ThaiPublica > คอลัมน์ > ตำนานศึกของเสด็จพ่อ Saul Bass ที่เราเพิ่งรู้

ตำนานศึกของเสด็จพ่อ Saul Bass ที่เราเพิ่งรู้

4 กุมภาพันธ์ 2023


1721955

เราตื่นเต้นมากบอกเลย บทความนี้ทีแรกกะจะเริ่มจากประเด็นดราม่าเบา ๆ เมื่อสองเอเจนซีออกแบบใบปิดอย่างเป็นทางการ หันมาออกแบบใบปิดฉบับออนไลน์ที่เอาใจชาวเนิร์ดสุด ๆ แต่กลับถูกมองว่ามันสุดแสนจะตื้นเขิน จนเราขุดไปเรื่อย ๆ เราก็พบว่ามันมีเรื่องที่เราเพิ่งรู้ เกี่ยวกับนักออกแบบแห่งโลกภาพยนตร์คนสำคัญมาก (แต่ขออุบไว้ก่อน แม้ว่าหลายคนจะรู้แล้วจากหัวข้อบทความนี้)

คำกล่าวของปิกัสโซยังคงใช้ได้เสมอ “ศิลปินที่ดี…ลอกเลียน ส่วนศิลปินที่ยิ่งใหญ่…โขมย” เมื่อใบปิดจากทั้งสองค่ายที่(เราจะเฉลยในภายหลัง)นอกจากจะโดนสวดเรื่องไอเดียอันสุดแสนจะเบาหวิวแล้ว มันยังช่างไม่ออริจิเอาเสียเลย ลอกมาอย่างโต้ง ๆ เหมือนกันจะจะ กะจะทำสิ่งใหม่ แต่ดั๊นกลายเป็นได้แค่ของก๊อปเกรดต่ำไปซะงั้น

ตัวอย่างโปสเตอร์ Floating Head

Floating Head Syndrome

กลุ่มอาการหัวลอย คำนี้ไม่ใช่ชื่อโรคชนิดใหม่ แต่เป็นคำเสียดสีโปสเตอร์แบบฮอลลีวูดที่ด้วยการแข่งกันประชันจ้างดาราค่าตัวแพงมาแสดงนำ พวกเขาจึงจำเป็นต้องขายดาราอย่างหนัก โปสเตอร์หนังฮอลลีวูด ลามไปถึงปกดีวีดี ค่ายเกม ปกนิตยสาร ปกหนังสือ โปสเตอร์ละครเวที จึงพากันเป็นใบหน้าลอย ๆ หัวโต ๆ ของดาราเหล่านั้นหราอยู่เต็มไปหมด อย่างไม่มีชั้นเชิงด้วยนะเออ คนไหนดังกว่าหรือคนไหนเป็นตัวเอก คนนั้นก็อาจจะหัวโตกว่าคนอื่นหน่อย

โปสเตอร์หนังเรื่องเดียวกันกับแผงข้างบน แต่เป็นแบบอัลเทอร์เนทีฟ

และนี่คือสาเหตุที่ทำไมเดี๋ยวนี้จึงมีศิลปินสมัครเล่นบ้าง มืออาชีพบ้าง แต่ไม่ใช่คนของค่ายโปรโมทหนัง แห่แหนกันออกมาทำโปสเตอร์ทางเลือก หรือโปสเตอร์หนังแบบอัลเทอร์เนทีฟ (AMP-Alternative Movie Poster) ไม่ว่าจะโพสต์อวดแสดงฝีมือ หรือพิมพ์ขายแบบจำนวนจำกัด หรืออย่างกรณี Pinocchio ของ กีร์เยโม เดล โตโร ก็เลือกที่จะจ้างศิลปินที่เขาชื่นชอบมาออกแบบโปสเตอร์อัลเทอร์เนทีฟเองเสียเลย (อ่านได้ที่ลิงค์นี้)

เมื่อค่ายโปรโมทโดดมาออกแบบโปสเตอร์ทางเลือกเสียเอง

และล่าสุดหนังสั่นประสาท 2 เรื่อง เรื่องหนึ่งเดินทางมาถึง 6 ภาค อีกเรื่องเป็นหนังใหม่ของผู้กำกับ ‘ออเตอร์’ ที่มีแนวทางชัดเจนเลือกจะให้เอเจนซีโปรโมทหนังออกแบบโปสเตอร์ทางเลือกเอง เรื่องแรกที่เราเอ่ยถึงคือ Scream VI

(ซ้าย) โปสเตอร์ทางเลือกโดยแฟนหนังมือสมัครเล่น (ขวา) ออกแบบโดยค่ายโปรโมทหนัง

ใบปิดสองใบนี้เหมือนกันโดยบังเอิญหรือเลียนแบบเพื่อให้เข้าใจกรณีนี้ง่ายขึ้น เราจะขอลำดับไทม์ไลน์ดังนี้

4 ธันวาคม 2022 จิล มาร์เซล คอร์เดโร แฟนหนังชาวบราซิล เป็นนักออกแบบและเป็นแฟนเดนตายหนังแนวเชือดสยอง เขาโพสต์อินสตาแกรมเป็นโปสเตอร์ที่เขาออกแบบเอง สีฟ้า ลายเส้นทางรถไฟ พร้อมข้อความว่า “ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมลองขุดไอเดียออกแบบโปสเตอร์ Scream VI ที่ผมโคตรอยากดูมากตอนนี้ (แต่มันจะเข้าฉาย 10 มีนาคม) เนื่องจากเนื้อเรื่องของภาคที่หกนี้จะเกิดขึ้นในเมืองนิวยอร์ก ผมจึงใช้แนวคิดของแผนที่รถไฟใต้ดิน เส้นสีที่กระจายไปทั่วแผ่นดินแสดงถึงโครงเรื่องของภาพยนตร์ทั้ง 5 ภาคก่อนหน้านี้ โดยมีวลีและคำพูดที่น่าจดจำกระจายอยู่ตลอดเส้นทาง (แฟนหนังเรื่องนี้จะสามารถระบุแต่ละจุด ลำดับเหตุการณ์ก่อนหลังได้อย่างง่ายดาย)

รายละเอียดบางจุดบนโปสเตอร์

14 ธันวาคม 2022 อีกเพียงสิบวันถัดมา ค่ายหนังก็ปล่อย Scream VI ทีเซอร์แรกออกมา ด้วยฉากเด็ดอันเป็นเหตุการณ์ในรถไฟใต้ดิน

รายละเอียดบนโปสเตอร์ทางเลือกอย่างเป็นทางการ

1 มกราคม 2023 เกือบหนึ่งเดือนหลังจาก จิล โพสต์โปสเตอร์แบบของตัวเอง ค่ายหนังก็ปล่อยใบปิดทางเลือกอย่างเป็นทางการของตัวเองบ้าง ใบปิดนี้ใช้เฉพาะโปรโมทหนังทางออนไลน์เท่านั้น อาจมีการตีพิมพ์ออกมาแจกแฟน ๆ แบบจำนวนจำกัด แต่ไม่ใช่ใบปิดหลักที่จะใช้โปรโมทหนังเรื่องนี้ตามโรงภาพยนตร์ เพราะใบปิดหลักจะเป็นแบบ Floating Head ส่วนไอเดียการออกแบบใบปิดทางเลือก เอเจนซีโฆษณาบอกว่า “เพราะความที่แฟรนไชส์หนังเรื่องนี้ นอกจากจะมีหนัง 6 ภาคหลักแล้ว ยังมีซีรีส์ทีวีอีก 2 เรื่องรวมกัน 3 ซีซั่น คือ Scream (2015-2016, 2 ซีซั่น) กับ Scream: Resurrection (2019) ที่ยืนไทม์ไลน์ของเรื่องมาตั้งแต่ต้นฉบับภาคแรกในปี 1996 เป็นเวลานานกว่า 26 ปี เราเชื่อว่าแฟนเดนตายตั้งแต่หนังภาคแรกยังอยู่ รวมถึงแฟนรุ่นใหม่ ๆ ก็น่าจะอยากเห็นใบปิดเจ๋ง ๆ ที่ต่างออกไปจากภาคเดิม ๆ”

แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า ใบปิดที่ทางเอเจนซีโฆษณาออกแบบมานั้น ไอเดียมันช่างคล้ายกับของมือสมัครเล่น ขณะที่ของมือสมัครเล่นเป็นการสรุปแต่ละซีเคว้นซ์ของแต่ละภาค ด้วยบทพูดที่ปรากฏในหนัง ดูมีความลึกซึ้งและอุทิศให้แด่สิ่งที่เขาคลั่งใคล้ แต่ของฉบับทางการแต่ละสถานีคือแทนที่ด้วยรายชื่อตัวละครที่ถูกเชือดตายเรียงตามลำดับในแต่ละภาค

(ซ้าย) โปสเตอร์ Scream VI เฉลิมฉลองคริสมาส เทียบกับโปสเตอร์คนอื่นที่มีเนื้อหาคล้ายกัน

ไม่เพียงเท่านั้น Scream VI เคยออกโปสเตอร์ทางเลือกมาก่อนแล้วในช่วงคริสมาส ที่แฟนหนังบอกว่าค่อนข้างจะน่าเบื่อ ไม่ว้าว ไม่ใหม่ เพราะมันช่างเหมือนผลงานคนอื่น ๆ อีกมากที่มีเนื้อหาคล้ายกัน ตึกสูง ย่านไทม์สแคร์ แสงนีออนหลากสี

อย่างไรก็ตามล่าสุดกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในเวลานี้ ว่าใบปิดทางเลือกพวกนี้อาจบอกเป็นนัยถึงเนื้อหาในภาคหกที่กำลังจะลงโรงเดือนหน้านี้ คือสิ่งที่ปรากฏอย่างเด่นหรากลางใบปิด คือ จากขวา Wrongly Accused เดอะมิวสิเคิล เป็นไปได้ว่ามันคือละครเวทีมิวสิเคิลที่ดัดแปลงมาจากหนังสือที่ถูกพูดถึงในภาคแรก Scream (1996), และภาคห้า Scream [2022 ภาคนี้ไม่มีการระบุหมายเลขภาค เนื่องจากเป็นภาคหลังจาก เวส คราเวน เสียชีวิตไปในปี 2015 ต่อมาในปี2017 ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ผู้อำนวยการสร้างเจ้าของลิขสิทธิ์ถูกกล่าวหากรณีล่วงละเมิดทางเพศจนค่ายหนังยักษ์ใหญ่ของเขาต้องปิดตัวลง สุดท้ายลิขสิทธิ์เรื่องนี้ไปตกที่ Spyglass ผู้สร้างหนังดัง ๆ อย่าง Hellraiser, Star Trek, The Sixth Sense ในปี2019 ที่พวกเขาประสบทั้งปัญหาโควิด และยังไม่แน่ใจว่า Scream ภาคนี้จะเป็นรีบูต หรือรีเมค หรือภาคต่อ รวมถึงไม่แน่ใจด้วยว่าผู้เขียนบทสุดเจ๋งคนเดิม เควิน วิลเลียมสัน จะลงมานั่งแท่นโปรดิวซ์ไหม ซึ่งสุดท้ายเขาก็มา]

Wrongly Accused ในหนัง Scream เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นในปี 1995 และตีพิมพ์ในปี 1996 จัดทำโดยรายการทีวี ท็อป สตอรี่ และผู้ดำเนินรายการ เกล เวเธอร์ส (เคิร์ตนีย์ ค็อกซ์) หนังสือเล่มนี้ภายหลังในหนังได้อธิบายว่าในปี 1998 มันถูกดัดแปลงเป็นหนังเรื่อง Stab ดังที่เราเห็นเด่นหรากลางโปสเตอร์คือหนัง Stab ที่จะปรากฏใน Scream VI นั้นจะเป็น Stab IX ภาคที่เก้าแล้ว อย่างไรก็ตามคำว่า นิวยอร์ก กฎใหม่ ทางด้านขวาสุดก็น่าสนใจ เมื่อแฟนเดนตายต่างรู้ว่าหนัง Scream จะหยอกล้อกับกฎหนังแนวเชือดเลือดสาดทั้งหลาย อันทำให้เนิร์ดหนังทั้งปวงหันไปดูภาพซ้ายสุดว่า ไอ้การที่มันขึ้นป้ายฆาตกรจอมหวีด 3 รูปเรียงกัน ล้อมกรอบป้ายไฟอย่างเด่นนี้ กำลังบอกเป็นนัยหรือเปล่าว่าภาคนี้จะมีฆาตกรสามคน

จำ 3 ชื่อนี้ให้ดี Sam Carpenter, Stu Macher และ Kirby Reed

วกกลับมาที่ใบปิดเส้นทางเดินรถไฟใต้ดิน อันเป็นการระบุรายชื่อคนตายในแต่ละภาค ลำดับตามไทม์ไลน์ของแต่ละเรื่อง ทีนี้จะพบว่าในนี้มีอยู่สามชื่อที่ผิดปกติ คือ แซม คาร์เพนเตอร์ ที่ใช้ตัวใหญ่ กว่าคนอื่น ๆ, สตู แมเชอร์ ที่ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่าจุดวงกลมของ สตู เป็นสีชมพูจาง ๆ และอีกคนคือ เคอร์บี รีด ที่มีกากบาทอยู่บนวงกลมสีแดง

อย่างน้อยสิ่งที่คนดูแน่ใจอย่างยิ่งคือ ถนนทุกสายวิ่งไปสู่ แซม คาร์เพนเตอร์ (มาลิสสา บาเรรา) ตัวละครใหม่และเป็นนางเอกจากภาคที่แล้ว คือหลังจากเนฟ แคมเบลล์ เจ้าของบท ซิดนีย์ เพรสคอตต์ ศูนย์กลางของจักรวาล Scream ทั้งหมดก่อนหน้านี้ เพราะฆาตกรจ้องจะเล่นงานแต่เธอมาตลอด แต่เนฟได้ประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่าเธอจะไม่กลับมารับเล่นหนังเรื่องนี้อีกแล้ว ทีนี้สิ่งที่ภาคที่แล้วเตรียมไว้ คือการเปลี่ยนตัวละครศูนย์กลางคนใหม่ จาก ซิดนีย์ มาสู่ แซม ที่มีปูมหลังบางอย่างคล้ายกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ แซม ในภาคนี้จะเป็นเหมือนชุมทางของทุกเส้นทาง นั่นแปลว่า ตัวละครแซมจะมีปมบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับฆาตกรในภาคก่อน ๆ นี้ทั้งหมดที่คนดูยังไม่รู้ด้วยเช่นกัน!!!??

ส่วน สตู แมเชอร์ (แมทธิว ลิลลาร์ด) คนดูต้องย้อนกลับไปภาคแรก เขาคือฆาตกรคนที่สอง เป็นผู้สมคบคิด ที่ในหนังเคยระบุว่าตายไปแล้วตั้งแต่นั้น แต่การให้สีชมพูจาง ๆ กับตัวละครนี้ เป็นไปได้ไหมว่าเขายังไม่ตาย และอาจกลับมาในภาคนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อค้นกลับไปที่ตัวนักแสดง แมทธิว ลิลลาร์ด ผู้รับบท สตู อันที่จริง เขาปรากฏในภาคอื่น ๆ ด้วยในแบบไม่ปรากฎเครดิต เช่น ใน Scream 2 (1997) เขาคือหนึ่งในผู้ร่วมงานปาร์ตี้ในเรื่อง, ใน Scream 3 (2000) เสียงของเขาถูกใช้ในกองถ่ายหนัง Stab 3, แถมใน Scream 4 (2011) เขาคือหนึ่งในคนดูหนัง Stab รอบการกุศลที่เรียกว่า Stab-a-Thon อันเป็นการฉายหนัง Stab เจ็ดภาครวด, ข่าวว่าการที่เขาปรากฎใน Scream เกือบทุกภาค ส่วนหนึ่งเพราะเขาแวะมาเยี่ยมแฟนเก่าในกองถ่าย ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ เนฟ แคมเบลล์ นางเอกของเรื่องนั่นเอง แต่ไอ้การปรากฎอยู่เกือบทุกภาคของเขานี่แหละ เป็นไปได้อย่างมากที่ตัวละคร สตู ของเขาจะกลับมาในภาคนี้

