ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อินโดนีเซียมุ่งพ้นกับดักรายได้ปานกลางด้วยโรดแมปใหม่ แปรรูปสินค้าก่อนส่งขาย

ASEAN Roundup อินโดนีเซียมุ่งพ้นกับดักรายได้ปานกลางด้วยโรดแมปใหม่ แปรรูปสินค้าก่อนส่งขาย

5 มีนาคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 26 กุมภาพันธ์-4 มีนาคม 2566

  • อินโดนีเซียมุ่งพ้นกับดักรายได้ปานกลางด้วยโรดแมปใหม่แปรูปสินค้าก่อนส่งขาย
  • รัฐบาลเมียนมายกเว้นภาษีลงทุนโรงไฟฟ้าดึงต่างชาติ
  • ค่าธรรมเนียมจัดการสินค้าที่ท่าเรือเวียดนามต่ำสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • ค่าเช่าที่ดินอุตสาหกรรมทางตอนใต้สูงกว่าทางเหนือถึง 42% ในเวียดนาม
  • สิงคโปร์เพิ่มเงินลงทุนขั้นต่ำสำหรับคนรวยต้องการสถานะผู้พำนักถาวร
  • สิงคโปร์ผู้นำการลงทุนจากต่างประเทศในเวียดนาม
  • อินโดนีเซียมุ่งพ้นกับดักรายได้ปานกลางด้วยโรดแมปใหม่

    ที่มาภาพ: https://www.officeholidays.com/countries/indonesia/jakarta/2020
    มูลค่าการส่งออกนิกเกิลของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 10 เท่าในรอบ 5 ปี หลังจากที่บังคับให้ผู้ซื้อตั้งโรงถลุงในประเทศ ปัจจุบัน อินโดนีเซียซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแผนที่จะใช้พิมพ์เขียวนี้ผลักดันประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่มีรายได้สูง โดยแปรรูปทุกอย่างตั้งแต่ทองแดงไปจนถึงปลา

    เป้าหมายคือเพิ่ม GDP ต่อหัวสองเท่าเป็น 10,000 ดอลลาร์ภายในปี 2588 ซึ่งจะทำให้อินโดนีเซียเข้าใกล้เกณฑ์รายได้สูงของธนาคารโลก ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงจะสร้างศูนย์กลางการเติบโตใหม่นอกเกาะชวา ซึ่งเป็นเกาะที่ร่ำรวยที่สุดและมีประชากรมากที่สุด

    “เรากำลังใช้นิกเกิลเป็นต้นแบบ” รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนนายบาห์ลิล ลาฮาดาเลีย กล่าว “โง่หรือเปล่า เรามีวัตถุดิบแต่ขายไปถลุงที่ต่างประเทศแล้วนำเข้ากลับมา เราเอาสมองไปไว้ไหน”

    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ชี้ให้เห็นถึงโมเดลทางเศรษฐกิจของไต้หวันและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสองประเทศจากเพียงไม่กี่ประเทศ ที่สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ด้วยการสร้างการผลิตและเพิ่มผลิตภาพ เป็นเวลาหลายทศวรรษแล้วที่อินโดนีเซียพึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นวัตถุดิบ ซึ่งเป็นยุทธ์ศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่มีเหมือนจะถูกสาป โดยประเทศที่มีแร่อุดมสมบูรณ์จะดูดเงินลงทุนในการทำเหมืองในช่วงเวลาที่เฟื่องฟู แต่ก็ต้องทนทุกข์เมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ร่วงลง

    โรดแมปใหม่สำหรับการแปรรูปในประเทศ จะเริ่มจากน้ำมันและก๊าซในปีนี้ จากนั้นจึงไปสู่การประมง สรุปแล้ว อินโดนีเซียจะส่งออกเฉพาะน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ผลิตภัณฑ์มะพร้าว ไม้ สาหร่ายทะเล และแม้แต่เกลือ รัฐบาลประเมินว่าการขับเคลื่อนสามารถดึงเงินลงทุน 545,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของ GDP ปัจจุบันของประเทศ

