ThaiPublica > คอลัมน์ > สาวเสิร์ฟกาแฟและสงครามต้านอาชญากรรม

สาวเสิร์ฟกาแฟและสงครามต้านอาชญากรรม

3 กันยายน 2023


1721955

สารภาพว่ากำลังติดซีรีส์เกาหลี Moving อย่างงอมแงม แล้วด้วยเรื่องย้อนเล่าไปในยุคเผด็จการทหาร โดยเฉพาะช่วงการก่อตั้งหน่วยข่าวกรองสืบราชการลับ (KCIA ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น NIS) ทำให้มีประเด็นประหลาด ๆ ให้พูดถึงเยอะมาก สุดท้ายผู้เขียนอดใจไม่ไหวเลยต้องวนกลับมาเขียนถึง Moving อีกรอบ เพราะอีพี 10-11 ที่ผ่านมาดีมากจนนึกไม่ถึงว่า คัง โด-ย็อน ผู้เขียนเว็บตูนเรื่องนี้ขึ้นมาเขาช่างคิดจริง ๆ โดยเฉพาะการเก็บรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้น มาผูกโยงกันได้อย่างครบรส มีทั้งเรื่องรัก เรื่องหักหลัง สืบสวน ซ้อนกล ไปจนบู๊สนั่นซูเปอร์ฮีโร่

ย้อนกลับไปอ่านบทความที่เคยเขียน Moving ได้ ที่นี่
อ่านเกี่ยวกับ KCIA หรือNIS ที่นี่

Moving อีพี 10-11 ย้อนไปเล่าเรื่องราวของ จาง จู-วอน (รยู ซึง-รยง พระเอกจากหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลเป็นอันดับสอง Extreme Job) ที่คนดูรู้แค่ว่าเขาเป็นพ่อค้าร้านไก่ทอดเปิดใหม่ และเป็นพ่อของจาง ฮี-ซู (โก ยุน-จอง) นางเอกของเรื่องในไทม์ไลน์ปัจจุบัน แต่คนดูไม่เคยรู้เลยว่าก่อนที่เขาจะมาถึงจุดนี้ จุดที่ต้องอาศัยอยู่กับลูกสาวอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ย้ายที่ทำงานบ่อย ๆ ไม่เคยปักหลักที่ไหนนาน เหตุใดเขาจึงใช้ชีวิตเช่นนี้ ซึ่งสองอีพีนี้มีคำตอบให้ อันเป็นเรื่องราวที่เราได้แต่ว้าวว่า มันน่ารักชะมัด! ซึ่งเราคงไม่เล่ารายละเอียดอันใดมาก แต่จะยกประวัติศาสตร์บางอย่างที่ถูกถ่ายทอดในไทม์ไลน์ของตัวละครนี้ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่

สาวเสิร์ฟกาแฟ

สิ่งหนึ่งที่ต้องรู้ก่อนว่า เกาหลีปลูกกาแฟเองไม่ได้ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศ และเกาหลีเพิ่งสามารถเพาะปลูกกาแฟของตัวเองได้เมื่อไม่นานนี้เอง ตรงบริเวณทางใต้ของเกาะเชจู ซึ่งผลผลิตน้อยนิดมาก อย่างไรก็ตามกาแฟเข้ามาในเกาหลีนานมากแล้วตั้งแต่สมัยกษัตริย์โกจง (ค.ศ.1852-1919) ในปี 1896 เมื่อกษัตริย์โกจงต้องหนีภัยออกจากพระราชวังเคียงบก หลังจากการรุกรานของญี่ปุ่นและการลอบสังหารราชินีมิน (จักรพรรดินีมยองซอง) เป็นเวลาหลายเดือนที่เขาและลูกชายลี้ภัยไปยังสถานกงสุลรัสเซีย และทั้งคู่อาศัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลาหนึ่งปี อันเป็นที่ที่กษัตริย์โกจงได้ลิ้มรสชาติของกาแฟ แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่กษัตริย์โกจงก็ไม่ใช่เกาหลีคนแรกที่ได้ลิ้มรสกาแฟ ก่อนหน้านี้มีเรือจากต่างชาติมาเยือนเมืองชายฝั่งทะเลของเกาหลีเป็นครั้งคราว เจ้าหน้าที่หลายคนมักได้รับการเชื้อเชิญให้ขึ้นเรือ และพวกชาวเรือต่างชาติมักจะเสิร์ฟกาแฟ หรือไม่ก็เบียร์