เคอร์บี รีด (เฮย์เดน ปาร์เนตติแยร์) เป็นตัวละครหลักที่โผล่มาในภาค 4 (2011) มีสถานะที่ถูกระบุว่ายังมีชีวิตอยู่ ถูกเอ่ยถึงแบบผ่าน ๆ ในภาคห้าว่าไปแสดงหนัง Stab แต่การระบุชื่อนี้ด้วยเครื่องหมายกากบาทบนวงสีแดง แถมบอกด้วยว่าสถานีนี้ปิดตายไปแล้ว แปลว่าเส้นทางจะไม่จอดที่สถานีนี้อีกต่อไป มันมีความหมายว่าอย่างไรแน่ ในเมื่อโผรายชื่อนักแสดงหลักได้ปรากฎชื่อของ เฮย์เดน ปาร์เนตติแยร์ ในภาคล่าสุดนี้ด้วย

โปสเตอร์หลักของ Scream VI รับผิดชอบแคมเปญทั้งหมดโดย LA Lindeman & Associates

ส่วนใบปิดทางเลือกออกแบบโดยเอเจนซีแคมเปญโฆษณา Concept Arts ที่เคยมีผลงานเด่น ๆ อาทิ Jurassic Park Dominion, Top Gun Maverick, Elvis, The Sandman, Pinocchio (ฉบับดิสนีย์), Spider-Man: No Way Home, The Batman ฯลฯ

หนังล่าสุดของเสด็จพ่อจอมหักมุมก็เอากับเขาด้วย

Knock at the Cabin ที่เข้าโรงบ้านเราเมื่อวานซืนนี้ ก่อนอเมริกาหนึ่งวัน หนังล่าสุดของสเด็จพ่อจอมหักมุม เอ็ม ไนท์ ชยามาลาน ที่กวาดกระแสวิจารณ์ไปสนั่นและเสียงแตกอย่างยิ่ง คือพวกที่ชอบมากก็ชอบเหลือเกินจนให้คะแนนสูงลิบ ส่วนพวกที่ชังก็ให้คะแนนต่ำเตี้ยเกินเบอร์ไปมาก

อย่างไรก็ตามในส่วนของหนัง ทุกคนล้วนชมถึงการแสดงอันละเอียดอ่อนของ เดฟ เบาทิสต้า ที่ชยามาลานเลือกเขามารับบทหนึ่งในผู้คุกคาม หลังจากประทับใจในการแสดงของเขาในเรื่อง Blade Runner 2049 อีกประการคือการถ่ายภาพที่สวยมาก ด้วยฟิล์ม 35 มม.และใช้เลนส์จากปี 1990 เพื่อให้ภาพยนตร์มีลุคระทึกขวัญยุค 90s กำกับภาพโดย ยาริน แบลชเค จาก The Northman (2022), The Pale Horse (2020), The Lighthouse (2019), The Witch (2015) กำกับภาพร่วมกับ โลเวลล์ เอ เมเยอร์ จาก ซีรีส์ Servant

Knock at the Cabin ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อดัง The Cabin at the End of the World (2018) โดย พอล จี. เทรมเบลย์ [เขามีนิยายเด่นอีกเรื่องหนึ่งคือ A Head Full of Ghosts (2015) ที่เคยคว้ารางวัล บราม สโตรเกอร์ อะวอร์ด ล่าสุดค่ายหนังโฟกัส ฟีเจอร์ เคยประกาศในปี 2018 ว่า จะดัดแปลงเรื่องนี้เป็นหนัง โดยผู้รับหน้าที่กำกับคือ ออซ เพอร์คินส์ จาก I Am the Pretty Thing That Lives in the House (2016) อย่างไรก็ตามหลังจากประสบปัญหาช่วงโควิด โปรเจ็คต์นี้ยังพับกระดานอยู่]

ชยามาลานได้อ่านต้นฉบับนิยายตั้งแต่ในปี 2017 และขอซื้อสิทธิ์มาดัดแปลงทันทีก่อนจะตีพิมพ์ออกมาขาย อย่างไรก็ตามจุดหนึ่งที่คนดูไม่ปลื้มหนักมากคือ ความรุนแรงในนิยายนั้นหนักหนากว่าในหนังมาก และเรื่องไม่ควรลดทอนความรุนแรงให้ซอล์ฟลง เมื่อเรื่องมีเหตุผลพอที่จะทำให้เกิดความรุนแรงนั้น และจุดจบของเรื่อง ไม่เหมือนในนิยาย ซึ่งในนิยายมีคำตอบของตอนจบได้ดีกว่ามาก

หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องของคู่ชายรักชายกับลูกสาวบุญธรรมออกไปพักผ่อนในกระท่อมกลางป่าตัดขาดจากผู้คนแวดล้อม แล้วจู่ ๆ ก็มีคนแปลกหน้า 4 คน บุกเข้ามาคุกคามกระท่อมที่สามคนพ่อลูกพักอาศัยอยู่ โดยให้พวกเขาเลือกว่าจะยอมสละชีวิตคนใดคนหนึ่งในครอบครัว เพื่อเป็นการยับยั้งวันสิ้นโลก แลกกับมนุษยชาติจะไม่ต้องถูกทำลายล้าง

(ซ้าย) ผลงานของ Saul Bass (ขวา) โปสเตอร์ทางเลือกของ Knock at the Cabin

เลียนแบบใครก็ได้ที่ไม่ใช่ ซอล แบสส์

ล่าสุดกลายเป็นข้อถกเถียงกัน เมื่อจู่ ๆ Knock at the Cabin ออกมาโพสต์ใบปิดแบบทางเลือกเมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา อันเป็นใบปิดที่ออกแบบโดยเอเจนซี่ชื่อดัง LA Lindeman & Associates (ที่ทำแคมเปญหลักให้ Scream VI ด้วย) ที่ตามมาทั้งเสียงชื่นชมและก่นด่า เพราะมันมีหน้าตาคล้ายผลงานของนักออกแบบชื่อดังสี่ทศวรรษแห่งยุค50s-90s ซอล แบสส์

นิตยสารเอสไควร์ฉบับครบรอบ 100 ปีชาตกาล ซอล แบสส์ ได้กล่าวว่า “ผลงานของ ซอล แบสส์ มองเห็นเด่นชัดได้แต่ไกลในระยะหนึ่งไมล์ ใคร ๆ ก็จะดูออกทันทีว่านั่นเป็นงาน แบสส์ ที่มีนักลอกเลียนจำนวนมากยังคงพยายามอย่างหนัก แต่ก็กลับล้มเหลว” หรือแปลง่าย ๆ ว่า “นักออกแบบทุกคนล้มเหลวทุกครั้งเมื่อพยายามจะก๊อปงานแบบ ซอล แบสส์”

อย่างที่บอก คำปิกัสโซยังขลังเสมอ จริง ๆ ไม่แปลกเลยเมื่อการออกแบบสมัยนี้จะซ้ำ จะลอกใครก็ตาม อย่างที่ปิกัสโซ่บอกไว้ “ศิลปินที่ดี…ลอกเลียน ศิลปินยิ่งใหญ่…ขโมย” คือขโมยมาดัดแปลงอัพเกรดเป็นของตัวเองจนเนียนจนคนดูเดาไม่ได้เลยว่าขโมยไอเดียว้าวซ่าแบบนี้ลอกมาจากใครบ้าง ขณะที่นักออกแบบล้วนกล่าวว่า “ลอกใครก็ได้ แต่อย่าลอกซอล แบสส์” เพราอะไร?! เพราะลายเซ็นผลงานของแบสส์นั้นชัดเจน แข็งแกร่งมาก มากเสียจนยากแก่การลอกเลียน ผลงานเรียบ ๆ พื้น ๆ มินิมอลสุด ๆ แต่เต็มไปด้วยรายละเอียดและผ่านการทำการบ้านขบคิดเค้นมาอย่างหนัก ย่อยแล้ววางจัดบนองค์ประกอบอย่างแม่นยำ ที่ใครทำตามก็เป็นได้แค่มือก๊อปปี้

