สฤณี อาชวานันทกุล
22 กรกฏาคม 2557 – วันเดียวกับที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ซึ่งสถาปนาอำนาจของคณะรัฐประหารเหนืออำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ไม่ต่างจากอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว ประชาชนชาวอินโดนีเซียก็ได้เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ของอินโดนีเซีย ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ให้ โจโค วิโดโด สมญา “โจโควี” ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี เอาชนะคู่แข่งคืออดีตนายพล ปราโบโว ซูเบียนโต อดีตนายทหารคนสนิท “ซูฮาร์โต” ด้วยคะแนนเสียง 53 เปอร์เซ็นต์ ต่อ 47 เปอร์เซ็นต์
นี่เป็นการเลือกตั้งเลือกประธานาธิบดีทางตรงครั้งที่สามเท่านั้นในประวัติศาสตร์ของประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก
การเลือกตั้งครั้งนี้ทำสถิติ “ครั้งแรก” มากมายในอินโดนีเซีย ที่สำคัญที่สุดคือ โจโคโวเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เป็น “นักการเมืองติดดิน” อย่างแท้จริง ไม่ได้เป็นทหาร เครือญาติหรือเครือข่ายของซูการ์โนหรือซูฮาร์โต นายพลที่ปกครองประเทศแบบ “ประชาธิปไตยอุปถัมภ์” (ซูการ์โนเรียก “guided democracy” ซูฮาร์โตเรียก “new order”) ยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ
ทันทีที่ทราบผลทางการ คู่แข่งคือปราโบโวก็ประกาศถอนตัวจากกระบวนการเลือกตั้ง อ้างว่ามีการโกงเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ
แต่มีน้อยคนที่จะใส่ใจเสียงประท้วงของปราโบโว เพราะผู้สังเกตการณ์ภายนอกต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่โปร่งใสและเรียบร้อยที่สุดในประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย
ความดีความชอบต้องยกให้สถิติ “ครั้งแรก” อีกเรื่องของการเลือกตั้งครั้งนี้ นั่นคือ การระดม “พลังมวลชน” ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (crowdsourcing) มาช่วยกันตรวจสอบความถูกต้องของผลคะแนนเสียงรวมในแต่ละหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งความดีความชอบนี้ต้องยกให้ทั้งนักเทคโนโลยี ประชาชน รวมไปถึงคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง หรือ กกต. อินโดนีเซีย ที่ตัดสินใจปล่อยสแกนผลการรวมคะแนนระดับหน่วยเลือกตั้งทั้งประเทศรวม 480,000 หน่วย เอาขึ้นเว็บ กกต. ให้ใครก็ตามมาดาวน์โหลดไปช่วยตรวจสอบ
การตัดสินใจให้ข้อมูลคะแนนเสียงระดับหน่วยเลือกตั้งเป็น “ข้อมูลเปิด” (open data) แบบหยาบๆ เช่นนี้เป็น “ครั้งแรก” ในประวัติศาสตร์อินโดนีเซียเช่นกัน สาเหตุหลักคือเพื่อตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของประชาชน เพราะทันทีที่ปิดหีบเลือกตั้ง คู่ท้าชิงทั้งสองต่างก็ออกมาประกาศชัยชนะและกล่าวหาว่าคู่แข่งของตนโกงกระบวนการนับคะแนนเสียง ซึ่งก็เป็นปัญหาในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ความที่การนับคะแนนเป็นกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน ต้องใช้เจ้าหน้าที่ 1.4 ล้านคน นับคะแนนเสียงของผู้มาใช้สิทธิทั้งประเทศที่มีเกาะรวมกันกว่า 17,500 เกาะ มีผู้มาใช้สิทธิกว่า 140 ล้านคน หรือร้อยละ 70 ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด ต้องใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์กว่าจะประกาศผลอย่างเป็นทางการ
