขาคงจะงงงวยกับการถกเถียงกันระหว่างนักปรัชญาของเรา เพราะดูเหมือนว่านักปรัชญาจะไม่ได้พูดถึงโลกใบเดียวกัน แต่ปรัชญาก็มีความใกล้เคียงกับแนวคิดแบบไซ-ไฟมากที่สุด เนื่องจากผู้เขียนนิยายวิทยาศาสตร์หลาย ๆ คนต่างมุ่งมั่นที่จะสร้างภาพลักษณ์ของโลกที่แตกต่างกันของการก่อตัวทางสังคม ประวัติศาสตร์ และของจักรวาล”

“แน่นอนว่าวิธีที่ผมได้รับอิทธิพลจากนักปรัชญาอาจแตกต่างจากการแสวงหาความเข้าใจเชิงปรัชญาของผู้อื่น สำหรับคนอื่น ๆ พวกเขาอาจต้องการค้นหาความจริงในวาทกรรมเชิงปรัชญา แต่สำหรับผมวาทกรรมเชิงปรัชญาทุกวาทกรรมจะถูกตัดสินโดยใช้มาตรฐานเดียว ซึ่งไม่ว่าจะน่าสนใจ มีเรื่องราวที่จะเล่าหรือไม่ ผลลัพธ์ที่น่าสงสัยประการหนึ่งหรือแนวคิดทางปรัชญาที่ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงล้วนมีอิทธิพลต่อผมเท่าเทียมกับปรัชญาที่คนทั่วโลกยอมรับ ตัวอย่างเช่น ความเพ้อฝันนั้นแตกต่างอย่างมากจากลัทธิวัตถุนิยม แต่สำหรับผมทั้งโลกแห่งแฟนตาซีและโลกแห่งสัจจะนิยมต่างก็เป็นแหล่งแรงบันดาลใจสำหรับผมพอ ๆ กัน”

2 อีพีแรกย้อนเล่าไปถึงเหตุการณ์ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งทำออกมาได้สมจริงและป่าเถื่อนมาก กำกับโดย ดีเรก เจิ้งกั๋วเสียง ผู้กำกับหนังและนักแสดงชาวฮ่องกง เขาเป็นลูกชายของ อีริค เจิ้งจื้อเหว่ย นักแสดงเจ้าบทบาทชาวฮ่องกงที่บ้านเราน่าจะคุ้นหน้าเขาจากบท พี่เป้า ใน เถียนมี่มี่ (Comrades: Almost a Love Story) ส่วนดีเรก หนังที่เขากำกับ Soul Mate (2016) เคยเข้าชิงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในฮ่องกง และชิงผู้กำกับยอดเยี่ยมบนเวทีม้าทองคำ ไต้หวัน ส่วนผลงานที่บ้านเราน่าจะรู้จัก คือ Better Days (2019) ที่ทำให้เขาคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมมาได้จากทั้งสองเวทีใหญ่ในฮ่องกง คือ สมาคมนักวิจารณ์ภาพยนตร์ฮ่องกง และฮ่องกงฟิล์มอะวอร์ด รวมถึงรางวัลขวัญใจผู้ชมในเทศกาลหนังโอซาก้าเอเชียนฟิล์ม อันเป็นหนังฮ่องกงเรื่องแรกที่ได้รับคัดเลือกส่งเข้าร่วมเสนอชื่อรางวัลออสการ์

การเลือกผู้กำกับฮ่องกงมาในอีกด้านนึงถือเป็นความสะใจอย่างยิ่ง เพราะนับตั้งแต่กฎหมายใหม่เพื่อความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกงในปี 2020 จีนก็กดขี่ฮ่องกงจนง่อยเปลี้ยไปหมดแล้วในเวลานี้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเซ็นเซอร์ที่ห้ามพูดเรื่องการเมือง หรือพาดพิงการปกครองจีน ซึ่งอาจถูกโทษปรับเป็นจำนวนสูงลิ่วหลักล้าน แล้วยังอาจถูกจับขังคุกตามประสากฎหมายเผด็จการทหารแบบจีน(ที่ไทยอันเป็นมณฑลไท่กั๋วสาขาสองก็ติดเชื้อเผด็จการมาไม่ต่างกัน) แต่นี่ส่วนตัวผู้เขียนก็อยากรู้เหมือนกันว่า ถ้าบรรดาท่านผู้นำจีนมาเห็นซีรีส์นี้จะเต้นผางอย่างไรบ้าง หนึ่งจีนไม่สามารถเอาผิดดีเรกได้ เพราะนี่คือซีรีส์อเมริกัน ไม่ใช่ของฮ่องกง สองประเด็นตีแผ่ด้านมืดของจีนในซีรีส์นี้มันหนักหน่วงมาก

“การจะต่อสู้กับอำนาจ บางครั้งเราเองก็ต้องพร้อมใช้อำนาจ”

แล้วถ้าหากคนดูจะสังเกต คำซ้ำ ๆ ที่ซีรีส์นี้พูดถึงบ่อย ๆ คือ “แรงโน้มถ่วง” “เวลา” “ความฉิบหาย” “สมดุล” “อำนาจ” ดูเหมือนคำเหล่านี้จะมีนัยยะสำคัญและแปรผกผันต่อกันและกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบ แรงโน้มถ่วง กับ อำนาจ เมื่อตัวละครหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า “การจะต่อสู้กับอำนาจ บางครั้งเราเองก็ต้องพร้อมใช้อำนาจ” มนุษย์เรียนรู้ที่จะคานอำนาจระหว่างกัน หรือทำให้ปลาสนาการไปดังพระศิวะร่ายระบำทำให้เกิดกลียุค (ที่ในซีรีส์แสดงให้เห็นเป็นรูปปั้น “ศิวนาฏราช” ตั้งอยู่หน้าสถาบันฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูง เซิร์น และสิ่งนี้มีอยู่ในสถานที่จริงในสวิส)

…เพียงการร่ายระบำจบเดียวของศิวะ จักรวาลก็จักฉิบหายสลายวับไปในพริบตา แต่ปัญหาของสิ่งมีชีวิตเยี่ยงมนุษย์ติดอยู่แค่นิดเดียวคือ “เวลา” …all men must die. และไม่มีใครอาจครองบัลลังก์ไปได้ชั่วกัลปาวสาน