อีกตัวอย่างของความบ้ง คือ หนัง Clockers (1995) ของผู้กำกับสไปค์ ลี แม้จะเป็นที่ชื่นชอบจากนักวิจารณ์หนัง แต่ก็ถูกจวกหนักในเรื่องการลอกเลียนอย่างทื่อมะลื่อ เมื่อโปสเตอร์ผลงานออกแบบโดย อาร์ต ซิมส์ มีความคล้ายคลึงกับซอล แบสส์ ในเรื่อง Anatomy of a Murder (1959) หนังโดย อ็อตโต เพรมิงเงอร์ ซึ่ง ซิมส์ อ้างว่าเป็นการแสดงความคารวะแด่แบสส์ แต่แบสส์กลับสวนทันทีด้วยการให้สัมภาษณ์กับ เอนเตอร์เทนเมนต์วีคลีย์ ว่า “นี่คือตัวอย่างของการก็อปปี้ไอเดียแบบของก๊อปเกรดต่ำต่างหากล่ะ” เชือดเรียบง่ายสไตล์ ซอล แบสส์ (หลังจากนั้นหนึ่งปี แบสส์เสียชีวิตในปี 1996 ด้วยวัย 75 ปี จากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง)

อย่างไรก็ตามในเมืองไทย ครั้งหนึ่งเคยมีหนังเรื่องดัง เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล ของผู้กำกับทรงอินดี้ เป็นเอก รัตนเรือง ออกแบบโดย วรุตม์ ปันยารชุน ผู้ออกแบบปกอัลบัมเกือบทั้งหมดของค่ายเพลงเบเกอรีมิวสิค ก็เคยใช้สไตล์ ซอล แบสส์ ในช่วงเวลาที่เมืองไทยยังไม่ค่อยมีใครรู้จักแบสส์สักเท่าไร แต่เมื่อครั้นหนังไปฉายเมืองนอก ก็ถึงกับต้องเปลี่ยนแบบโปสเตอร์ที่มีหน้าตาขายกว่า และไม่ติดรูปแบบของแบสส์เลย

งานแรก ๆ ที่ทำให้แบสส์แจ้งเกิดในแวดวงภาพยนตร์ คือโปสเตอร์หนัง 3 เรื่องของ อ็อตโต เพรมิงเงอร์ ได้แก่ Champion (1949), Death of a Salesman (1951) และ The Moon Is Blue (1953) ซึ่งยังค่อนข้างประนีประนอมกับตลาดพอสมควร แต่ก็มีความท้าทายใหม่ ๆ เช่น ไม่ได้ขายหน้าตาดาราชัดเจนอย่างโปสเตอร์หนังทั่วไป ใช้พื้นที่ว่างกว้าง ๆ เพื่อสื่อความหมาย ความโดดเดี่ยว ความมืดมน หรือความเครียดที่ถาโถม หรือฟ้อนต์ชื่อเรื่องสื่ออารมณ์ของภาพรวมหนัง

ซอล แบสส์ ผู้พลิกโฉมหน้าวงการหนังไปตลอดกาล

หลังจากทำโปสเตอร์ให้กับเพรมิงเงอร์ไป 3 เรื่องซ้อน และทำให้เพรมิงเงอร์ชื่นชอบผลงานของแบสส์เป็นอย่างมาก เขาจึงตัดสินใจขอให้ แบสส์ โดดลงมาช่วยออกแบบซีเควนซ์ไตเติล ช่วงเปิดเครดิตหัวหนังให้ด้วย แล้วนับตั้งแต่ Carmen Jones (1954) ของ เพรมิงเงอร์ อีกตำแหน่งที่แบสส์พ่วงทำไปด้วยคือเครดิตหนังต้นเรื่อง อันแต่เดิมคนทำในส่วนนี้คือพนักงานของค่ายหนังผู้ลงทุน โดยให้ฝ่ายศิลป์มาจัดเรียงรายชื่อ แบบไม่มีอะไรหวือหวา เพราะคนไม่ได้อยากดูกันอยู่แล้ว

Carmen Jones เป็นหนังที่ดัดแปลงจากโอเปร่าฝรั่งเศสเรื่องดัง Carmen (1845) ให้กลายมาเป็นความรักร่วมสมัย ปรับให้เป็นอเมริกาทางใต้ตอนล่าง เมื่อดอน โฮเซ่ ทหารหนุ่ม ถูก คาร์เมน โจนส์ ล่อลวงให้เขาละทิ้งหน้าที่ทหาร และทิ้งคู่หมั้น จบตามธรรมเนียมโอเปร่าแบบโศกนาฎกรรม แบสส์เลือกสัญลักษณ์เรียบง่ายแค่สองอย่างคือ ดอกกุหลาบ กับไฟที่ไม่มีวันมอดดับ ซ้อนทับกัน สั่นไหวราวกับมันเต้นรำร่าเริงเป็นนางกลางไฟ ที่ให้ความรู้สึกแทนทั้ง รัก ใคร่ โลภ ทรยศ และความกราดเกรี้ยว ให้ความหมายแบบคลุมเครือ และแยกจากกันไม่ขาด

แล้วจากนั้นชื่อเสียงของแบสส์ก็เริ่มขจรขจายในหมู่คนทำหนังด้วยกันก่อน เมื่อผู้กำกับคนอื่นสนใจใช้บริการของแบสส์ในการทำเครดิตต้นเรื่องให้ด้วย ตามลำดับคือ The Seven Year Itch (1955) หนังของบิลลี ไวเดอร์ ที่แบสส์เลือกจะทำเป็นป้ายสีสลับกันไปมา แล้วค่อย ๆ เผยรายชื่อทีมงานนักแสดงต่าง ๆ, The Shrike (1955) หนังของ โฮเซ่ เฟอร์เรอร์ เป็นลิสต์รายชื่อที่พิมพ์ลงไปบนม้วนกระดาษ โฟกัสภาพไปที่กรรไกรค่อย ๆ ตัดแต่ละรายชื่อทิ้งออกไป, The Big Knife (1955) หนังของ โรเบิร์ต อัลดริช เรียบง่ายมาก เป็นภาพนักแสดงทำท่าปวดหัว รุนแรงขึ้นทุกที ก่อนจะซ้อนทับภาพแตกแยกให้ดูเหมือนความเจ็บปวดนี้มันแตกร้าวออกจากกัน


The Man With The Golden Arm (1955)

แต่เรื่องที่เปลี่ยนโฉมหน้าวงการหนังฮอลลีวูดไปตลอดกาล คือ The Man With The Golden Arm (1955) เราต้องนึกภาพก่อนว่าอเมริกาหลังสงครามโลกขณะนั้น ไม่ใช่ทุกบ้านจะมีทีวี หนังสมัยนั้นยังไม่มีสีเลย และวงการฮอลลีวูดเพิ่งอยู่ในช่วงตั้งไข่ เวลานั้นมีคำกล่าวว่า “Go big or go home” คือจะไปเตร็ดเตร่ดูหนัง หรือจะดิ่งตรงกลับบ้านเลย วัฒนธรรมการดูหนังยุคแรก ๆ ของประเทศในโลกที่ไม่มีเพลงสรรเสริญอย่างอเมริกา คือคนจะค่อย ๆ ทยอยเข้ามาในโรง บ้างก็สูบบุหรี่(เวลานั้นยังสูบในโรงหนังได้) บ้างก็เคี้ยวป๊อปคอร์น กึ่มเหล้าไปก็มี หยอกล้อเพื่อน หรือจีบหญิง พอหนังฉาย คนฉายหนังจะเปิดม่านเพียงครึ่งจอในช่วงเครดิตหัวเรื่อง เพราะคนยังขี้เกียจจะจดจ่อของน่าเบื่ออย่างลำดับรายชื่อทีมงานที่ไม่มีใครสนใจ แต่กลายเป็นว่า หนังเรื่องนี้ทำให้ผู้คนเลิกหันไปคุยกัน จดจ่ออยู่แต่กับเครดิตหัวเรื่อง เพรมิงเงอร์สั่งให้คนฉายหนังเลิกเปิดม่านครึ่งจอแบบแต่ก่อน เปลี่ยนมาเปิดเต็ม ๆ จอ เพราะคนดูอยากดูเครดิตหัวเรื่องอย่างมาก แล้วก็มีคนกลับมาดูซ้ำจริง ๆ เพราะเครดิตหนังเรื่องนี้

