ThaiPublica > คอลัมน์ > เรือดำน้ำลึกที่สุดในโลก

เรือดำน้ำลึกที่สุดในโลก

24 มิถุนายน 2023


1721955

อันที่จริงจุดที่ลึกที่สุดของมหาสมุทรในโลกนี้ ที่เรียกว่า Challenger Deep ตรงร่องลึกใต้น้ำมาริอาน่า (Mariana Trench) ใกล้กับเกาะกวม มีความลึกเพียง 35,827 ±บวกลบ 33 ฟุต (พิกัด 11°22.4′N 142° 35.5′E) หรือราว 11 กิโลเมตรเท่านั้น ถ้าเทียบก็เท่ากับระยะทางจาก 5 แยกลาดพร้าวไปถึงเยาวราช ขณะที่ปัจจุบันมียานอวกาศออกไปสำรวจนอกโลกมากมาย แต่จนบัดนี้มีพาหนะเพียง 4 ลำเท่านั้นที่เคยพาคนดิ่งลึกไปได้เกิน 10 กิโลเมตร โดยไม่มีใครเลยที่สามารถออกไปเดินนอกตัวเรือได้ เพราะมวลใต้ทะเลลึกมหาศาล ขณะที่ในห้วงอวกาศเมื่อพ้นชั้นบรรยากาศไปได้แล้ว มวลในอวกาศจะมีค่าเป็นศูนย์นั่นคือสาเหตุที่มนุษย์สามารถไปเดินบนดวงจันทร์ได้ แต่ไปเดินใต้ทะเลลึกไม่ได้เด็ดขาด

บทความนี้สืบเนื่องจากข่าวดังทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ก่อน อันเกิดจากการเสียชีวิตของลูกเรือทั้ง 5 หลังจากขาดการติดต่อเป็นเวลาหลายชั่วโมง ภายในยานดำน้ำลึก ไททัน ของบริษัทโอเชียนเกท เอ็กซ์เพดิชั่นส์ ทั้งที่อยู่บริเวณโซนที่มีความลึก 12,506 ฟุต / 3.8 กิโลเมตร หรือเพียง 1 ใน 3 ของความลึกที่สุดเท่านั้นเอง แต่แรงมวลมหาศาลของน้ำก็บีบอัดขยี้ฉีกยานลำนี้ออกภายในพริบตาไปพร้อมกับร่างของทั้ง 5 คนที่ถูกบี้บดเสียชีวิตในเสี้ยววินาทีก่อนที่พวกเขาจะทันรู้ตัวด้วยซ้ำไป

คลิปแสดงตัวอย่างการ Implosion ด้วยการที่ภายในเป็นสุญญากาศภายนอกมีมวลความเย็นจากอากาศและสายฝน

คลิปสาธิตการ Implosion ด้วยการเผากระป๋องให้ร้อนแล้วแช่ในน้ำเย็นจัดจนเกิดมวลความเย็นจากภายนอกบีบอัด

การระเบิดแบบนี้เรียกว่า Implosion เป็นการถูกบีบอัดขยี้ด้วยแรงมวลน้ำและความเย็นจากภายนอก (ตรงข้ามกับการระเบิดทั่วไป ที่เกิดจากแรงความร้อนปะทุจนกลายเป็นแรงดันภายใน-อย่างที่เกิดขึ้นกับถังดับเพลิงระเบิดเนื่องจากวางไว้กลางแดดร้อนจัดในโรงเรียนราชวินิตมัธยมเมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา) ไททัน เป็นยานที่คอมโพสิตระหว่างวัสดุ 2 ชนิด คือ คาร์บอนไฟเบอร์ กับไทเทเนียม เพื่อจะเดินทางไปยังจุดที่ซากเรือไททานิกจมอยู่ที่ความลึก 12,506 ฟุต (3,811 เมตร)

