1721955
“การหลับใหลของเหตุผลให้กำเนิดปีศาจทั้งปวง” -ฟรานซิสโก โกยา
สเปน, 1823 (5 ปีก่อนโกยาสิ้นชีพ)
‘ถึงมาริอาโน หลานรัก
ปู่เขียนมาถึงหลานเพื่อจะบอกว่าปู่กำลังจะไปจากสเปนเร็ว ๆ นี้ เท่าที่รู้ปู่กำลังจะล่องเรือไปจากประเทศที่รักด้วยใจรันทด แต่สเปนที่ปู่กำลังจะตีจาก…ช่างไม่เหมือนเธอคนเดิมที่ปู่เคยรู้จัก…สงครามและความป่วยไข้มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหง
ปู่พยายามอย่างดีที่สุดแล้วที่จะรักษาความศรัทธา แต่ด้วยสุขภาพอันย่ำแย่ของปู่เอง ร่างกายมันบอกปู่ว่าหัวใจของปู่กำลังพยายามที่จะไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลย…
ถึงเวลาอันควรที่จะหยุดการต่อสู้ เพื่อกาลเวลาที่ปู่กำลังจะละทิ้ง ปู่อยากจะทำความรู้จักกับความสุขสงบ
ปู่หวังว่าหลานจะเข้าใจว่าทำไมปู่ถึงไม่สามารถแบกรับสิ่งที่หลงเหลืออยู่ในบ้านหลังนี้ไว้ได้ ดังนั้นปู่จึงทิ้งมันให้หลานคอยดูแลมันในกาลข้างหน้า
หลานจงตระเตรียมต่อสิ่งที่ปู่ทิ้งไว้ให้นี้ มันอาจจะยากที่จะเข้าใจและขณะเดียวกันมันออกจะน่าสะพรึงสำหรับหลาน
จิตใจของปู่นำพาปู่ดิ่งลงสู่ถนนแห่งความมืดมิดยังดีเสียกว่าอยู่ในที่ที่ไม่สามารถไปไหนได้ และแม้นว่าสิ่งที่ดีที่สุดระหว่างเราทั้งคู่ คือการหลับใหลของเหตุผล จักให้กำเนิดปีศาจทั้งปวง…ลงชื่อด้วยรัก จาก โกยา ปู่ของเจ้า’
นี่คือฉากเปิดที่เริ่มต้นด้วยจดหมายส่วนตัวของศิลปินชื่อก้องชาวสเปนโกยาถึงหลานรัก ของเกม Impasto ที่เปิดตัวเวอร์ชั่นเบต้าเมื่อ 5
เดือนก่อนจะเพิ่งเปิดให้เล่นฟรีเวอร์ชั่นเต็ม เมื่อ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้เอง
Impasto อธิบายตัวเองว่าเป็นเกมแนวผจญภัยสยองขวัญแบบมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ที่ได้แรงบันดาลใจจากผลงานของ ฟรานซิสโก โฮเซ เดอ โกยา อี ลูเซียนเตส (Francisco José de Goya y Lucientes) จิตรกรชาวสเปนที่ทั้งเป็นผู้ได้รับความยอมรับนับถือและเป็นทั้งผู้ทนทุกข์ทรมาน เกมกำหนดโครงเรื่องไว้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่อาจย้อนกลับได้ด้วยสติสัมปชัญญะของเขา ผู้เล่นต้องใช้ทั้งการฉกฉวยและไหวพริบเพื่อเอาชีวิตรอด
ตัวชื่อเกม อิมพาสโต้ เป็นภาษาอิตาเลียนมีความหมายถึงแป้งโดว์ ซึ่งมาจากรากศัพท์ที่แปลว่า ปะ หรือแปะ เป็นเทคนิคการลงสีโดยใช้เนื้อสีจำนวนมาก เป็นก้อนหนา แล้วปาด หรือโปะหรือปาดลงบนผ้าใบด้วยเกรียงให้เกิดเป็นร่องรอย พื้นผิว หรือลวดลายของสีที่หนานูนขึ้นมา
ตัวเกมสมมติว่าผู้เล่นเป็น มาริอาโน หลานของโกยาผู้ได้รับมรดกในกรรมสิทธิ์ ‘บ้านคนหูหนวก’ (Quinta del Sordo) ที่ตั้งอยู่นอกกรุงมาดริด ประเทศสเปน เพื่อเข้าไปสำรวจผลงานสำคัญ 14 ชิ้นท้าย ๆ ในบั้นปลายชีวิตโกยา…ในบ้านหลังนี้ แต่ก่อนจะไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลงานดังกล่าว น่าจะดีกว่าหากผู้อ่านจะได้รู้จักผลงานของโกยาตั้งแต่แรก เพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมศิลปินผู้เป็นปรมาจารย์ระหว่างโลกยุคเก่าและยุคใหม่ผู้นี้จึงเลือกจะไปอยู่ในที่ห่างไกล สันโดษ แล้วกระโจนสู่โลกดาร์กมืดในห้วงเวลาสุดท้ายแห่งชีวิต
เหตุการณ์แวดล้อมในเวลานั้น
ในบทนำหนังสือ โกยา เขียนโดยซาราห์ ซิมมอนส์ ที่ผู้แปลเสาวรภย์ ปัญญาชีวิน ได้แปลว่า ‘ศิลปะของโกยามักดูสมจริงจนน่ากระอักกระอ่วน ถึงขนาดโหดร้ายรุนแรงเมื่อเทียบกับศิลปินร่วมสมัยของเขา…โกยาแสดงออกถึงพรสวรรค์ที่แปลกประหลาดในการรังสรรค์งานที่ทั้งดึงดูดและผลักไสผู้ชมได้ในเวลาเดียวกัน…แรงบันดาลใจในด้านมืดของโกยา ดูได้จากเหตุการณ์แวดล้อมในชีวิตเขา’
ดังนั้นการจะทำความเข้าใจโกยา หรือผลงานของเขา คงต้องคำนึงถึงเหตุการณ์แวดล้อมตัวโกยาในเวลานั้นเป็นสำคัญ คือก่อนที่สังคมยุโรปจะเข้าสู่ยุคแห่งการรู้แจ้ง ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 สังคมโลกก่อนหน้ายุคนั้น(คือตั้งแต่ยุคกลางไปจนถึงยุคฟื้นฟูในช่วงศตวรรษที่ 18) ศิลปินรังสรรค์ศิลปะขึ้นมาเพื่อบูชาอยู่ 2 อย่าง คือ ศาสนจักร และราชอาณาจักร หมายถึงโดยขนบดั้งเดิมพวกเขาวาดแต่ภาพ เทพ พระเจ้า เรื่องราวในคัมภีร์ศาสนาคาทอลิก เซนต์ โป๊ป บาทหลวง ไม่ก็บรรดากษัตริย์ ขุนนาง เชื้อพระวงศ์ ข้าราชสำนักคนสำคัญ ฯลฯ
แปลว่าการวาดคนธรรมดานั้นถือเป็นการผิดขนบ ที่ยุคก่อน ๆ เข้มข้นมากในเรื่องความเชื่อด้านความศักดิ์สิทธิ์ถึงขั้นไม่สามารถทำได้เลย หรือต้องมีหน่วยงานคอยตรวจสอบว่ารูปแบบไหนเผยแพร่ได้หรือไม่ได้ และไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ไม่ว่าพระเจ้า หรือเจ้า แต่ต่อมาเมื่อมนุษย์รู้แจ้งขึ้น เกิดการตั้งคำถามต่าง ๆ กลายเป็นการแหกคอกนอกรีต ศิลปินหลากหลายในแต่ละช่วงยุคนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 (ก่อนหน้ายุคของโกยา) ก็เริ่มมีการวาดสามัญชนและแอบเสียดสีสังคมขึ้นมาบ้างประปราย แต่โดยแนวทางหลักของศิลปินส่วนใหญ่สมัยนั้น คือ การรับใช้ศาสนา…และราชา