แล้วอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในยุคเรา เกี่ยวกับเครดิตต้นเรื่องของซีรีส์ ละคร ทั้งหลายแหล่ที่เราเห็นทางทีวี หรือทางแพล็ตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ ตอนนี้ มันคืออานิสงส์จาก เครดิตเปิดหนัง The Man With The Golden Arm ทั้งหมดทั้งสิ้น เป็นผู้วางรากฐาน บรรทัดฐานให้กับโลกโมเดิร์นมาจนถึงโพสต์โมเดิร์นข้ามมาสู่ยุคดิจิตอลมันก็ยังคงเป็นรูปแบบที่ยังคงอยู่เหมือนเดิม และน่าจะยังไม่เปลี่ยนไปอีกนานตราบที่ยังมีหนังบนโลกใบนี้

มันเป็นหนังที่เล่าหัวข้อต้องห้ามในเวลานั้น คือการติดยา สิ่งเสพติดที่ละเอียดอ่อนมากในการนำเสนอ สุ่มเสี่ยงต่อการถูกเซ็นเซอร์ แบสส์เล่าว่า “ความตั้งใจของผลงานชิ้นนี้คือการสร้างอารมณ์ที่ไร้อารมณ์ ผอมแห้ง มีแรงขับเคลื่อน… ที่สื่อถึงความบิดเบี้ยวและรอยหยัก ความไม่เชื่อมโยงกันและความไม่ปะติดปะต่อของชีวิตผู้ติดยาเสพติดอันเป็นหัวข้อของภาพยนตร์เรื่องนี้” หรือง่าย ๆ ว่าหน้าที่หนึ่งของมันคือการสื่อแทนอาการหลอนยาไปด้วยโดยไม่มียาเสพติดให้เห็นเลยสักนิดเดียว ประกอบกับเพลงแจสที่ค่อย ๆ ไต่อารมณ์สูงขึ้นและพลุ่งพล่านอย่างรวดเร็ว

แล้วหลังจากนั้นผู้กำกับชั้นครูไม่ว่าจะ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก , สแตนลีย์ คูบริก หรือมาร์ติน สกอร์เซซี ก็ต่างแห่แหนกันมาจ้างซอล แบสส์ ที่เราขอแนะนำให้ลองคลิกดูบางเรื่อง อาทิ

Psycho (1960 อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก) https://youtu.be/aj6aBuC1Lb8
Spartacus (1960 สแตนลีย์ คูบริก) https://youtu.be/-spQt_tLBeI
Something Wild (1961 แจ็ค การ์เฟน) https://youtu.be/fjbtd7cwOug
Walk on the Wild Side (1962 เอ็ดเวิร์ด ดมายทรีก) https://youtu.be/fjbtd7cwOug
Grand Prix (1966 จอห์น แฟรงเกนไฮเมอร์)
Casino (1995 มาติน สกอร์เซซี) https://youtu.be/ab_8y8W95nI

ผลงานบางส่วนของ ซอล แบสส์(แถวล่างรูปขวาสุด) The Magnificent Seven (หรือเจ็ดเซียนซามูไรฉบับคาวบอย 1960)เป็นใบปิดที่ไม่เคยถูกใช้จริงเพราะสปอยเนื้อหา

แบสส์เคยอธิบายเกี่ยวกับไอเดียหลักในการทำงานต่าง ๆ ของเขาว่า “ให้พยายามเข้าถึงวลีภาพง่ายๆ ที่เด้งออกมาจากหนังเรื่องนั้นว่า ภาพรวมของมันมีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร สิ่งไหนจะทดแทนความรู้สึกองค์รวมของหนังเรื่องนั้นได้ ไม่ว่าจะซีเควนซ์ไตเติลของหนัง หรือโปสเตอร์หนังเองก็ตาม ภาพแทนนั้นจะต้องกระตุ้นแก่นของเรื่องราวออกมาได้” ปรัชญาอีกประการหนึ่งที่ แบสส์ อธิบาย ว่ามีอิทธิพลต่อผลงานของเขามาก คือ “ต้องหยิบสิ่งที่คนดูคุ้นเคย รู้จักเป็นอย่างดี มาให้ผู้ชมได้เห็นในมุมที่แปลกต่างไม่คุ้นเคย กลายเป็นโลกใหม่ที่พวกเขายังไม่เคยเห็นมาก่อน” เขาเสริมด้วยว่า “มันคือการทำให้สิ่งธรรมดากลายเป็นไม่ธรรมดา”

ที่ปรึกษาด้านภาพผู้ที่ทำให้โลกไม่ลืมหนังเรื่องนั้นไปตลอดกาล

“ซอล แบสส์ ไม่ใช่แค่ศิลปินที่มีส่วนร่วมในไม่กี่นาทีแรกของภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เท่านั้น ในความเห็นของผม ผลงานของเขาทำให้เขาเป็นหนึ่งในผู้สร้างภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในยุคนี้ไปตลอดกาล” —สตีเวน สปีลเบิร์ก 1996

ถ้าคุณเรียนหนัง ครูหนังจะต้องงัดฉากลือลั่นของ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ที่เรียกว่า “78 ช็อต 52 คัท” ออกมาคุยฟุ้งเรื่องความยิ่งใหญ่และความสำเร็จของผู้กำกับคนนี้ มันคือฉากที่โลกไม่ลืม ฉากที่โลกต้องจำ นักเรียนหนังทุกคนต้องเคยดูที่ว่านั้น คือฉากฆาตกรรมในห้องน้ำ ในเรื่อง Psycho (1960) ในเวลานั้นโลกต่างยกย่อง ฮิตช์ค็อก อย่างมาก แต่จากการศึกษาใหม่ ๆ ที่มีการไปสัมภาษณ์ความเห็นจากทั้งทีมงาน นักแสดง ประจักษ์พยาน มีคนทำเป็นหนังสารคดีออกมาเจาะลึกความจริงเหล่านี้พบว่า ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของฉากไอคอนฉากนี้ คือ ซอล แบสส์

เครดิตหนังของซอล แบสส์ ไม่ใช่แค่คนทำหรือออกแบบกราฟิก หรือถ่ายทำซีเควนซ์ไตเติลเท่านั้น แต่อีกหนึ่งเครดิตลับที่ถูกแปะไว้ท้ายหนังคือ ที่ปรึกษาด้านภาพ (pictorial consultant) ฟังดูไม่ได้น่าตื่นเต้นอะไร แต่กลับกลายเป็นว่าหน้าที่ของ แบสส์ เกินเบอร์ไปมาก
คุณต้องรู้ก่อนว่าปลายทศวรรษที่50s แบสส์คือหนึ่งในรายชื่อ อาร์ตไดเร็คเตอร์แห่งปี ประจำปี 1957 จากชมรมผู้กำกับแห่งนิวยอร์ก และคว้ารางวัลอันทรงเกียรติมากมายด้านการออกแบบ อาทิ รอยัลดีไซเนอร์สำหรับอุตสาหกรรม ในปี 1965 ที่มอบให้โดย สมาคมศิลปะในราชนูปถัมภ์แห่งลอนดอน ตามมาด้วยรางวัลออสการ์สาขาหนังสั้นในปี 1968 รวมถึงรางวัลเหรียญทอง จากสถาบันออกแบบกราฟิกอาร์ตอเมริกัน (AIGA) ในปี 1981

