ThaiPublica > คอลัมน์ > จีนกับการจัดการปัญหาคอร์รัปชัน (ตอนที่ 1)

จีนกับการจัดการปัญหาคอร์รัปชัน (ตอนที่ 1)

16 มกราคม 2016


ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

ที่มาภาพ : http://si.wsj.net/public/resources/images/BN-MA900_1china_J_20160111114532.jpg
ที่มาภาพ : http://si.wsj.net/public/resources/images/BN-MA900_1china_J_20160111114532.jpg

นับตั้งแต่นายสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีน ผลงานที่เห็นเด่นชัดเป็นรูปธรรมของประธานาธิบดี “มาดนิ่ง” ท่านนี้ คือ การปราบปรามคอร์รัปชันภายใต้แนวทาง “จับเสือตีแมลงวัน” (To crack down on tigers and flies)

“เสือ” ในที่นี้หมายถึง เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์และข้าราชการชั้นสูงที่มีเอี่ยวกับเรื่องทุจริต ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีใครกล้าแตะต้อง ส่วน “แมลงวัน” หมายถึง เหล่าเจ้าหน้าที่พรรคระดับล่างๆ ข้าราชการชั้นผู้น้อย ซึ่งคนเหล่านี้คอย “รีดไถสินบน” จากประชาชนตาดำๆ

แน่นอนว่า แคมเปญเอาจริงเอาจังกับเรื่องทุจริตแบบนี้ เป็นการส่งสัญญาณให้คนโกงทั้งหลายทราบว่า พรรคภายใต้การนำของผู้นำชุดนี้ เอาจริงทั้งคอร์รัปชันระดับใหญ่ (Grand corruption) และระดับเล็ก (Petty corruption) ไปพร้อมๆ กัน

ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันยังอยู่ในระดับที่รุนแรง ซึ่งทำให้ทั้งอดีตผู้นำอย่างนายหู จินเทา (Hu Jin Tao) และผู้นำคนปัจจุบัน นายสี จิ้นผิง เกรงว่าหากปล่อยไว้เช่นนี้ คอร์รัปชันจะกลายเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การ “ล่มสลายของพรรค” ในที่สุด

อย่างไรก็ดี กระแสตื่นตัวการต่อต้านทุจริตในจีน เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ในสมัยอดีตประธานาธิบดีหู จินเทา และนายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า

ผู้จุดกระแสครั้งนั้น คือ นายหลี จินหัว อดีตผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของจีน (China National Audit Office) หรือ (CNAO)

CNAO ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1983 ทั้งนี้ การตรวจสอบในจีนมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานมาก แต่การก่อตั้ง CNAO เมื่อ 33 ปีที่แล้ว นับเป็นการเริ่มต้นการพัฒนาองค์กรตรวจสอบให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับหลักการทำงานตรวจสอบในระดับสากล และที่สำคัญ พฤติการณ์ทุจริตต่างๆ มักถูกตรวจเจอจากการทำงานตรวจสอบ

นายหลีได้เปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบของ CNAO ที่ตรวจสอบมาในรอบหลายปีว่า รัฐบาลภายใต้การนำพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นเกิดการรั่วไหลในการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินไปอย่างไรบ้าง และพบการทุจริตประพฤติมิชอบในการใช้จ่ายงบประมาณอย่างไร

การเปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบกลายเป็นเรื่องร้อนภายในสังคมจีนและได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเป็นอย่างมากจนถึงกับตั้งชื่อเหตุการณ์ครั้งนั้นว่าเป็น Audit Storm หรือ พายุการตรวจสอบ

พายุการตรวจสอบได้หอบเอาข้าราชการขี้โกงทั้งหลายไปรับโทษจากพรรคฐาน “ทุจริตคอร์รัปชัน” ขณะเดียวกัน หลี จินหัว เองได้รับการยกย่องว่าเป็น “ตงฉิน” หรือ ผู้ว่า สตง. มือปราบเหล็ก (Iron-handed Auditor General) ผู้กล้าเปิดโปงคนกระทำผิดโดยไม่เกรงกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม

อย่างไรก็ดี Audit Storm คือ คลื่นลูกแรกของการต่อต้านคอร์รัปชันในสังคมจีน ซึ่งเป็นแค่การจุดกระแสต่อต้านทุจริต โดยอาศัยรายงานผลการตรวจสอบของ สตง.จีนที่เป็นสื่อกลางให้สังคมรับรู้เรื่องราวทุจริต

