ThaiPublica > เกาะกระแส > เส้นทางหลุดพ้น “กับดักรายได้ปานกลาง” ของอินเดีย สู่ประเทศรายได้สูงในปี 2050

เส้นทางหลุดพ้น “กับดักรายได้ปานกลาง” ของอินเดีย สู่ประเทศรายได้สูงในปี 2050

17 มกราคม 2024


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons

บทความของ The Wall Street Journal เรื่อง การหยุดนิ่งของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของอินเดีย ขณะที่การจ้างงานภาคการเกษตรพุ่งขึ้น กล่าวว่า การล็อคดาวน์แบบทันทีทันใดของอินเดีย ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2020 ทำให้แรงงานในเมืองอพยพออกไปสู่หมู่บ้านในชนบท นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า การอพยพครั้งนี้ เป็นเรื่องง่ายที่จะย้อนกลับคืนมาแบบเดิม เพื่อผลักดันอินเดียให้กลายเป็นชาติอุตสาหกรรม

แต่ปรากฏว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แรงงานภาคเกษตรของอินเดียเพิ่มขึ้นถึง 60 ล้านคน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากโครงการสวัสดิการอาหารของรัฐบาล ที่ให้กับคนอินเดียหลายร้อยล้านคน ในช่วงโควิด-19 รัฐบาลแจกข้าวหรือข้าวสาลี แก่คนที่ได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์ คนละ 5 กก. ต่อเดือน แม้แต่ในปี 2023 แรงงานเกษตรเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านคน นายกรัฐมนตรีนาเรนทา โมดี ประกาศว่า นโยบายสวัสดิการอาหารจะยังคงมีอยู่อีก 5 ปี

โครงสร้างเศรษฐกิจเลี้ยวกลับแบบ U-Turn

นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนาบอกว่า เป็นเรื่องหายนะภัย ที่คนหลายล้านคนกลับไปสู่ภาคเกษตร เพราะหมายความว่า โครงสร้างเศรษฐกิจของอินเดียจะเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกกลับแบบ U-Turn

กรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้ ตรงกันข้ามกับที่นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนาคาดหวังไว้กับอินเดีย ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจกำลังสูงกว่าประเทศชั้นนำในโลก

ปีที่แล้ว อินเดียมีประชากร 1.4 พันล้านคน มากกว่าจีน แต่รายได้ต่อคนอยู่ที่ 2,400 ดอลลาร์ น้อยกว่าบังคลาเทศ แทนที่จะเห็นภาพแรงงานชนบทจำนวนมาก อพยพเข้ามาทำงานที่โรงงาน เหตุการณ์แบบเดียวกันที่เคยยกมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนจีนหลายล้านคน แต่อินเดียดูเหมือนจะตกอยู่ในสภาพการผลิตด้านอุตสาหกรรมลดลง โดยที่ตัวเองยังเป็นประเทศรายได้ต่ำ สภาพการณ์ที่นักเศรษฐศาสตร์ Dani Rodrik เรียกว่า premature deindustrialization

มุ่งสู่ประเทศรายได้สูงในปี 2050

การลดการผลิตด้านอุตสาหกรรมลง เป็นปัญหาท้าทายต่อการบรรลุเป้าหมายของนายกรัฐมนตรีอินเดีย นาเรนทา โมดี ที่กำหนดเป้าหมายให้อินเดียเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีรายได้สูงในปี 2050 หรือ 26 ปีข้างหน้า ปัจจุบัน ธนาคารโลกกำหนดให้อินเดียเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง ที่รายได้ต่อคนอยู่ระหว่าง 1,086-4,255 ดอลลาร์ ประเทศรายได้สูงจะมีรายได้ต่อคน 13,205 ดอลลาร์หรือมากกว่านี้