ในบทความปี 2011 ของ แพ็ต เคิร์กแฮม จากวารสาร เวสต์86 ได้ระบุว่า ‘การร่วมงานกันของ ระหว่างแบสส์กับฮิตช์ค็อก ทั้งหมดสมควรที่จะศึกษาโดยละเอียดมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคุณภาพที่แท้จริงของผลงาน อีกส่วนเป็นเพราะนำเสนอกรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนที่ซับซ้อนระหว่างกระบวนการถ่ายทำภาพยนตร์และการออกแบบ และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของ แบสส์ ต่อฉากที่โด่งดังที่สุดในโรงภาพยนตร์ของสหรัฐฯ นั่นคือฉากอาบน้ำใน Psycho การอภิปรายอย่างจริงจังเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของ แบสส์ ในฉากอาบน้ำนี้ เป็นการทำงานร่วมกันที่น่าทึ่ง ตั้งแต่นวนิยายต้นฉบับ ดัดแปลงมาเป็นบทภาพยนตร์ ไปจนถึงดนตรีประกอบ แต่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ไม่น้อย เพราะประเด็นของการประพันธ์นั้นยังห่างไกลจากคำว่า “การทำให้เห็นเป็นภาพอย่างชัดเจนตายตัว” ในหลากหลายสาขาวิชา รวมถึงประวัติศาสตร์การออกแบบและการศึกษาด้านภาพยนตร์ด้วย’

เราจะสรุปโดยย่อเกี่ยวกับข้อมูลใหม่(อันที่จริงก็สิบกว่าปีที่แล้ว ไม่ใหม่แล้ว และปัจจุบันในสถาบันหนังต่างชาติยอมรับกันแล้วว่า ข้อมูลที่เคิร์กแฮม ศึกษามานั้นเป็นจริง) เคิร์กแฮมเล่าให้ฟังว่า ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา คำยกย่องต่อฮิทช์ค็อกนั้นเกินเบอร์ไปมาก มันมีผลมาจากบรรดานักวิจารณ์อวยไส้แตกแนวออเตอริสต์ ที่ศึกษาลายเซ็นเฉพาะตัวของผู้กำกับบางคนอย่าง ฮิตช์ค็อก หรือ ฟรองซัวร์ ทรุฟโฟ อย่างต่อเนื่องแล้วโหมอวยบารมีของผู้กำกับจนเกินเบอร์ไปมาก และต่อคำถามที่บรรดาผู้กำกับออเตอร์ ไม่ได้ตั้งตัวไว้ก่อน โดยเฉพาะต่อกรณีที่ว่า อิทธิพลของ แบสส์ มีมากกว่าแค่การออกแบบกราฟิกเท่านั้นหรือไม่


ฉากแทงนักสืบบนหัวบันได อีกฉากจำที่นักเรียนหนังต้องรู้

ตอบในเวลานั้นของ ฮิทช์ค็อก คือ “แบสส์ทำเพียงฉากเดียว แต่ผมไม่ได้ใช้การลำดับภาพของเขา ตอนแรกเขาอยากจะทำไตเติลหัวเรื่องเท่านั้น แต่ผมคิดว่าในเมื่อเขาสนใจในด้านภาพ ผมเลยปล่อยให้เขาวางเลย์เอาท์ซีเควนซ์ฉากที่นักสืบเดินขึ้นบันไดมาก่อนจะถูกแทง” อันป็นภาพมุมสูง และเป็นอีกฉากที่นักเรียนหนังต้องเรียน และโลกยกย่อง ตำราหนังทุกเล่มต้องบันทึกฉากนี้ไว้ เพราะเป็นฉากที่สามารถเล่ารวบให้เห็นทั้งความรุนแรง ทั้งการไม่เปิดเผยว่าตัวฆาตกรที่แท้จริงคือใคร

หลังจากคำสัมภาษณ์นี้ปล่อยออกมาในปี 1966 แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะฉายไปแล้วในปี1960 ทั้งที่จริง Psycho เป็นแค่หนังทุนต่ำถ่ายทำเสร็จภายในเดือนเดียว แถมหกปีหลังจากนั้นรายได้หนังของฮิทช์ค็อกก็ไม่ค่อยเข้าเป้า แต่คำสัมภาษณ์นี้ก็กลายเป็นทำให้ฮิทช์ค็อกโด่งดังไปทั่วโลกในชั่วข้ามคืน ในช่วงสงครามเย็นที่ทั้งโลกต่างรับข่าวสารข้อมูลชุดเดียวกันจากอาวุธร้ายแรงอันทรงประสิทธิภาพที่สุดของสหรัฐ ที่เรียกกันว่า “โทรทัศน์” เมื่อฮิตช์ค็อกยืนยันเช่นนั้น ทีมงานคนอื่น ๆ มีหรือจะกล้าแย้ง ทั้งที่พวกเขาเห็นอยู่ตำตาว่า แบสส์ ทำอะไรไปบ้างในหนังแห่งประวัติศาสตร์เรื่องนั้น

ต่อมาจึงมีการไปสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ว่า หลังจากฮิทช์ค็อกมีชื่อเสียง เขาก็เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในเรื่องอื่นด้วยว่า ชอบให้เครดิตตัวเองเกินจริง โดยไม่คำนึงถึงเครดิตคนอื่น ๆ เลย เช่น โจเซฟ สเตฟาโน ผู้แต่งนิยาย Psycho เล่าว่า “ฮิทช์ค็อกไม่เคยเอ่ยถึงผมเลยไม่ว่าในการสัมภาษณ์ไหนก็ตาม”

หลักฐานอีกประการหนึ่งคือ ฮิทช์ค็อก จ่ายค่าจ้าง แบสส์ สูงถึงหนึ่งหมื่นดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินในปี1960 หากแปลงค่ามาเป็นอัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบัน มันจะมีมูลค่าสูงถึงหนึ่งแสนสองร้อยเหรียญ เงินจำนวนนี้หากแปลงเป็นเงินไทยในปัจจุบันคือ มากกว่าสามล้านบาท ทำไมฮิทช์ค็อกจึงต้องจ่ายค่าจ้างแพงลิ่ว โดยที่แบสส์ไม่ได้ร้องขอ ก็เพื่อจะหุบปากแบสส์ ให้ฮิทช์ค็อกจะคุยฟุ้งต่อใครก็ได้ว่า ความดีงามของหนังเรื่องนี้ เป็นเพราะฝีมือเขาล้วน ๆ แต่เพียงผู้เดียว


หลักฐานใหม่ มาดูกันคัทต่อคัท นักเรียนหนังจงเอาไปฟาดครูหนังของคุณ

ย้ำชัด ๆ อีกครั้ง คำสัมภาษณ์ของ ฮิทช์ค็อก คือ 1.แบสส์ออกแบบเพียงซีเควนซ์เดียวคือฉากแทงนักสืบ 2.ฮิทช์ค็อกไม่ได้ใช้การลำดับภาพของแบสส์ ลองคลิกดูวิดีโอข้างบนนี้เอาเองแล้วกันว่า คำโอ้อวดของฮิทช์ค็อกเชื่อถือได้จริงหรือไม่ เมื่อเขาตัดสลับระหว่างสตอรี่บอร์ดของ แบสส์ ที่เขียนละเอียดยิบแต่ละคัท กับภาพที่ถูกตัดต่อมาเป็นหนัง ในแบบคัทต่อคัท และฉากดังกล่าว ไม่ใช่แค่ฉากตรงหัวบันไดเท่านั้น แต่คือฉากอาบน้ำที่โลกตะลึง ที่เรียกกันว่า “78 ช็อต 52 คัท” แบบที่ไม่เคยมีใครเคยทำมาก่อนในเวลานั้น

ความยิ่งใหญ่ของฉากนี้คืออะไร เพราะมันเป็นการถ่ายทำในที่แคบ ฉากอาบน้ำจะเซ็ตให้ใหญ่ยังไงในเมื่อเรื่องมันเล่าว่าห้องอาบน้ำนี้อยู่ในโมเต็ลโรงแรมจิ้งหรีดเล็ก ๆ ผู้กำกับภาพจะนำเสนอความแปลกใหม่ในที่แคบได้อย่างไร ในเมื่อมุมภาพมันจำกัดจำเขี่ยมาก แต่ผู้ที่แก้ปัญหานี้ได้สำเร็จคือ…แบสส์

ไม่ได้มีแค่หลักฐาน แต่เหตุการณ์นี้มีประจักษ์พยาน นั่นก็คือ เจเน็ต ลีห์ นักแสดงสาวในฉากอาบน้ำนั้นเอง ครั้งหนึ่งเธอให้สัมภาษณ์กับ โดนัลด์ สปอโต นักเขียนเงาผู้เขียนชีวประวัติคนดังมากมายว่า “การวางแผนฉากอาบน้ำนั้นขึ้นอยู่กับ ซอล แบสส์ แล้วฮิทช์ค็อกก็ทำตามสตอรี่บอร์ดที่แบสส์วาดออกมาอย่างเคร่งครัด แม่นยำ ด้วยเหตุนี้การถ่ายทำหนังเรื่องนี้จึงดำเนินไปอย่างมืออาชีพ”