โกยา ก็เช่นกัน เขาเกิดในปี1746 แต่มีชีวิตอยู่นานถึง 82 ปี สิ้นชีพลงในปี1828 แปลว่านอกจากเขาจะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของสังคมขนานใหญ่ในระหว่างปลายศตวรรษที่ 18 (ค.ศ.1701-1800) ถึงต้นศตวรรษที่ 19 (ค.ศ.1801-1900) แล้ว เขายังอยู่ในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกด้วย (ค.ศ.1760 เมื่ออังกฤษริเริ่มใช้เครื่องจักรไอน้ำแทนแรงงานคนหรือสัตว์) ซึ่งเหตุการณ์สำคัญยิ่งที่ทำให้ราชวงศ์และศาสนจักรสั่นคลอนชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน คือการปฏิวัติฝรั่งเศสที่เริ่มขึ้นในปี1789 และแน่นอนว่าการกิโยตินหั่นหัวกษัตริย์ฝรั่งเศสในปี1793 ย่อมมีผลสะเทือนต่อเชื้อสายใกล้ชิดอย่างสเปน สิ่งเหล่านี้คือฉากหลังตลอดช่วงชีวิตของโกยา
เอาใหม่ ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น…โกยา เกิดในเมืองบ้านนอก ฟูเอนเดโทดอส แคว้นอารากอน ประเทศสเปน โกยาเป็นลูกคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน ของครอบครัวชนชั้นกลางที่มีพ่อเป็นช่างปิดทอง และมีแม่เป็นผู้ดีเก่าตกยาก ครอบครัวนี้เคยอาศัยอยู่ในซาราโกซา ศูนย์กลางของอารากอนก่อนจะย้ายไปชายขอบของอารากอน (ห่างออกไปจากซาราโกซาทางใต้ไปอีก 40 กิโลเมตร) ที่ห่างจากมาดริดเมืองหลวงของสเปน 300 กิโลเมตร (สมัยนั้นต้องใช้เวลาถึง 8 วันในการเดินทางสู่มาดริด)
โกยาเริ่มเรียนวาดรูปตั้งแต่อายุ 14 (1760) หากจะเล่าอย่างย่นย่อ ขอเท้าความไปที่ โฮเซ่ ลูซาน ผู้เป็นครูของเขา ลูซานแม้จะเปิดสำนักอยู่ที่ซาราโกซา แต่เขาร่ำเรียนศิลปะมาจากศิลปินนาโปลี ในเมืองเนเปิลส์ อิตาลี (ซาราโกซา อยู่ใกล้ตอนใต้ของฝรั่งเศส ซึ่งฝรั่งเศสมีเขตแดนอีกฝั่งหนึ่งติดกับอิตาลี)
หน้าที่หลักของลูซานคือเป็นผู้ออกแบบแท่นบูชา ก่อนจะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในคณะผู้ตรวจทานจิตรกรรม ของศาลสำนักงานสอบสวนศักดิ์สิทธิ์ ( สเปน : Tribunal del Santo Oficio de la Inquisición ) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ Spanish Inquisition หน้าที่หลักของหน่วยงานนี้ถ้าจะให้พูดตรง ๆ คือการล่าแม่มด มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อขจัดพวกนอกรีต ในโลกยุคใหม่มีการประมาณว่าน่าจะมีผู้คนราว 150,000 คนถูกดำเนินคดีในความผิดต่าง ๆ ในช่วงระยะเวลาสามศตวรรษของการสืบสวนของศาลสเปนอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ โดยในจำนวนนี้ถูกประหารชีวิตราว 5,000 คน และมีอีกมากถูกซ้อมทรมาน หรืออัปเปหิขับไล่จากชุมชน เนื่องจากคาทอลิกพยายามอย่างยิ่งในการแช่แข็งศาสนาเอาไว้จากการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะจากพวกยิว หรืออิสลาม และพวก(ที่คาทอลิกเห็นว่า)นอกรีตอื่น ๆ อันมาจากความสั่นคลอนทางการเมือง (อย่างที่กาลต่อมาเกิดการลุกฮือครั้งใหญ่ในประเทศติดกัน และราชวงศ์สืบเชื้อสายกันมาอย่างฝรั่งเศส) หนำซ้ำในปี1741 ลูซาน ยังได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้าฟิลิเปที่5 แห่งสเปนให้เป็นจิตรกรชั้นสูงแห่งราชสำนักอีกด้วย
ศิษย์เอกของลูซานที่โด่งดังมีอยู่สองคน คือนอกจาก โกยา แล้ว อีกคนคือ ฟรานซิสโก บาเยว อี ซูบิอาส เขาผู้นี้เองมีน้องสาวชื่อ โฮเซฟา ภายหลังแต่งงานกับ โกยา เท่ากับว่า โกยา เป็นน้องเขยของ บาเยว ด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้ว บาเยว กับโกยา เป็นลูกพี่ลูกน้องกันอยู่แล้วด้วย
ในปี1763 บาเยว ถูก อันตอน ราฟาเอล เมงส์ (ศิลปินราชสำนักชื่อก้องอีกคน) เรียกตัวให้บาเยวเข้ามาดริดเพื่อช่วยตกแต่งพระราชวัง ในปีเดียวกันนั้น โกยา ก็เข้าเมืองมาดริดเป็นครั้งแรกด้วย แต่ในฐานะผู้เข้าประกวดจิตรกรรมวังหลวงที่จัดโดยราชบัณฑิตแห่งซาน เฟอร์นันโด แต่โกยาไม่เป็นที่ต้องตา อีก 3 ปีต่อมา 1966 มีการสอบฝีมือเพื่อชิงทุนไปเรียนในโรม โกยา ก็ยังตกกระป๋อง (โดยผู้ชนะคือ รามอน ลูกพี่ลูกน้องและศิษย์เอกของ บาเยว) ช่วงนี้เองที่โกยา เริ่มหันมาติดตามบาเยว จนบาเยวได้ทุนไปโรม กรุงโรมขณะนั้นเป็นเมืองหลวงแห่งวัฒนธรรมยุโรป เป็นต้นแบบแห่งแนวทางคลาสสิก ขณะที่สเปนค่อนข้างไร้ทิศทางในรูปแบบนีโอคลาสสิกที่ถือว่าใหม่มากในเวลานั้น โกยา จึงตัดสินใจไปโรมด้วยทุนตัวเองในช่วงปี1970 ผ่านทางตูริน มิลาน ปาเวีย ก่อนจะอาศัยอยู่ชั่วคราวในโรม
FYI
ในช่วงที่เขาไปโรมมีบันทึกอยู่น้อยมาก นักประวัติศาสตร์ยุคแรก ๆ เชื่อว่าโกยาไปโรมพร้อมกับกลุ่มนักสู้วัวกระทิง ที่โกยารับหน้าที่เป็นนักกายกรรมในกลุ่ม บ้างก็ว่าไปกับนักการฑูตรัสเซีย บางคนลือกันว่าเขาตกหลุมรักนางชีและหนีไปด้วยกัน อย่างไรก็ตามหนึ่งในมรดกล้ำค่าที่ โกยา ทิ้งเอาไว้ในช่วงไปโรม คือ Italian Notebook ที่บันทึกเรื่องราวในช่วง1770-1788 ขณะที่เขาไปมาระหว่างโรมและบางส่วนหลังจากกลับมา เป็นสเก็ตช์ 83 หน้า ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ปราโด มาดริด
ความสำคัญประการหนึ่งของสมุดบันทึกเล่มนี้คือ ระหว่างที่โกยาพำนักอยู่ในเมืองปาร์มา อิตาลี มีงานประกวดหนึ่งอันทำให้โกยาได้รับรางวัลที่สอง ภาพวาดนั้นมีชื่อว่า Victorious Hannibal Contemplates Italy from the Alps for the First Time อันนับเป็นผลงานยุคแรก ๆ ของโกยา แต่ภาพดังกล่าวได้หายไปราวสองร้อยปี ปรากฎว่ามันถูกแขวนไว้ในคฤหาสน์แห่งหนึ่งของมหาเศรษฐีในเมืองอัสตูเรีย ภายหลังจากเปรียบเทียบกับภาพร่างในหน้า 37 ของสมุดโน้ตโกยา จึงสามารถระบุได้ว่าภาพในเมืองอัสตูเรียนี้เป็นฝีมือโกยา ในที่สุดเมื่อสองปีก่อนนี้เอง 2020 มูลนิธิอมิกอส เดล ปราโด ตัดสินใจซื้อภาพดังกล่าวกลับคืนมาด้วยราคา 3.3 ล้านยูโร (ราว 123 ล้านบาท) เพื่อนำมาบริจาคให้กับหอศิลป์ปาโดร เมืองมาดริด