ที่มาภาพ : https://www.thehindubusinessline.com/books/reviews/

หนังสือ Breaking the Mould เขียนโดย Raghuram G. Rajan อดีตผู้ว่าธนาคารชาติอินเดีย และอาจารย์วิทยาลัยธุรกิจ มหาวิทยาลัยชิคาโก้ กล่าวว่า หนทางที่เศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตอย่างรวดเร็ว คงจะไม่เดินตามเส้นทางเศรษฐกิจของจีน อินเดียมีจุดอ่อนหลายอย่าง ทำให้ไม่สามารถเป็นเลิศในอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้ทักษะต่ำ

ปัจจุบัน รายได้ต่อคนของอินเดียอยู่ที่ 2,400 ดอลลาร์ หากการเติบโตของรายได้ต่อคนเพิ่มขึ้นปีละ 4% รายได้ต่อคนของอินเดียจะเพิ่มมาที่ 10,000 ดอลลาร์ ในปี 2060 ซึ่งก็ยังต่ำกว่าจีนในปัจจุบัน ใน 10 ปีข้างหน้า อินเดียจะมีสิ่งที่เรียกว่า “เงินปันผลจากประชากร” คือประชากรที่อยู่ในวัยทำงานจะมีสัดส่วนมากขึ้น ก่อนที่ประชากรเฉลี่ยจะเริ่มสูงอายุมากขึ้น คำถามคือ อินเดียจะร่ำรวยก่อนแก่ได้หรือไม่

ด้วยเหตุนี้ อินเดียจำเป็นต้องเห็นถึงความเร่งด่วนของปัญหา แต่ความจริงที่ไม่น่าสบายใจมีอยู่ว่า มีประเทศที่พัฒนาอย่างรวดเร็วไม่กี่ประเทศ สามารถหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง เช่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ส่วนบราซิล มาเลเซีย เม็กซิโก และไทย ยังฟันฝ่าอุปสรรคบางอย่าง เพื่อหลุดพ้นไปให้ได้

การที่อินเดียจะก้าวไปถึงหลักชัยรายได้ต่อคนที่ 10,000 ดอลลาร์ และก้าวเดินต่อไปที่ 30,000 ดอลลาร์ ภายในช่วงชีวิตคนเรา จำเป็นที่เส้นทางการพัฒนาจะต้องใช้เวลาสั้น รู้ว่าตัวเราจะไปยังที่จุดไหน โดยมาจากการสำรวจจุดอ่อนและขุดแข็งของตัวเอง ด้วยสายตาที่คมชัด
ทำไมบันไดอุตสาหกรรมการผลิตจึงยากที่จะปีน

หนังสือ Breaking the Mould กล่าวว่า ทุกวันนี้ สินค้าส่วนใหญ่ผลิตจากห่วงโซ่อุปทานโลก (global supply chain) ที่เกี่ยวข้องกับหลายประเทศ ห่วงโซ่อุปทานเอาประโยชน์จากส่วนต่างค่าแรง ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมที่ค่าแรงสูง มีส่วนในการผลิตน้อยมาก ยกเว้นจะหันไปอาศัยระบบการผลิตอัตโนมัติในสัดส่วนที่มาก

ดังนั้น แรงงานอินเดียจะแข่งขันกับแรงงานจากเวียดนามและจีน ที่แหล่งแรงงานถูกยังใช้ไปไม่หมด เพราะยังสามารถมาจากมณฑลทางตะวันตกของจีน อินเดียมีจุดอ่อนหลายอย่าง การที่อินเดียจะเป็นแหล่งประกอบการผลิตสินค้า ภาษีนำเข้าอุปกรณ์การผลิตต้องลดลง รวมทั้งมาตรการต่างๆที่ทำให้การส่งออกราบรื่น จากกฎระเบียบต่างๆ สิ่งนี้ทำให้อินเดียจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการค้าเสรีของภูมิภาค แต่อินเดียปฏิเสธที่จะเข้าร่วม