หนึ่งปีผ่านไปเมื่อกษัตริย์โกจงถูกย้ายไปกักขังไว้ใน ด็อกซุนกุง หนึ่งในพระราชวังเล็ก ๆ เขาใช้อาคารหลังหนึ่งสำหรับดื่มกาแฟ เรียกว่า ชองกวังฮอน อันนับว่าเป็นคาเฟ่แห่งแรกในเกาหลีที่สงวนไว้สำหรับกษัตริย์ ราชวงศ์ มิตรสหาย และแขกเยือนของโกจงเท่านั้น

ต่อมาพวกเขาเลยมีวัฒนธรรม ดาบัง เดิมที ดา (ชา) บัง (ห้อง) เป็นสถานที่เสิร์ฟชา กาแฟ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล เกิดขึ้นในช่วงยุคอาณานิคมของญี่ปุ่น (ค.ศ.1910-1945) ดาบังแรกเกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วในปี 1902 ในย่านชองดง เป็นร้านข้างโรงแรมซอนทาก (Sontag) ของ แอนโตเนตต์ ซอนทาก ผู้เป็นพี่สะใภ้ชาวเยอรมันของกงสุลใหญ่รัสเซียในขณะนั้น และแน่นอนว่ามันได้รับการสนับสนุนโดยกษัตริย์โกจง ดาบังแห่งนี้มีประสงค์เพื่อเสิร์ฟให้กับพวกนักการฑูตจากต่างชาติทั้งหลาย

จากนั้นดาบังอื่น ๆ ก็เริ่มแพร่หลายไปทั่วโซล ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ย่านนัมแดมุน, เมียงดงและจองโน เนื่องจากพวกชนชั้นสูงเริ่มหลงไหลวัฒนธรรมยุโรป ต่อมาดาบังก็กลายเป็นแหล่งรวมของพวกศิลปิน นักเขียน นักการเมือง และปัญญาชน จนมีคำกล่าวกันว่า “หนังสือชั้นดีหลายเล่มผุดขึ้นจากดาบัง” เพราะนักเขียนหลายคนใช้ดาบังเป็นที่คิดที่เขียน เริ่มมีการแสดง อ่านบทกวี บางทีก็จัดงานเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ จนช่วงทศวรรษที่ 1950 ดาบังก็กลายเป็นเหมือนคลับเฮาส์สำหรับคนมีฐานะและมีการแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยใหม่ ๆ

ต้องเข้าใจก่อนว่าเพราะกาแฟปลูกไม่ขึ้นในเกาหลี กาแฟจึงเป็นของนำเข้าจากต่างประเทศ ราคามันจึงเกินเอื้อมสำหรับชาวบ้านทั่วไป อย่างไรก็ตามดาบังในยุคนี้เองที่เป็นต้นแบบให้กับดาบังในยุคต่อมา เมื่อดาบังให้บริการโดยสาวเสิร์ฟสุดสวย ดาบังจึงเป็นที่นิยมในหมู่นักธุรกิจเกาหลี และชาวต่างชาติ พวกเขานัดพบปะรวมตัวกันเพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 น้ำตาลและกาแฟได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสงครามแปซิฟิก ในปี 1941 ดาบังแบบดั้งเดิมเริ่มหายไปแปรสภาพเป็นดาบังที่ให้บริการสำหรับคนทั่วไป

ประกอบกับเมื่อสงครามเกาหลีปะทุขึ้นในปี 1950 เมื่อฝ่ายเหนือรุกรานฝ่ายใต้ พวกทหารอเมริกันที่มาช่วยรบในฝั่งใต้ได้พกกาแฟเกล็ดสำเร็จรูปมาด้วย ทันทีที่สงครามเกาหลีสงบในปี 1953 เกาหลีก็ไม่อาจกลับไปสู่จุดเดิมที่สงวนดาบังหรู ๆ ไว้สำหรับพวกชนชั้นสูงได้อีกต่อไป

