ThaiPublica > คอลัมน์ > Stealing Paradise คอร์รัปชันบนเกาะสวรรค์

Stealing Paradise คอร์รัปชันบนเกาะสวรรค์

13 สิงหาคม 2017


Hesse004

ที่มาภาพ : https://www.equedia.com/wp-content/uploads/2016/09/posttypevideop56464-youtube-thumbnail.jpg

เมื่อเอ่ยถึง “มัลดีฟส์” (Maldives) ภาพแรกที่นึกถึง คือ ทะเลสีคราม หาดทรายขาว รีสอร์ทกลางทะเลราคาแพงระยับ มัลดีฟส์ คือ เกาะแห่งสวรรค์อย่างแท้จริง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกาะแห่งนี้ติดอันดับสถานที่ที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ กระทรวงการท่องเที่ยว (Ministry of Tourism) จึงกลายเป็นกระทรวงเกรดเอ เพราะต้องทำหน้าที่โกยรายได้เข้าประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาชื่นชมความงดงามของเกาะสวรรค์

แต่เบื้องหลังความสำเร็จของการโปรโมตมัลดีฟส์กลับเต็มไปด้วยเรื่องราวฉ้อฉล มากไปด้วยกลโกงที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนที่กระทำโดยผู้นำสูงสุดและพรรคพวก..พฤติกรรมขี้ฉ้อเช่นนี้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นสารคดีสืบสวนยอดเยี่ยมแห่งปี 2017 เรื่อง Stealing Paradise

Stealing Paradise เป็นสารคดีข่าวเชิงสืบสวน (Investigative journalism documentary) ที่เปิดกลโกงพฤติกรรมคอร์รัปชันและการฟอกเงินของประธานาธิบดีอับดุลลาห์ ยามีน (Abdulla Yameen) ผู้นำมัลดีฟส์คนปัจจุบัน

สารคดีชิ้นนี้ผลิตโดยสำนักข่าวอัลจาซีร่า (Al Jazeera) ซึ่งมีแผนกผลิตข่าวเจาะเชิงสืบสวน (Investigative unit) โดยนักข่าวผู้เป็น “หัวหอก” รับหน้าที่ขุดคุ้ยเรื่องนี้ คือ วิล จอร์แดน (Will Jordan) นักข่าวที่ใช้ชีวิตอยู่ในมัลดีฟส์มากกว่า 10 ปี

Stealing Paradise ฉายให้เห็นภาพเบื้องหลังว่า เกาะสวรรค์แห่งนี้ คือ แดนสนธยา เต็มไปด้วยผลประโยชน์มหาศาล ที่ผู้นำและพวกพ้องต่างจ้อง “สูบ” เอาผลประโยชน์จากเกาะนี้โดยไม่หวั่นเกรงใครหน้าไหน

กล่าวกันว่า ข้อจำกัดของการทำข่าวเจาะในประเทศที่ผู้ถืออำนาจรัฐนั้นมีเครือข่ายโยงใย ช่วยเหลือเกื้อกูลกันหมด ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก หากนักข่าวคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาทำ “ข่าวเจาะ” ที่มีคุณภาพสักเรื่องหนึ่ง เพราะพวกเขาต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลและถูกคุกคามตลอดเวลา

กรณีมัลดีฟส์ก็เช่นกัน การทำข่าวเจาะของสำนักข่าว Raajje TV สำนักข่าวท้องถิ่นที่ตั้งใจจะเปิดโปงดีลลับของรัฐบาลที่ให้สัมปทานเกาะแก่นักลงทุนต่างชาติซึ่งดีลนี้เต็มไปด้วยความลับลมคมใน ส่งผลให้นักข่าวหนุ่มที่ชื่อ ยามีน ราชิด (Yameen Rasheed) ซึ่งกำลังคุ้ยเรื่องนี้อยู่ ถูกฆ่าปิดปากและสำนักข่าวของเขาก็ถูกวางเพลิง

จริง ๆ ดีลนี้เคยถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมัลดีฟส์ (Auditor General’s Office of Maldives) รายงานความผิดปกติในกระบวนการให้สัมปทานเกาะซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียผลประโยชน์มหาศาลของรัฐ แต่ผลสุดท้าย นอกจากเรื่องจะเงียบหายไปแล้ว ตัวผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ยัง(Auditor Generals)ถูกเด้งให้พ้นตำแหน่ง