ยานดำน้ำลึกลำนี้มีชื่อเดิมว่า Cyclops II (ยักษ์ตาเดียว) ก่อนจะเปลี่ยนชื่อในเดือนมีนาคม 2018 เป็น Titan (ชาวยักษ์ไททันอันกำเนิดจากเทพ 12 องค์บนฟ้าสวรรค์ก่อนจะถูกโค่นอำนาจจากเทพโอลิมปัส -การเปลี่ยนชื่อเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจเดินทางไปดูไททานิก-อันชื่อหมายถึง ยักษ์มหึมา) โอเชียนเกทพัฒนาการคอมโพสิต 2 วัสดุนี้โดย 1.โครงสร้างไทเทเนียม ได้มาในเดือนธันวาคม 2016 จาก Titanium Fabrication Corp. (TiFab) 2.โครงกระบอกยานนำไปผสมคาร์บอนในเดือนมกราคม 2017 จากบริษัท Spencer Composites โดยวัสดุคอมโพสิตระหว่าง 2 สิ่งนี้จะทำให้สามารถทนแรงบีบอัดที่ความลึก 13,000 ฟุต (4,000 เมตร) อันพอดีกับโซนที่ซากเรือไททานิกอัปปางอยู่

ยานดำน้ำลึก ไททัน

ทว่าปัญหาใหญ่คือวัสดุคอมโพสิตจะมีความล้า (Fatigue) กล่าวคือวัสดุจะเกิดรอยร้าว ปริ แตกในระดับโมเลกุลและจะเสื่อมประสิทธิภาพลงไปเรื่อย ๆ ในทุกรอบของการใช้งาน ทำให้การเดินทางครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2023 มันไม่สามารถทนต่อแรงบีบอัดที่ความลึกตามที่ตั้งใจไว้

และนี่คือคำตอบของคำถามที่ว่าทำไมเรือที่เคยพานักท่องเที่ยวคนอื่นจนไปถึงระดับความลึกเดียวกับไททานิกมาก่อนแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ทำไมคราวนี้…จึงไปไม่ถึง

ปัญหานี้ซีอีโอ สต็อคตัน รัช เจ้าของโอเชียนเกท ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ด้วย…รู้อยู่แล้ว ทำให้เขาตัดสินใจผิดพลาดสองประการ คือ 1.เมื่อนายเดวิด ลอชริดจ์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการเรือดำน้ำของโอเชียนเกท เคยเตือนเรื่องนี้ แต่สุดท้ายรัชเลือกที่จะไล่นายลอชริดจ์ออก เรื่องนี้ภายหลังเป็นคดีความเมื่อนายลอชริดจ์ฟ้องร้องโอเชียนเกทจากความไม่เป็นธรรมในการไล่ออก 2.วิล โคห์เนน จากสมาคมเทคโนโลยีใต้ทะเล ได้เปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า โอเชียนเกท เอ็กซ์เพดิชั่นส์ ไม่ได้ทำตามบรรทัดฐานของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางทะเลมาตั้งแต่แรก เนื่องจากทางบริษัทปฏิเสธที่จะนำเรือ ไททัน เข้ารับการตรวจสอบความปลอดภัยที่เข้มงวดโดยสมัครใจ เพราะนายรัชรู้อยู่แล้วว่าหากนำไปทดสอบจะยิ่งเป็นการเพิ่มความล้าให้กับวัสดุเรือ

ภายหลังโคห์เนนให้ข่าวว่า “ในโลกนี้มีเรือดำน้ำอยู่ 10 ลำ ที่สามารถดำน้ำได้ลึกกว่า 12,000 ฟุต ทุกลำได้รับการรับรอง ยกเว้นเรือดำน้ำของโอเชียนเกท”