ศิลปินราชสำนักอันดับหนึ่ง(วัยวันแห่งสีสัน)
โกยากลับมาสเปนในปี1771 เพื่อดูแลบิดาที่ป่วย ก่อนจะแต่งงานกับ โฮเซฟา น้องสาวของบาเยว ในปี1773 มีลูกด้วยกันคนแรกในปี1774 โฮเซฟาให้กำเนิดลูกกับโกยามากถึง 7 คน แต่เสียชีวิตไป 6 คนและรอดเติบโตมาได้แค่คนเดียว คือ ฮาเวียร์ ที่กำเนิดในปี 1784
ในช่วงเวลานี้ขอย้อนกลับไปอีกเล็กน้อย บาเยว พี่เขยของโกยา ตั้งแต่เมงส์เรียกตัวเข้ามาในปี1763 พอปี1765 บาเยวได้เลื่อนขั้นขึ้นเป็นสมาชิกของ Real Academia de Bellas Artes de San Fernando สำนักจิตรกรรมวังหลวงแห่งพระเจ้าซาน เฟอร์นันโด
FYI
สำนักจิตรกรรมวังหลวงแห่งพระเจ้าซาน เฟอร์นันโด เป็นสถาบันการศึกษาด้านจิตรกรรมแห่งแรก ที่เปลี่ยนแนวทางจากบาโรก มาเป็นนีโอคลาสสิกสมัยประเพณีนิยมในช่วงนั้น ภายหลังในปี 1780 โกยา ได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการของสถาบันด้วย อันมีศิษย์เก่าคนดังที่เคยร่ำเรียนในสถาบันแห่งนี้ในกาลต่อ ๆ มา คือ ปาโบล ปิกัสโซ, ซาบาดอร์ ดาลี ฯลฯ ปัจจุบันสถาบันนี้แปรสภาพเป็นมิวเซียม
ต่อมาในปี1777 บาเยว ได้เลื่อนขั้นเป็นผู้อำนวยการสำนักสิ่งทอวังหลวง อันเป็นช่วงที่โกยาถูกดึงเข้าไปมากขึ้นในการออกแบบภาพวาดประดับพรม(Tapestry)ที่ใช้ประดับประดาวังหลวงและอารามวัดคาทอลิก คืออันที่จริง โกยามีผลงานเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่แล้วในการออกแบบ Tapestry มาตั้งแต่ปี1775 แต่เริ่มมางานชุกหลังจากบาเยวเป็นผู้อำนวยการ
นับตั้งแต่ปี1783 เมื่อเคานต์แห่งฟลอริดาบลังกา คนโปรดของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ได้มอบหมายให้โกยาวาดภาพเหมือน โกยาก็มีชื่อเสียงในหมู่ข้าราชสำนักและเชื้อพระวงศ์กระทั่งในปี1786 โกยาก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจิตกรวังหลวงให้กับชาร์ลที่ 3 ก่อนจะถูกเลื่อนขั้นเป็น First Court Painter ในสมัยชาร์ลส์ที่สี่ในปี1789 (ตำแหน่ง Court Painter มีหลายข้อมูลในไทยแปลว่าจิตรกรประจำศาล จริง ๆ แล้วตำแหน่งนี้คือจิตรกรประจำรัชกาล มีหน้าที่วาดภาพสมาชิกราชวงศ์ ซึ่งโกยาคือมือวางอันดับหนึ่งในยุคชาร์ลส์ 4 อันเป็นตำแหน่งสูงสุดของศิลปินยุคนั้น)
การได้เป็นศิลปินวังหลวงหมายถึงการได้รับผลประโยชน์มากมายทั้งชื่อเสียง เงินทอง และอำนาจ อันเป็นตำแหน่งใกล้ชิดสนิทสนมทั้งฝ่ายราชอาณาจักรและศาสนจักร หรืออีกนัยยะหนึ่งหมายถึง โกยา เข้าถึงคลังข้อมูล รู้เห็นความฉ้อฉลชั่วร้ายทั้งภายในวัด และวัง (รวมถึง ศาล ที่ทั้งวัดและวังใช้เป็นที่แสดงความชอบธรรมในการพิพากษาเข่นฆ่าสามัญชน)
ในเบื้องแรกโกยาต้องการวาดภาพงานอภิบาลต่าง ๆ ของพระฝรั่งเศสหรือพระชาวดัตช์ แต่พระเจ้าชาร์ลชื่นชอบ “ความบันเทิงเริงใจ และแฟชั่นร่วมสมัย” สิ่งนี้ทำให้โกยามีโอกาสได้ทำหน้าที่เฝ้าศึกษาสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดกับบรรดาชาวไพร่พลในรั้ววังทั้งหลาย ชีวิตประจำวัน การแต่งกาย การล่าสัตว์ การละเล่น การปิกนิก พักผ่อนสันทนาการ และอนุญาตให้โกยาได้เล่าหัวข้อนอกเหนือจากการรับใช้คณะสงฆ์อันแสนน่าเบื่อหน่าย
อีกประการอันมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อผลงานของ โกยา ในช่วงนี้คือปรัชญาที่เรียกว่า Joie de vivre หลักการใช้ชีวิตที่มีมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่17 (เท่าที่สืบค้นได้คือน่าจะมาจากบาทหลวงฝรั่งเศสนามว่า เฟเนลอง) เป็นแนวคิดในแบบที่เรียกว่า รื่นรมย์กับการมีชีวิตอยู่ (บางตำราไทยแปลว่าสุขนิยม ซึ่งความหมายต่างกันอยู่เล็กน้อย) Joie de vivre คือการเพลิดเพลิน เริงร่า กระตือรือร้นในการใช้ชีวิต คำนี้ภายหลังเป็นที่นิยมในงานเขียนช่วงศตวรรษที่19 ไปสู่การแสวงหาความสุขในทุกสิ่งรอบตัว และการมองโลกในแง่ดี วิถีธรรมชาติ อันเป็นหนึ่งในความเชื่อแบบโลกสวยที่ถูกพัฒนาต่อมาในสมัยวัฒนธรรมฮิปปี้ในยุคของเรา
ทั้งชีวิตแบบไพร่พลชาววัง ผ่านสายตาที่มองโลกแบบ Joie de vivre ประกอบกลายเป็นผลงานแบบโกยา ในยุคแรกที่ใช้สีสดใส มองโลกในด้านสุข แง่งาม ตรงไปตรงมาอย่างไม่วิพากษ์วิจารณ์ เป็นเพียงผู้เฝ้าดูความเป็นไปของผู้คนถูกถ่ายทอดผ่านผลงานอันหลากหลายของโกยาในยุคแรกนี้
FYI
ด้วยหน้าที่ของโกยา ทำให้โกยามีทั้งเวลา และโอกาสในการเข้าไปสำรวจตรวจสอบยังพื้นที่ต่าง ๆ ในเมืองหลวง แม้แต่พื้นที่ต้องห้าม หรือกรุสมบัติเก็บผลงานอันล้ำค่า โกยาจึงมีโลกอีกใบหนึ่งระหว่างรับใช้ทั้งวังและวัด คือตั้งแต่ 1775 เป็นต้นมา อันที่จริงโกยาแอบผลิตงานที่ประหลาดต่างออกไปจากงานประจำเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากผลงานภาพพิมพ์กัดกรดที่เรียกว่าเทคนิคเอ็ชชิ่ง(etching) ที่เขาได้ร่ำเรียนมาจากศิลปินในอิตาลีที่(ภายหลังเขาพัฒนาเทคนิคการพิมพ์เฉพาะตัวเองขึ้นมาด้วย) อย่างผลงานที่ชื่อ The Garroted Man (ราว1775-1778 ชื่อรูปหมายถึงรูปแบบหนึ่งในการประหารนักโทษสามัญชนแบบสเปน ด้วยการบีบปลอกคอเหล็กเข้าหากัน) เกิดจากการศึกษางานอย่างจริงจังของ ดิเอโก ร็อดริเกซ เดอ ซิลวา อี เบลาซเกซ (Diego Rodríguez de Silva y Velázquez) First Court Painter จิตรกรประจำรัชกาลในกษัตริย์ฟิลิเปที่4 (1621-1665)
หลายคนเหยียดโกยา ว่าเสียเวลาเปล่ากับการทำงานก็อป เพราะโกยา เอาแต่ลอกภาพเขียนของ เบลาซเกซ หลายชิ้นนำมาแกะเป็นภาพพิมพ์กัดกรด ที่โกยาค่อย ๆ พัฒนาทั้งรูปแบบงานของ เบลาซเกซ และเทคนิคการแกะโลหะกัดกรดจนเข้าเนื้อ (ในยุคต่อ ๆ มา ผลงานของ เบลาซเกซ ยังส่งอิทธิพลถึง ปิกัสโซ, ดาลี, ฮวน มิโร, ฟรานซิส เบคอน ด้วย)
