ThaiPublica > คอลัมน์ > Corruption Perceptions Index 2020 ถอดบทเรียนจากติมอร์-เลสเต

Corruption Perceptions Index 2020 ถอดบทเรียนจากติมอร์-เลสเต

28 กุมภาพันธ์ 2021


ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา องค์กรความโปร่งใสสากลหรือ Transparency International (TI) เผยแพร่ดัชนีความโปร่งใสของประเทศต่างๆ ทั่วโลก หรือที่รู้จักกันในชื่อ Corruption Perceptions Index (CPI) ปี 2020

CPI นับเป็นตัวชี้วัดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะนอกจากจะเป็นดัชนีที่เก่าแก่มาตั้งแต่ปี 1995 แล้ว รูปแบบการนำเสนอยังเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน กล่าวคือ ประเทศที่มีความโปร่งใสสูงสุด ค่า CPI จะเข้าใกล้ 100 ส่วนประเทศที่มีความโปร่งใสน้อย ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันยังแก้ไม่ตก ค่า CPI จะเข้าใกล้ 0

การประกาศค่า CPI ปีนี้ ผลคะแนนเป็นไปตามคาด กลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวียยังรักษาตำแหน่งความโปร่งใสในระดับต้นๆ ของโลกได้อยู่

ปี 2020 เดนมาร์ก ครองแชมป์ร่วมกับนิวซีแลนด์ ด้วยคะแนน 88 เต็ม 100 ลำดับถัดมา ได้แก่ อดีตแชมป์หลายสมัยอย่างฟินแลนด์ (85) สวีเดน (85) สวิตเซอร์แลนด์ (85) และสิงคโปร์ (85) หนึ่งเดียวในเอเชียที่ยังรักษามาตรฐานประเทศโปร่งใส จัดการปัญหาคอร์รัปชันได้มีประสิทธิภาพ

หันมาดูในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกันบ้าง…ผลการจัดอันดับความโปร่งใสปีนี้ ออสเตรเลีย คะแนนร่วงลงมาเหลือ 77 เท่ากับฮ่องกง ครองอันดับ 11 ร่วมกัน ขณะที่ญี่ปุ่นได้คะแนน 74 รั้งอันดับที่ 19

ปีนี้น่าสนใจที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี อีกหนึ่งประเทศน่าจับตาจากกลุ่มประเทศอาหรับที่ได้คะแนนสูงถึง 71 ไต่ขึ้นมาอยู่ที่อันดับที่ 21

กรณีของยูเออีนั้น นับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา CPI ของยูเออีอยู่ในระดับ 70-71 มาโดยตลอด

ทั้งนี้เมื่อปี 2019 รัฐบาลยูเออีได้จัดประชุมนานาชาติระหว่าง UNODC องค์กรตรวจเงินแผ่นดินและองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันจากทั่วโลกโดยได้ข้อสรุปร่วมกันที่เรียกว่า Abu Dhabi Declaration 2019 ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างองค์กรตรวจเงินแผ่นดินกับองค์กรต่อต้านทุจริตในการป้องกันปัญหาคอร์รัปชัน

ปัญหาคอร์รัปชันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกยังเชื่อมโยงกับเรื่องการฟอกเงิน โดยเฉพาะเกาะเล็กเกาะน้อยในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เป็นจุดหมายปลายทางของเหล่านักฟอกเงิน เช่น หมู่เกาะโซโลมอน

อย่างไรก็ดี ปีนี้โซโลมอนได้คะแนน CPI 42 คะแนน (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ 31 ประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิกที่มีค่าเฉลี่ย CPI อยู่ที่ 45 คะแนน)

หันกลับมามองกลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชีย ทั้งจีนและอินเดีย ทั้งคู่ได้คะแนนเกิน “หลักสี่” กล่าวคือ CPI จีนอยู่ที่ 42 คะแนน อันดับที่ 78 ส่วนอินเดียได้ 40 คะแนน อันดับที่ 86

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และนายกรัฐมนตรี นเรนทระ โมที สองผู้นำชาติยักษ์ใหญ่ ยังคงต้องจัดการปัญหาคอร์รัปชันในประเทศพวกเขาต่อไป ที่มาภาพ : https://images.financialexpress.com/2018/06/Modi-XI.jpg

กรณีของจีนนั้น รัฐบาลปักกิ่งภายใต้การนำของสีจิ้นผิง พยายามทำทุกวิถีทางที่จะลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะเน้น “ไม้เรียว” มากกว่าแจกขนมหวาน ซึ่งจีนทำได้ดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดย TI ได้จัดให้จีนเป็นกลุ่ม significant improvers หรือ กลุ่มประเทศที่มีพัฒนาการต่อต้านคอร์รัปชันไปในทางที่ดีมาก