ยานดำน้ำลึก ดีปไฟล์ท ชาเลนเจอร์
[บริษัท Spencer Composites ผู้ผลิตคอมโพสิตคาร์บอนเข้ากับไทเทเนียม เคยใช้วัสดุคอมโพสิตแบบเดียวกันนี้ผลิตยานดำน้ำลึกให้ DeepFlight Challenger ของ สตีฟ ฟอสเส็ตต์ (เศรษฐีนักบิน นักผจญภัยผู้ชื่นชอบการสร้างสถิติใหม่ เป็นเจ้าของสถิติการเดินทางรอบโลกด้วยบอลลูน เครื่องบินเดี่ยว และเรือโดยไม่แวะพัก) โดยคำสั่งซื้อในปี 2005 อันเป็นโครงการลับที่ ฟอสเส็ตต์ ตั้งใจจะฉายเดี่ยวลงไปให้ถึงจุดชาเลนเจอร์ดีป แต่ทว่าเขาเสียชีวิตในปี 2007 ทำให้ยานถูกเก็บเข้ากรุไปก่อนจะถูกซื้อกลับมาพัฒนาต่อโดย คริส เวลช์ จากบริษัท Deep Sub LLC ในปี 2010 ก่อนที่ Virgin Oceanic (บริษัทพาณิชย์ท่องทะเลลึกที่ เวลช์ มีหุ้นและเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง) จะเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ มีเป้าหมายเพื่อดำเดี่ยวเป็นครั้งแรกของโลกไปยังจุดลึก 5 แห่งทั่วโลก ได้แก่ ร่องลึกมาริอานา, ร่องลึกเปอร์โตริโก, ร่องลึกไดอะแมนติน่า, ร่องลึกแซนด์วิชใต้ และร่องลึกมอลลอย แต่ภายหลังถูกตัดหน้าไปในปี 2012 จากโครงการอื่น (เราจะมาเหลาให้ฟังทีหลัง) แถมยังพบว่าความล้าของวัสดุจะทำให้ยานมีประสิทธิภาพที่สุดในการดำลึกในครั้งแรกเท่านั้น ทำให้เวอร์จิน โอเชียนิค พับโปรเจ็คต์นี้ไปในที่สุด]
ยานดำน้ำลึกแบบแขนกลรีโมท แมนทิส
[ผู้ออกแบบยาน ดีปไฟล์ท ชาเลนเจอร์ คือ แกรห์ม ฮอว์กส์ ภายหลังเขาออกแบบยานพาณิชย์หลายรุ่นให้เวอร์จิน โอเชียนิค ครั้งหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ของเขาปรากฎในหนังเจมส์ บอนด์ 007 เรื่อง For Your Eyes Only (1981) ด้วย นั่นคือ Mantis ยานดำน้ำลึกแบบนั่งคนเดียวที่มีแขนกลบังคับด้วยรีโมท ซึ่งเขาขับเองในหนังเรื่องนี้ด้วย โดยตัวยานพัฒนาจากรูปลักษณ์ของ ตั๊กแตนตำข้าว]

ความลี้ลับใต้ทะเลลึก

แม้ว่ามหาสมุทรจะกินพื้นที่กว่า 70% ของโลกเรา แต่จริง ๆ แล้วมนุษย์เคยสำรวจมันไปได้แค่ 5% เท่านั้น นอกจากแรงกดอากาศจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการดิ่งลงใต้ทะเลลึกแล้ว (ว่ากันว่าแรงกดใต้ทะเลลึกเท่ากับน้ำหนักของเครื่องบินจัมโบ้ 50 ลำกดลงบนตัวเราเป็นแรงดันมหาศาลที่มากกว่าบนพื้นดินหนึ่งพันเท่า) ยิ่งลึกก็ยิ่งมองไม่เห็นอะไรเลยเพราะแสงส่องลงไปใต้ผิวน้ำได้เพียง 984 ฟุต (300 เมตร) เท่านั้น

ขณะที่เราสามารถวางแผนที่ดวงดาวได้ด้วยคลื่นวิทยุในอวกาศ แต่วิธีเดียวกันนี้ไม่สามารถใช้กับการสำรวจใต้ทะเลลึกได้ เพราะมีน้ำขวางอยู่เป็นแสนล้านล้านตัน แนวภูเขาที่ยาวที่สุดในโลกไม่ได้อยู่บนผืนดิน แต่มันซ่อนอยู่ภายใต้น้ำทะเล เรียกว่าแนวภูเขามิดโอเชียน ยาวเกือบ 65,000 กิโลเมตร ที่ผู้คนสามารถศึกษามันได้แค่ 1% เท่านั้น ที่เหลือมันอยู่ลึกเกินกว่ามนุษย์จะไปถึง เรารู้เรื่องแนวภูเขานี้น้อยกว่าพื้นผิวดาวอังคารและดาวศุกร์ที่อยู่ห่างออกไปจากโลกเสียอีก