สารคดี Stealing Paradise ยังสะท้อนให้เห็นวงจรอุบาทว์ของการคอร์รัปชันที่มีต้นตอมากจากผู้นำและพรรคพวกที่ลุแก่อำนาจ ขณะเดียวกันกลไกการบริหารราชการแผ่นดินเต็มไปด้วยเครือข่าย เส้นสายที่โยงใยช่วยเหลือ อุปถัมภ์ค้ำชูกันปกป้องคนผิด ตั้งแต่ ตำรวจ รัฐมนตรีมหาดไทย กองทัพ ไปจนถึงผู้พิพากษา ซึ่ง วิล จอร์แดน เรียกมัลดีฟส์ว่าเป็น Mafia state

…นั่นหมายถึง ประชาชนไม่สามารถพึ่งพากลไกรัฐเพื่อร้องขอความเป็นธรรมได้เลย

คำถามต่อมา คือ แล้วเรื่องคอร์รัปชันทั้งหลายแหล่นี้มันหลุดรอดออกมาได้อย่างไร

จุดเริ่มต้นของมหกรรมการแฉเกิดขึ้นเมื่อเดือน ต.ค. ปี 2015 เมื่อมีการจับกุมตัวนายอาเหม็ด อาดีป (Ahmed Adeeb) รองประธานาธิบดี ในข้อหากบฏฐานพัวพันลอบสังหารประธานาธิบดีอับดุลลาห์ ยามีน

นายอาเหม็ด อาดีป (Ahmed Adeeb) ที่มาภาพ : http://www.aljazeera.com/mritems/Images/2016/6/9/f33c8c8b5d084669b28a4bdaeae656b8_18.jpg

แต่ประธานาธิบดียามีนยังดวงแข็งอยู่ เขารอดตายอย่างหวุดหวิดจากเหตุลอบวางระเบิดบนเรือประจำตำแหน่ง แต่เคราะห์ร้ายไปตกอยู่กับภริยาประธานาธิบดีและคนที่ติดตามได้รับบาดเจ็บ

ก่อนหน้านี้ นายอาดีปเป็นมือขวาของประธานาธิบดียามีน เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวในวัยเพียง 33 ปี เป็นนักการเมืองหนุ่มที่มีบุคลิก “ใจถึง พึ่งได้” เป็นผู้มีอิทธิพลในมัลดีฟส์ พูดง่าย ๆ คือ เขาเป็น “เซเลป” คนสำคัญของมัลดีฟส์เลยทีเดียว

นายอาดีปได้รับมอบหมายให้ดูแลกระทรวงใหญ่ คือ กระทรวงท่องเที่ยว กระทรวงเกรดเอที่หาเงินเข้าประเทศ แต่กลับเกิดเรื่องดีลลับกับนักลงทุนอิตาเลียนในการขายเกาะให้ในราคาถูก เพื่อให้เข้ามาทำรีสอร์ท โดยอาดีปถูกกล่าวหาว่ารับเงินสินบนก้อนโตและนำเงินไปฟอกต่อที่สิงคโปร์และมาเลเซีย

ในสารคดี เราจะได้เห็นบทบาทของอาดีปเป็นตัวเดินเกมแทนประธานาธิบดียามีนทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องใต้ดินที่อาดีปสั่งเผาสำนักข่าวท้องถิ่น อุ้มฆ่าปิดปากนักข่าว กำจัดศัตรูทางการเมืองรวมถึงคอยเคลียร์เรื่องวุ่นวายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับภาพลักษณ์ของประธานาธิบดียามีน

หากว่ากันตามตรงแล้ว นายอาดีปน่าจะมีเส้นทางการเมืองที่สดใส ไปได้ไกล ทำนองว่าเป็นทายาทสืบตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากนายยามีน คุมเกาะสวรรค์แห่งนี้ต่อไป

แต่อนิจจา… เมื่อเกิดความขัดแย้งกันในเรื่องผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว อีกทั้งหากประธานาธิบดียามีนเป็นอะไรไป รัฐธรรมนูญมัลดีฟส์ให้สิทธิกับรองประธานาธิบดีขึ้นเป็นประธานาธิบดีต่อได้เลย