    “เราเคยขายเรื่องราวของอินโดนีเซียด้วยตัวเลขต่างๆ 280 ล้านคน เกาะนับพัน และอื่นๆ อีกมากมาย นั่นคือการส่งเสริมประวัติศาสตร์ ไม่ใช่การลงทุน” นายลาดาฮาเลียกล่าว “ตอนนี้เราบอกพวกเขาว่า ‘คุณต้องการอุตสาหกรรมอะไร? นี่คือสิ่งที่คุณสามารถทำได้ และนี่คือที่ที่คุณสามารถทำได้’”

    กระทรวงการลงทุนเผยแพร่ลิสต์ของโครงการที่นักลงทุนสามารถเลือกได้ พร้อมอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง ระยะเวลาคุ้มทุน และสิทธิประโยชน์จากรัฐ ซึ่งรวมถึงโรงงานเมล็ดโกโก้มูลค่า 49.8 พันล้านรูปียะฮ์ (3.3 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในสุลาเวสีตอนกลางที่ให้ผลตอบแทน 22% หรือโรงถลุงแร่ทองแดงมูลค่า 1.13 พันล้านเหรียญสหรัฐในชวาตะวันออก ที่คาดว่าจะได้รับผลตอบแทน 16%

    นอกจากนี้ มีสัญญาณว่านโยบายนี้ได้ผล อินโดนีเซียเกินดุลการค้ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในปีที่แล้ว โดยการลงทุนเพิ่มขึ้น 44% เป็นประวัติการณ์ด้วยมูลค่า 80,000 ล้านดอลลาร์ โดยได้รับแรงหนุนจากนิกเกิลและทองแดง ซึ่งส่วนใหญ่พบบนเกาะนอกเกาะชวา

    ในมาลูกูตอนเหนือ การลงทุนในการถลุงนิกเกิลช่วยให้เศรษฐกิจของจังหวัดขยายตัวได้ถึง 29% ในปีที่แล้ว

    นายลาดาฮาเลียกล่าวว่า “หลายบริษัทได้ขุดนิกเกิลที่นั่นมาหลายทศวรรษแล้ว แต่ตอนนี้เราเห็นการเติบโตอย่างมหาศาลเท่านั้น” “ด้วยการเติบโต งานก็เข้ามา ผู้คนไม่จำเป็นต้องไปที่ชวาอีกต่อไปเพื่อมองหางานดีๆ”

    ในปาปัวตะวันตก หนึ่งในจังหวัดที่ยากจนที่สุดของประเทศ มีการสร้างโรงงานเพื่อเปลี่ยนก๊าซธรรมชาติให้เป็นเมทานอล ยูเรีย และแอมโมเนียเพื่อใช้เป็นปุ๋ย และทั่วทั้งหมู่เกาะ มีการตั้งโรงงานเพื่อแปรรูปและบรรจุปลาทูน่าและกุ้งพร้อมสำหรับผู้บริโภค แทนที่จะส่งปลาที่จับได้ไปยังโรงงานในไทยหรือเวียดนาม

    ถึงกระนั้น ผลบวกจากนิกเกิลต่ออินโดนีเซียส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ทั่วโลกที่พุ่งสูงขึ้นอย่างฉับพลันจากปัจจัยต่างๆ รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่ที่เพิ่มขึ้นสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และการขาดสภาพคล่องระยะสั้นของตลาด London Metals Exchange ซึ่งทำให้อินโดนีเซียมีสถานะต่อรองที่แข็งแกร่งในการบีบธุรกิจเหมืองให้สร้างโรงหลอม นอกจากนี้ ยังมีคำถามว่ารัฐบาลจะผันเงินลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในโรงถลุงแร่ มาเป็นการลงทุนด้านเทคโนโลยีและงานที่มีทักษะสูงในวงกว้าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตโดยรวมได้อย่างไร

    นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงทางกฎหมาย องค์การการค้าโลกเพิ่งตัดสินให้สหภาพยุโรปคัดค้านการห้ามส่งออกแร่นิกเกิล ซึ่งนายโจโกวีให้คำมั่นว่าจะอุทธรณ์คำตัดสินและปฏิเสธที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายของเขา

    และในขณะที่อินโดนีเซียพึ่งพาการห้ามส่งออกเพื่อบีบให้บริษัทต่างๆ สร้างโรงงานปลายน้ำในประเทศ รัฐบาลได้กล่าวว่าตอนนี้ต้องการใช้แนวทางที่นุ่มนวลขึ้น โดยค่อยๆ ลดสิทธิประโยชน์จูงใจสำหรับสินค้าที่ไม่ต้องสกัดมากทางด้านนิกเกิล หมายถึงจะไม่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกต่อไปสำหรับโรงถลุงแร่ที่ผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณนิกเกิลน้อยกว่า 40% เนื่องจากรัฐบาลผลักดันให้มีอย่างน้อย 70%-80%

    “แต่เราจะไม่รอ” นายลาฮาดาเลียกล่าว “ถ้าเราบอกว่าอุตสาหกรรมต้องพร้อมก่อนที่เราจะหยุดส่งออก มันจะใช้เวลานานเกินไป และเราจะได้รับข้อแก้ตัวแบบเดิมๆ”

    สำหรับบริษัททองแดงรายใหญ่ Freeport-McMoRan Inc. ซึ่งบริษัทในเครือที่อยู่ในอินโดนีเซียได้ทำการขุดแหล่งแร่ทองแดงและทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 การส่งออกผลิตภัณฑ์เข้มข้นจะยุติลงในสิ้นปีนี้ เมื่อโรงถลุงแร่แห่งใหม่จำเป็นต้องเปิดดำเนินการ

    นายลาดาฮาเลียมั่นใจว่า ยุทธศาสตร์แบบดาวน์สตรีมจะไม่ถูกตีตกไป จากการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งนายโจโควีต้องลงจากตำแหน่งหลังสิ้นสุดวาระที่สอง การปรับเปลี่ยนได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว เนื่องจากโรงถลุงแร่และโรงงานต่างๆ ถูกสร้างขึ้นแล้ว

    “นอกจากนี้ ใครก็ตามที่ต้านแนวทางนี้จะถูกหัวเราะเยาะ” นายลาดาฮาเลียกล่าว “เรามาได้ครึ่งทางแล้ว เราจะกลับไปทำไม

    รัฐบาลเมียนมายกเว้นภาษีลงทุนโรงไฟฟ้าดึงต่างชาติ

    โครงข่ายไฟฟ้าในย่างกุ้ง เมียนมา ที่มาภาพ: https://www.irrawaddy.com/news/burma/myanmars-electricity-sector-crippled-since-military-coup.html
    รัฐบาลทหารเมียนมาได้ยกเว้นภาษีสำหรับการลงทุนในภาคการผลิตไฟฟ้า เพื่อดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศสำหรับภาคไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งซบเซาตั้งแต่มีการรัฐประหาร

    คณะกรรมาธิการการลงทุนเมียนมาที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหาร ได้ประกาศว่าจะยกเว้นภาษีสำหรับการผลิตและจำหน่ายพลังงานหมุนเวียน รวมถึงพลังงานแสงอาทิตย์ รัฐบาลจัดให้ไฟฟ้ามีความสำคัญระดับชาติสำหรับการลงทุน และจะยกเว้นหรือลดภาษีนำเข้าวัสดุ เครื่องจักร อุปกรณ์ อะไหล่ และวัสดุก่อสร้างที่ไม่มีในประเทศ ตามที่ระบุในประกาศ

    นอกจากนี้ จะมีการยกเว้นภาษีสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าด้วย

    อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจท้องถิ่นที่อยู่ในภาคส่วนนี้ให้ความเห็นว่า การผลิตไฟฟ้าเป็นโครงการระยะยาว และต่างชาติจะไม่สนใจลงทุน เว้นแต่ประเทศจะมีเสถียรภาพทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ

    “โครงการในภาคการผลิตไฟฟ้าใช้เวลาประมาณเจ็ดปีกว่าจะคุ้มทุน และจะเริ่มเห็นผลกำไรหลังจากเจ็ดปีเท่านั้น แม้แต่บริษัทจีนก็ไม่อยากลงทุนเพราะความไม่แน่นอนในเมียนมา นอกจากนี้ นักลงทุนจะได้รับค่าไฟฟ้าเป็นเงินจัต และเงินจัตกำลังอ่อนค่าลง นี่เป็นความท้าทายสำหรับนักลงทุนที่มีศักยภาพ” นักธุรกิจรายนี้กล่าว