ผิดขนบ จริง ๆ แล้วรูปนักโทษประหารนี้ในยุคนั้น ถ้าศาลสำนักงานสอบสวนศักดิ์สิทธิ์เห็นเข้า โกยาอาจถึงตายได้เลย มีผู้ศึกษาโกยาหลายกรณีว่า เป็นไปได้ว่า เขาไม่ต้องการเผยแพร่ภาพนี้ เขาทำมันแบบลับ ๆ หรือต้องไม่ลืมว่า ครูของโกยาคือผู้ตรวจทานของศาลศักดิ์สิทธิ์ พี่เขยเขาก็เป็นคนสำคัญในราชสำนัก อาจมีการใช้เส้นสายบางอย่างทำให้เขาไม่ถูกกล่าวหา แต่หลายสำนักเชื่อว่าโกยาน่าจะแอบลักลอบทำ
แอบจิกกัดหรือเชลียร์เจ้า
ในช่วงขาขึ้นตั้งแต่ 1780 เป็นต้นมา ผลงานส่วนใหญ่ของ โกยา คือภาพเหมือนเชื้อพระวงศ์ ที่ยุคต่อ ๆ มาถูกตีความไปต่าง ๆ นานา อย่างไรก็ตามเราขอบอกไว้ก่อนว่า สิ่งที่จะเล่านี้ ยังเป็นข้อถกเถียง และมีเพียงโกยาเท่านั้นที่รู้
ธีโอฟิล โกติเยร์ (1811-1872) นักเขียนชาวฝรั่งเศสยุคหลังโกยาเรียกภาพ ‘ชาร์ลส์ที่ 4 แห่งสเปน และครอบครัว’ นี้ว่า “ภาพคนขายของโชห่วยที่เผอิญถูกหวย” มีการตีความอีกมากมายในยุคหลังทำนองว่าโกยากำลังเสียดสีราชวงศ์ บ้างว่าโกยาแอบเผยการฉ้อฉลในยุคการปกครองของ ชาร์ลส์ที่ 4 เพราะผู้กุมอำนาจแท้จริงคือ มาริอา ลุยซา (ภริยาของชาร์ลส์ 4) จึงวางเธอไว้กึ่งกลางภาพสูงเด่น และด้านซ้ายจะมองเห็น โกยากำลังจ้องมาที่ผู้ชม ราวกับสื่อความในใจถึงราชวงศ์ที่กำลังจะเสื่อมทรามลง
อย่างไรก็ตาม โรเบิร์ต ฮิวจ์ส (1938-2012) นักวิจารณ์ศิลปะชาวออสเตรเลียนที่ต่อมาโด่งดังอย่างมากทางทีวีในอเมริกา ได้กล่าวไว้ในรายการทีวีของเขาว่า “นี่มันไร้สาระมาก คุณไม่สามารถรักษางานของคุณในฐานะจิตรกรประจำรัชกาลได้หรอก ถ้าคุณล้อเลียนคนที่จ้างคุณวาด คนที่ให้ยศ ให้เงิน เป็นบ่อเงินบ่อทอง และสามารถสั่งประหารคุณได้ ในทางตรงกันข้าม รูปนี้กำลังแสดงถึงความเลียแข้งเลียขาของ โกยา ด้วยซ้ำ เช่น คนด้านซ้ายเสื้อน้ำเงินนั่น (ลูกชายคนโตของชาร์ลส์4 ต่อมาได้เป็นกษัตริย์ในช่วงสั้นๆ) คือหนึ่งในคางคกที่อัปลักษณ์ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสเปน แต่โกยากลับจัดฉากเขาให้อยู่ในตำแหน่งสง่างาม นี่เป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงจนเรียกว่าชเลียร์เจ้าได้เลยเชียว”
จอห์น เจ. ชิโอฟาโล (1957-ปัจจุบัน) ผู้เขียนหนังสือ The Self-Portraits of Francisco Goya เขียนว่า ‘ในขณะที่ เบลาซเกซ พยายามเชื่อมช่องว่าระหว่างศิลปะกับความเป็นจริงด้วยธรรมชาติ แต่โกยา พยายามเชื่อมช่องว่างระหว่างศิลปะกับความเป็นจริงด้วยจิตใจของเขาเอง’
บ้าบิ่น กล้าหาญ ลามก หรือแค่ขี้ข้ารับใช้
การเอ่ยถึง โกยา เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงภาพนี้ มาฮาเปลือย La maja desnuda (1797-1800) กับ มาฮาทรงเครื่อง La maja vestida (1798-1805) โดย มาฮาเปลือย เป็นภาพที่ได้รับการอธิบายว่าเป็น “ภาพเปลือยของหญิงที่หยาบคายที่สุดเป็นครั้งแรกในโลกศิลปะตะวันตก” เนื่องจากเป็นการเปลือยด้านหน้าทั้งตัวและเห็นขนลับ โดยไม่มีข้ออ้างอิงในเชิงเปรียบเทียบกับตำนาน เช่น ในพงศาวดาร หรือเทพปกรณัม หรือพระคริสตธรรมคัมภีร์
ภาพนี้เป็นของ มานูเอล กอดอย นายกรัฐมนตรีในสมัยชาร์ลส์ที่4 (หลายเสียงเชื่อว่าเขาเป็นชู้รักของราชินีมาริอา ลุยซา ด้วย) ภาพนี้ไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณชนมาก่อนจนกระทั่ง กอดอย ร่วงจากอำนาจในรัชกาลต่อมา เมื่อทรัพย์สินของเขาถูกยึดโดย เฟอร์ดินันด์ที่ 7 (ลูกชายของ ชาร์ลส4 กับลุยซา) มีการสอบสวนในปี1813 ว่าเป็นภาพลามกอนาจาร ก่อนจะส่งไปเก็บไว้ที่สำนักจิตรกรรมวังหลวงแห่งพระเจ้าซาน เฟอร์นันโด ในปี1836
ในปี1813 กอดอยและภัณฑารักษ์ของเขา ถูกส่งตัวสู่ศาลในข้อหาว่ามี “ภาพลามกอนาจารและบ่อนทำลายสาธารณชน” (คล้าย “เป็นภัยความมั่นคงของชาติ” ในยุคเรา) ถูกบังคับให้เปิดเผยชื่อของผู้วาดภาพนี้ อันทำให้ โกยา ต้องถูกพิพากษาด้วย โกยาถูกถามถึงสาเหตุที่ทำ, ทำตามคำสั่งของใคร, ใครชี้นำเขา อย่างไรก็ตามแม้กอดอยจะไม่รอด แต่เป็นที่รู้กันว่าศาลแม่มดไม่ได้ยุติธรรม โกยา มีเพื่อนหลายคนในแวดวง โกยา รอดด้วยคำอ้างว่าเป็นที่รู้กันว่าหลายปีที่ผ่านมา โกยา ลอกงานของ ทิเชียน, เบลาซเกซ และศิลปินอีกหลายคน ซึ่งที่ผ่านมางานของศิลปินเหล่านั้นไม่เคยถูกตรวจสอบว่านอกรีต แถมงานยังได้รับการรับรองจากกษัตริย์องค์ก่อน ๆ ด้วย คือ ถ้างานของโกยา ผิด แปลว่างานของ ทิเชียน และเบลาซเกซ ก็ผิดด้วยกระนั้นหรือ นอกจากนี้เป็นอันรู้กันว่าช่วง1808 เป็นปีที่อำนาจของศาลล่าแม่มดแห่งนี้กำลังจะสิ้นสุดลง เนื่องจากประชาชนเริ่มตาสว่างว่าศาลนี้เป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองในการกำจัดผู้เห็นต่างเท่านั้นเอง
หมายเหตุ: คำว่ามาฮา (เพศหญิง) หรือ มาโฮ(เพศชาย) หมายถึงพวกยิปซี ชนชั้นต่ำที่ถูกรังเกียจ แต่หลายครั้งคนกลุ่มนี้ก็ท้าทายอำนาจพวกผู้ดี พ่อค้า ชนชั้นกลางด้วยการเล่นตลกเสียดสี พวกมาฮาหรือมาโฮ เป็นหัวข้อที่นิยมในยุคนั้น เมื่อศิลปินหลายคนพบว่า พวกคนดีสูงศักดิ์นั้นแท้จริงฉ้อฉลชั่วร้าย ตรงข้ามกับพวกชนชั้นล่างที่ถูกเกลียดชังอาจไม่ใช่โจรหรือผู้ร้ายเสมอไป หากแต่เป็นผู้ถูกกระทำ
ส่วนแบบในภาพนี้มีหลายเสียงเคยให้ความเห็นว่าน่าจะเป็น ดัชเชสแห่งอัลบา ชู้รักคนหนึ่งของโกยา ทว่าในปัจจุบันสันนิษฐานนี้ถูกโต้ลง เหลือเพียงน่าจะคือ เปปิตา ตูโด คนรักของโกดอย หรือไม่ก็ใช้นางแบบหลาย ๆ คนมาวาดหญิงในอุดมคติ