รายงานของ UBS เรื่อง Reshoring the supply chain เคยกล่าวว่า เมื่อตัดเรื่องภาษีออกไป ต้นทุนการประกอบสินค้าที่ใช้แรรงานฝีมือต่ำ มีความแตกต่างกันน้อยมากระหว่างอินเดีย จีน และเวียดนาม แต่เวียดนามลงนามในข้อตกลงการค้าของภูมิภาค การส่งออกและนำเข้าแทบไม่มีภาษีศุลกากร ทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกย้ายมาที่เวียดนาม ช่วงปี 2007-2021 การประกอบการผลิตที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานโลกของเวียดนาม เพิ่มจาก 35% เป็น 56% ส่วนอินเดียเพิ่มจาก 14% เป็น 16%

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้อินเดียมีโอกาสที่บริษัทตะวันตกจะย้ายการลงทุนออกจากจีนมาอินเดีย บริษัทข้ามชาติพวกนี้มียุทธศาสตร์เรียกว่า China+1 หมายความว่า หากมีห่วงโซ่การผลิตอย่างหนึ่งอยู่ในจีน ก็จะมองหาผู้ผลิตทางเลือกอีกรายหนึ่ง ในประเทศที่เป็นมิตรตะวันตก

แต่มีเหตุผลหลายอย่างที่อินเดียไม่ใช่ทางเลือกการย้านฐานการผลิต นอกจากเรื่องภาษีศุลกากรของอินเดียแล้ว ยังมีเรื่องระยะทาง ปัจจุบัน การค้าภายในภูมิภาคมีสัดส่วนสำคัญต่อการผลิตของประเทศหนึ่ง มากกว่าการค้ากับประเทศที่อยู่ไกลออกไป

70% ของการค้าของยุโรปอยู่ภายในยุโรป 50% ของการค้าในเอเชียตะวันออกอยู่ภายในเอเชียตะวันออก และ 40% ของการค้าในอเมริกาเหลือ อยู่ภายในอเมริกาเหนือ

หากบริษัทอเมริกันต้องการหาแหล่งผลิตทางเลือก เพื่อลดความเสี่ยงจากจีน ก็อาจเป็นเม็กซิโก หรือกรณีของยุโรป อาจเป็นโรมาเนีย ดังนั้น หากจะมีการย้ายการประกอบการผลิตมายังอินเดีย เป้าหมายคือเข้าถึงตลาดภายในอินเดีย มากกว่าปัจจัยอย่างอื่น

ที่มาภาพ : https://commons.wikimedia.org/wiki

โมเดลการพัฒนาอาศัย “ภาคบริการที่ฝังตัวในการผลิต”

ที่ผ่านมา เศรษฐศาสตร์การพัฒนามองว่า ภาคบริการไม่ได้สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ ได้มากเท่ากับภาคอุตสาหกรรมการผลิต สินค้าอย่างเช่น ของเด็กเล่น สามารถส่งออกไปขายในประเทศร่ำรวย ที่มีอุปสงค์ความต้องการสินค้าจำนวนมาก จึงเป็นปัจจัยเร่งการเติบโต แต่ภาคบริการ เช่น ร้านค้าปลีกหรือร้านตัดผม ต้องเป็นธุรกิจในท้องถิ่น ไม่สามารถสนองความต้องการจากทั่วโลก

แต่หนังสือ Breaking the Mould อธิบายว่า เทคโนโลยีใหม่ทำให้ตัวสินค้าและการค้าของภาคบริการ เปลี่ยนแปลงไป แนวคิด “รอยยิ้มของผลกำไร” (smile curve) ทำให้เห็นการสร้างมูลค่าการผลิต ในแต่ละช่วงของห่วงโซ่อุปทาน อย่างเช่น iPhone ของ Apple มีมูลค่าสินค้ามากสุด ในช่วงระยะแรกคือการวิจัยพัฒนาและออกแบบ และช่วงสุดท้าย คือการขายที่ประกอบด้วยการบริการมูลค่าสูง เช่นการโฆษณา และตลาด

