ThaiPublica > คอลัมน์ > จีนกับการจัดการปัญหาคอร์รัปชัน (ตอนจบ)

จีนกับการจัดการปัญหาคอร์รัปชัน (ตอนจบ)

15 มีนาคม 2016


ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจสอบวินัยส่วนกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ (Central Commission for Discipline Inspection) หรือ CCDI หน่วยงานปราบปรามทุจริตของจีน เปิดเผยข้อมูลว่า ในปี ค.ศ. 2015 เจ้าหน้าที่รัฐเกือบ 300,000 คน ถูกลงโทษด้วยข้อหาคอร์รัปชัน1 นับเป็นสถิติสูงที่สุดในรอบหลายปี หลังจากมีการรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชันในจีน2

ตัวเลขสามแสนคนเป็นสถิติที่น่าตกใจอยู่ไม่น้อย แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือ ในจำนวนนี้ มีประมาณ 82,000 คนที่ถูกลงโทษสถานหนัก ซึ่งในรายงานของ CCDI ไม่ได้ระบุรายละเอียดวิธีการลงโทษแต่อย่างใด

…ทั้งนี้ โทษสูงสุดของการคอร์รัปชันในจีนคือ ประหารชีวิต

CCDI ได้รายงานการปราบปรามคอร์รัปชันต่อที่ประชุมประจำปีของสภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress) ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องว่ารัฐบาลของนายสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ยังคงเดินหน้าเอาจริงกับการปราบทุจริตต่อไป

นับตั้งแต่ สี จิ้นผิง ขึ้นมากุมบังเหียนแดนมังกร บุคคลสำคัญที่เป็นมือไม้ทำหน้าที่มือปราบทุจริตแบบ “ถอนรากถอนโคน” คือ นายหวัง ฉีซาน (Wang Qishan)เลขาธิการ CCDI

นายหวัง กลายเป็นคีย์แมนพรรคคอมมิวนิสต์ในยุคประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เขาได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาฯ CCDI เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2012

หวัง ฉีซาน มือปราบคอร์รัปชันจีน ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons
หวัง ฉีซาน มือปราบคอร์รัปชันจีน ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons

ประวัติชีวิตของ หวัง ฉีซาน นั้นไม่ธรรมดา เขาเกิดเมื่อปี ค.ศ. 1948 พื้นเพเป็นคนมณฑลชานซี และเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อปี ค.ศ. 1983

หวัง ฉีซาน เป็นนักวิชาการที่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ มีความสามารถทางการเงินการคลังชนิดหาตัวจับยาก จนได้รับการยอมรับในฐานะนักเศรษฐศาสตร์อาวุโส

ด้วยบุคลิก ท่าทีของความเป็นนักวิชาการ ไม่ช่างพูดหรือแสดงความเห็นพร่ำเพรื่อ สุขุมคัมภีรภาพ ตรงไปตรงมา เอาจริงเอาจังในการทำงาน ทำให้เขาได้รับมอบหมายงานสำคัญๆ ของพรรคหลายด้าน เช่น ดำรงตำหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ บริษัทเงินทุนและการลงทุนชนบทจีน ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารประชาชนจีน (ค.ศ. 1995-1996) และผู้ว่าการธนาคารการก่อสร้างประชาชนจีน (ค.ศ. 1996-1997)

หลังจากนั้น ได้รับโปรโมตเป็นกรรมการประจำคณะกรรมการพรรคมณฑลกว่างตง และก้าวขึ้นมาเป็นเลขาธิการคณะกรรมการมณฑลไห่หนาน

ช่วงเตรียมงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิก “ปักกิ่งเกมส์” ปี ค.ศ. 2008 นายหวังรับตำแหน่งประธานบริหารคณะกรรมการกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ต่อมาก้าวเข้าสู่ไลน์อำนาจในพรรคด้วยการเป็นคณะกรรมการกรมการเมืองส่วนกลาง

แต่ละตำแหน่งที่หวัง ฉีซาน ได้รับแต่งตั้งนั้น มีบทบาทไม่น้อยในการขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนตั้งแต่ทศวรรษที่ 90

จนกระทั่ง ปี ค.ศ. 2012 เขาได้รับมอบหมายให้ทำภารกิจปราบปรามคอร์รัปชันครั้งใหญ่โดยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการตรวจสอบวินัยส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ (Secretary of the Center Commission for Discipline Inspection)

ช่วงที่นายสี จิ้นผิง เริ่มต้นแคมเปญต่อต้านคอร์รัปชัน (Anti-Corruption Campaign) หวัง ฉีซาน คือมือขวาผู้รับนโยบายไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมจนสื่อมวลชนจีนยกให้เขาเป็นบุคคลสำคัญลำดับต้นๆ ในพรรค3 (บางครั้งเรียกว่าเป็น Paramount leaders)

