ThaiPublica > เกาะกระแส > กลุ่มประเทศ BRICS กับยุทธศาสตร์ การหลุดพ้น “กับดักรายได้ปานกลาง”

กลุ่มประเทศ BRICS กับยุทธศาสตร์ การหลุดพ้น “กับดักรายได้ปานกลาง”

28 มีนาคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/

กลุ่มประเทศ BRICS ที่ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ มีความหมายที่แสดงถึงนัยยะการเปลี่ยนแปลงของอำนาจในโลกในศตวรรษที่ 21 เป็นดัชนีที่ชี้ถึงการพุ่งขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ ของประเทศที่ไม่ใช่ประเทศตะวันตก ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของกลุ่ม BRICS ทำให้ในปี 2003 Goldman Sachs เคยคาดการณ์ว่า ในปี 2050 จีนและอินเดียจะเป็นประเทศ ที่เศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 และ 3 ของโลก

IMF ก็เคยระบุไว้ว่า จีนมีสัดส่วน 70% ของเศรษฐกิจกลุ่ม BRICS ทั้งหมด อินเดีย 13% รัสเซียและบราซิลประเทศละ 7% ส่วนแอฟริกาใต้ 3% ข่าวสารของ BRICS จึงเป็นเรื่องการพุ่งขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ของจีนเป็นส่วนใหญ่ เพราะบราซิลประสบปัญหาการเติบโตชะลอตัวลง รัสเซียเองก็ไม่ใช่เศรษฐกิจเกิดใหม่ มีขนาดเศรษฐกิจแค่ 50% ของสหราชอาณาจักร เศรษฐกิจอินเดียแม้จะขยายตัวสูง แต่มีสัดส่วน 1 ใน 5 ของจีน ส่วนแอฟริกาใต้ก็ไม่ใช่ดาวรุ่งทางเศรษฐกิจ

บทเรียนการพัฒนาจาก BRICS

ที่มาภาพ : amazon.com

หนังสือ BRICS or Bust: Escaping the Middle-Income Trap เขียนถึงเส้นทางการหลุดพ้นกับดัก “รายได้ปานกลาง” ของประเทศ BRICS ไว้ว่า ประเทศ BRICS ไม่ได้ให้ “โมเดลการเติบโต” สำหรับประเทศกำลังพัฒนา แต่กลับให้บทเรียนเรื่อง การหลบหลีกหลุมพราง หรือกับดัก“รายได้ปานกลาง” และการให้ความหวังที่ว่า เศรษฐกิจที่ดี เป็นสิ่งที่สามารถบรรลุถึงได้ หากประเทศนั้นมีการปกครองที่ดีพอ และอะไรคือนโยบายที่จะช่วยให้ประเทศก้าวออกจากฐานะการมีรายได้ปานกลางในเศรษฐกิจโลก

  • การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม BRICS ครั้งที่ 9 จากคำศัพท์เพื่อ “การลงทุน” สู่กลุ่มเศรษฐกิจที่อนาคตสดใส
  • นักเศรษฐศาสตร์ได้ทำการศึกษามามาก เรื่องทำอย่างไรประเทศฐานะยากจน จะก้าวมาขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลาง สิ่งที่ต้องทำคือขจัดคอขวดด้านอุปทาน (supply-side bottleneck) แรงงานมีการศึกษา สร้างเครือข่ายการขนส่ง ระบบสาธารณสุขที่ดี การมีระเบียบกฎหมายขั้นต่ำ จีนกับอินเดียยังให้บทเรียนว่า กลไกตลาดสามารถช่วยปลดปล่อยเศรษฐกิจ จากระบบวางแผนส่วนกลางที่ไม่ได้ผล แต่รัสเซียกับบราซิลกลับเป็นตัวอย่างที่ว่า กลไกตลาดไม่ได้ให้ผลทางเศรษฐกิจตามที่ต้องการ

    แต่นักเศรษฐศาสตร์ไม่มีหลักฐานชัดเจนในเรื่อง ทำอย่างไรประเทศรายได้ปานกลาง จะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมีรายได้สูง เพราะว่าที่ผ่านมา มีประเทศขนาดใหญ่เพียงประเทศเดียวคือญี่ปุ่น ที่สามารถพัฒนามาสู่ประเทศมีรายได้สูง