ความลึกของชาเลนเจอร์ดีป ถ้าเอายอดเขาเอเวอร์เรสต์ที่มีความสูงที่สุดในโลก 29,035 ฟุต ก็ยังไปไม่ถึงก้นของชาเลนเจอร์ดีปที่ลึกถึง 35,827 ฟุตได้เลย 94 % ของสัตว์น้ำภายใต้ชาเลนเจอร์ดีป มีเพียง 1 ใน 3 ของสัตว์น้ำใต้นั้นที่มนุษย์รู้จัก ว่ากันว่าจริง ๆ แล้วมหาสมุทรมีทองที่จมไปกับเรือรวม ๆ กันแล้วน่าจะราว 20 ล้านตันที่กระจัดกระจายไปทั่วทั้งท้องมหาสมุทร แล้วถ้าเราเอามันออกมาได้หมดแบ่งกันทุกคนบนโลกจะได้ทองคนละ 4 กิโลกรัม (คิดเป็นเงินราวแปดล้านกว่าบาท)

คลื่นยักษ์สึนามิสามารถสูงได้ถึง 30 เมตรแต่จริง ๆ แล้วคลื่นใต้น้ำสามารถสูงได้ถึง 240 เมตร ใต้น้ำมีภูเขาไฟเป็นล้านแห่ง การระเบิดกว่า 80% ของภูเขาไฟในโลกนี้เกิดขึ้นใต้น้ำ และกระแสน้ำอุ่นใต้ทะเลลึกบางทีมีความร้อนมากถึง 400 องศาเซลเซียสก็มี

หลายคนอาจมีภาพจำว่าเรือดำน้ำต้องมีรูปทรงยาว ดำทะมึน มีปล่องยื่นออกมาด้านบนไว้ส่องกล้องได้แบบเรือดำน้ำลุงตู่จากจีน 2 ลำแถม 1 ในราคาสองหมื่นล้าน (แต่ลือกันว่าไม่มีเครื่องยนต์) ซึ่งก็จริง เพราะมันคือเรือดำน้ำที่ใช้ในกองทัพที่อย่างมากก็ดำลึกได้ไม่เกิน 650 เมตร แต่ความจริงแล้วยังมียานพาหนะแบบอื่น ๆ อีกที่พาเราดิ่งได้ลึกกว่านั้น

Deep Diving Submersible

ปัจจุบันในโลกนี้มียานดำน้ำลึกหลายแบบ ทั้งแบบขับเคลื่อนด้วยคนขับ (HOV) แบบบังคับด้วยรีโมทจากระยะไกล (ROV) หรือแบบยานใต้น้ำไร้คนขับ (UUV) ที่มีทั้งแบบ Deep-submergence vehicle (DSV) ใช้สำรวจใต้ทะเลลึก และแบบ Deep-submergence rescue vehicles (DSRV) ใช้สำหรับการกู้ภัยในน้ำลึก ไปจนถึง Commercial submersibles อันเป็นเรือดำน้ำเชิงพาณิชย์ที่ให้บริการนักท่องเที่ยวดำลงไปสำรวจห้วงทะเลลึก และยังเคยใช้ในการสืบราชการลับด้วย

ยาน 4 ลำที่เคยพาคนดิ่งลึกได้เกิน 10 กิโลเมตร

อย่างที่เราเอ่ยไว้แต่แรกแล้วว่า จนบัดนี้มีเพียงยานดำน้ำลึก 4 ลำเท่านั้นที่เคยลงไปใต้ทะเลในระดับเกิน 10 กิโลเมตร ไปถึงโซนที่เรียกว่า ชาเลนเจอร์ดีป