ส่วนห่วงโซ่ในช่วงการประกอบ iPhone มีมูลค่าน้อยที่สุด กราฟรอยยิ้มของผลกำไรแสดงให้เห็นถึง มูลค่าธุรกิจบริการที่ฝังอยู่ในตัวสินค้า Apple ไม่ได้ประกอบการผลิต iPhone แม้แต่เครื่องเดียว แต่มูลค่าตลาดของ Apple มีมากถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วน Foxconn ที่ทำหน้าที่ผลิต iPhone มีมูลค่าตลาดที่ 50 พันล้านดอลลาร์ Apple มีมูลค่ามากกว่าถึง 60 เท่า

Breaking the Mould กล่าวว่า ประเทศพัฒนาทีหลัง อย่างอินเดียหรืออินโดนีเซีย จึงไม่สามารถจะใช้เส้นทางการพัฒนาแบบจีน เพราะไม่สามารถอาศัยความได้เปรียบด้านค่าแรงอีกต่อไป ทุกวันนี้ แรงงานในประเทศพัฒนาทีหลัง ไม่ได้แข่งกับแรงงานมีค่าแรงแพงในประเทศเจริญแล้ว แต่ยังต้องแข่งกับแรงงานค่าแรงถูกของจีน ที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก จีน มาเลเซียและไทยยังก้าวหน้าในเรื่องการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทาน ที่สามารถขนส่งได้อย่างรวดเร็วไปทั่วโลก

จากความเข้าใจเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่อุปทานโลก อินเดียสามารถเริ่มต้นเส้นทางการพัฒนาสู่ประเทศรายได้สูง ที่สอดคล้องกับจุดแข็งของอินเดียเอง เพราะเทคโนโลยีใหม่ได้เปิดทางให้กับความเป็นไปได้ ในเรื่องการส่งออก “ภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการผลิตที่ใช้ทักษะสูงขึ้น” (higher-skilled manufacturing-related service) เช่น การออกแบบตัวชิปคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

อินเดียยังมีจุดแข็งที่จีนกับเวียดนามไม่มี คือความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ 60% ของเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ อัลกอริทึมหรือโปรแกรมของปัญญาประดิษฐ์ล้วนเป็นภาษาอังกฤษ อินเดียจำเป็นต้องเพิ่มบุคลากรทางวิชาชีพที่มีการศึกษาให้มากขึ้น เช่น แพทย์ วิศวกร ที่ปรึกษา ทนายความ และนักวิชาการ คนพวกนี้สามารถส่งออกบริการโดยตรงแก่ลูกค้าต่างๆทั่วโลก การค้าบริการเองไม่ใช่หัวใจของความตกลงการค้าเสรีของภูมิภาค การที่อินเดียไม่เข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีภูมิภาค จึงไม่ใช่จุดอ่อน

เมื่อโลกเราเจริญมั่งคั่งมากขึ้น และผู้คนสูงอายุมากขึ้น ธุรกิจภาคบริการก็จะขยายตัวมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศยิ่งทำให้เกิดความเร่งด่วนมากยิ่งขึ้น ที่โลกเราจะบริโภคสินค้าลดน้อยลง เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อินเดียจึงต้องพุ่งเป้าหมายไปในสิ่งที่เป็นความคิดและนวัตกรรม ธุรกิจภาคบริการ และภาคบริการที่เกี่ยวข้องหรือฝังอยู่ในการผลิตสินค้าไฮเทค

กล่าวโดยสรุป ปัญหาการลดการผลิตด้านอุตสาหกรรมลง ขณะที่ยังเป็นประเทศรายได้ต่ำ ที่ Dani Rodrik จาก Harvard มีความวิตกกังวลต่ออนาคตการพัฒนาของประเทศยากจน อาจไม่ใช่ปัญหาที่น่ากังวล แต่อาจเป็นเส้นทางการพัฒนาในอนาคตของอินเดีย

เอกสารประกอบ
India Manufacturing Lull Fuels Farm Surge, January 4, 2024, The Wall Street Journal.
Breaking the Mould: Reimagining India’s Economic Future, Raghuram G. Rajan and Rohit Lamba, Penguin Business, 2023.