ThaiPublica > คอลัมน์ > แนวรบต่อต้านคอร์รัปชันด้านเอเชียแปซิฟิก…เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง : ข้อสังเกตจาก CPI 2023

แนวรบต่อต้านคอร์รัปชันด้านเอเชียแปซิฟิก…เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง : ข้อสังเกตจาก CPI 2023

14 กุมภาพันธ์ 2024


ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา องค์การความโปร่งใสสากล หรือ Transparency International (TI) เผยแพร่ดัชนี Corruption Perceptions Index (CPI) ประจำปี 2023 ผลการจัดอันดับความโปร่งใสประเทศต่าง ๆ 180 ประเทศสะท้อนภาพสถานการณ์คอร์รัปชันทั่วโลกว่ายังอยู่ในระดับที่ “น่ากังวล”

ขณะที่ค่าคะแนน CPI ของประเทศไทย ยังวนเวียนอยู่ที่ 35-36 คะแนน ยังก้าวไม่พ้น “หลักสี่”

ไม่เฉพาะบ้านเราที่สถานการณ์คอร์รัปชันไม่ได้ดีขึ้น หลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนต่างอยู่ในสภาพไม่ต่างกัน

TI ได้จัดทำบทวิเคราะห์สถานการณ์คอร์รัปชันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ผลการวิเคราะห์น่าสนใจ กล่าวคือ สถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น “ติดหล่ม” หรือ Stagnation อยู่กับวังวนซ้ำ ๆ เดิม ๆ

ผู้สนใจโปรดอ่านบทวิเคราะห์ของ Ilham Mohamed และคณะ https://www.transparency.org/en/news/cpi-2023-asia-pacific-stagnation-due-to-inadequate-anti-corruption-commitments

ผู้เขียนได้จัดกลุ่มประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก โดยดูจากค่า CPI 2023 ซึ่งจำแนกได้เป็นสี่กลุ่มหลัก ๆ กล่าวคือ

กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ยังรักษามาตรฐานการต่อต้านคอร์รัปชันได้อย่างเข้มแข็ง เน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม… กลุ่มนี้ได้แก่ นิวซีแลนด์ (85) สิงคโปร์ (83) ออสเตรเลีย (75) ฮ่องกง (75) ภูฏาน (68) ไต้หวัน (67)

กลุ่มนี้มีกลไกต่อต้านคอร์รัปชันที่ได้มาตรฐานสากล โดยเฉพาะกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง เข้มแข็ง ไม่เลือกปฏิบัติ หรือ “เล่นปาหี่”ตบตาประชาชน

น่าสนใจว่าประเทศเหล่านี้มีต้นทุนเดิมเรื่องภาพลักษณ์บริหารราชการแผ่นดินที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ ตรงไปตรงมา ต้นทุนดังกล่าวได้สร้างให้ทุกองคาพยพการต่อต้านทุจริตมีความเข้มแข็งขึ้น

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่ยัง “แย่” เหมือนเดิม ได้แก่ อัฟกานิสถาน (20) เมียนมาร์ (20) และเกาหลีเหนือ (17) ทั้งสามประเทศนี้ถูกจัดรั้งท้ายเรื่องความโปร่งใสมาโดยตลอด สาเหตุสำคัญมาจากความไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้กลไกการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ “พร่องหาย” ไป

กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่ดีขึ้น”ผิดหูผิดตา” แบบก้าวกระโดด บทวิเคราะห์ TI ใช้ว่า Significance improver กลุ่มนี้เมื่อดูรายชื่อประเทศแล้ว เราคงต้องหันกลับมาทบทวนว่าทำไมประเทศเหล่านี้จึงทำได้

กลุ่มนี้เริ่มจาก ติมอร์ เลสเต (43) ที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยอยู่รั้งท้าย ทั้งคะแนน CPI และอันดับความโปร่งใสต่ำกว่าเรา…มาถึงวันนี้ติมอร์ เลสเต ก้าวผ่านหลักสี่ไปเรียบร้อย ได้รับคำชื่นชมจากเวทีนานาชาติว่ามีความมุ่งมั่นตั้งใจแก้ปัญหาคอร์รัปชันจริงจัง