ดังนั้น ตำรวจจึงสันนิษฐานว่าการวางระเบิดรอบนี้มีแรงจูงใจมาจากคนใกล้ตัวแน่นอน และนายอาดีป คือ ผู้ต้องสงสัยอันดับแรก ทำให้เขาถูกจับในข้อหาสมรู้ร่วมคิดกันลอบสังหารประธานาธิบดีแถมถูกยัดข้อหาก่อการร้ายซ้ำอีก

อย่างไรก็ดี อาดีปก็ปล่อยหมัดเด็ด ล้างแค้น แบบระเบิดพลีชีพ ด้วยการแฉหลักฐานทั้งหมดที่รวบรวมไว้ในโทรศัพท์มือถือสามเครื่องของเขา หลักฐานดังกล่าว มีตั้งแต่ภาพถ่ายเซลฟี่ตัวเองกับบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาวต่าง ๆ อีเมล์สั่งการ รวมถึงข้อความ Text message ที่ยังไม่ถูกลบในโปรแกรมแชท หลักฐานเหล่านี้ถูกส่งต่อให้เพื่อนของเขาและหลุดต่อมาถึงมือ วิล จอร์แดน แห่งอัลจาซีร่า

หลังสารคดีนี้เผยแพร่ผ่านสำนักข่าวอัลจาซีร่า ทางการมัลดีฟส์ออกมาปฏิเสธทุกอย่างและว่าจ้างบริษัทกฎหมายฟ้องร้องสำนักข่าวฯ ให้หยุดเผยแพร่สารคดีชิ้นนี้ เพราะสร้างความเสื่อมเสียให้กับประเทศและท่านผู้นำ

น่าสนใจว่า ข้อดีของสารคดีข่าวเจาะ คือ ผู้ชมได้เห็นภาพของผู้ลงมือกระทำผิด ซึ่งนักข่าวสู้อุตส่าห์ไปขุดหาและเรียบเรียงมาให้ แต่คำถาม คือ เราจะเชื่อได้อย่างไรว่า เขาคนนั้นกระทำผิดจริง หรือไม่ เพราะหลักฐานที่เราเห็นในสารคดีนั้นไม่ใช่หลักฐานที่ปรากฏในชั้นศาล หรือ ปรากฏแล้วแต่จะมีหลักฐานอื่นมาหักล้างหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ ผู้ชมไม่มีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสิน

หากมองในมุมประธานาธิบดียามีน เขาเองก็มีสิทธิจะปกป้องศักดิ์ศรีและชื่อเสียงตัวเองเช่นกัน…เพราะถ้าเรื่องที่เล่าผ่านสารคดีไม่ใช่เรื่องจริง หรือเป็นเพียงแค่ความเข้าใจผิด “จับแพะชนแกะ” ของนักข่าวแม้แต่ฉากเดียว ก็เท่ากับเป็นการใส่ร้ายผู้บริสุทธิ์ โดยที่เขาไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ตัวเองเลย

ล่าสุด Stealing Paradise ได้รับรางวัลชนะเลิศสารคดียอดเยี่ยมด้านการรายงานข่าวคอร์รัปชัน (Corruption reporting) จาก One World Media ซึ่งเป็น NGO ด้านข่าวเจาะระดับโลก โดยรางวัลนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Transparency International ด้วย

นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา มัลดีฟส์มีความวุ่นวายทางการเมืองจนบีบให้ประธานาธิบดีคนเก่า นายโมฮัมเหม็ด นาชีด (Mohammed Nasheed) ลาออกและรองประธานาธิบดีขึ้นรักษาการแทน จนกระทั่งเลือกตั้งในปี 2013 และชัยชนะตกเป็นของนายอับดุลลาห์ ยามีน แห่งพรรค Progressive Party

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลมัลดีฟส์ได้คะแนนความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน 36 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 โดยปีนี้เป็นปีแรกที่ Transparency International จัดอันดับความโปร่งใสให้มัลดีฟส์

ในช่วงท้ายของสารคดี Stealing Paradise ทิ้งท้ายด้วยบทสัมภาษณ์ของแม่นักข่าวหนุ่มที่ถูกอุ้ม ที่กล่าวไว้ว่า “ประเทศนี้มันไร้อนาคต ดังนั้น เราก็เลยไม่มีอนาคตไปด้วย ทุกคนเต็มไปด้วยความหวาดกลัว” (There is no future for the country so there is no future for us. Everybody afraid.)

…ฟังแล้ว หดหู่ดีแท้