อันดับ 4 Deepsea Challenger (DVC 1) สัญชาติออสเตรเลีย สถิติความลึก 35,787 ฟุต / 10,908 เมตร

ก่อนหน้านี้เราเคยเล่าว่ายานใต้ทะเลลึกของเวอร์จิน โอเชียนิคพับโปรเจคต์ลงสู่ความลึกที่สุดด้วยตัวคนเดียวไป เพราะมีคนตัดหน้า นั่นก็คือยานลำนี้นั่นเอง ดีปซี ชาเลนเจอร์ ที่ขับเคลื่อนด้วยความเร็ว 5.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้มันสามารถลงไปยังโซนชาเลนเจอร์ดีปได้ภายในเวลาแค่ 2 ชั่วโมง 36 วินาทีเท่านั้น เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2012 อันเป็นการเดินทางตัวคนเดียวครั้งแรกของโลกโดยคนขับเป็นคนที่ทั้งโลกรู้จักเป็นอย่างดี นั่นก็คือ เจมส์ คาเมรอน ผู้กำกับหนัง Titanic, Avatar และคนเหล็ก The Terminator นั่นเอง

สปอนเซอร์โดย เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก โซไซตี้ จับมือกับแบรนด์นาฬิกาหรู โรเล็กซ์ โดยโปรเจ็คต์นี้ยังถูกสร้างเป็นหนัง 3D ด้วย ออกแบบและก่อสร้างยานโดย รอน อัลลัม นักวิศวกรชาวออสเตรเลีย ตัวยานเป็นโครงสร้างพิเศษที่ใช้วัสดุใหม่ในรูปโฟมสังเคราะห์ (Syntactic foam) อันเป็นวัสดุผสมที่สังเคราะห์ขึ้นมาด้วยการเติมโพลิเมอร์ของโลหะ เข้ากับซีเมนต์หรือเซรามิก ในทรงเม็ดโฟม กลายเป็นอนุภาคที่มีความกลวงแต่เกาะกันแบบไม่มีโพรงอากาศทำให้ความหนาแน่นต่ำลง ความแข็งแรงจำเพาะสูงขึ้น จึงมีคุณสมบัติรับแรงดึงแรงบดขยี้ได้มากกว่าวัสดุอื่น สามารถทนแรงอัดได้ที่ความลึก 11 กิโลเมตร

ยานดำน้ำลึกแบบไร้คนขับ Sun Ray
[หลังจากประสบความสำเร็จอย่างมากจากโปรเจ็คต์ของเจมส์ คาเมรอน ผู้ออกแบบ รอน อัลลัม แม้ว่าปีนี้จะวัย 74 แล้ว แต่เมื่อปี 2017 เขาได้ทำสัญญาด้านกลาโหมมูลค่า 3.71 ล้านดอลลาร์ (ราว 111ล้านบาท) เพื่อออกแบบยานร่อนใต้น้ำไร้คนขับประสิทธิภาพสูง สำหรับตรวจตราใต้น้ำที่มีความอึด ทนได้นาน ภายใต้โปรเจ็คต์ Sun Ray กระเบนแสงอาทิตย์]
อันดับ 3 Striver (Fen-Dou-Zhe) สัญชาติจีน สถิติความลึก 35,791 ฟุต / 10,909 เมตร

เรือเฟิ่นเต้าเจ๋อ หรือ Striver (ความมุ่งมั่นพยายาม) เป็นยานดำน้ำลึกลำแรกที่พาคนไปถึงจุดชาแลนเจอร์ดีปได้ถึง 3 คนภายในคราวเดียว นั่นคือ จางเหว่ย, จ้าวหยาง และหวังจื่อเฉียง เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2020 ผลิตโดย China State Shipbuilding Corporation (CSSC) ตัวเรือพิเศษด้วยการติดตั้งแขนกล 2 ข้าง กล้องใต้น้ำ 7 ตัว โซนาร์ 7 ตัว สว่านไฮดรอลิก และอุปกรณ์วิทยาศาสตร์อื่น ๆ เพื่อสำรวจวิจัย ใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมงในการไปถึงจุดลึกที่สุด และมีข้อมูลไม่เป็นทางการว่าความจริงแล้วจีนมีการใช้ยานลำนี้ลงไปสำรวจที่ชาเลนเจอร์ดีปทั้งหมด 21 ครั้งแล้ว และจนบัดนี้มีนักวิทยาศาสตร์เคยลงไปผ่านยานลำนี้ทั้งหมด 27 คน เพื่อเก็บข้อมูลลับทางทะเลลึกที่ฝั่งสหรัฐก็ไม่รู้ว่าคืออะไร