FYI
ล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2022 ที่ผ่านมาหมาด ๆ นี้เอง นักประท้วงหัวรุนแรงจาก Futoro Vegetal ที่เรียกร้องเรื่องสิ่งแวดล้อม ได้เข้าไปเขียนบนผนังระหว่างสองภาพนี้ว่า “+1.5 องศา” และประกาศว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ยูเอ็น เพิ่งจะยอมรับว่าเป็นไปไม่ได้ที่โลกจะปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส” “ความตกลงปารีส” นั้นคือการมุ่งเน้นให้ประเทศภาคีเกิดการเสริมสร้างการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในศตวรรษนี้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ครอบคลุมในเรื่องของการลดก๊าซเรือนกระจก
อย่างไรก็ตามมีผู้ออกมาประณามการกระทำของผู้ประท้วงเหล่านี้ด้วยเช่นกันที่สร้างความเสียหาย และเสมือนจับเอาผลงานศิลปะล้ำค่ามาเป็นตัวประกันหลายต่อหลายครั้ง เช่นก่อนหน้านี้มีชาวอิตาเลียนไปปาซุปถั่วบนภาพของ ฟาน โก๊ะห์และพยายามเอากาวไปทาบนกรอบรูปของ เฟอร์เมียร์
FYI
จากการที่โกยาถูกสอบสวนอย่างหนัก ส่งผลให้ในบั้นปลายชีวิตของโกยาแสดงออกผ่านงานภาพหลายชิ้น อันเป็น 4 สิ่งที่บรรดาเสรีนิยมเฉกเช่น โกยา ปรารถนาจะเห็นการเปลี่ยนแปลง
1.ศาลสำนักงานสอบสวนศักดิ์สิทธิ์ ที่ลุแก่อำนาจไล่ล่าคนเห็นต่างมาสวมชุดซานเบนิโตส อันประกอบด้วยหมวกแหลมสูง คาปิโรเต้ และเสื้อโคโรซ่า หมายถึงผู้กระทำผิด หรือแม่มด โดยมีผู้ไต่สวน อาศัยอำนาจของนักบวช แต่เป็นที่รู้กันว่าบ่อยครั้งคนที่ถูกนำขึ้นสู่ศาล คือศัตรูที่กษัตริย์เหม็นขี้หน้า โดยเฉพาะในสมัยเฟอร์ดินันด์ที่ 7
2.การสู้วัวกระทิง ปัจจุบันอาจมองว่าการสู้วัวกระทิงเป็นสัญลักษณ์ของสเปนไปแล้ว ความจริงแล้วในยุคชาร์ลส์ 3 และ 4 มีการห้ามให้สู้วัวกระทิงตลอดมา แต่ประเพณีนี้ถูกดึงกลับมาในสมัย เฟอร์ดินันด์ที่ 7 (ลูกชาย ชาร์ลส์ที่ 4)
3. สถานบำบัดจิต ที่ซึ่งภายนอกเหมือนจะมาในนามของความดี ช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวช แต่โกยามองว่ายิ่งทำให้ผู้ป่วยทรุดหนักลงกว่าเดิม ไม่มีมาตรฐานในการเยียวยาผู้ป่วย อีกทั้งยังเป็นที่ป้ายสีคุมขังผู้เห็นต่างอีกด้วย
4.ขบวนแห่ธงชาติ ประเพณีที่มาในนามความรักชาติ แต่แท้จริงคือการเสียบประจานประณามผู้เห็นต่างทางการเมือง พวกเขาจะถูกเปลือยแล้วบังคับให้สวมชุดซานเบนิโตส เดินขบวนไปพร้อมกับเฆี่ยนโบยต่อหน้าสาธารณชน พวกคลั่งเจ้าก็จะโห่ร้องไชโย พวกเห็นต่างก็เกิดความหวาดกลัว
Los caprichos ( The Caprices) เป็นภาพพิมพ์ 80 ภาพ ที่โกยาสร้างขึ้นในช่วงปี 1797-1798 และตีพิมพ์ออกมาเป็นเซ็ตในปี 1799 อย่างไรก็ตาม โกยา ถอนการวางจำหน่ายอย่างรวดเร็วหลังจากขายไปได้เพียง 27 ชุดเท่านั้น ต่อมาในปี 1803 เขาได้เสนอขายแม่พิมพ์โลหะต้นฉบับของภาพพิมพ์ชุดนี้ให้กับกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 4 เพื่อแลกกับเงินบำนาญสำหรับ ฮาเวียร์ลูกชายของเขา หลังจากนั้นมีบันทึกที่โกยาอธิบายว่าที่จำเป็นต้องถอนการจำหน่ายเนื่องจากความหวาดกลัวต่อศาลล่าแม่มด โกยา อธิบายซีรีส์นี้ว่า “ความอ่อนแอและความโง่เขลานับไม่ถ้วนที่พบในสังคมอารยะใด ๆ และจากอคติทั่วไป และการใช้ประเพณี อวิชชา หรือการแสวงหาประโยชน์มาเป็นเครื่องมือหลวงลวงประชาชน”
ในเกม Impasto ประโยคแรกที่ปรากฏในเกม คือ “การหลับใหลของเหตุผลให้กำเนิดปีศาจทั้งปวง” มาจากภาพหนึ่งในชุดนี้ (ภาพใหญ่สุด) โกยา วาดให้ตัวเองนั่งหลับ แล้วก็มีค้างคาว นกเค้า เสือ บรรดาสัตว์ตาวาวทั้งหลายออกมาจากตัวเขา และเป็นที่รู้กันว่า โกยา มักเล่นกับความกำกวม เมื่อช่วงเวลานั้นสังคมสเปนแตกแยก มีทั้งเสรีนิยมแบบโกยา และอนุรักษ์นิยมที่ถือครองอำนาจอยู่ โกยาไม่อาจแสดงความเห็นโดยตรงได้ นอกจากการสื่อความหมายให้ตีความ ต้นฉบับประโยคของโกยา ต่อมามีการตีความใหม่ว่า “แฟนตาซีที่ถูกเหตุผลละทิ้ง ผลิตสร้างปิศาจที่ไม่อาจเป็นจริงได้ แต่หากรวมกัน (แฟนตาซี+เหตุผล) เธอก็คือมารดาแห่งศิลปะ ที่ให้กำเนิดสิ่งอัศจรรย์”
FYI
ครั้งหนึ่ง บิลล์ วิโอลา ศิลปินวิดีโออาร์ตรุ่นบุกเบิก ชาวอเมริกัน ผู้มักตั้งคำถามถึงความตาย การกำเนิด ความทุกข์ทรมาน การตัดต่อที่ก่อให้เกิดการสับขาหลอกของเวลา การหน่วงเวลา และธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ เขาเคยผลิตผลงานชื่อ The Sleep of Reason (1988) https://youtu.be/4z2IomqcBjo ที่เป็นห้องห้องหนึ่ง มีทีวีฉายภาพคนหลับ ก่อนจะปรากฏภาพแว่บของ ไฟไหม้, ป่าในยามค่ำคืน และการจมน้ำขึ้นมา
The Disasters of War ภาพพิมพ์อีกชุดหนึ่งของโกยา มีทั้งหมด 82 ภาพ เขาผลิตขึ้นในช่วงปี1810-1820 แต่กว่าภาพชุดนี้จะถูกตีพิมพ์ออกมาคือในปี 1863 หรืออีก 35 ปีหลังจากโกยาเสียชีวิต เนื่องจากเป็นผลงานสุ่มเสี่ยงเกินไปที่จะเผยแพร่ในช่วงเวลาของโกยา แต่ขณะเขามีชีวิตอยู่ เขาได้ตีพิมพ์ฉบับ ทดลองพิมพ์ (artist proof) แล้วแจกจ่ายให้กับเพื่อน โดยตัวชื่อชุดดั้งเดิมมีชื่อว่า Fatal Consequences of Spanish’s Bloody War with Bonaparte และ Other Emphatic Caprices เป็นผลงานที่เขาทำขึ้นเพื่อประท้วงความรุนแรงในเหตุจลาจลช่วง “การลุกฮือแห่ง ดอส เดอ มาโย” เมื่อวันที่ 2 และ 3 ของเดือนพฤษภาคม ปี 1808 เมื่อชาวสเปนลุกฮือขึ้นและก่อสงครามกองโจรขึ้นต้านอำนาจฝ่ายฝรั่งเศสที่เข้ายึดครองสเปนมาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมปีนั้น หลังจากทหารฝรั่งเศสไล่สังหารชาวสเปนในเดือนพฤษภาคม แทนที่ชาวสเปนจะหวาดกลัว กลับลุกฮือขึ้นต่อสู้ กลายเป็นการสู้รบไปทั่วพื้นที่