หลายครั้งในอดีตที่ผ่านมาเกิดกรณีเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยจงใจเปลี่ยนผลคะแนน แลกสินบนจากผู้สมัคร และระหว่างกระบวนการส่งต่อจากระดับหมู่บ้านไปตำบล จากตำบลไปอำเภอ หลายครั้งก็เกิดการบวกเลขผิดทั้งแบบจงใจและไม่จงใจ ส่งผลให้การประกาศ “ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง” และการร้องเรียนเป็นแฟชั่นย่อมๆ ที่คนอินโดคุ้นเคย
แต่ไม่ใช่ครั้งนี้ ครั้งนี้พลังตรวจสอบจากมวลชนทำให้เสียงประท้วงของผู้แพ้เบาหวิวแทบจะไร้น้ำหนักเอาเลยทีเดียว
การที่ กกต. ปล่อยข้อมูลระดับหน่วยเลือกตั้ง ทำให้ชาวอินโดฉวยโอกาสระดมพลังมวลชนมาช่วยกันเป็นหูเป็นตาได้อย่างรวดเร็ว มีเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นมือถือ ฯลฯ ผุดขึ้นมาหลายแห่งภายในชั่วข้ามคืน เว็บที่ใหญ่ที่สุดคือ Kawal Pemilu ซึ่งแปลว่า “ปกป้องการเลือกตั้ง” ในภาษาบาฮาซาอินโด ก่อตั้งแบบปัจจุบันทันด่วนโดยโปรแกรมเมอร์ชาวอินโดสามคนที่ทำงานอยู่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในต่างแดน พวกเขานำข้อมูลจากเว็บ กกต. มาจัดระเบียบเป็นฐานข้อมูล เสร็จแล้วก็เชิญชวนเพื่อนๆ และคนรู้จักผ่านเฟซบุ๊ก ให้เข้ามาช่วยตรวจสอบผลการนับคะแนน รวบรวมผลขึ้นเว็บ kawalpemilu.org ให้คนอื่นได้ดูด้วย
ความที่เว็บนี้ใช้ง่ายมาก – ผู้ใช้สามารถใส่ผลการนับคะแนนหนึ่งหน่วยทุกๆ 5 วินาที จากการตรวจสอบสแกนผลการนับคะแนนว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ – ทำให้ Kawal Pemilu เติบโตอย่างรวดเร็ว วันแรกมีอาสาสมัคร 4 คน หลังจากนั้นเพียง 2-3 วันถัดมาก็มีถึง 700 คน ส่งผลให้สามารถอัพเดทผลคะแนนได้ทุก 10 นาที และนับคะแนนเสียงได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในเวลาเพียง 6 วัน นานนับสัปดาห์ก่อนที่ กกต. จะประกาศผลทางการ
ตัวเลขที่พลังมวลชนช่วยกันนับชี้ว่า โจโควีชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 52.8 เทียบกับร้อยละ 47.2 ของปราโบโว แทบจะตรงกันเป๊ะกับผลที่ กกต. ประกาศในอีกหลายวันถัดมา
ไอนัน นาจิบ (Ainun Najib) วัย 28 ปี หนึ่งในสามผู้ก่อตั้งอธิบายว่า เขาเชิญชวนอาสาสมัครจากกลุ่มเพื่อนและคนรู้จักในเฟซบุ๊กก่อน เพราะไม่อยากเริ่มจากคนแปลกหน้า นอกจากนี้ยังโค้ดกลไกป้องกันอื่นๆ เช่น กำหนดให้หนึ่งไอพีแอดเดรส (IP address) ไม่สามารถส่งผลการนับได้หลายหน่วย นอกจากนี้ยังคอยเช็คข้อมูลกลับไปกลับมา (cross check) ระหว่างฐานข้อมูลของเว็บ กับเว็บทางการของ กกต. อย่างต่อเนื่อง
Kawal Pemilu ไม่ใช่โครงการของประชาชนโครงการเดียวที่ใช้ข้อมูลจากเว็บ กกต. แต่เป็นโครงการที่ได้รับความนิยมสูงสุด ตัวอย่างโครงการอื่นๆ เช่น Kawal Suara (“พิทักษ์เสียง”) และ C1 Yanganeh ให้คนอัพโหลดสแกนผลการนับระดับหน่วยที่ผิดปกติ
ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองอินโดนีเซียทั้งในระดับนักการเมืองและพลเมืองครั้งนี้ เกิดขึ้นได้จากความเข้าใจว่า วิธีต้านกลเกมโกงเลือกตั้งที่ดีที่สุด ก็คือการทำให้ข้อมูล “เปิด” ให้ได้มากที่สุด และเชื้อเชิญให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบมากที่สุด
ไม่ใช่การไปกีดกันผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยข้ออ้างว่าจะเกิดการโกง ไม่เข้าใจพลังของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และไม่ไว้ใจพลังการตรวจสอบของประชาชน.