อันดับ 2 Trieste สัญชาติอิตาลี-อเมริกา สถิติความลึก 35,797 ฟุต / 10,911 เมตร

แต่สถิติเก่าแก่และเป็นครั้งแรกของโลกจริง ๆ เป็นของเรือ Trieste (มาจากชื่อเมืองท่าทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิตาลี) ลำนี้ ออกแบบโดย ออกุสเต้ พิกการ์ดส์ ชาวสวิส ซึ่งส่วนบนสร้างขึ้นในอิตาลี โดยบริษัทผลิตเรือเดินสมุทรและเรือรบ Cantieri Riuniti dell’Adriatico (United Shipbuilders of the Adriatic) ส่วนทรงกลมด้านล่างเรือเป็นของเก่าที่สร้างโดยกองทัพฝรั่งเศสเมื่อปี 1953 ภายหลังในปี 1958 กองทัพเรือสหรัฐซื้อมาในราคา 250,000 ดอลลาร์ (ราว 2.2 ล้านดอลลาร์ตามค่าเงินปัจจุบัน) เพื่อใช้เป็นที่นั่งสำหรับลูกเรือทั้งสอง คือ ดอน วอลช์ (เป็นหนึ่งในทีมผู้ดูแลภารกิจของ เจมส์ คาเมรอน ด้วย) กับ ฌาคส์ พิกการ์ดส์ (ลูกชายผู้ออกแบบเรือ)

ด้านบนใช้บรรจุน้ำมันเบนซิน 85,000 ลิตร เพื่อช่วยในการลอยตัว ด้วยความหนาของโครงเหล็กถึง 5 นิ้ว (ความหนาระดับนี้มีศักยภาพดำลึกได้มากกว่าจุดชาแลนเจอร์ดีป) ออกเดินทางเมื่อวันที่ 23 มกราคม 1960 ทั้งหมดนี้ดำเนินการโดยกองทัพเรือสหรัฐภายใต้โปรเจ็คต์ลับ เน็คตัน เพื่อแข่งกับสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น ใช้เวลาดิ่งลงสู่ก้นมหาสมุทรด้วยความเร็ว 3.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นเวลา 4 ชั่วโมง 47 นาที และใช้เวลา 3 ชั่วโมง 15 นาทีในการขึ้นสู่ผิวน้ำ

มีเรื่องเล่าว่าระหว่างเดินทางลงไป ลูกเรือทั้งสองสังเกตเห็นปลาโซล (Sole) เพียงตัวเดียว และปลาลิ้นหมาจำนวนหนึ่ง (ทั้งปลาโซลและปลาลิ้นหมามีลักษณะแบน) ภายหลังข้อมูลนี้ถูกตั้งคำถามว่าอาจไม่ถูกต้อง เนื่องจากความลึกสูงสุดตามทฤษฎีสำหรับปลาจะอยู่ได้ที่ความลึก แปดพัน-แปดพันห้าร้อยเมตร ซึ่งหากเกินกว่านั้นน้ำจะมีสภาพเป็นไฮเปอร์ออสโมติก ที่จะมีแต่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเท่านั้นอยู่ได้ เช่น ปลิงทะเล ที่อาจถูกเข้าใจผิดได้ว่าเป็นสัตว์ตัวแบน ภายหลังพวกเขายอมรับว่าอาจผิดพลาดเนื่องจากความรู้ทางชีววิทยามีอยู่น้อย

อันดับ 1 DSV Limiting Factor สัญชาติอเมริกา สถิติความลึก 35,843 ฟุต / 10,925 เมตร

