ThaiPublica > คอลัมน์ > สุดยอดนวัตกรรมแห่งปีที่ลาสเวกัส

สุดยอดนวัตกรรมแห่งปีที่ลาสเวกัส

18 กุมภาพันธ์ 2024


1721955

เมื่อปลายปีที่ผ่านมาเว็บ tomorrowsworldtoday รายงานถึง 5 นวัตกรรมขั้นสูงล้ำอนาคต ที่บัดนี้สถิตอยู่ ณ ลาสเวกัส ว่าแต่หลายคนอาจตั้งคำถามว่าทำไมมันจึงต้องเป็นลาสเวกัส คำตอบไม่ยากเลย เพราะลาสเวกัสขึ้นชื่อเรื่องความสนุกสนานล้ำสมัย เราอาจรู้ว่าเมืองนี้เป็นบ่อนคาสิโน และมีน้ำพุเต้นระบำเบลาจิโอ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างพากันหลั่งไหลมามากมายกว่า 2.9 ล้านคน ขณะนี้เมืองนี้ยังมีประชากรมากที่สุดในรัฐเนวาดาด้วยจำนวนมากกว่า 2.2 ล้านคน แถมเมืองนี้ยังเป็นเมืองตากอากาศ นอกจากนักพนันแล้ว บรรดานักช็อปนักชิมต่างดาหน้ากันมาเพราะมันมีทั้งห้างหรู ภัตตาคารรสเลิศ และสถานบันเทิงที่รองรับทุกระดับความประทับใจตั้งแต่สวนสนุกไปยันคลับระบำเปลื้องผ้า

ทำให้ที่นี่ถูกจัดให้เป็นแห่งแรก ๆ ในการทดสอบพัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตั้งแต่ยานยนต์ไร้คนขับ ไปจนสตาร์ทอัพเบอร์ใหม่ ๆ ที่มาพร้อมนวัตกรรมอันหลากหลายไอเดียเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทุกรูปแบบที่เฮโลกันมาที่นี่ โดยเฉพาะในปี 2013 เมื่อเครือข่ายอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ zappos ที่มีพนักงานกว่า 1,500 คน และมียอดขายมากกว่าสองพันล้านดอลลาร์ต่อปี ได้มูฟสำนักงานใหญ่มาอยู่ใจกลางลาสเวกัส ได้ช่วยสร้างพัฒนาใหม่ ๆ ในพื้นที่ ดึงดูดเทคโนโลยีขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางจำนวนมาก

แล้วต้องไม่ลืมว่าอันที่จริงลาสเวกัสเป็นเวทีระดับโลกสำหรับงานแสดงสินค้าทางนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีงานใหญ่จัดที่นี่ปีละสองงาน นั่นคือ งาน Consumer Electronics Show (CES) และ Specialty Equipment Market Association (SEMA) ซึ่งทั้งสองงานอยู่ภายใต้ Switch บริษัทโซลูชั่นเทคโนโลยีระดับโลก ที่เน้นจัดงานยักษ์ระดับเทียร์ 5 เพียงแห่งเดียวในโลก และมันตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเนวาดามาตั้งแต่ปี 2016 แล้วนับแต่นั้นมาลาสเวกัสก็กลายเป็นสถานที่จัดประชุมระดับโลกขนาดใหญ่ที่มีพร้อมสรรพสิ่งรองรับทุกความต้องการตั้งแต่ที่พัก ห้องประชุมหลากหลายขนาดพร้อมอุปกรณ์ครบครัน ห้องจัดงานเลี้ยง และสถานที่จัดการแสดงหลากหลายประเภท

ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้เองทำให้ลาสเวกัสถูกเลือกให้เป็นศูนย์กลางการทดสอบเทคโนโลยีล้ำ ๆ ไม่ว่าจะด้านพลังงานทางเลือก การคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม ตลอดจนการร่วมมือกันระหว่างเมือง ไปจนถึงหน่วยงานพันธมิตรทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะในด้านไฟเบอร์ใยแก้ว การขนส่งสาธารณะ การสื่อสาร และอินเทอร์เนต ลาสเวกัสเป็นศูนย์บ่มเพาะทางเทคโนโลยีที่มุ่งเน้นความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (เพราะเมืองนี้อันที่จริงแล้วพื้นที่สวนใหญ่เป็นทะเลทรายและหุบเขา) ปัจจุบันจึงมียานพาหนะที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติและสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ง่าย ๆ บนถนนที่ทอดยาวทั่วเมืองนี้กว่า 2,156 กิโลเมตร และต่อไปนี้คือสุดยอดนวัตกรรมแห่งปีที่ผ่านมา