ผู้สนใจโปรดอ่านบทความที่ผู้เขียนเกี่ยวกับติมอร์ เลสเตไว้เมื่อสามปีก่อนในhttps://thaipublica.org/2021/02/sutti-17/

ประเทศต่อมา คือ มัลดิฟส์ (39) เวียดนาม (41) และจีน (42) ทั้งสามประเทศนี้ในอดีตเคยมีคะแนน CPI และอันดับที่ต่ำกว่าบ้านเราทั้งสิ้น…แต่มาถึงวันนี้พวกเขาก้าวข้ามเราไปเรียบร้อยแล้ว

กลุ่มที่สี่ คือ กลุ่มที่ค่าคะแนนไม่เคยเปลี่ยนแปลง “วนเวียน” อยู่ที่เดิม กลุ่มนี้ส่วนใหญ่อยู่ในอาเซียน ทั้งไทย (35) อินโดนีเซีย (34) และฟิลิปปินส์ (34)

อันที่จริงแล้ว… การขยับค่า CPI แต่ละแต้มนับว่ายากมาก เนื่องจาก CPI เป็น Composite Index อย่างไรก็ดีความตั้งใจและลงมือทำจริงจัง ไม่ลูบหน้าปะจมูก หรือต่อต้านคอร์รัปชันเพียงแค่ “วาทกรรมขึงขัง” แต่ท้ายสุดไม่มีอะไรเกิดขึ้น

…การต่อต้านคอร์รัปชันแบบนี้คงเป็นแค่เพียง Cosmetic Anti-Corruption หรือ ต่อต้านแบบฉาบฉวย

ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์ความท้าทายที่ทำให้สถานการณ์คอร์รัปชันในภูมิภาคนี้ยัง “ติดหล่ม” อยู่ สาเหตุสำคัญอาจสรุปได้สี่เรื่อง กล่าวคือ (ก) ขาดความตั้งใจจริงของภาคการเมือง (ข) ปัจจัยทางสถาบันที่อ่อนแอ (Weak institution) โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย (ค) วัฒนธรรมในภูมิภาคนี้ซึ่งเน้น “ระบบอุปถัมภ์” ที่ฝังรากมายาวนาน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และ (ง) การจำกัดพื้นที่ของภาคประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน

กรณีสุดท้าย บทบาทของภาคประชาชน ภาคประชาสังคมในการต่อต้านคอร์รัปชันนับว่ามีความสำคัญมาก…ปีที่ผ่านมา TI ชื่นชมภาคประชาสังคม (CSO) ของศรีลังกา ที่ทำหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชันจนผลักดันให้นำเหล่าผู้นำขี้ฉ้อจากตระกูลราชปักษาเข้าสู่กระบวนการลงโทษได้

แต่มีบางประเทศที่กลับเปิดโอกาสให้คนบางกลุ่มหาประโยชน์จากขบวนการต่อต้านคอร์รัปชันภาคประชาชนโดยใช้วิธีข่มขู่ Blackmail เจ้าหน้าที่รัฐด้วยหาเหตุอ้างเรื่อง “ใส่ร้าย” ถึงความไม่ชอบมาพากลและขู่ที่จะร้องเรียนเพื่อ “ตรวจสอบ”

หากใครไม่อยากมีเรื่อง…ต้องจ่าย “ค่าหยุดร้อง” เพื่อแลกกับค่าเสียเวลา และป้องกันชื่อเสียงตัวเองไม่ให้มัวหมอง…แต่ถ้าใครไม่ยอมจ่าย เหล่านักร้องเหล่านี้จะนำเรื่องไปร้องต่อโดยไม่มีความรับผิดชอบใด ๆ

ขบวนการเช่นนี้นับเป็นการ “ด้อยค่า” การต่อสู้ของสุจริตชนที่อยากช่วยกันต่อต้านคอร์รัปชันด้วย…วิธีการเช่นนี้นับเป็นการคิด “นวัตกรรมการทุจริต” ที่ TI อาจสนใจเป็นกรณีศึกษาต่อไปในอนาคต