นี่คือเจ้าของสถิติความลึกที่สุดในโลก ผลิตโดยบริษัทผลิตเรือดำน้ำไทรทัน (Triton Submarines) ดำเนินการผลิตโดยองค์กรวิจัยสำรวจมหาสมุทร อิงค์ฟิช ของ เกบ นิวเวลล์ (ผู้ร่วมสร้างระบบปฏิบัติการวินโดว์เวอร์ชั่นแรก ปัจจุบันเป็นประธานบริษัทวิดีโอเกมวาล์ว ผู้พัฒนาเกมชื่อดังอย่าง Half-Life, Left 4 Dead และDota)

ดำเนินงานสร้างโดย วิกเตอร์ เวสโคโว (นักลงทุนหุ้นเอกชนชาวอเมริกัน อดีตนายทหารเรือเกษียณอายุ ผู้เข้าร่วมการบินอวกาศใต้วงโคจรและนักสำรวจใต้ทะเล เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนของบริษัท Insight Equity Holdings) โดยการเดินทางครั้งแรกนี้ เวสโคโว เดินทางลงไปด้วยตัวเอง เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2019 และใช้เวลา 4 ชั่วโมง 10 นาทีในการลงสู่ก้นมหาสมุทร

เรือลำนี้ใช้ตัวถังแรงดันไทเทเนียม ที่สามารถนั่งได้สองคน ติดตั้งแขนควบคุมด้านกาบขวาของเรือ ชื่อเรือได้มาจากนิยายของ เอียน เอ็ม. แบงค์ส เรื่อง The Player of Games ในเรื่องเรือ Limiting Factor เป็นเรือรบที่ทรงอานุภาพมากที่สุด ปัจจุบันเรือลำนี้ถูกขายให้กับกลุ่มนักวิจัยของอิงค์ฟิช เมื่อปี 2022 ภายหลังถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Bakunawa (พญานาค หรือมังกรน้ำในร่างงูตามตำนานฟิลิปินส์ เชื่อกันว่ามันกลืนกินพระจันทร์ลงไป 7 ดวง) ปัจจุบันถูกใช้เป็นเรือดำน้ำพาณิชย์ที่เคยพานักท่องเที่ยวดำลงไปยังชาแลนเจอร์ดีปมาแล้วทั้งหมด 21 คน

ครั้งหนึ่ง โรเบิร์ต บัลลาร์ด นักวิจัยใต้ทะเลลึกเคยตัดพ้อว่า “ถ้าคุณเปรียบเทียบงบประมาณในแต่ละปีขององค์การ NASA ที่ใช้ไปกับการสำรวจอวกาศ งบประมาณเพียงปีเดียวนั้นจะเท่ากับงบประมาณของ NOAA (องค์การบริหารจัดการมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศใต้ทะเลแห่งชาติสหรัฐ) ในการสำรวจมหาสมุทรเป็นเวลา 1,600 ปี”

อันหมายถึงองค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับใต้ทะเลลึกของมนุษยชาติ มีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับความเข้าใจเกี่ยวกับห้วงอวกาศ และมันอาจไม่คุ้มเสี่ยงในการลงทุนลงไปใต้นั้น เมื่อเทียบกับจักรวาลอันไกลโพ้น เมื่อนักวิทยาศาสตร์ต่างมีแนวคิดกังวลว่า โลกอาจไม่ใช่บ้านอันถาวรของมนุษย์ และวันหนึ่งเราอาจต้องย้ายกันไปอยู่ดาวดวงอื่น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่หลายองค์กรต่างรีบเร่งในการค้นหาดวงดาวที่มนุษย์สามารถอาศัยอยู่ได้ โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพอากาศอันแปรปรวน และมลภาวะที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เป็นสิ่งที่ยังคงต้องลุ้นกันว่าวันหนึ่งมนุษย์จะถูกทอดทิ้งให้เน่าตายไปพร้อมกับโลก หรือเราสามารถย้ายไปอยู่ที่อื่นได้จริง ๆ