โกยาบรรยายถึงความโหดเหี้ยม การกันดารอาหาร ความเสื่อมทรามของผู้คนที่เข่นฆ่ากัน ความอัปยศอดสูใจ ไปจนการฟื้นฟูระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วงสมัยของ เฟอร์ดินันด์ที่ 7 ที่ทำให้สเปนกลายเป็นเผด็จการ
FYI
The Disasters of War ของ โกยา มีอิทธิพลอย่างมากต่อ ภาพวาด Le Radeau de la Méduse แพเมดูซ่า (1818-1819) ของ ธีโอดอร์ เจริโกล์ ที่ได้รับอิทธิพลทางองค์ประกอบภาพและกายวิภาค, ไปจนถึงหนังของหลุยส์ บุนเนล 2 เรื่อง คือ L’Age d’Or (1930, ซัลบาดอร์ ดาลี ร่วมเขียนบท) กับ The Exterminating Angel (1962) ในแง่อารมณ์ขันแบบเสียดสีชาติและศาสนา, ภาพวาดของ ดาลี Soft Construction with Boiled Beans หรือ Premonition of Civil War (1936), แบบจำลอง Great Deeds against the Dead (1994) ของ เจคและไดโนส แชปแมน ไปจนถึงซีรีส์ Hannibal (2013-2015)
หนึ่งในภาพแรกของศิลปะสมัยใหม่
ในเดือนกุมภาพันธ์ 1814 หลังการขับไล่ฝรั่งเศสครั้งสุดท้าย โกยาได้เข้าหารัฐบาลเฉพาะกาลด้วยการร้องขอให้เขาได้ “กระทำการอันโดดเด่นและกล้าหาญที่สุดของการจลาจลของเราต่อทรราชแห่งยุโรปด้วยการฝีแปรงของข้าพเจ้า” ข้อเสนอของเขาได้รับการยอมรับ โกยา ใช้เวลา 2 เดือนในการวาด 2 ภาพนี้ The Second of May 1808 (1814) และ The Third of May 1808 (1814) ไม่มีใครรู้ว่าเขาเคยเห็นฉากทั้งสองนี้ด้วยตนเองหรือไม่ หรือมาจากเรื่องเล่า หรือจินตนาการของเขาเอง
ภาพวันที่สอง เป็นภาพที่ประชาชนลุกฮือขึ้นก่อจลาจล ใช้อาวุธเท่าที่มีคือมีดต่อสู้พวกฝรั่งเศส ส่วนภาพวันที่สาม เป็นภาพชาวบ้านถูกทหารฝรั่งเศสไล่ยิง ภายหลังเมื่อเฟอร์ดินันด์ที่ 7 กลับมาครองราชย์อีกครั้ง (เป็นที่รู้กันว่าเขามีส่วนร่วมทำให้พ่อของเขา ชาร์ลส์ที่ 4 ลงสู่อำนาจ และดึงพวกฝรั่งเศสเข้ามายึดครอง) ทั้งสองภาพนี้ไม่เป็นที่พอใจแก่กษัตริย์ มันจึงถูกเก็บเข้ากรุอยู่นานกว่า 40 ปี กระทั่งในปี 1872 ภาพทั้งสองเพิ่งถูกระบุในแคทตาล็อคของพิพิธภัณฑ์แห่งปราโด และได้รับความเสียหายในระหว่างขนย้ายในช่วงสงครามกลางเมืองสเปน (1936-1939) กว่าจะบูรณะเสร็จคือในปี 2008 ครบรอบ 200 ปีการจลาจลพอดี
เคนเนธ คลาร์ก (1903-1983) นักประวัติศาสตร์ศิลป์ชาวอังกฤษ ได้กล่าวว่า “ภาพ The Third of May 1808 เป็นภาพที่ยิ่งใหญ่ภาพแรกที่เรียกได้ว่าปฏิวัติในทุกแง่มุม ทั้งในรูปแบบ เรื่องราว และเจตนา” กล่าวคือทั้งเนื้อหา การนำเสนอ และพลังทางอารมณ์ของภาพวาด ทำให้เกิดภาพที่แปลกใหม่และไม่เหมือนใครของความน่าสะพรึงกลัวของสงคราม แม้ว่าเทคนิคจะดึงมาจากหลายแหล่งของทั้งศิลปะชั้นสูงแบบจารีตนิยมและศิลปะที่เป็นสมัยนิยม แต่The Third of May 1808ถือเป็นการแตกหักจากจารีตทั้งปวง แตกต่างจากประเพณีของศิลปะคริสเตียนและการพรรณนาถึงสงครามแบบดั้งเดิม ไม่มีแบบอย่างที่ชัดเจน และได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในภาพวาดแรกๆ ของยุคสมัยใหม่
ก่อนหน้านี้ศิลปินมักวาดภาพสงครามด้วยรูปแบบภาพประวัติศาสตร์ชั้นสูง มีความยิ่งใหญ่ เนี๊ยบในรายละเอียด มีผู้วิจารณ์ว่าภาพนี้มีข้อบกพร่องเชิงเทคนิค หยาบ หรือเหยื่อและผู้ประหารชีวิตยืนใกล้กันเกินไปจนเกินความเป็นจริง อย่างไรก็ตามความหยาบ ฉับพลัน และวาดจากความทรงจำ (ภาพวาดหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 6 ปี) คือรูปแบบที่กาลต่อมาจะถูกเรียกว่า อิมเพรสชันนิสต์
แต่ริชาร์ด ชิกเกล (1933-2017) นักวิจารณ์แห่งนิตยสารไทม์ ให้เหตุผลว่า “โกยา มิได้มุ่งมั่นเพื่อเล่ารายละเอียดหรือข้อเท็จจริงทางวิชาการ แต่ต้องการสร้างผลกระทบด้วยความรู้สึกโดยรวมของผลงาน พลังของมันมาจากความตรงไปตรงมามากกว่าการยึดมั่นในสูตรการจัดองค์ประกอบแบบดั้งเดิม ภาพได้พรรณนาความโหดเหี้ยมไร้ปราณี” ฮีโร่ในภาพของโกยาไม่ใช่นักบุญในภาพแบบคริสเตียน หากแต่คือชาวบ้านชาวนาคนธรรมดา ด้วยท่ายอมแพ้ที่ราวกับถูกตรึงบนกางเขนและรายล้อมระงมด้วยเสียงร่ำไห้(องค์ประกอบเดียวกับเวลาวาดภาพพระเยซูถูกตรึง ยิ่งหากพิจารณาดี ๆ จะเห็น stigmata หรือรอยตะปูตรึงบนฝ่ามือทั้งสองข้าง) ชุดสีเหลืองและขาวเป็นความต้องการเปรียบเทียบอย่างชัดเจนเพราะมันเป็นสีประจำตำแหน่งสันตะปาปา ตะเกียงที่เคยเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาอุปมาถึงการมีอยู่ของพระเจ้าในยุคบาโรก กลับไม่แสดงปาฏิหาริย์ดังกล่าว ในทางกลับกันมันคือเครื่องมือส่องสว่างเพียงเพื่อให้ทีมยิงสามารถทำงานอันน่าสยดสยองได้สำเร็จ และให้ความสว่างแก่ผู้ชมอย่างแจ่มชัดในการเป็นพยานความรุนแรงอันโจ๋งครึ่ม นั่นแปลว่าบทบาทดั้งเดิมของแสงในงานศิลปะในฐานะสื่อกลางทางจิตวิญญาณได้ถูกโค่นล้มลง
ศิลปินไม่พยายามทำให้ความโหดร้ายของตัวแบบอ่อนลงด้วยทักษะทางเทคนิค พู่กันไม่แสดงออกถึงความพึงพอใจ และสีที่จำกัดอยู่ที่เอิร์ธโทนและดำ คั่นด้วยแสงขาวและสีแดงของเหลือดเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย น้อยคนนักที่จะชื่นชมผลงานนี้เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของจิตรกร นี่คือพลังอันน่าสยดสยองและขาดไร้ซึ่งการจัดฉากแบบอุปรากร