นอกจากสงครามแล้ว ชะตากรรมของกาแฟยังถึงกาลวิปโยคอีกคราในช่วงการรัฐประหารโดยเผด็จการทหาร พัค ช็อง-ฮี (ที่บ้านเราเรียก ปักจุงฮี คนนั้นแล) ที่คนเกาหลีรู้จักกันในชื่อ “การรัฐประหาร 5.16” เพราะเกิดขึ้นในวันที่ 16 เดือนพฤษภาคม 1961 (อันนับเป็นการสถาปนาหน่วยสืบราชการลับ KCIA / NIS ที่ฝ่ายเผด็จการทหารอ้างว่าเพื่อความมั่นคงของชาติ แต่จริง ๆ แล้วคือเป็นมือไม้ในการจัดการ กำจัดศัตรูผู้เห็นต่าง และควบคุมให้ประชาชนอยู่ในกำมือ)

สิ่งแรก ๆ ที่เผด็จการพัคทำ คือการทำตัวเป็นศูนย์รวมใจของชาติ เพื่อครองใจกลุ่มอนุรักษ์นิยม หนึ่งในนโยบายของเขาคือ การปลุกใจให้คนเกาหลีต่อต้านสินค้าต่างชาติ ด้วยการออกพรบ.เฉพาะกาลห้ามขายสินค้าต่างชาติ และกาแฟ(ที่เกาหลีปลูกเองไม่ได้) คือสินค้าต่างชาติลำดับต้น ๆ ที่ต้องกำจัดไปให้สิ้นซาก ต่อมาก็ถึงขั้นห้ามขายโกโก้ และชาฝรั่ง(ที่คนเกาหลีเรียกชาดำ)

เมื่อไม่ให้ขายกาแฟ พวกเขาจะดื่มอะไรกัน สิ่งที่พวกเขาดื่มกันในเวลานั้นเรียกว่า “คงพี” บางทีก็ถูกเรียกว่า “นีโอค็อฟฟี” ที่ต่อมาถูกเรียกอย่างเหยียด ๆ ว่า “ก๊อปปี้” เพราะพวกมันไม่ได้ทำมาจากกาแฟ แต่คือกากถั่วเหลืองเผาเอามาชงดื่มแก้ขัด

แต่หลังจากนั้นนับตั้งแต่ช่วงกลางยุค 60-ปลาย80 ใคร ๆ ก็มาดื่มกาแฟกับเพื่อนหรือครอบครัวในดาบังได้ และมันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ส่วนหนึ่งเพราะสถานที่ให้ผู้คนไปสังสรรค์กันมีน้อยมาก ดาบัง จึงเป็นทั้งที่ประชุมสำหรับคนวัยทำงาน ที่นัดบอดของนักศึกษา ดาบังจึงผันตัวเป็นที่ผ่อนคลายสำหรับคนวัยกลางคนด้วย

ดาบังในยุคต่อมานี้แหละ ถ้าจะเปรียบให้เข้าใจง่าย ๆ ดาบังของยุคนี้ ก็คงคล้าย ๆ “โรงน้ำชา” ของไทยเราที่เขาไม่ได้เสิร์ฟกันแค่น้ำชา ดาบังของเกาหลีก็เช่นกัน ซึ่งในซีรีส์ Moving ได้อธิบายวิธีการซื้อขายบริการให้คนยุคเราเข้าใจได้ในอีพีที่ 10-11 นี้เอง ว่าพวกเขาแค่เปิดดาบังไว้บังหน้าเท่านั้นเอง

ดาบังในช่วงยุค 60-80 คุณจะไปกิน “ทึกซุกกิกดา(เครื่องดื่มพิเศษ)” ที่ร้านก็มีบริการห้องหับให้หลังร้าน หรือจะสั่งเดลิเวอรี่ก็ง่าย ๆ แค่โทรไปกริ๊งเดียว นอนรอไม่นาน ดาบังจะส่งสาวสวยมาบริการชงกาแฟให้ถึงเตียงนอน โดยสิ่งที่เป็นอันรู้กันหากคุณต้องการบริการพิเศษ คุณต้องซื้อตั๋วที่เรียกว่า “ติ๊กเก็ตดาบัง” อย่างไรก็ตามการค้าประเวณีในเกาหลีถือว่าผิดกฎหมาย และเกาหลีไม่มีโสเภณีให้บริการ อย่างที่ท่านรัฐมนตรีไทยยุคใดก็ตามไปตรวจตราแหล่งท่องเที่ยวอย่างพัทยา ก็ไม่เคยพบเคยเจอว่ามีการค้าประเวณี แต่นักเที่ยวรู้กัน แม้รัฐจะปฏิเสธเสียงแข็ง เกาหลีเองก็เช่นกัน