ช่วงเวลาสิบปีที่ผ่านมา สตง.จีน ยังได้พัฒนาเทคนิคการตรวจสอบเพื่อช่วยลดโอกาสและความเสี่ยงในการทุจริตโดยเฉพาะการตรวจสอบที่มุ่งไปที่การป้องกันความเสียหายอย่างทันท่วงที ซึ่งพวกเขาเรียกว่า Real Time audit

คมวาทะของนายหลี จินหัว อดีตผู้ว่าการ สตง.จีน (CNAO)ที่เขากล่าวไว้ว่า การสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจจริงๆ แล้วมีปัญหารุนแรงพอๆ กับการทุจริตคอร์รัปชัน ที่มาภาพ :http://www.azquotes.com/picture-quotes/quote-economic-losses-like-this-are-really-as-serious-a-problem-as-embezzlement-and-corruption-li-jinhua-67-36-21.jpg
คมวาทะของนายหลี จินหัว อดีตผู้ว่าการ สตง.จีน (CNAO) ที่เขากล่าวไว้ว่า การสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจจริงๆ แล้วมีปัญหารุนแรงพอๆ กับการทุจริตคอร์รัปชัน ที่มาภาพ :http://www.azquotes.com/picture-quotes/quote-economic-losses-like-this-are-really-as-serious-a-problem-as-embezzlement-and-corruption-li-jinhua-67-36-21.jpg

ปรัชญาพื้นฐานของ Real Time Audit มาจากภาษิตที่ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” ด้วยเหตุนี้ การตรวจสอบแบบ Real Time จึงกำหนดประเด็นเรื่องการติดตามผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณ (Follow-up) ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการยันสิ้นสุดโครงการ

Real Time Audit ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ภาครัฐตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 ซึ่งช่วงนั้นรัฐบาลจีนลงทุนก่อสร้างสนามกีฬาเพื่อใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 29 ปี ค.ศ. 2008 ที่มหานครปักกิ่ง

การเฝ้าติดตามการใช้จ่ายลงทุนก่อสร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่ทำให้ลดโอกาสการทุจริตลงได้

นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 2008 ยังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งสำคัญในมณฑลเสวน รัฐบาลได้เข้าฟื้นฟูช่วยเหลือโดยลงทุนใช้จ่ายเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีโอกาสรั่วไหล

อย่างไรก็ดี สตง.จีนก็ยังคอยเฝ้าติดตามตรวจสอบ “เกาะติด” การใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนกระทั่งสิ้นสุดโครงการตามแนวทาง Real Time Audit

ข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซด์ของ CNAO รายงานว่า พวกเขาระดมทีมผู้ตรวจสอบถึง 200,000 คน แบ่งออกเป็น 7,000 ทีม เข้าตรวจสอบ-ติดตามเพื่อป้องกันไม่ให้เงินที่ลงทุนไปนั้นรั่วไหลแม้แต่ “หยวน” เดียว

การปรับกระบวนทัศน์โดยนำ Real Time Audit มาใช้นั้น ทำให้ สตง.จีนสามารถตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการได้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาด รั่วไหล และเฝ้าระวังตักเตือนหน่วยงานที่ใช้งบประมาณแผ่นดินให้ “คุ้มค่า” มากที่สุด

โครงการขนาดใหญ่ระดับเมกะโปรเจกต์หลายโครงการถูกตรวจสอบแบบ Real Time Audit และเมื่อพบอะไรผิดปกติ ผู้ตรวจสอบก็จะรีบรายงานผลทันที โดยหากพบพฤติการณ์ที่น่าสงสัยว่าจะเกิดการคอร์รัปชัน หน่วยงานที่จะมารับลูกต่อจาก สตง. จีน คือ คณะกรรมการตรวจสอบวินัยแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือ CCDI (Central Commission for Discipline Inspection)

CCDI เป็นกลไกการทำงานเพื่อควบคุมวินัยของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งบทบาทของ CCDI เด่นชัดขึ้นมาในยุคที่ประธานาธิดีสี จิ้นผิง ที่เอาจริงเอาจรังกับการปราบปรามคอร์รัปชัน

ในตอนหน้า เราจะมาว่ากันต่อถึงบทบาทของ CCDI ในยุคของสี จิ้นผิง ที่ใช้นโยบายปราบคนโกงแบบ “จับเสือตีแมลงวัน”