FYI
มีความเป็นไปได้ว่าภาพ The Second น่าจะได้รูปแบบการใช้สีและจัดองค์ประกอบจากภาพ Henry IV at Battle of Ivry (1627) โดย เปเตอร์ ปอล รูเบนส์ ส่วนภาพ The Third มาจากองค์ประกอบภาพพิมพ์บนใบปลิวเผยแพร่ข้อคิดทางจิตวิญญาณของ มิเกล กัมโบริโน ในปี1813 บวกกับภาพ Oath of the Horatii (1784) โดยศิลปินฝรั่งเศส ฌาร์ค หลุยส์ เดวิด
FYI
The Third of May 1808 ส่งอิทธิพลถึงศิลปินรุ่นหลัง อาทิ ภาพ The Execution of Emperor Maximilian (1868-1869) ของ เอ็ดดูอาร์ด มาเนต์, Guernica (1937) และ Massacre in Korea (1951) ของ ปิกัสโซ่ และ เครื่องหมายสันติภาพ ในปี 1958 เมื่อเจอรัลด์ โฮลทอม นักออกแบบชาวอังกฤษได้รับการมอบหมายให้ออกแบบสัญลักษณ์ ‘การลดอาวุธนิวเคลียร์ ‘ (Nuclear Disarmament) เขาเลือกสัญญาณธงของ N และ D มาประกอบเป็นเครื่องหมาย อย่างไรก็ตาม โฮลทอมอ้างด้วยว่า เขานึกถึงการชูมือยอมแพ้ในภาพของ The Third of May
ชีวิตส่วนตัว และความป่วยไข้ของโกยา
ในช่วงปลาย1792 โกยาเป็นโรคที่ไม่ได้รับการวินิจฉัย รวมถึงความเครียดอันเกิดจากความตายอย่างต่อเนื่องของลูกหลายคนที่รอดมาได้เพียงคนเดียว ทำให้เขาหูหนวก บ้างก็ว่าอาการเกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์หลังจากฝรั่งเศสประกาศสงครามกับสเปน รายงานสมัยใหม่มีการวิเคราะห์ว่าเขาน่าจะเป็นไข้สมองอักเสบจากไวรัส หรืออาจสืบเนื่องจากความดันโลหิตสูง และอาจเป็นไปได้ว่าโกยามีพิษตะกั่วสะสมเป็นเวลานานอันเนื่องมาจากสีที่ได้จากตะกั่วที่เขาบดเอง การประเมินจากการชันสูตรศพอื่น ๆ ชี้ไปที่ภาวะสมองเสื่อมแบบหวาดระแวง
ในปี 1805 โกยาได้พบกับ ลีโอคาเดีย ในงานแต่งลูกชายของเขา ฮาเวียร์ กับกูเมอร์ซินดา ในขณะที่โกยาตอนนั้น 59 ส่วนลีโอคาเดียยังอายุแค่ 16 ปี แม่ของกูเมอร์ซินดา มีศักดิ์เป็นป้าของ ลีโอคาเดีย ต่อมาในปี1807 ลีโอคาเดียแต่งงานกับ อิซิโดโร ไวส์พ่อค้าเครื่องประดับชาวยิวเยอรมัน และให้กำเนิดลูก 3 คนคือ ฮัวควิน, กีเยร์โม และโรซาริโอ อย่างไรก็ตามในปี1812 สองปีก่อนที่โรซาริโอจะเกิด ไวส์ กล่าวหาว่าลีโอคาเดียนอกใจจากนั้นทั้งคู่ก็หย่าขาดจากกัน แต่ยังคงอาศัยร่วมบ้านกันอยู่ อันเป็นปีเดียวกันกับที่ โฮเซฟา ภรรยาของ โกยา เสียชีวิต ต่อมาในปี1814 ลีโอคาเดียให้กำเนิดลูกสาวอีกคน โรซาริโอ ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจเป็นลูกของโกยา กระทั่งปี1817 ลีโอคาเดียพร้อมลูกอีกสองคน (กีเยร์โม และโรซาริโอ) ก็ย้ายไปอยู่กับโกยาในฐานะแม่บ้าน ในขณะที่ตอนนั้นโกยาอายุ 73 ปี ส่วนลีโอคาเดียอายุ 29 ปี ซึ่งชาวบ้านรู้กันว่าแท้จริงเวลานั้น ความสัมพันธ์ระหว่างโกยา และลีโอคาเดีย เป็นคนรักกัน ต่อมาในปี1819 พวกเขาก็ย้ายไปอยู่ บ้านของคนหูหนวก (เพราะเจ้าของเดิมเผอิญหูหนวกเช่นเดียวกับโกยา) ในชนบทของมาดริด ก่อนที่ต่อมาในปี1823 พวกลีโอคาเดียจะถูกเนรเทศให้ออกจากมาดริด เนื่องจาก กีเยร์โม ที่ตอนนั้นอายุแค่ 13 ปี เข้าไปมีส่วนพัวพันกับพวกทหารกองโจรเพื่อหวังจะปฏิวัติ โกยาจึงอาศัยข้ออ้างเรื่องอาการป่วย แต่แท้จริงแล้วเขาหวาดกลัวภัยจากการรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จึงขอย้ายไปอาศัยที่ฝรั่งเศส อันเป็นบ้านสุดท้ายของ โกยา ณ เมืองบอร์กโดซ์ ซึ่งลีโอคาเดียและลูก ๆ ตามมาอยู่ด้วยกัน
เหตุการณ์ในเกม Impasto เริ่มขึ้นในปี1823 ในช่วงที่โกยาเตรียมจะย้ายออกจากมาดริด ก่อนจะเขียนจดหมายไปหา มาริอาโน หลานชายของเขาที่ตอนนั้นอายุ 21 ปี ในเกม ภูตผีโผล่มาฝากฝังให้เขาเก็บรักษาบ้านหลังนี้ไว้ พร้อมกับทำนายอนาคตของมาริอาโน ซึ่งในความเป็นจริงนั้น มาริอาโนตัดสินใจขายบ้านหลังนี้ในปี 1854 หลังจากธุรกิจลงทุนเหมืองแร่, ค้าที่ดิน และการลงทุนในตลาดหุ้น เจ๊งหมดทุกอย่าง รวมถึงเป็นหนี้พนันมหาศาล สุดท้ายหลังจากขายบ้าน เขาก็เริ่มทยอยค้นรูปวาดของโกยามาขายกิน ในบั้นปลายเขาเปลี่ยนขั้วการเมืองจากเสรีนิยมกลายเป็นอนุรักษ์นิยมหัวรุนแรง เรียกว่าเป็นทุกอย่างที่ปู่ของเขาไม่อยากให้เป็น
ตาสว่างเห็นปีศาจ (ดำดิ่งสู่ห้วงความมืดมิด)
อะไรที่อยู่ในบ้านหลังนี้ และโกยาอยากมอบให้แก่หลานของเขา นั่นคือภาพวาดบนฝาผนัง 14 ภาพ ที่ไม่เคยมีชื่อรูป (ชื่อต่าง ๆ ของภาพแต่ละภาพถูกตั้งขึ้นมาทีหลังการตายของโกยา โดย อันโตนิโอ บรูกาดา เพื่อนบ้านคนสนิท) ในปี 1874 (ราว 50 ปีหลังจากโกยาเสียชีวิต) ช่างภาพชาวฝรั่งเศส ฌอง โลร็องด์ ได้ถ่ายภาพขาวดำต้นฉบับบนผนังเอาไว้ ในปีนั้นนายธนาคารและนักสะสมชาวฝรั่งเศส เอมิลี เดอ เอิร์ลังเงอร์ ได้ว่าจ้างให้ ซัลบาดอร์ มาร์ติเนซ คูเบลล์ส นักซ่อมภาพมาทำการเจาะผนังแล้วใช้เทคนิคถ่ายโอนภาพลงบนผืนผ้าใบ ซึ่งเวลานั้นภาพก็ทรุดโทรมเต็มทีแล้วหลังจากมีความพยายามกของฝ่ายเสรีนิยมที่ต้องการจะเก็บซ่อนภาพเหล่านี้ และทิ้งร้างบ้านให้พ้นจากพวกคลั่งเจ้าทั้งหลาย หลังจากนั้นภาพชุดนี้ก็เดินทางไปแสดงในปารีสปี 1878 ที่ทีแรก เอิร์ลังเงอร์พยายามจะขายภาพชุดนี้ทอดตลาด แต่ไม่มีใครซื้อ สุดท้ายเขาจึงบริจาคให้ หอศิลป์เปรโดในปี 1881 ต่อไปนี้คือบางส่วนของภาพชุดจิตรกรรมสีดำ (Black Paintings) ภายในบ้านนี้