แม้ว่าเกาหลีจะมี “กีแซง หรือกินยอ (คล้าย “เกอิชา” ของญี่ปุ่น)” อาชีพเก่าแก่ที่ให้บริการเริงรมย์แด่พวกชนชั้นสูงมาตั้งแต่สมัยโครยอ (ค.ศ.918-1392) จนมาถึงยุคโชซอน (ค.ศ.1392-1897) แต่การเปิดดาบังบังหน้าในเมืองหลวงก็เป็นไปไม่ได้นาน เมื่อชนชั้นกลางมองว่าสิ่งนี้สกปรก ผิดศีลธรรมอันดีงาม และไม่ควรทำ อย่างไรก็ตาม “ติ๊กเก็ตดาบัง” ยังคงมีอยู่จนทุกวันนี้ ทว่ามันถูกผลักไสให้ออกไปเปิดดาบังอยู่รอบนอกเมืองใหญ่ และตามจังหวัดห่างไกลความเจริญทั้งหลาย ที่ดกดื่นสุดน่าจะเป็นเมืองอันดง ยองจู และบงฮวา ในเขตจังหวัดคย็องซัง โดยโรงแรมจิ้งหรีดบางที่ถึงกับมีเบอร์โทรศัพท์ประกาศหราอยู่บนกล่องทิชชู่ ไม่ก็มีปุ่มกดบนแป้นโทรศัพท์ไว้เลยหากคุณกระหายอยากจะหาเพื่อนร่วมจิบกาแฟด้วยกันสักถ้วย

คดีฆาตกรรม ณ ดาบัง

เนื่องด้วยหญิงให้บริการในดาบังมักจะเป็นสาวสวย จึงเกิดคดีฆาตกรรมจำนวนไม่น้อยอันเกี่ยวข้องกับสาวดาบัง อาทิ คดีฆาตกรรมในย่านซอแดมุน กรุงโซล เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 1965 อดีตทหารจ่าสิบเอกนายอี มุน-ฮวี วัย 34 ปี แทงสังหารยู อ๊ก-ซอน วัย 28 ปี ภรรยาตัวเองที่หนีไปมีชู้ ทิ้งลูก ๆ 4 คน แล้วไปทำงานในดาบังแห่งหนึ่งในย่านพย็องชังดง

คดีจับตัวประกันในดาบังเมืองยางกู จังหวัดคังวอน เวลาเที่ยงของวันที่ 2 กันยายน 1970 เมื่อในนายพัค ชู-ซู (27 ปี) หนุ่มตกงานจากเมืองปูซาน บุกเข้าไปในดาบังเมืองยางกูพร้อมปืนหนึ่งกระบอกแล้วขู่จับสาวดาบัง 4 คนเป็นตัวประกัน เหตุการณ์นี้มีนายทหารลี จอง-แทก ที่ตั้งใจจะเข้าไปช่วยตัวประกันแต่ตัวเองกลับถูกสังหาร สุดท้ายคนร้ายยิงตัวตาย โดยระหว่างเหตุการณ์เมื่อนักข่าวตะโกนถามถึงสาเหตุ เขาบอกว่า “ผมไม่มีแรงจูงใจ ผมแค่อยากจะกบฎต่อสังคมจอมปลอม”

คดีดาบัง เมืองแทจ็อน เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2007 โอ อิก-ยุน วัย 35 ได้บุกเข้าไปในดาบังแห่งหนึ่งของเมืองแทจอน ตั้งแต่ร้านยังไม่เปิดเพื่อหวังปล้นเงินจากในเครื่องคิดเงิน ทั้งที่มีเงินเหลือค้างในนั้นแค่สามหมื่นวอน (ราว 700กว่าบาท) แต่ขณะนั้นนายชเวพนักงานคิดเงิน วัย 47 เข้ามาในร้านพอดีจึงถูกนายโอแทงตาย ต่อมาไม่นานสาวดาบังวัย 45 ปีรายหนึ่งเข้ามาในร้านเห็นปิดไฟเงียบ คนร้ายจึงพยายามจะแทงเธอด้วยแต่เธอรอดมาได้ คดีนี้เป็นคดีแรกที่มีการตรวจดีเอ็นเอโดยใช้โครโมโซม Y ที่สืบทอดทางเพศชายและเหลือค้างบนหลอดยาหยอดตาที่คนร้ายทิ้งไว้ในที่เกิดเหตุ จนสืบทราบได้ว่าคนร้ายคือนายโอ