และอีกครั้งกับที่ลีห์เล่าให้ สตีเฟน เรอเบลโล ฟัง เขาคือนักเขียน นักบันทึกประวัติคนดัง และนักประวัติศาสตร์อ.มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ว่า “มิสเตอร์ฮิทช์ค็อกโชว์สตอรี่บอร์ดของ ซอล แบสส์ให้ฉันดูอย่างตื่นเต้น บอกฉันอย่างละเอียดว่าเขากำลังถ่ายทำฉากอาบน้ำนี้จากแผนการที่แบสส์วางเอาไว้อย่างไร” เป็นอันปิดคดี อันที่จริงมีหลักฐานอีกเพียงของคนในกองถ่าย แต่เพียงเท่าที่เรายกตัวอย่างมาก็น่าจะเพียงพอแล้ว
แต่เราจะขอเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยคือ ในบทความของเคิร์กแฮมเล่าว่า ‘แบสส์แนะนำแนวคิดของเขาในการตัดต่ออย่างรวดเร็ว และการจัดเฟรมที่แน่นอน เพื่อให้ฉากฆาตกรรมนองเลือดนี้ดูรุนแรงอย่างมาก โดยที่คนดูจะแทบไม่เห็นเลือดเลย แต่มันจะระทึกขวัญสั่นประสาทอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่ฮิตช์ค็อกไม่แน่ใจกับความคิดนี้ และกลัวว่าคนดูจะยอมรับความฉับไวรวดเร็วแบบใหม่นี้ไม่ได้ และเขาชอบการถ่ายภาพจากระยะไกลมากกว่า’

เคิร์กแฮมเสริมด้วยว่า ‘เพื่อโน้มน้าวฮิตช์ค็อกว่าฉากนี้จะทำงานตามที่วางแผนไว้ แปดวันก่อนการถ่ายทำฉากอาบน้ำครั้งสุดท้าย แบสส์ใช้กล้องถ่ายทำข่าวแล้วให้ มาร์ลี เรนโฟร นักแสดงสแตนด์อินของเจเน็ต ลีห์ เพื่อถ่ายทำฟุตเทจในฉากนี้เพื่อวางแผนการถ่ายทำอย่างละเอียดยิ่งขึ้น เขาทำงานร่วมกับจอร์จ โทมาสินี มือลำดับภาพของฮิตช์ค็อก ตัดต่อฟุตเทจนี้ตามสตอรี่บอร์ดของแบสส์เองเพื่อแสดงให้ฮิตช์ค็อกเห็นว่าฉากนี้ทำงานอย่างไร ในท้ายที่สุด ฮิตช์ค็อกให้การอนุมัติ แต่ฮิทช์ค็อกขอให้เพิ่มสองภาพ คือ ละอองน้ำจากฝักบัวเป็นสีเลือดลงบนหน้าอกของลีห์ และหน้าท้องของเธอถ่ายในระยะใกล้ในตอนที่ถูกแทง’

ผลงานโลโกส่วนหนึ่งที่ออกแบบโดย ซอล แบสส์
The Solar Film (1980 กำกับร่วมกับภรรยา เอเลน แบสส์)
Bass on Titles (1977 กำกับร่วมกับ สแตน ฮาร์ท)
Why Man Creates (1968)

หนังสั้นของซอล แบสส์

จริง ๆ แล้ว ซอล แบสส์ เคยเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 3 ครั้งด้วยกัน จากผลงานหนังสั้นที่เขากำกับเองเดี่ยว ๆ บ้าง หรือกำกับร่วมกับเพื่อนบ้าง คือ The Solar Film (1980) , Notes on the Popular Arts (1978) แต่เรื่องที่ทำให้เขาคว้าออสการ์มาได้สำเร็จคือ Why Man Creates (1968) ในสาขาภาพยนตร์สารคดีสั้น และเขายังมีหนังสั้นอีกสามเรื่อง คือ Quest (1984), From Here to There (1964), The Searching Eye (1964)

หนังยาวเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่กำกับโดย ซอล แบสส์

เรื่องราวอันแสนประหลาดล้ำสุดไซ-ไฟของ Phase IV หนังเรื่องแรกและเพียงเรื่องเดียวของแบสส์ เกิดจากภาพของนักถ่ายสารคดีเพื่อนของแบสส์ ที่นำเสนอวงจรชีวิตมดในระยะใกล้ ประกอบกับไอเดียเรื่องสั้น Empire of the Ants (1905) ของ เอช จี เวลล์ [ผู้แต่ง The Time Machine (1895), The Island of Doctor Moreau (1896), The Invisible Man (1897), The War of the Worlds (1898)]

แบสส์นำมาดัดแปลงเป็นภาพแห่งโลกอนาคต เมื่อมดสายพันธ์ต่าง ๆ วิวัฒนาการอย่างรวดเร็วและพัฒนาวิธีการไฮฟ์ หรือการสะกดจิตหมู่ให้สามารถข้ามสายพันธุ์ได้ (ความสามารถหนึ่งของมด คือมันจะร่วมใจกันทำงานเป็นฝูงอย่างมีระบบ และหน้าที่ชัดเจน อันเกิดจากวิธีไฮฟ์ หรือการส่งผ่านข้อมูลระหว่างฝูง) พวกมันสร้างหอคอยแปลก ๆ เจ็ดแห่งที่มีการออกแบบที่สมบูรณ์แบบทางเรขาคณิต ในทะเลทรายแอริโซนา แต่มีเพียงหนึ่งครอบครัวที่มดฝูงนี้ไม่อาจควบคุมได้ มันเป็นมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่แอบซุ่มทำการทดลองเพื่อหลีกเลี่ยงจากการถูกสะกดจิตหมู่

เรื่องราวบ้าบอขนาดนี้ แน่นอนว่าตอนฉายโรงมันถูกสวดยับ และล้มเหลวหนักมากบนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศ รวมถึงโปสเตอร์หนังก็ไม่ได้ออกแบบโดย แบสส์ แต่หลังจากนั้นอีกหลายปีหนังเรื่องนี้ก็กลายเป็นของหายากที่ชาวเนิร์ดหนังต่างร่ำร้องอยากดูและกลายเป็นหนังคัลต์สุดคูลหาดูยากเฉพาะกลุ่ม

ต้นฉบับเดิมยาวกว่าฉบับฉากโรง 4 นาที อันเป็นฉากเหนือจริงเอ่ยถึงชีวิตรูปแบบใหม่ในโลกอนาคต แต่ถูกค่ายจัดจำหน่ายหนังตัดออก กระทั่งในปี 2012 มีการค้นพบซีเควนซ์ฉากจบที่ไม่ได้ใช้ในฉบับฉายโรง อันเป็นฉบับทดลองฉาย มีการนำมาฉายใหม่ในหอภาพยนตร์แห่งชาติ โดยฉายแยกจากต้นฉบับหนัง จากนั้นโรงหนังดาร์ฟท์เฮาส์ที่มักจะขุดเอาหนังเก่า ๆ มาบูรณะใหม่ ทำตัวอย่างหนังใหม่ เพื่อยืนโรงเก็บตังค์อีกครั้งก็ฉายหนังเรื่องนี้ด้วย และนี่คือตัวอย่างหนังฉบับตัดต่อใหม่ให้ทันสมัยขึ้น https://youtu.be/1-7-IVT2Tbg

งานออกแบบกราฟฟิกของ ซอล แบสส์ ให้กับการแข่งขันโอลิมปิคฤดูร้อนปี 1984 ที่เขาออกแบบโลโกด้วย

