ThaiPublica > เกาะกระแส > ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2563 ไทยถอยหลังอีกปีลงไปที่อันดับ 104

ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2563 ไทยถอยหลังอีกปีลงไปที่อันดับ 104

30 มกราคม 2021


วันที่ 28 มกราคม 2564 องค์กรความโปร่งใสสากล หรือ Transparency International (TI) ได้เผยแพร่รายงานผลการจัดอันดับความโปร่งใส Corruption Perception Index( CPI) หรือ ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2563 ซึ่งได้ทำเป็นประจำทุกปีต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2538

ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2563 สะท้อนภาพหดหู่ของการคอร์รัปชันทั่วโลก โดยประเทศส่วนใหญ่แทบจะไม่มีความคืบหน้าในการขจัดคอร์รัปชันในรอบทศวรรษ และเช่นเดียวกับปีที่แล้วมากกว่า 2 ใน 3 ของ 180 ประเทศได้คะแนนต่ำกว่า 50 โดยมีคะแนนเฉลี่ยเพียง 43 คะแนนเท่านั้น และแม้บางประเทศมีความคืบหน้า แต่ประเทศส่วนใหญ่ยังไม่สามารถจัดการกับคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2563 ยังแสดงให้เห็นว่า การคอร์รัปชันที่กระจายวงออกไปกำลังทำให้การตอบสนองต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 อ่อนแอลงซึ่งคุกคามการฟื้นตัวของโลก

การคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่องกำลังบ่อนทำลายระบบการดูแลสุขภาพและทำให้ประชาธิปไตยถอยหลังท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19

ประเทศที่จัดการกับคอร์รัปชันได้ดีและมีอันดับดีในดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2563 เป็นประเทศที่ลงทุนมากในการดูแลสุขภาพซึ่งสามารถจัดให้ระบบดูแลสุขภาพถ้วนหน้าได้ และมีโอกาสน้อยที่จะละเมิดบรรทัดฐานประชาธิปไตยและสถาบันประชาธิปไตย หรือหลักนิติธรรม

“โควิด-19 ไม่ใช่เพียงแค่วิกฤตสุขภาพและเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นวิกฤตคอร์รัปชั่น และเป็นสิ่งหนึ่งที่เราไม่สามารถจัดการได้ในขณะนี้” เดเลีย เฟอร์เรรา รูบิโอ ประธานองค์กรความโปร่งใสสากลกล่าว “ปีที่ผ่านมามีการทดสอบรัฐบาลแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นในระดับสูงขึ้น ก็ไม่สามารถตอบสนองความท้าทายนี้ได้ และแม้แต่ประเทศที่อยู่ในระดับสูงสุดของ CPI ก็ต้องเร่งแก้ไขบทบาทของตนในการจัดการกับการคอร์รัปชันทั้งในและต่างประเทศให้หมดไปอย่างเร่งด่วน

ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2563 ประเมินสถานการณ์คอร์รัปชัน 180 ประเทศและเขตปกครองต่างๆ จากการรับรู้การทุจริตในภาครัฐจาก 13 เกณฑ์ประเมินและผลสำรวจจากผู้บริหารระดับสูงในภาคธุรกิจ นำมาให้คะแนนจาก 0 ถึง 100 ซึ่ง 0 หมายถึงมีการคอร์รัปชันสูง แต่ 100 หมายถึงไม่มีการคอร์รัปชันเลย

เดนมาร์กติดอันดับ 1 นิวซีแลนด์ ติดอันดับ 2 ด้วยคะแนน 88 เท่ากัน ขณะที่ซีเรีย โซมาเลียและซูดานใต้ได้คะแนน 14, 12 และ 12 ตามลำดับ

นับตั้งแต่ปี 2555 ที่มีการจัดอันดับเป็นครั้งแรกด้วยวิธีการ CPI ในปัจจุบัน มี 26 ประเทศที่คะแนน CPI เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ เอกวาดอร์ (39) กรีซ (50) กายอานา (41) เมียนมาร์ (28) และเกาหลีใต้ (61) และมี 22 ประเทศที่คะแนนลดลงอย่างมีนัยสำคัญได้แก่ บอสเนียและเฮอร์เซโกวินา (35), กัวเตลมาลา(25), เลบานอน (25), มาลาวี (30), มอลต้า (53) และโปแลนด์ (56)

ประเทศเกือบครึ่งหนึ่งย่ำอยู่อันดับเดิมมาเกือบทศวรรษ สะท้อนให้เห็นถึง การดำเนินของรัฐบาลในการแก้ไขรากเหง้าของการทุจริตคอร์รัปชันที่หยุดนิ่ง

  • ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2562 ไทยอันดับถดถอย 101 ต่อต้านทุจริตทั่วโลกย่ำกับที่
  • รายภูมิภาค

    ภูมิภาคที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดคือยุโรปตะวันตกและสหภาพยุโรป โดยมีคะแนนเฉลี่ย 66 คะแนน ภูมิภาคที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำสุดคืออัฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา ด้วยคะแนนเฉลี่ย 32 คะแนน เอเชียแปซิฟิกมีคะแนนเฉลี่ย 45 ยุโรปตะวันออกและเอเชียมีคะแนนเฉลี่ย 36 ภูมิภาคอเมริกามีคะแนนเฉลี่ย 43 และตะวันออกกลางกับอัฟริกาเหนือมีคะแนนเฉลี่ย 39

    แม้มีคะแนนเฉลี่ย 66 และเป็นภูมิภาคที่มีผลการดำเนินงานสูงสุดใน CPI แต่ยุโรปตะวันตกและสหภาพยุโรป (EU) อยู่ภายใต้กดดันอย่างมากเนื่องจากโรคโควิด-19

    ประเทศที่มีดัชนี CPI สูงสุดคือ เดนมาร์ก (88) อยู่ในอันดับหนึ่งของโลก ตามมาด้วยฟินแลนด์ (85) สวีเดน (85) และสวิตเซอร์แลนด์ (85) ในทางกลับกัน ประเทศที่มีคะแนนต่ำที่สุดจากภูมิภาคนี้ ได้แก่ โรมาเนีย (44), ฮังการี (44) และบัลแกเรีย (44

    ในภูมิภาคอเมริกา แคนาดาและอุรุกวัยเป็นประเทศที่มีผลงานอันดับต้นๆ อย่างต่อเนื่องโดยมีคะแนน 77 และ 71 ตามลำดับ ขณะที่นิการากัว เฮติและเวเนซุเอลาเป็นประเทศที่แย่สุดด้วยคะแนน 22, 18 และ 15 ตามลำดับ

    ด้วยคะแนนเฉลี่ย 45 คะแนน ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังดิ้นรนกับการขจัดการทุจริตและจัดการกับผลกระทบที่รุนแรงต่อด้านสุขภาพและเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

    ด้วยคะแนน 88 คะแนนนิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผลการดำเนินงานสูงสุดใน CPI ทั้งในภูมิภาคและทั่วโลก ตามมาด้วยสิงคโปร์ที่มีคะแนน 85 ติดอันดับ 3 ของโลก ออสเตรเลีย (77) และฮ่องกง (77) ในทางกลับกันกัมพูชาได้ 21 คะแนน อัฟกานิสถาน (19) และเกาหลีเหนือ (18) ได้รับคะแนนต่ำสุดในภูมิภาค แต่ เมียนมาได้ตคะแนน 28 และเป็นประเทศที่มีความคืบหน้าในการดำเนินการด้านคอร์รัปชันส่งผลให้คะแนน CPI เพิ่มขึ้น 13 คะแนนตั้งแต่ปี 2555

    สำหรับประเทศไทยอันดับถดถอยต่อเนื่องลงมาที่ 104 จากอันดับ 101 ในปีก่อนด้วยคะแนนเท่าเดิม 36 คะแนน

    ด้วยคะแนนเฉลี่ย 36 คะแนน ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางเป็นภูมิภาคที่มีผลการดำเนินงานต่ำที่สุดเป็นอันดับสองในดัชนี CPI และมีความเสี่ยงที่จะเกิดการคอร์รัปชั่น อันเป็นผลจากการระบดาของไวรัส-19 โดย จอร์เจีย (56), อาร์เมเนีย (49) และเบลารุส (47) เป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ขณะที่อุซเบกิสถาน (26), ทาจิกิสถาน (25) และเติร์กเมนิสถาน (19) ขึ้นมาเล็กน้อย

    ด้วยคะแนนเฉลี่ยที่ 39 เป็นปีที่ 3 ติดต่อกันภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือยังคงถูกมองว่ามีการคอร์รัปชันอย่างมาก โดยมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยในการควบคุมการทุจริต

    สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และกาตาร์เป็นประเทศที่มีผลการดำเนินงานสูงสุดในระดับภูมิภาคโดยมีคะแนน 71 และ 63 ตามลำดับในขณะที่ลิเบีย (17) เยเมน (15) และซีเรีย (14) เป็นกลุ่มที่มีผลงานแย่ที่สุด