ก่อนที่จะกลายเป็นข่าวกระฉ่อนเนื่องจากนายโอเคยติดคุกเมื่อตอนอายุ 17 ในคดีข่มขืนและฆาตกรรมต่อเนื่องหญิง 3 ราย ซึ่งสองคนเป็นหญิงชราวัย 60 อีกคนเป็นเด็กหญิงวัย 7ขวบ ตอนนั้นไม่มีใครสงสัยเขาเลย เนื่องจากหญิงชราถูกข่มขืน จึงไม่คิดว่าจะเป็นฝีมือเด็กวัย 15 (อายุขณะที่เขาข่มขืนฆ่าคุณยายรายแรก) สุดท้ายเขาถูกจำคุก 15 ปี เนื่องจากยังเป็นเยาวชน ทั้งที่ความผิดที่เขากระทำหากเขาอายุเกิน 18 ปีจะได้รับโทษประหารหรือจำคุกตลอดชีวิต

สงครามต้านอาชญากรรม

ฝรั่งเรียกมาเฟีย ญี่ปุ่นเรียกยากูซ่า แต่เกาหลีเรียกพวกอันธพาลว่า “กังแพ” เกาหลีใต้เผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเกาหลีในปี 1953 ด้วยความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้จำนวนอาชญากรรมเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีหลังจากนั้น และกลายเป็นปัญหาใหญ่ในเกาหลีใต้ และเนื่องด้วยที่ตั้งของคาบสมุทรเกาหลี ที่อยู่ใกล้รัสเซีย ญี่ปุ่น และจีน บรรดาอันธพาลจากประเทศเหล่านี้จึงมีส่วนเข้ามาร่วมกิจการผิดกฎหมายมากขึ้นด้วย

ท่ามกลางความโกลาหลทางการเมืองในช่วงยุค 50 แก๊งกังแพจำนวนหนึ่งถือกำเนิดขึ้นกลายเป็นกลุ่มพลังจัดตั้งที่มีอิทธิพลในย่านสถานเริงรมย์ ไม่นานกลุ่มเหล่านี้เริ่มคบหาสมาคมกับพวกนักการเมือง เป็นการ์ดให้นักการเมืองบ้าง คอยทำงานใต้ดินให้บ้าง ไปจนถึงขัดขวางกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองที่เห็นต่างบ้าง

หลังสงคามเกาหลี ที่กรุงโซล มีแก๊งใหญ่ ๆ 2 แก๊งคือ แก๊งชงโร และแก๊งเมียงดง มีสมาชิกรวมกันมากกว่า 13,000 คน ต่อมามีการปราบปรามขนานใหญ่ในช่วง 1961-1963 ทำให้บรรดากังแพเหล่านี้ถูกจับกุม จนบรรยากาศเริ่มผ่อนคลายลงในช่วงยุค 70 จึงมีอีก 2 กลุ่มใหม่ปรากฎตัวขึ้นในนามของ แก๊งสิบเอกชิน กับแก๊งโฮนัม อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงการต่อสู้ของกลุ่มเหล่านี้ไม่ค่อยจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต เนื่องจากพวกเขาต่อสู้ด้วยมือ เท้า และศรีษะ มีมีดเป็นอาวุธบ้าง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เกาหลีใต้ห้ามครอบครองปืน และดาบยาว
อย่างไรก็ตามความเข้มงวดเกิดขึ้นอีกระลอกจากเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดีเผด็จการพัค ช็อง-ฮี ในปี 1979 ด้วยมาตรการพิเศษเพื่อขจัดความชั่วร้ายในสังคม ได้ริเริ่มขึ้นภายใต้การประกาศกฎอัยการศึก นำไปสู่การลดลงของกลุ่มกังแพ กระทั่งบรรยากาศที่ผ่อนคลายลงในช่วงการแข่งขันเอเชียนเกมในปี 1986 และโอลิมปิกในปี 1988 องค์กรกังแพเหล่านี้จึงคืนชีพอีกรอบ โดยพวกมันใช้ประโยชน์จากโอกาสนี้ในการขยายตัวทางธุรกิจมืดอย่างรวดเร็ว เริ่มรวมตัวกับพันธมิตรในญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง และสหรัฐ โดยใช้ประโยชน์จากนโยบายเปิดกว้างและกระแสโลกาภิวัตน์ของรัฐบาลในช่วงนั้น