ก่อนหน้านี้ คะแนน CPI จีน ยังวนเวียนอยู่ใน “หลักสาม” (คล้ายๆ กับบ้านเรา) แต่ด้วยความมุ่งมั่น เข้มงวดและเอาจริงในการบังคับใช้กฎหมาย แบบไม่ลูบหน้าปะจมูก ทำให้นับตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปี 2020 คะแนน CPI จีน ขยับขึ้นมาถึง 6 คะแนน

กลุ่มประเทศที่ได้คะแนนแบบ significant improvers ยังมี เกาหลีใต้ (61) ขยับขึ้นมา 6 คะแนนในรอบ 8 ปี, เนปาล (33) ขยับขึ้นมา 6 คะแนนในรอบ 9 ปี, อัฟกานิสถาน (19) ขยับขึ้นมา 11 คะแนนในรอบ 9 ปี, เมียนมาร์ (28) ขยับขึ้นมาถึง 13 คะแนนในรอบ 9 ปี

…และติมอร์-เลสเต (40) ขยับขึ้นมา 10 คะแนนในรอบ 8 ปี (ดูตารางเปรียบเทียบ CPI ไทยกับติมอร์)

จากตาราง เราจะเห็นได้ว่าค่า CPI ของติมอร์-เลสเต ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา วนเวียนอยู่ในหลักสามต้นๆ จนถึงปี 2014-2015 ที่ CPI ร่วงลงไปอยู่ที่ 28 คะแนน อย่างไรก็ดี จุดเปลี่ยนคือการกระโดดขึ้นมาพรวดเดียว 7 คะแนนในปี 2016 ที่ทำให้ติมอร์-เลสเต ได้ค่าคะแนน CPI เท่าประเทศไทย คือ 35 คะแนน

จุดเปลี่ยนสำคัญนี้เกิดขึ้นจากความพยายามของรัฐบาลติมอร์-เลสเต ในการจัดการปัญหาคอร์รัปชันโดยพยายามสร้างปัจจัยทางสถาบันการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้มีความเข้มแข็ง (institutional framework) เน้นเรื่องความโปร่งใสตามสูตรสำเร็จการต่อต้านคอร์รัปชัน

ปี 2020 ติมอร์ได้ผ่านกฎหมายการป้องกันปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาสาระสอดคล้องกับความเป็นสากลสูงโดยมีหน่วยงานที่ชื่อ CAC หรือ Anti-Corruption Commission of Timor-Leste เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการทุจริต

ติมอร์-เลสเตลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตระดับสากล หรือ UNCAC ตั้งแต่ปี 2008 และตั้ง CAC เมื่อปี 2009

CAC กับภารกิจท้าทายในการจัดการปัญหาคอร์รัปชันในติมอร์
ที่มาภาพ : https://pbs.twimg.com/profile_images/821574415007694849/ttfBJQ2g.jpg

ในช่วงเริ่มต้นของการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันย่อมอาศัยการเรียนรู้ ดูงานจากประเทศอื่นๆ ไปก่อน และพยายามหาส่วนผสมที่ลงตัวให้กับบริบทของตนเอง

ขณะเดียวกัน ติมอร์-เลสเตยังเผชิญปัญหาเรื่องการฟอกเงิน ด้วยความที่เป็นประเทศเกิดใหม่ทำให้ยังขาดกลไกทางกฎหมายที่รัดกุม การบังคับใช้กฎหมายยังไม่เคร่งครัดเท่าที่ควร

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ติมอร์-เลสเตได้คะแนน CPI ปี 2020 ล้ำหน้าเพื่อนบ้านอาเซียนหลายประเทศอย่างอินโดนีเซีย (37), เวียดนาม (36), ฟิลิปปินส์ (34) ด้วยเหตุที่พวกเขามีความพยายามจะผลักดันให้กฎหมายการต่อต้านทุจริตนั้นถูกบังคับใช้ได้จริง กฎหมายที่ว่านี้สอดคล้องกับแนวทางสากลที่ครอบคลุมไปถึงการวางมาตรการจัดการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างเหมาะสม มีทั้งเรื่องการป้องกันการฮั้วประมูล การแจงบัญชีทรัพย์สิน การกำหนด code of conduct ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ

อย่างไรก็ดี การบังคับใช้กฎหมายให้เสมอภาคและเคร่งครัดนั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ติมอร์-เลสเตจะก้าวผ่านดัชนีค่า CPI จากหลักสี่ไปสู่หลักห้าได้หรือไม่

…หรือจะร่วงกลับลงมาสู่ “หลักสาม” เหมือนกับอินโดนีเซีย

ผลคะแนน CPI ของติมอร์-เลสเตในปีนี้ทำให้หลายประเทศ “พี่เบิ้ม” ในอาเซียนคงต้องหันมาทบทวนตัวเองบ้างแล้วว่า ที่ผ่านมาเราต่อต้านคอร์รัปชันกันอย่างไร คะแนน CPI จึงไม่ขยับเสียที