Sphere

ทั่วโลกต่างตะลึงกับทรงกลมยักษ์อาคารนี้ที่ถูกสร้างมาเพื่อภายในใช้เป็นสถานที่จัดแสดงคอนเสิร์ต เวทีประชุมใหญ่ หรือจัดงานรื่นเริงใดใดก็ได้ด้วยจำนวนที่นั่งมากถึง 18,600 ที่นั่ง ด้วยสุดยอดเทคโนโลยีทางภาพและเสียง หน้าจอไฟ LED ที่ให้ความละเอียดในระดับ 16K ด้วยระบบกล้องพิเศษที่สามารถฉายภาพที่ความเร็ว 120 เฟรมต่อวินาที, ลำโพงใช้เทคโนโลยีบีมฟอร์มมิ่ง (ระบบรับและส่งสัญญาณทุกทิศทาง ควบคุมพื้นที่ในการส่งสัญญาณ เช่นให้ทั้งอาคารได้ยินเสียงดังในระดับเท่า ๆ กัน หรือควบคุมทิศทางใดทางหนึ่งให้มีเสียงเบาค่อยแตกต่างกันไปได้) และเทคโนโลยีการสังเคราะห์สนามคลื่น(ผ่านลำโพงจำนวนมากถึง 167,000 ตัวที่ขับเคลื่อนคลื่นเสียงแยกจากแหล่งกำเนิดเสียง ทำให้เสียงสามารถมาได้จากทุกทิศทางสมจริงอย่างสมบูรณ์แบบ) และสามารถสร้างบรรยากาศภายในด้วยการให้กลิ่นและควบคุมลมได้ทั้งอาคาร

ไปจนถึงการฉายภาพแบบโฮโลแกรม และภาพในแบบ 4D ขั้นสูงที่สามารถตอบสนองต่อการสัมผัสหรือผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงภายในสิ่งแวดล้อม ณ ขณะนั้น (interactive) ที่สมจริงอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ส่วนภายนอกทรงกลมคือจอ LED ขนาด 580,000 ตารางฟุต ที่ทรงกลมมีความสูงถึง 112 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 157 เมตร นับเป็นจอ LED ที่ใหญ่และมีความละเอียดที่สุดในโลก

อาคารนี้ออกแบบโดยทีมบริษัทผู้ออกแบบ Populous ซึ่งที่ผ่านมามักจะออกแบบสนามกีฬาสเตเดียมยักษ์ ๆ กระทั่งมาในโปรเจ็คต์ยักษ์ใหญ่นี้ที่ถูกประกาศสร้างตั้งแต่ปี 2018 โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบทั้งสิ้นราว 1.2 พันล้านดอลลาร์ แต่เนื่องจากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2020-2021 แล้วตามด้วยวิกฤติห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก (global supply chain crisis 2021-2023) อันเป็นผลกระทบจากช่วง Covid-19 สุดท้ายโครงการนี้จึงบานปลายไปทั้งสิ้น 2.3 พันล้านดอลลาร์ (ราว 8.3 หมื่นล้านบาท) กว่าจะได้ใช้งานได้จริงก็เมื่อเดือนกันยายน 2023 (เดิมทีวางว่าจะเปิดในปี 2021) ที่ผ่านมาด้วยการแสดงคอนเสิร์ตวง U2

Sphere เป็นอาคารทรงกลมที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยพื้นที่ 81,300 ตารางเมตร ทุกที่นั่งมีระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่มาพร้อมระบบสัมผัส ทั้งอาคารแบ่งออกเป็น 9 ชั้น (รวมชั้นใต้ดิน) เป็นที่ตั้งของสโมสรระดับวีไอพี มีห้องสวีททั้งหมด 23 ห้อง

อย่างไรก็ตามหลังจากผ่านไตรมาสแรกไป อาคารแห่งนี้ก็ขาดทุนไปแล้ว 98.4 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ CFO ของบริษัทผู้ริเริ่มสร้าง (เมดิสัน สแควร์ การ์เดน เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ MSG) ถึงกับต้องลาออก แล้วแม้ว่า MSG จะมีโครงการสร้าง Sphere แห่งอื่น ๆ อีก แต่หลายประเทศก็ประกาศบอกลาโครงการไป อาทิ ในเมืองสแตรทฟอร์ด ของลอนดอนตะวันออก ซึ่งเมื่อปลายพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้เอง ซาดิก ข่าน นายกเทศมนตรีลอนดอนได้แสดงความกังวลว่าอาคารรูปแบบนี้จะส่งผลต่อมลพิษทางแสง อีกแห่งคือในเมืองฮานัมของเกาหลีใต้ ที่โปรเจ็คต์ชะงักลงแล้วเช่นเดียวกับซาอุดิอาระเบีย อย่างไรก็ตามปัจจุบัน MSG กำลังเจรจากับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพื่อจะสร้าง Sphere แห่งที่สองในเมืองอาบูดาบี