เหตุการณ์ยกระดับ “สงครามต้านอาชญากรรม” ที่ปรากฏในซีรีส์ Moving เกิดขึ้นในสมัยประธานาธิบดีโร แต-อู ด้วย “คำประกาศพิเศษ 10.13” เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 1990 ที่ว่า “ผมจะประกาศสงครามกับอาชญากรรมและความรุนแรงที่ทำลายชุมชนของเรา และผมจะใช้อำนาจทั้งหมดของประธานาธิบดีที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญเพื่อต่อสู้กับพวกมัน ประการที่สอง เราจะขจัดความอยุติธรรมและความวุ่นวายที่คุกคามรากฐานของสังคมประชาธิปไตย ประการที่สาม เราจะสร้างสังคมแห่งการทำงานและสังคมที่ดีด้วยการแก้ไขความละโมบโลภมาก การเก็งกำไรเกินควร ความเสื่อมโทรม เพื่อให้สังคมนี้มีความสงบสุข”

ต้องรู้ก่อนว่า สิ่งที่โร แต-อู ประกาศยกระดับนี้ เป็นการสร้างภาพ อย่างที่เรารู้กันว่าพวกกังแพเป็นมือเท้าของพวกนักการเมือง ผู้มีอำนาจ ไปจนถึงพวกคนรวยแชโบลทั้งหลาย ซึ่งรวมไปถึงตัวเขาเองด้วยเช่นกัน แต่ทำไมเขาจึงประกาศเช่นนี้ ต้องย้อนกลับไปก่อนหน้าคำประกาศไม่กี่วัน เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ปีนั้น เมื่อโร แต-อู ถูกแฉว่าเขาเตรียมการจะทำรัฐประหารเนื่องด้วยเขาเป็นอดีตนายพลกองทัพบก และมีเส้นสายในหมู่กองทัพ ตัวเขาเองคือทายาทสืบทอดเผด็จการจากนายพล พัค ช็อง-ฮี และชอน ดู-ฮวัน ประธานาธิบดีที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยการทำรัฐประหารทั้งคู่ในยุคก่อนหน้าของโร

ในช่วงสมัยของชอน ดู-ฮวัน มีการใช้หน่วย KCIA ที่ควรจะเป็นไปเพื่อความมั่นคงของชาติ แต่เผด็จการชอนผู้สืบทอดอำนาจกลับใช้ KCIA ในทางที่ผิด (อย่างที่เราจะเห็นได้ในซีรีส์ Moving) ชอนใช้ KCIA ในทางจารกรรมข้อมูล ปราบปรามกองกำลังของฝ่ายเห็นต่างผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมบันเทิงและเริงรมย์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในปี 1986 ปัญหาการค้ามนุษย์และการลักพาตัวผู้หญิงจึงยิ่งรุนแรงมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้ธุรกิจค้าประเวณีขยายตัวไปทั่วภูมิภาคโดยเฉพาะในชนบท รวมไปถึงผู้ชายอีกจำนวนไม่น้อยที่ถูกลักพาตัวแล้วถูกขายเพื่อไปเป็นแรงงานบนเรือประมง ที่เสี่ยงต่อการถูกฆ่าทิ้งกลางทะเลเมื่อหมดประโยชน์แล้ว หรือเพื่อปกปิดหลักฐานการค้ามนุษย์

กระทั่งตั้งแต่ปี 1989 หนึ่งปีก่อนคำประกาศยกระดับพิเศษ 10.13 สำนักงานใหญ่เพื่อความปลอดภัยสาธารณะได้ออกคำสั่งปราบปรามพิเศษตามไอเดียของ โร แต-อู อยู่ก่อนแล้ว เสริมกำลังพลที่มีความรู้ทางการต่อสู้และอุปกรณ์ทันสมัยขึ้นเพื่อปราบปรามใน 6 หัวเมืองใหญ่ ได้แก่ โซล ปูซาน แทกู กวางจู อินชอน และแทจอน