    ความสำเร็จของญี่ปุ่นมาจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในด้านการสร้างอุปสงค์ (demand-side change) ที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในของญี่ปุ่น การบริโภคภายในที่สูงขึ้น การใช้จ่ายเงินในระดับสูงของภาครัฐ นโยบายส่งเสริมการจ้างงานเต็มที่ (full employment) ได้เปลี่ยนทิศทางด้านคุณประโยชน์ของการเติบโตของเศรษฐกิจ ให้มุ่งมาสู่ผู้บริโภคทั่วไป จนทุกวันนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นจึงมีลักษณะคล้ายกับประเทศตะวันตก

    โมเดล “ฝูงห่านบิน”

    การเกิดกลุ่มประเทศ BRICS มาจาก Jim O’Neill ของ Goldman Sachs ที่คิดคำว่า BRIC หมายถึงเศรษฐกิจที่กำลังรุ่งเรือง คือบราซิล รัสเซีย อินเดียและจีน ต่อมากลายเป็น BRICS เมื่อแอฟริกาใต้เข้าร่วมเป็นสมาชิก แม้เศรษฐกิจจะเล็กกว่า แต่รายได้ต่อคนของแอฟริกาใต้ใกล้เคียงประเทศสมาชิกอื่นของ BRICS โครงสร้างเศรษฐกิจพึงพาทรัพยากรธรรมชาติ และมีความเหลื่อมล้ำของรายได้สูง นอกจากนี้ การตั้งอยู่ในแอฟริกา ทำให้กลุ่ม BRICS มีสมาชิกกระจายในโลก

    ก่อนหน้าที่โลกจะสนใจการพัฒนาของกลุ่ม BRICS โลกเคยติดตามโมเดลการพัฒนาของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ หรือ NICs ที่ประกอบด้วย ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน การพัฒนาอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่นมาสู่ประเทศ NICs และต่อมาสู่จีน คือโมเดลการพัฒนา “ฝูงห่านบิน” (Flying Geese Model) แต่ความสำเร็จของประเทศ NICs ไม่ได้ให้โดเมลการพัฒนาที่สมบูรณ์แก่กลุ่มประเทศ BRICS

    แม้จีนจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาแบบโมเดลฝูงห่านบิน ในรูปการหลั่งไหลของการลงทุนจากต่างประเทศ แต่การเติบโตก็เกิดขึ้นในมณฑลตามทางชายฝั่งทะเลมณฑลที่อยู่ลึกเข้ามาในแผ่นดินใหญ่ ต้องหาแนวทางการพัฒนาของตัวเองขึ้นมา นอกจากนี้ จีนยังบูรณาการกับระบบเครือข่ายการผลิตโลก แต่ประเทศ BRICS ส่วนใหญ่ กลับแยกตัวจากเครือข่ายการผลิตดังกล่าว

    นอกจากนี้ ประเทศ BRICS ดั่งเดิมอย่างเช่น บราซิลรัสเซีย และอินเดีย มีสภาพคล้ายกับจีน คือมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เกินกว่าที่จะอาศัยความสำเร็จจากอุตสาหกรรมการส่งออกอย่างใดอย่างหนึ่ง มายกระดับให้หลุดพ้นจากฐานะการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง แบบเดียวกับที่เกาหลีใต้เคยอาศัยอุตสาหกรรมต่อเรือ และไต้หวันอาศัยอุตสาหกรรมเซมิคอนดักค์เตอร์ ประเทศ BRICS จึงต้องทั้งการพัฒนาภายในประเทศและความสำเร็จของการส่งออก

    ที่มาภาพ : PwC

    กับดักรายได้ปานกลาง

    หนังสือ BRICS or Bust กล่าวว่า ในเส้นทางการพัฒนา ประเทศ BRICS มีปัญหามากมาย แต่ก็มีด้านที่ประสบความสำเร็จ แม้จะยังไม่ได้เป็นประเทศรายได้สูง แต่สามารถแก้ปัญหาท้าทายด้านด้านโครงสร้างพื้นฐานปัญหาที่ทำให้หลายประเทศติดอยู่กับการเป็นประเทศรายได้ต่ำ นอกจากนี้ ประเทศ BRICS ยังมีความสามารถในการบริหารจัดการโครงการปฏิรูปที่สำคัญ

    การพัฒนาและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เผชิญกับกับดักต่างๆ กับดักที่มองเห็นง่ายที่สุดคือแนวคิด “กับดักรายได้ปานกลาง” แนวคิดนี้มาจากการสังเกตุการณ์ที่ว่าหลายประเทศเคลื่อนไหวสลับกันไปมา ระหว่างการมีกับรายได้ปานกลางกับการมีรายได้ที่ลดลง มีไม่กี่ประเทศที่เคลื่อนไหวระหว่างรายได้ปานกลางกับรายได้สูงขึ้น สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงก็คือว่า มีประเทศรายได้ปานกลางไม่กี่ประเทศ ที่สามารถยกระดับขึ้นสู่การมีรายได้สูงขึ้น และประเทศรายได้สูงแล้ว ก็แทบจะไม่มีฐานะตกต่ำลงมาอีก

    แนวคิดสำคัญจากหนังสือ BRICS or Bust คือข้อสรุปที่ว่า เพดานที่เป็นอุปสรรคต่อประเทศรายได้ปานกลาง มีสาเหตุมาจากความเหลื่อมล้ำ ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นของกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ การขยายตัวของการบริโภคในหมู่ประชาชน (massive consumption) ที่ไม่มากพอ ทำให้เศรษฐกิจรายได้ปานกลางหันเหไปสู่การบริโภคในสิ่งฟุ่มเฟือย ผลกำไรตกอยู่ในมือคนชั้นนำ

    ส่วนประเทศรายได้สูงแล้ว สามารถป้องกันไม่ให้ฐานะเศรษฐกิจตกต่ำลง เพราะระบอบการเมืองให้ความสำคัญแก่การบริโภค และการเพิ่มกำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ประเทศรายได้สูงแท้จริง จะมีเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพ มั่งคง และหลากหลาย แต่ประเทศรายได้ปานกลางต้องเผชิญกับอุปสรรคทางการเมือง ในการดำเนินการที่จะทำให้กำลังซื้อคนส่วนใหญ่ขยายตัวมากขึ้น

    ประเทศรายได้สูงจะมีระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่มีคุณภาพ ประเทศ BRICS ยังไม่มีสิ่งนี้ แต่ทุกประเทศมีศักยภาพ ที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมให้ดีขึ้น ประเทศ BRICS แสดงให้เห็นว่า มีความสามารถในการปรับตัวได้มากกว่าประเทศอื่น โดยอาศัยนโยบายที่ประกอบด้วย การมีธรรมาภิบาล การสร้างอุปสงค์และอุปทานที่ถูกต้อง การเชื่อมโยงกับนานาประเทศ แล้วกลไกตลาดจะดำเนินเองในส่วนที่เหลือ

    กับดักรายได้ปานกลางเป็นสิ่งที่สามารถเอาชนะได้ด้วยการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม นโยบายเพิ่มการบริโภคของคนส่วนใหญ่ ผ่านการสร้างงานหรือการมีงานทำ เป็นเวลานานมากที่นักเศรษฐศาสตร์มักเสนอแนวคิดที่ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้จากการมีค่าแรงที่ต่ำ

    ค่าแรงสูงขึ้นย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนกำไรนั้นคือดอกผลที่ได้จากการลงทุน การลงทุนคือสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์ของคนส่วนใหญ่ ที่มีเพิ่มมากขึ้น การส่งเสริมการบริโภคของคนส่วนใหญ่ จึงสร้างวัฏจักรที่ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เกิดผลกำไรมากขึ้น และสร้างกำลังซื้อมากขึ้นของคนส่วนใหญ่ สำหรับประเทศที่เศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ใช้ศักยภาพตัวเองอย่างเต็มที่ ค่าแรงสูงขึ้นและการจ้างงานเต็มที่ คือกุญแจสู่การเติบโต

    เอกสารประกอบ

    BRICS or Bust? Escaping? Escaping the Middle-Income Trap, Hartmut Elsenhans and Salvatore Babones, Stanford University Press, 2017.