James Areddy บล็อกเกอร์ด้านจีนศึกษาแห่งเว็บไซต์ Wall Street Journal4 เขียนถึง หวัง ฉีซาน ไว้น่าสนใจว่า การที่สี จิ้นผิง เลือกหวัง ฉีซาน เข้ามาทำหน้าที่ “มือปราบคอร์รัปชัน” เหตุผลสำคัญคือ นายหวังได้แสดงบทบาทอย่างโดดเด่นในระหว่างดำรงตำแหน่งเป็นนายธนาคารรัฐที่ดูแลเรื่องเงินๆ ทองๆ และสามารถจัดการปัญหาฉ้อฉลในภาคการเงินได้เป็นอย่างดี คดีสำคัญเกี่ยวกับการทุจริตทางการเงิน สื่อจีนจึงมักเสนอข่าวการทำงานของนายหวังอยู่เสมอ

วันที่เขาเริ่มรับตำแหน่งเป็นเลขาธิการ CCDI หวัง พูดชัดเจนว่า การต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันในจีนยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายโดยทันทีทันใด แต่พวกเราต้องทำให้สาธารณชนเชื่อมั่นว่า เราได้ลงมือทำอะไรจริงจังและพยายามจัดการปัญหานั้นให้เกิดเป็นรูปธรรมมากที่สุด สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะสร้างศรัทธาให้กลับมาเป็นพลังในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันได้5

น่าคิดเหมือนกันว่า การจัดการปัญหาคอร์รัปชันอย่างเป็นรูปธรรมตามความตั้งใจของทั้ง สี จิ้นผิง และ หวัง ฉีซาน คือ การเล่นงานทั้ง “เสือและแมลงวัน” แบบ “ไร้ความปรานี” ไม่มีซูเอี๋ย หรือ มวยล้มต้มคนดู ไม่ทำแบบขอไปที ไม่มีลูบหน้าปะจมูก ทุกอย่างว่ากันตามกฎหมายจริง ๆ

อย่างไรก็ดี ปัญหาคอร์รัปชันจีนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่ได้แก้สำเร็จด้วยใครคนใดคนหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง เพราะดัชนีชี้วัดสถานการณ์คอร์รัปชันอย่าง Corruption Perception Index (CPI) ของจีน ยังอยู่ในระดับต่ำอยู่

ตาราง

CPI ปี 2015 ล่าสุด จีนได้คะแนนความโปร่งใสเพียง 37 จาก 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 83 จาก 168 ประเทศ (ดีขึ้นจากปีที่แล้ว 1 คะแนน)

กล่าวโดยสรุป ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนพยายามจัดการปัญหาคอร์รัปชันโดยมุ่งปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง เข้มข้น ไม่เลือกปฏิบัติ ลงโทษทั้งเจ้าหน้าที่พรรคระดับล่างและระดับบน ตัวอย่างที่เห็นมาแล้ว คือ กรณีของนายโจว หย่งคัง (Zhou Yongkang) นายป๋อ ซีไหล (Bo Xilai) และนายสู ไฉโฮ่ว (Xu Caihu)

ที่ผ่านมา รัฐบาลของนายสี จิ้นผิง ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งในกระบวนการตรวจสอบ โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจีน (CNAO) ที่พยายามพัฒนาเทคนิค วิธีการตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา พร้อมกับเพิ่มอำนาจกับ CCDI ซึ่งทำงานได้รวดเร็ว เด็ดขาด ผลลัพธ์เหล่านี้ทำให้กลไกปราบปรามคอร์รัปชันในจีนมีความเข้มแข็งมากกว่ารัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา

น่าชื่นชมว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชันแบบของ สี จิ้นผิง และ หวัง ฉีซาน เป็นการแก้ที่เน้นการลงมือทำจริง ไม่ใช่ต่อต้านคอร์รัปชันแต่ “วาทกรรม” เพียงอย่างเดียว

หมายเหตุ: 1. อ่านเพิ่มเติมที่นี่
2. ดูข้อมูลสถิติย้อนหลังการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐของจีนที่คอร์รัปชันได้ที่นี่
3. หวัง ฉีซาน เป็นหนึ่งในเจ็ดกรรรมการประจำคณะกรรมการการเมือง หรือกรมการเมือง-Politburo Standing Committee ซึ่งเป็นกลุ่มผู้กุมอำนาจสูงสุดในพรรคคอมมิวนิสต์ ปัจจุบัน Politburo ประกอบด้วย สี จิ้น ผิง (ประธานาธิบดี) หลี เค่อเฉียง (นายกรัฐมนตรี) จัง เต๋อเจียง, อู๋ เจิ้งเซิน, หลิว หยุนซาน, หวัง ฉีซาน และ จาง กัวหลี
4. ผู้สนใจดู ที่นี่
5. ผู้สนใจประวัติของหวัง ฉีซาน เพิ่มเติม ดู ที่นี่