โปสเตอร์ที่ไม่ถูกเลือก กับหนังที่สร้างไม่เสร็จ

ไม่ใช่คนดังอย่าง ซอล แบสส์ จะประสบความสำเร็จเสมอไป ครั้งหนึ่งใบปิดแบบของเขา เคยถูกค่ายหนังปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย นั่นคือหนังดังระดับออสการ์ของสตีเวน สปีลเบิร์ก Schindler’s List (1994) ที่ทำให้สปีลเบิร์กคว้าออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมมาได้สำเร็จ อันเล่าถึงผู้รอดชีวิตชาวยิว และอันที่จริงทั้งสปีลเบิร์ก และแบสส์ คือชาวยิวที่รอดชีวิตมาได้ แต่แบสส์ถูกค่ายหนังปฏิเสธ แล้วหันไปเลือกงานออกแบบของ ทอม มาร์ติน นักออกแบบฝ่ายโฆษณาของค่ายยูนิเวอร์ซัลแทน ด้วยเหตุผลว่าแบบลวดหนามของ แบสส์ ไม่สื่อถึงความเป็นมนุษย์ และแบบน้ำตาไหลออกมาเป็นคน ก็ชี้นำเกินไป ส่วนใบปิดอีกเรื่อง(รูปขวาสุด) เป็นหนังที่สร้างไม่เสร็จ The White Crow ของเออร์วิน เคิร์ชเนอร์ (Empire Strikes Back, Never Say Never Again และ RoboCop 2)

มหากาพย์การช่วงชิงระหว่างสองผู้ยิ่งใหญ่ที่เหมือนกันจนเกินไป

หลังจากที่เราเล่าเรื่องศึกระหว่างแบสส์กับฮิทช์ค็อก รวมถึงการที่แบสส์ถูกปฏิเสธในหนังยิวของสปีลเบิร์ก จริง ๆ แล้วยังมีอีกมหากาพย์หนึ่งที่ดุเดือดยิ่งไปกว่านั้น ระหว่าง แบสส์ กับ สแตนลีย์ คูบริก ทั้งคู่เป็นลูกหลานชาวยิวอพยพเช่นกัน เติบโตมาในย่านเสื่อมโทรมอย่าง บร็องซ์ เหมือน ๆ กัน ขณะที่แบสส์เกิดในยุคแจสเอจ(ยุคเริ่มฮิตของเพลงแนวแจส) 1920 คูบริกเกิดตามหลังมาในปี 1928 และทั้งคู่เป็นปรมาจารย์ที่ทั่วโลกยอมรับ อาจเพราะพวกเขาเหมือนกันมากจนเกินไป คือ หัวดื้อทั้งคู่ มหากาพย์นี้จึงเกิดขึ้น

การร่วมงานกันครั้งแรกใน Spatarcus (1960 ปีเดียวกันกับ Psycho ของ ฮิทช์ค็อก นั่นแล) คูบริกให้เครดิตที่ปรึกษาทางด้านภาพกับ แบสส์ด้วยเช่นกัน เนื่องด้วยฉากรบสำคัญในตอนจบ แบสส์เป็นผู้วาดสตอรี่บอร์ดให้คูบริกถ่ายตามนั้น และมันได้รับคำชื่นชมอย่างมาก อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ไม่เคยวนกลับมาเจอกันอีกเลยจนกระทั่งผ่านไป 20 ปี เมื่อ คูบริกกำกับ The Shinning (1980) ที่ต้องมาร์คเอาไว้เลยว่า คูบริกจ้างแบสส์มาเฉพาะในส่วนของงานออกแบบใบปิดเท่านั้น โดยไม่ต้องการให้แบสส์มาจุ้นเจ๋อในหน้าที่อื่นใดทั้งสิ้น ไม่มีใครรู้ว่าอะไรคือความบาดหมางระหว่างสองผู้ยิ่งใหญ่คู่นี้

แต่ศึกก็เริ่มขึ้นเมื่อแบสส์ส่งภาพร่างแรกร่อนไป 5 แบบกับจดหมายอีก 1 ฉบับให้กับคูบริกอย่างร่าเริง ลงท้ายลายเซ็นอย่างอารมณ์ดีเป็นรูปปลาแบสส์ (คำพ้องรูปของนามสกุลเขา Bass บ้านเราเรียกปลาทรายแดง ปลากะพงสีน้ำเงิน หรือปลาอีคุด) แต่คูบริกไม่ขำด้วยเว้ยเฮ้ย ในจดหมายตอบ(โต้)กลับของ คูบริก เขียนว่า “ถึงซอล(ใช้คำสนิทกันเนาะเรียกชื่อแทนที่จะเป็นนามสกุล)… ปฏิกิริยาของผมต่อสิ่งที่คุณส่งมาคือพวกนี้ถูกออกแบบมาได้ดีมาก แต่ผมคิดว่าไม่มีชิ้นไหนเลยที่โดน”

จากนั้นก็เขียนด้วยลายมือหวัด ๆ ลงไปบนรูปสเก็ตช์เหล่านี้ที่นับว่าหยาบคายมาก เช่น “ดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์เกินไปมั้งนี่มันหนังสยองนะ” “มือกับจักรยานไม่เกี่ยวกันเกินไปหน่อยรึ” “ชื่อเรื่องเล็กไปป่าว” “ตรงส่วนที่สว่างไม่ค่อยมีหมึกจุดเข้าไปเลยเนาะ” “ไอ้เขาวงกตเนี่ยมันนามธรรมเกิ๊น เน้นมันมากไปรึเปล่า” และที่น่าสะพรึงมากคือ ตบท้ายด้วย “พวกนี้ดูไม่เหมือนอาร์ตเวิร์คเลยเนอะ” นี่ร้อง “อุ๊ย!” แบบหนุ่มกรรชัยไม่ทันแล้วนะ

ว่ากันว่าหลังจากนั้นมีการร่อนแบบกลับไปกลับมาอีกน่าจะราว ๆ 300 แบบ อาทิ

แล้วในที่สุดโปสเตอร์อย่างเป็นทางการที่คูบริกเลือก คือ แบบสีเหลืองนี้

แต่เรื่องยังไม่จบเท่านั้นตำนานเล่าว่านอกจากพวกเขาจะไม่เคยวนกลับมาเจอกันอีกเล้ย หลังจากนั้นในหนังเรื่องถัดไป Full Metal Jacket (1987) คูบริกต่อสายโทรหา ฟิลิป แคสเซิล ผู้เคยออกแบบ Clockwork Orange (1971) ให้ช่วยกลับมาออกแบบโปสเตอร์ให้หน่อย ที่เม้าท์กันสนั่นมากคือ แคสเซิล ออกมาแฉทีหลังว่า ตอนคูบริกโทรหาเขา ประโยคแรกที่คูบริกถามคือ “รู้จักใครที่วาดภาพได้เหมือน ซอล แบสส์ รึเปล่า”

ผลงานออกแบบโดย ฟิลิป แคสเซิล
ใบปิดหนังเรื่องสุดท้ายด้วยฝีมือซอล แบสส์ เป็นหนังสเปนชื่อว่า Cradle Song (1994)

จริง ๆ ไอเดียตั้งต้นของบทความชิ้นนี้ เกิดจากการที่เอเจนซี่หนังออกแบบใบปิดแนวอาร์ตที่ต่างไปจากใบปิดปกติ ไปสู่การโยงไปถึงการออกแบบใบปิดในอดีตที่มีความเป็นศิลปะ และกล้าหาญกว่าแบบสมัยนิยมที่เน้นขายดาราในยุคนี้เยอะ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ซอล แบสส์ ก็คือบริษัทออกแบบใบปิดหนังอย่างเป็นทางการ แต่นั่นแหละเมื่อวันเวลาผ่านไป เมื่อฮอลลีวูดอาจถนัดแบบนี้ไปแล้ว คือการตลาดด้วยใบปิดแบบหัวลอย การจะย้อนกลับไปสู่ยุคภาพแบบนามธรรม มินิมอล เดิม ๆ แบบ ซอล แบสส์ ก็อาจไม่ถูกที่ถูกเวลานัก หรืออย่างน้อยถ้าเอเจนซีใหญ่ ๆ อยากโดดลงมาออกแบบอะไรที่แปลกต่าง ก็น่าจะทำได้ดีกว่ามือสมัครเล่น หรือค้นพบแนวทางใหม่ ๆ แต่กลับพบว่ามันไม่เป็นเช่นนั้น