ThaiPublica > สู่อาเซียน > ความฝันของโจโกวี กับ Golden Indonesia 2045 การหลุดพ้น “กับดักรายได้ปานกลาง” ใน 26 ปี

ความฝันของโจโกวี กับ Golden Indonesia 2045 การหลุดพ้น “กับดักรายได้ปานกลาง” ใน 26 ปี

19 กุมภาพันธ์ 2024


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : ASPI Strategist

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอินโดนีเซียในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นการเลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดของโลกครั้งหนึ่ง คนอินโดนีเซียกว่า 100 ล้านออกไปใช้สิทธิ์ลงคะแนน ประธานาธิบดีโจโก วีโดโด ไม่มีสิทธิ์ที่จะลงสมัครเป็นสมัยที่สาม แต่จะลงจากตำแหน่งในเดือนตุลาคม 2024

แต่แม้จะไม่ได้ลงเลือกตั้ง โจโก วีโดโด ที่คนอินโดนีเซียเรียกชื่อว่า “โจโกวี” ยังมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวง การดำรงตำแหน่งผู้นำอินโดนีเซียมานาน 10 ปี ช่วงปี 2014-2024 จากภาพลักษณ์นักปฏิรูปตีนติดดิน ทำให้โจโกวียังได้รับความนิยมจากประชาชน เพราะผลงานที่จะทำให้อินโดนีเซียก้าวไปสู่ประเทศมั่งคั่งในอนาคต การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างเมืองหลวงใหม่ และการวางระบบสาธารณสุขที่ครอบคลุมถ้วนหน้า

สัญลักษณ์อินโดฯ ที่ดีขึ้น

Ben Bland นักข่าว Financial Times เขียนประวัติทางการเมืองของโจโกวีในหนังสือ Man of Contradictions ไว้ว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ดีที่สุดของการเป็นนักข่าวต่างประเทศ เพราะเป็นประเทศที่มีเรื่องราวมากมาย ผู้คนเป็นมิตร การเข้าถึงผู้นำการเมืองได้ง่าย และอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่ และความหลากหลาย

ผู้สื่อข่าว Financial Times กล่าวว่า การเลือกตั้งผู้ว่านครจาการ์ตาในปี 2012 ทำให้ได้เห็นประชาธิปไตยที่คึกคักมีชีวิตชีวาของอินโดฯ ผู้สมัครแข่งขันกันดุเดือด ผสมโรงด้วยการซื้อเสียง แต่การเลือกตั้งก็เสรีและยุติธรรม ทำให้ได้เห็นตัวบุคคลที่จะมีบทบาททางการเมือง และรวมทั้งปัญหาที่อินโดนีเซียจะเผชิญหน้าในอนาคต

การลงสมัครเป็นผู้ว่าจาการ์ตาปี 2012 โจโกวีอยู่ในฐานะเสียเปรียบ ต้องแข่งกับผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนจากคนชั้นนำและกลุ่มธุรกิจ โจโกวี เป็นเพียงเจ้าของโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ชีวิตการเมืองเริ่มจากเป็นเทศมนตรีเมืองโซโล เมืองบ้านเกิด ที่อยู่ตอนกลางของเกาะชวา
ในการหาเสียงเป็นผู้ว่าจาการ์ตา โจโกวี ใช้วิธีการแบบคิดใหม่ทำใหม่ เป็น “การเมืองแบบละเอียดปลีกย่อย” รับฟังความเห็นประชาชน สร้างที่พักใหม่ให้คนในชุมชนแออัด เป็นแบบอย่างผู้นำที่ไม่มีคอร์รัปชัน ขณะที่คู่แข่งใช้วิธีการซื้อเสียงเพื่อเอาชนะโจโกวี เมื่อชนะการเลือกตั้งแล้ว

โจโกวีบอกกับ Financial Times ว่า เป็นบทพิสูจน์ว่า การซื้อเสียงไม่ใช่หนทางเดียวที่จะได้คะแนนเสียง “แต่การเอาชนะจิตใจ” ก็สามารถได้รับความนิยมเช่นกัน

ที่มาภาพ : amazon.com

หนังสือ Man of Contradictions กล่าวว่า ปรากฏการณ์โจโกวีเติบโตแบบก้าวกระโดด ก่อนที่จะสั่นคลอนลง เพราะประสบปัญหาภารกิจที่ยากลำบาก ในการทำสิ่งที่คนอินโดฯ คาดหวังเอาไว้มาก จากการหาเสียงและผลงานที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ ทำให้โจโกวีกลายเป็นสัญลักษณ์ “ความหวัง” ในสิ่งที่คนอินโดฯ เคยผิดหวังมายาวนาน ในเรื่องที่อินโดฯ จะเป็นประเทศมีอนาคตที่ดีขึ้น เช่น การเติบโตเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ความยากจนที่ลดลง การมีงานทำมากขึ้น คอร์รัปชันที่น้อยลง และระบอบการเมืองที่รับใช้ประชาชน ไม่ใช่คนมีอำนาจ

ที่ปรึกษาของโจโกวีบอกว่า โจโกวีต้องต่อสู้กับ “ปลาหมึกยักษ์ของกลุ่มคณะบุคคล” ที่ฉุดรั้งอินโดฯ มาตั้งแต่สมัยซูฮาร์โต ที่โกงกินทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ระบบกลไกรัฐฉ้อฉลและหลอกลวงประชาชน แต่อินโดฯ สมัยโจโกวีจะเป็นอินโดฯ ใหม่ สามารถประสบความสำเร็จที่คนอินโดฯ ภาคภูมิใจ ประเทศเพื่อนบ้านอิจฉา และนักลงทุนต่างชาติเข้าคิวยาว ที่จะมาหาประโยชน์จากการพุ่งขึ้นมาของอินโดฯ

หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางปี 2045

ในคำปราศรัยเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 วันที่ 20 ตุลาคม 2019 โจโกวีประกาศว่า อินโดฯ ต้องการหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางในปี 2045 ในวาระครบรอบ 100 ปีของการมีเอกราช โดยก้าวขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ที่รายได้ต่อคนอยู่ที่ 320 ล้านรูเปียห์ หรือ 20,488 ดอลลาร์ เทียบเท่ากับไต้หวันหรือโปรตุเกส มูลค่าเศรษฐกิจที่ 7 ล้านล้านดอลลาร์ ติดอันดับ 1 ใน 5 ประเทศยักษ์ใหญ่ของโลก เลื่อนจากปัจจุบันอันดับที่ 16

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2019 โจโกวีเปิดเผยต่อสาธารณชนถึง “วิสัยทัศน์อินโดนีเซียที่รุ่งเรือง 2045” (Golden Indonesia 2045 Vision) วิสัยทัศน์นี้เสนอโดยกระทรวงวางแผนพัฒนาแห่งชาติ โดยในคำปราศรัยการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สอง โจโกวีได้นำเอาสาระสำคัญมากล่าวย้ำอีกครั้ง เรื่องที่อินโดฯ จะเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2045

หนังสือพิมพ์ Jakarta Post ได้นำคำปราศรัยของโจโกวีมาอธิบายอย่างง่ายๆ ว่า โจโกวีกล่าวถึงความฝันถึงสองครั้ง

“ความฝันของเรา เป้าหมายที่เราต้องการบรรลุ ในปี 2045 เมื่ออินโดนีเซียได้รับเอกราชผ่านมา 100 ปี อินโดนีเซียสามารถหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง”

“กับดักรายได้ปานกลาง” เป็นศัพท์ในทางเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ที่อธิภายเศรษฐกิจที่ติดอยู่ในรายได้ระดับปานกลาง โดยไม่สามารถก้าวหน้าไปสู่ความมั่งคั่ง ธนาคารโลกกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า “รายได้ระดับกลาง” คือการมีรายได้ต่อคนต่อปี ระหว่าง 1,000-12,000 ดอลลาร์ ยกเป็นตัวอย่างเช่น 1,000 ดอลลาร์ ทำให้คนเราสามารถซื้อ iPhone หรือมอเตอร์ไซค์ แต่ 12,000 ดอลลาร์ ทำให้เราสามารถซื้อบ้านขนาดเล็กที่อยู่ชานเมือง

การหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง เป็นเรื่องสำคัญต่อประเทศที่มีกลุ่มคนวัยทำงานจำนวนมาก อย่างเช่นอินโดนีเซีย ที่คนอายุ 15-65 ปีมีสัดส่วน 68% ของประชากรทั้งหมด การมีประชากรวัยทำงานในสัดส่วนที่มากหมายถึงการมีโอกาสที่มากขึ้น ที่จะประสบความสำเร็จในการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ และรายได้โดยรวม

ที่มาภาพ : kompas.id

ก่อนหน้านี้ ในปี 2015 โจโกวีได้เขียนบันทึกในสิ่งที่เป็น “ความฝันอินโดนีเซีย 2015-2085” ว่า อนาคตอินโดนีเซียประกอบด้วยความฝัน 7 อย่าง เช่น ทรัพยากรมนุษย์มีความโดดเด่นในโลก ประชาชนยึดถือความหลากหลายและค่านิยมทางศาสนา วัฒนธรรม กับจริยธรรม เป็นศูนย์กลางการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลไกรัฐปราศจากคอร์รัปชัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่กระจายทั่วประเทศ และเป็นแบบอย่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ส่วนวิสัยทัศน์ 2045 ประกอบด้วย 4 เสาหลัก คือ (1) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความสามารถด้านวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยี (2) การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน (3) การพัฒนาที่ครอบคลุมถ้วนหน้า และ (4) เสริมสร้างความเข้มแข็งและธรรมาภิบาลของประเทศ

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่คนมักจะคาดการณ์ผิดพลาด เพราะเต็มไปด้วยสิ่งที่ตรงกันข้ามกันและกัน มีประชากรมากที่สุดอันดับ 4 ของโลก มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อจีนและสหรัฐฯ เป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกด้านถ่านหิน น้ำมันปาล์ม และแร่นิกเกิล เป็นแหล่งผลิตส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก

อินโดนีเซียยังเป็นประเทศประชาธิปไตยใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดียและสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศ “นอกคอก” ที่แตกต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ แม้ประชาธิปไตยของอินโดนีเซียจะถูกมองว่ายังมีข้อบกพร่อง แต่คนอินโดฯ จำนวนมากยอมรับว่าประชาธิปไตยกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต การเลือกตั้งใน 30 ปีที่ผ่านมา ได้รับการยอมรับว่ามีความเป็นเสรีและเที่ยงธรรม คนอินโดฯ แทบทุกคนไม่ต้องการหวนกลับไปหายุคเผด็จการแบบซูฮาร์โตอีกแล้ว

เอกสารประกอบ
A Popular Leader’s Surprising Turn Shadows Indonesia’s Election, 13 Feb 2024, nytimes.com
Man of Contradictions: Joko Widodo and the struggle to remake Indonesia, Ben Bland, Penguin Random House Australia, 2020.