ซ้าย AuRA – ขวา Digit

Aura Humanoid

ภายใน Sphere จะมีสิ่งหนึ่งที่คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือนสถานที่แห่งนี้ นั่นคือหุ่นยนต์ฮิวมันอยด์ 5 ตัวที่เป็นระบบที่เรียกว่า AuRA หรือ Autonomous Robot Architecture ดังนั้นชื่อ ออร่า ไม่ใช่ชื่อของหุ่นยนต์ แต่คือชื่อของระบบหรือรุ่นนี้ทั้งหมดที่มีการออกแบบมาในลักษณะสถาปัตยกรรมหุ่นยนต์ที่มีความละเอียดในการสร้างรูปลักษณ์ภายนอก และเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถคิดวิเคราะห์หรือตอบโต้แบบผสมผสานกับการไตร่ตรอง มันจึงเหมาะมากในการรับหน้าที่ต้อนรับปฏิสัมพันธ์กับแขกผู้มาเยือนมากหน้าหลายแต่แบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย AuRA พัฒนาโดย โรนัลด์ ซี อาร์คิน นักหุ่นยนต์ชาวอเมริกันและนักจริยธรรมหุ่นยนต์จากสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย ได้รับการพัฒนาในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมหุ่นยนต์ไฮบริดกลุ่มแรก

เมื่อปลายปีที่ผ่านมาบริษัท Agility Robotics ประกาศว่ากำลังจะเปิดโรงงานผลิตหุ่นยตร์ภายใต้ชื่อ RoboFab ที่มีฐานการผลิตอยู่ในรัฐโอเรกอน อันจะเป็นโรงงานผลิตหุ่นยนต์ฮิวมันนอยด์แห่งแรกของโลกที่มีกำลังการผลิตหุ่นยนต์ได้มากกว่าหนึ่งหมื่นตัวต่อปี

ตัวโรงงานจะมีขนาดเจ็ดหมื่นตารางฟุต ที่จะมีพนักงานมากกว่า 500 คน ซึ่งในบรรดานี้จะมีแรงงานบางส่วนเป็นหุ่นฮิวมันนอยด์ที่สามารถทำหน้าที่ขนย้ายและยกของหนัก ๆ ได้ โดยหุ่นยนต์เบอร์แรกที่บริษัทวางแผนจะจัดจำหน่ายในปี 2025 มีชื่อว่า Digit เป็นหุ่นยนต์ยืนสองขาคล้ายมนุษย์ แต่ไม่มีส่วนหัวเพื่อรูปลักษณ์จะทำให้มนุษย์รู้สึกได้อย่างรวดเร็วว่าพวกนี้ถูกออกแบบมาให้ทำตามคำสั่งจากมนุษย์อย่างเดียวโดยไม่ต้องคิดหรือไตร่ตรองใดใด มันเป็นหุ่นยนต์แรงงานชั้นดีที่จะช่วยเราทุ่นแรก หรือช่วยผู้พิการ ขนย้ายขนส่งของหนัก ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ ได้

The Vegas Loop

จำได้ว่าเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2023 Hyperloop One หนึ่งในบริษัทของอีลอน มัสก์ ประกาศล้มละลาย ในประเทศไทยฟากฝั่งเจ้าแห่งการเฟคนิวส์อย่างท็อปนิวส์ ก็ลั่นหยามเย้ยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจโดยทันทีว่า ไฮเปอร์ลูปเจ๊งแล้ว ด้วยความที่ครั้งเมื่อหาเสียงเลือกตั้ง ธนาธรโปรแนวคิดไฮเปอร์ลูปนี้อย่างมาก อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงแม้ว่า Hyperloop One เจ้าใหญ่ที่สุดของการผลิตไฮเปอร์ลูปเชิงพาณิชย์จะล้มละลาย แต่ไม่ได้หมายความว่านวัตกรรมนี้ไม่มีอยู่จริง อันที่จริงมันถูกผลิตออกมาใช้แล้วในลาสเวกัส และมันเริ่มทดลองใช้มาตั้งแต่กลางปี 2021 แล้ว