Saturn Devouring His Son เนื้อหาตามตำนานกรีกว่าด้วยเทพโครนัสผู้กำลังกัดกินลูกตัวเอง ด้วยความหวาดกลัวคำทำนายของเทพไกอาว่าเขาจะถูกลูกโค่นอำนาจดังเช่นที่เขาเคยทำกับบิดา แต่แม้เขาจะกินลูกทุกคน สุดท้ายซุสลูกของเขาก็รอดมาโค่นบัลลังก์เขาอยู่ดี โกยาจงใจวาดให้โครนัสผู้เป็นเทพและตลอดมาเคยถูกวาดแต่ในแบบสง่างาม กลับดูราวเป็นปีศาจโบราณผมหงอกตาโปน ที่กินร่างที่คงกายภาพแบบมนุษย์ทำให้ดูโฉดชั่วขึ้นไปอีก และแน่นอนว่าเขากำลังเปรียบเปรยภาพนี้กับสถาบันกษัตริย์ที่มีอำนาจอันล้นเหลือในการผลาญทำลายประชาชนของตนเอง รวมถึงแสดงความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่าและหนุ่มสาวยุคใหม่ด้วยเช่นกัน
เฟรด ลิคต์ นักประวัติศาสตร์ศิลป์เคยตั้งคำถามว่าเป็นไปได้ไหมที่ชื่อรูปทำให้เกิดกรอบคิดว่านี่คือ โครนัสกับลูกชาย ซึ่งอาจไม่ใช่ก็เป็นได้ โดยหากสังเกตร่างที่ถูกกัดกินนั้น ด้วยบั้นท้ายกลมกลึงน่าจะเป็นลูกสาวเสียมากกว่า และตัวละครนี้อาจไม่ใช่โครนัสก็เป็นได้ แต่คำตอบนี้มีเพียงโกยาเท่านั้นที่รู้
A Pilgrimage to San Isidro ภาพที่ดูทั้งเหมือนจะคร่ำครวญหรือร้องเพลง แยกไม่ออกว่าสุขสมหรือสะพรึงกลัว เป็นภาพกลุ่มผู้ศรัทธาเดินไปตามเนินเพื่อแสวงบุญในวันหยุดนักบุญซาน อิซิโดร
Witches’ Sabbath (The Great He-Goat) แม่มดมักถูกใช้ในเชิงเสียดสีด้านความงมงายของยุคสมัย (คล้ายผีปอบของบ้านเรา เกลียดขี้หน้าใครก็ใส่ความว่าเป็นปอบ) ขณะเดียวกันเป็นการมองสีหน้าของบรรดาสาวกแม่มดเหล่านี้ที่ตกอยู่ในความสะพรึงกลัว ความอดอยากยากแค้น เป็นอีกมุมมองหนึ่งว่าแท้จริงแล้วพวกที่ถูกใส่ร้ายว่าเป็นแม่มด อาจไม่ได้ชั่วช้าอย่างที่รัฐพยายามจะป้ายสีก็เป็นได้
ภาพ 15 ที่หายไป
ในปี 1867 ผู้ตรวจสอบอาคารที่คลั่งใคล้ผลงานของโกยาเป็นพิเศษ ยืนยันว่ามีภาพหนึ่งน่าจะถูกฉีกออกไป กาลต่อมาพบว่าน่าจะเป็นภาพชื่อ Heads in a Landscape ที่ปัจจุบันอยู่ในคอลเล็คชั่นของ สแตนลีย์ มอสส์ ในนิวยอร์ก
บ้านอาจมีเพียงชั้นเดียว
ในปี 2003 นักประวัติศาสตร์ศิลป์ ฮวน โฮเซ่ ฮุนเกรา ได้อาศัยการอ้างอิงเอกสารทางกฎหมายร่วมสมัยระบุว่าบ้าน Quinta del Sordo เป็นวิลลาที่มีเพียงชั้นเดียว แต่ถูกต่อเติมให้มีชั้นสองหลังการตายของโกยา จึงเป็นไปได้ว่าภาพบนชั้นสองทั้งหมด ไม่ใช่ฝีมือของโกยา เขาเชื่อว่า ฮาเวียร์เป็นผู้วาดภาพที่ชั้นสองขึ้นมา แล้วมาริอาโนนำไปขายต่อในนามของโกยา เพื่อผลประโยชน์ทางการเงิน อย่างไรก็ตามทฤษฎีนี้ถูกปัดตกไปโดยนักวิชาการผู้คร่ำหวอดในเรื่องนี้ ไนเจล เกลนดินนิง ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนว่า ฮาเวียร์มีผลงานภาพวาดของเขาเอง และการกอปแนวทางแบบโกยาไม่ใช่ใคร ๆ ก็จะทำได้
โกยากลายเป็นผีหัวขาด
ในบทความปี2015 นิตยสาร เดอะ การ์เดียน กล่าวถึงข่าวที่ว่า เอฟ ดับบลิว เมอร์เนา ผู้กำกับหนัง Nosferatu (1922) ที่เสียชีวิตลงในปี 1931 นั้น ถูกขโมยหัวไป บทความดังกล่าวพาดพิงถึงหัวของคนดังอย่าง เบโธเฟน และ โกยา ก็เป็นผีหัวขาดเช่นเดียวกัน คือ หลังจากโกยาเสียชีวิตในปี 1828 เขาถูกฝังในฝรั่งเศส และสมัยนั้นมีขั้นตอนว่าการจะเรียกศพกลับคืนสู่สเปนต้องใช้เวลา 50 ปี จึงมีการขุดศพโกยาขึ้นมาในปี 1888 แต่กว่าร่างของเขาจะกลับคืนสเปนได้ก็คือในปี1899 ซึ่งพบว่าศพของโกยา ไม่มีกะโหลก
ต่อมาในสารคดีฝรั่งเศส Oscuro y Lucientes (2018) มีการสันนิษฐานว่า ภาพกะโหลกอันลือลั่น Vanitas ของศิลปินชาวสเปน ดิโอนิซิโอ ฟิเอร์รอส ในปี 1849 มีความเป็นไปได้ว่ากระโหลกในรูป น่าจะเป็นหัวของโกยา โดยตัวผู้กำกับ ซามูเอล อารากง ใช้เทคนิคสมัยใหม่ craniometric ที่เปรียบเทียบสัดส่วนของกะโหลกในภาพวาดเข้ากับภาพเหมือนของโกยาเอง แล้วพบว่ามันเข้ากันได้พอดิบพอดี อย่างไรก็ตามสันนิษฐานนี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์อื่นที่ยืนยันได้ว่าจริง
แรงบันดาลใจที่ส่งต่อมาจนปัจจุบัน
งานของโกยาไม่เพียงส่งอิทธิพลต่อศิลปินในยุคหลัง แต่ยังมีผลต่อภาพเคลื่อนไหวในยุคของเราด้วย อาทิ ในหนังหลายเรื่องของผู้กำกับขวัญใจเด็กเนิร์ด กีเยร์โม เดล โตโร อย่าง Pacific Rim (2013) หรือ Pan’s Labyrinth (2006) ยังปรากฏใน MV เพลง Big God (2018) ของ Florence + The Machine ที่อิงจากภาพแม่มด Witches’ Flight (1798) ของโกยา ผลงานกำกับ MV โดย ออทัมน์ เดอ ไวล์ด (ผู้กำกับหนังเรื่อง Emma.,2020)
งานของโกยาประกอบด้วยภาพสีน้ำมันและภาพเขียนฝาผนังประมาณห้าร้อยภาพ ตลอดจนภาพแกะสลักและภาพพิมพ์หินและโลหะ เกือบสามร้อยภาพ กับภาพวาดลายเส้นอีกหลายร้อยภาพ ส่วนใหญ่ได้รับการเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ปราโด ในกรุงมาดริดและในซาราโกซา แม้ว่าจะมีงานจำนวนมากในฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิพิธภัณฑ์ลูฟร์
แต่ความยิ่งใหญ่ของโกยา ไม่ใช่จำนวนผลงาน แต่คือการไม่หยุดนิ่งในการผลักขอบเขตความเป็นไปได้ทางศิลปะ ดังที่ ไนเจล เกลนดินนิง นักประวัติศาสตร์ผู้ช่ำชองโกยา เคยกล่าวว่า “โกยาเป็นแบบอย่างในทางโรแมนติกในสมัยนิยมนีโอคลาสสิกในยุคของเขา เป็นต้นแบบอิมเพรสชันนิสต์ในสมัยที่อิมเพรสชันนิสต์ยังไม่มีใครรู้จัก ต่อมาเขายังได้เป็นต้นแบบของเอ็กเพรสชันนิสต์ และยังสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ด้วยการบุกเบิกรูปแบบเซอร์เรียลิสต์” เช่นกันกับ เจเอ็ม มาติลลา หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ภาพวาดและภาพพิมพ์แห่ง มาซิโอ เดอ ปราโด กล่าวว่า “เราไม่ลังเลยเลยที่จะอธิบายโกยาว่าเป็นศิลปินแห่งโลกยุคใหม่คนแรก”