นอกจากนี้ยังมุ่งประเด็นความปลอดภัยสาธารณะเพื่อขจัดความชั่วร้ายทางสังคม 5 ประการ ได้แก่ การค้ามนุษย์ ครอบครัวล่มสลาย ความรุนแรง ยาเสพติด และความปลอดภัยทางอาหาร ส่งผลให้สำนักงานอัยการเขตโซลมีการตรวจสอบการทุจริตในหมู่ข้าราชการ การติดสินบนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ กระทั่งคำประกาศของโร แต-อู ที่มีการถ่ายทอดสดผ่านทีวีและเป็นข่าวพาดหัวในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับนัยว่าเป็นการสร้างภาพเพื่อกลบข่าวฉาวที่ลือกันว่านายโรจะทำรัฐประหาร

สิ่งเหล่านี้ต่อมาผุดเป็นระเบียบใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 1990 ด้วยแคมเปญ “New Order, New Life Movement” ที่ระดมเงินมากกว่า 200ล้านวอน และระดมนักศึกษามาช่วยงานนอกเวลาในแคมเปญนี้ เพื่อพัฒนาพลเมือง ไม่ว่าจะการสอดส่องเจ้าหน้าที่รัฐในประเด็นที่ว่า “คนที่ไม่กระฉับกระเฉงเอื่อยเฉื่อยหละหลวมในการทำงานจะถูกถอดจากตำแหน่ง” ที่ลงเอยด้วยการเชือดไก่ให้ลิงดู สร้างภาพด้วยการถอดข้าราชการระดับล่าง ไปจนถึงป้ายปลุกระดมทั่วบ้านทั่วเมือง อาการปลุกสังคมให้คลั่งก่่อให้เกิดสุญญาการในการบริหารบ้านเมือง แคมเปญโง่ ๆ เริ่มนำไปสู่แคมเปญที่โง่กว่า อาทิ “แคมเปญทำงานเพิ่มอีกวันละ 30 นาที” และ”แคมเปญลดรายจ่ายลง 10%” ฯลฯ

แต่แท้จริงอย่างที่เห็นในซีรีส์ Moving สงครามต้านอาชญากรรม เป็นได้แค่สงครามสร้างภาพ เพื่อสยบความแค้นของมวลชนเรื่องการรัฐประหารเท่านั้น จากสถิติในเวลานั้นมีการฆาตกรรม 3 ครั้งในทุก 2 วัน และคดีข่มขืนเฉลี่ย 12 คดีต่อวัน

ปัญหาใหญ่ที่ลามไปทั่วระบบราชการคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน เมื่อผู้มีอำนาจระดับสูงพากันกดดันกรมตำรวจทั่วประเทศให้ยกระดับการปฏิบัติงาน แต่แทนที่คนร้ายตัวจริงจะถูกจับกุม กลายเป็นว่ามีการกว้านจับผู้บริสุทธิ์มากมายนับไม่ถ้วน ไปสู่การซ้อมทรมานและการบังคับให้สารภาพ

อี ชุน-แจ

ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกันนี้เอง มีคดีอื้อฉาวคดีหนึ่งที่รู้จักกันในนาม “คดีฆาตกรรมฮวาซ็อง” ที่เกิดขึ้นในระหว่างปี 1986-1994 ฆาตกรถูกจับได้ในอีก 30 ปีต่อมา นายคนนี้ชื่อว่า อี ชุน-แจ ที่ในช่วงเวลาดังกล่าวเขาสังหารผู้หญิงและเด็กสาว 15 คน และก่อคดีข่มขืนอีก 30 คดีในเขตฮวาซ็อง จังหวัดคย็องกี และพื้นที่ในรอบรัศมี 2 กิโลเมตร มีการสอบสวนผู้ต้องสงสัยกว่า 21,000 ราย แต่ยังคลี่คลายไม่ได้กว่า 30 ปี จนกระทั่งปี 2019 โดยเขาสารภาพว่าได้ก่อคดีฆาตกรรมทั้งสิ้น 14 คดี (ที่เหลือน่าจะเป็นคดีเลียนแบบโดยคนอื่น)