ไฮเปอร์ลูป เป็นระบบขนส่งความเร็วสูงที่สามารถขนส่งได้ทั้งผู้โดยสารและสินค้า เป็นแนวคิดที่ อีลอน มัสก์เสนอไว้เมื่อปี 2013 โดยเขาอธิบายว่ามันจะเป็นท่อนำส่งทรงแคปซูล ระบบไฮเปอร์ลูปมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ท่อ พ็อด และขั้วต่อ ท่อเป็นระบบแรงดันต่ำขนาดใหญ่ปิดหัวท้ายทั้งสองด้าน มาในรูปอุโมงค์ขนาดยาว พ็อดเป็นรถโค้ชที่ความดันบรรยากาศแต่มีความต้านทานอากาศทำให้แรงเสียดทานภายในท่อต่ำเมื่อใช้แรงขับแม่เหล็ก (แนวคิดเริ่มแรกเป็นพัดลมแบบท่อ) ตลอดโครงการมีการทดสอบหลายต่อหลายครั้งที่ไฮเปอร์ลูปลาสเวกัสแห่งนี้นี่แหละ กระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2020 ก็มีการทดสอบโดยใช้มนุษย์เป็นครั้งแรกเดินทางด้วยความเร็ว 172 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง (แนวคิดนี้ระหว่างนั้นมีหลายประเทศพยายามเลียนแบบ เช่น Swisspod ในเมืองโลซาน ไปจนถึงในยุโรปบางประเทศ อย่างไรก็ตามข่าวช็อคทั่วโลกคือในปี 2023 บริษัทแม่ได้ประกาศปิดกิจการ แต่ให้ปรากฏว่าในปีนี้มีหลายแห่งกำลังพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง

ส่วนอุโมงค์ลูปในเวกัส บริษัท The Boring Company ชนะสัญญาไปในเดือนพฤษภาคม 2019 หลังจากทดสอบใช้ในเดือนพฤษภาคม 2021 ก็พบว่าสามารถขนส่งผู้คนได้มากถึง 4,400 คนต่อชั่วโมง และเริ่มเปิดให้ใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 8 มิถุนายน 2021 ระยะทางโดยรวมปัจจุบันคือ 1.7 ไมล์ แต่ล่าสุดได้รับอนุมัติให้ไปต่อเพื่อขยายไปเป็น 25 ไมล์ จะมีสถานีทั้งหมด 18 สถานี ซึ่งคาดว่าสามารถจะขนส่งผู้โดยสารได้มากกว่าเก้าหมื่นคนต่อชั่วโมง

Tipsy Robot

หุ่นยนต์มือชง เป็นบาร์นวัตกรรมใหม่ในเวกัสที่ใช้หุ่นยนต์รูปมือสองตัวในการผลิตเครื่องดื่มได้มากถึง 120 แก้วต่อชั่วโมง โดยเครื่องดื่มแต่ละแก้จะใช้เวลาราว 60- 90 วินาทีเท่านั้น และทุกแก้วรับประกันว่าจะได้รสชาติที่แม่นยำคงที่มากกว่ามือมนุษย์ แถมการันตีว่าอร่อยทุกแก้ว โดยคุณสามารถสั่งเมนูต่าง ๆ ได้ผ่านแอปแล้วมือนี้จะทำงานโดยอัตโนมัติอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องมีมนุษย์คอยช่วยเหลือเลยแม้แต่ขั้นตอนเดียว

Stadium Swim

สระว่ายน้ำขนาดใหญ่เท่าสนามกีฬาแห่งนี้ตั้งอยู่ภายในโรงแรม Circa โรงแรมคาสิโนแห่งแรกที่สร้างขึ้นเมื่อปี 1980 เป็นคาสิโนที่ขึ้นชื่อด้านนวัตกรรมล้ำ ๆ ที่นำมาใช้ในบ่อนแห่งนี้ และหนึ่งในนั้นคือ Stadium Swim ด้วยการออกแบบสไตล์วินเทจแต่ผสมผสานเทคโนโลยีขั้นสูง หรูหรา ด้วยสระว่ายน้ำ 6 สระที่ในระดับความลึก 3 ระดับแตกต่างกัน แขกทุกคนสามารถมองเห็นหน้าจอทีวี HD ขนาด 148 ฟุตที่ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะให้เห็นได้ง่ายกลางแดดจ้า น้ำในสระจะถูกกรองด้วยน้ำสะอาดที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วย UV-C ทุก 55 นาที

อย่างไรก็ตามบทความนี้มิได้เขียนขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการพนัน เพียงแต่เราต้องการนำเสนอข้อเท็จจริงในอีกด้านถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นภายในเมืองใหญ่แห่งนี้ เพื่อความบันเทิง เพื่อการเดินทางที่สะดวกสบาย และในอนาคตมันอาจเป็นต้นแบบของสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ในโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว…ก็เป็นได้