    ด้วยคะแนนเฉลี่ย 32 อัฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา 49 ประเทศเป็นภูมิภาคที่มีผลการดำเนินงานต่ำที่สุดในดัชนี CPI ซึ่งแสดงให้เห็นถึงมีการปรับปรุงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้าและตอกย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินการเร่งด่วน โดยเซเชลส์ได้รับคะแนนสูงสุดในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องที่ 66 คะแนน ตามด้วยบอตสวานา(60)และกาบูเวร์ดี(58) ส่วนประเทศที่มีคะแนนน้อยคือซูดาน(16) โซมาเลีย(12)และซูดานใต้ (12)

    โควิดกับการคอร์รัปชัน

    คอร์รัปชั่นเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อชีวิตและการดำรงชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขเข้ามาด้วย ภาครัฐที่ไร้การคอร์รัปชันมีความสัมพันธ์กับการลงทุนด้านการดูแลสุขภาพมากขึ้น

    ตัวอย่างเช่น อุรุกวัยมีคะแนน CPI สูงสุดในละตินอเมริกา (71) ได้ลงทุนอย่างมากในการดูแลสุขภาพ และมีระบบเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาที่แข็งแกร่งซึ่งช่วยในการตอบสนองต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 และโรคติดเชื้ออื่น ๆ เช่น ไข้เหลืองและซิกา ในทางตรงกันข้ามบังกลาเทศได้คะแนนเพียง 26 และลงทุนเพียงเล็กน้อยในการดูแลสุขภาพ ขณะที่การคอร์รัปชั่นขยายวงขึ้นในช่วงโควิด-19 ตั้งแต่การติดสินบนในคลินิกสุขภาพไปจนถึงการช่วยเหลือที่ไม่ถูกต้อง การทุจริตยังแพร่หลายในการจัดหาเวชภัณฑ์

    ประเทศที่มีระดับการคอร์รัปชั่นสูงขึ้น มักจะเป็นประเทศที่ละเมิดหลักนิติธรรมและสถาบันประชาธิปไตยอย่างเลวร้ายที่สุดในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 ซึ่งรวมถึงฟิลิปปินส์ (34) ที่การตอบสนองต่อโควิด-19 ในลักษณะที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสื่อครั้งใหญ่

    ด้านสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มแย่ลงอย่างต่อเนื่อง โดยทำคะแนนได้แย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555 ด้วยคะแนน 67 คะแนน นอกเหนือจากข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและการใช้อำนาจหน้าที่ตำในทางที่มิชอบของผู้บริหารระดับสูงสุดแล้ว ในปี 2563 การกำกับดูแลมาตรการเยียวยาโควิด -19 ที่มีวงเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนแอ ทำให้เกิดความกังวลอย่างมากและเป็นการถดถอยจากบรรทัดฐานประชาธิปไตยที่ส่งเสริมรัฐบาลที่รับผิดชอบมายาวนาน

    ข้อเสนอแนะ

    ปีที่ผ่านมาได้ตอกย้ำถึงความท้าทายด้านความซื่อสัตย์แม้ในกลุ่มประเทศที่มีคะแนนสูงสุด ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าไม่มีประเทศใดปราศจากการทุจริต ดังนั้นเพื่อลดการทุจริตและตอบสนองต่อวิกฤตในอนาคตได้ดีขึ้น องค์กรความโปร่งใสสากลจึงมีข้อเสนอแนะทุกรัฐบาลดังต่อไปนี้

  • เสริมสร้างสถาบันการกำกับดูแลให้แข็งแกร่ง เพื่อให้แน่ใจว่ามีการจัดสรรทรัพยากรให้ถึงมือผู้ที่ต้องการมากที่สุด หน่วยงานต่อต้านการทุจริตและสถาบันกำกับดูแลต้องมีเงินทุน ทรัพยากรและความเป็นอิสระเพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่
  • ต้องมีตรวจสอบการทำสัญญาที่เปิดเผยและโปร่งใสเพื่อต่อสู้กับการกระทำผิด ระบุผลประโยชน์ทับซ้อนและการกำหนดราคาที่เป็นธรรม
  • ปกป้องประชาธิปไตยและส่งเสริมพื้นที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม เพื่อสร้างเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบ
  • เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องและรับประกันการเข้าถึงข้อมูล เพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนจะได้รับข้อมูลที่ง่าย เข้าถึงได้ ทันเวลาและมีประโยชน์