การระบุตัวตนนายอี เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2019 เมื่อดีเอ็นเอจากชุดชั้นในของเหยื่อรายหนึ่งถูกจับคู่กับนายอี และเชื่อมโยงไปอีก 4 คดีที่ยังไม่คลี่คลาย ในเวลานั้นนายอีถูกโทษจำคุกตลอดชีวิตอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่จากคดีฆ่าต่อเนื่อง แต่เป็นคดีข่มขืนและฆ่าน้องสะใภ้ โดยเบื้องแรกนายอีปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับคดีต่อเนื่อง จนเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2019 จึงมีการประกาศว่าเขาคือฆาตกรคดีฮวาซ็อง

คดีนี้มีแพะ

ย้อนกลับไปในสมัยชอน ดู-ฮวัน ช่วง90 อันเป็นช่วงเวลาที่เกิดคดีฮวาซ็อง มีชายคนหนึ่งนามว่า ยุน ซอง-ยอ ถูกตัดสินว่าเป็นคนร้ายในคดีดังกล่าว มีการขู่บังคับให้สารภาพ สร้างหลักฐานเท็จ ส่งผลให้นายยุนกลายเป็นแพะต้องโทษจำคุกนาน 20 ปี ตั้งแต่ 25 กรกฎาคม 1989 จนถึง 14 สิงหาคม 2009 ที่จับคนร้ายตัวจริงได้ทำให้นายยุนถูกปล่อยตัว จนศาลเพิ่งตัดสินเมื่อเดือนมีนาคม 2021 นี้เองให้นายยุนได้รับเงินชดเชย 2.2ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในเวลานั้นเขามีอายุ 54 ปี สูญเสียเวลาในชีวิตไป 20 ปี หรือเป็นเวลา 7,326 วัน ในคดีที่เขาไม่ได้ก่อเลย

แต่คดีซ้อมทรมานและจับตัวผู้บริสุทธิ์ไม่ได้มีแค่ในเกาหลี มีอีกหลายกรณีในชายแดนใต้ สามจังหวัดที่ยังคงอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก น่าแปลกทั้งที่เป็นเขตทหาร แต่ความสงบไม่เคยเกิดขึ้นเลย และกองทัพได้งบทหารจากความไม่สงบเหล่านี้ไปเยอะมาก เช่นเดียวกับแพะมากมายที่ถูกจับ ถูกขัง ถูกซ้อมทรมาน บางรายก็ถึงขั้นตายปริศนา

อ่านเพิ่มเติมกรณีชายแดนใต้

  • นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการอุ้มซ้อมทรมาน แต่เราหวังว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายในชายแดนใต้https://themomentum.co/feature-livingintheredzone-defendant/
  • ดินแดนแห่งการซ้อมทรมาน วิสามัญ และอุ้มหายhttps://decode.plus/20210910-2/
  • ซ้อมทรมาน : จากควบคุมตัว หมดสติ ถึงเสียชีวิต เกิดอะไรขึ้นกับ อับดุลเลาะ อีซอมูซอhttps://www.bbc.com/thai/thailand-49470456
  • รายงาน: Save ‘Anwar’ ผู้ปลุกชีวิตมลายู ปลดเงื่อนไขความรุนแรงhttps://prachatai.com/journal/2013/05/46736
  • สถิติ ‘ซ้อมทรมาน’ พุ่ง – สะสมปมแค้น – ขยายความหวาดระแวงhttps://deepsouthwatch.org/index.php/th/node/225
  • แนะรัฐทำ ‘สงครามความคิด’ ปรับกลไกรัฐ – หยุด ‘ซ้อมทรมาน’https://deepsouthwatch.org/index.php/th/node/226
  • คดีฆาตกรรมฮวาซ็อง ถูกสร้างเป็นหนังและซีรีส์มากมาย อาทิ Memories of Murder (2003) Confession of Murder (2012) Gap-dong (2014) Signal (2016) Tunnel (2017) Criminal Minds (2017) Partners for Justice (2018) Signal (2018) Unknown Number (2019) Flower of Evil (2020) Taxi Driver (2021)

    ถ้อยคำหนึ่งของนายอี ชุน-แจ ฆาตกรต่อเนื่องฮวาซ็อง ที่ถือเป็นการตบหน้าตำรวจทั้งกรมฉาดใหญ่ในวันขึ้นศาลเขากล่าวว่า “ผมประหลาดใจที่ไม่ถูกจับเร็วกว่านี้” น่าจะยืนยันความล้มเหลวในการสร้างภาพในยุคกฎอัยการศึกภายใต้เผด็จการทหารชอน ดู-ฮวันได้เป็นอย่างดี