    ทางด้านโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้น นักลงทุนเองไม่ต้องการลงทุนจำนวนมากในระยะยาว และกำลังมองหาพันธมิตรทางธุรกิจ นักธุรกิจรายเดิมกล่าว

    ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานกล่าวกับสำนักข่าว The Irrawaddy ว่า “นักลงทุนต่างชาติมองที่ความเสี่ยงของประเทศ [ความเสี่ยงของการลงทุนหรือการปล่อยสินเชื่อในประเทศหนึ่ง] ว่ามีความสำคัญมากกว่าการยกเว้นภาษี หากประเทศใดไม่มีความมั่นคงและมีความเสี่ยงสูง ธนาคารระหว่างประเทศจะไม่ให้สินเชื่อเพื่อการลงทุนในประเทศนั้น ดังนั้นจึงไม่สามารถคาดหวังให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาเพียงเพราะว่าภาษีต่ำ”

    นักธุรกิจท้องถิ่นอีกรายที่อยู่ในภาคการผลิตไฟฟ้ากล่าวว่า รัฐบาลเมียนมาได้ใช้มาตรการยกเว้นภาษี ไม่ใช่เพราะความต้องการที่จะพัฒนาภาคไฟฟ้า แต่เป็นเพราะผู้นำรัฐบาลทหารสนใจผลกำไรที่อาจเกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมนี้

    ธนาคารโลกและหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เคยให้ความช่วยเหลือทางการเงินและทางเทคนิคแก่ภาคไฟฟ้าของเมียนมาระงับความช่วยเหลือหลังการรัฐประหาร โครงการไฟฟ้าก็หยุดชะงักเช่นกัน

    โครงการที่ถูกระงับ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำมูลค่า 35 ล้านยูโรบนแม่น้ำสาละวินที่จะสร้างด้วยเงินกู้จากหน่วยงานเพื่อการพัฒนาของฝรั่งเศส AFD และโรงไฟฟ้า LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) มูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐที่ญี่ปุ่นสนับสนุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาในย่างกุ้ง

    โครงการที่ถูกระงับ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำมูลค่า 35 ล้านยูโรบนแม่น้ำสาละวินที่จะสร้างด้วยเงินกู้จากหน่วยงานเพื่อการพัฒนาของฝรั่งเศส AFD และโรงไฟฟ้า LNG (ก๊าซธรรมชาติเหลว) มูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐในเขตเศรษฐกิจพิเศษทิลาวาในย่างกุ้ง

    ในขณะเดียวกัน VPower ซึ่งมีฐานธุรกิจจากฮ่องกงได้หยุดการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้า LNG ขนาด 400 เมกะวัตต์ (MW) ในเขตทาเกตาของย่างกุ้ง และโรงไฟฟ้าขนาด 350 เมกะวัตต์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษทิลาวา ในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยอ้างว่าราคา LNG สูงขึ้นในตลาดต่างประเทศและการอ่อนค่าของเงินจัตเทียบกับเงินดอลลาร์

    ในเดือนกันยายนปีนั้น VPower ประกาศว่าได้ถอนโครงการโรงไฟฟ้าสองแห่ง แต่ละโครงการมีกำลังการผลิต 200 เมกะวัตต์ ในเมืองจอก์พยู รัฐยะไข่ และเมืองมยินยาน ในเขตมัณฑะเลย์

    ในเดือนพฤษภาคม 2563 รัฐบาลพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยซึ่งถูกโค่นอำนาจในขณะนี้ ได้เปิดการประมูลก่อสร้างโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 29 โครงการ ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้รวม 1 กิกะวัตต์ภายใต้สัญญา 20 ปี ซึ่งดำเนินการภายใต้เงื่อนไขbuild-operate-own บริษัทจีนและหุ้นส่วนกเขาชนะการประมูลเพื่อสร้างโรงงาน 28 แห่งจากทั้งหมด 29 แห่ง

    รัฐบาลทหารยกเลิกการประกวดราคาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 26 โครงการ และขึ้นบัญชีดำบริษัทจีนที่ระงับโครงการ หลังรัฐประหาร

    พม่าประสบปัญหาไฟฟ้าดับตั้งแต่ปลายปี 2564 เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาพึ่งพาโรงไฟฟ้าพลังน้ำเป็นหลักในการจัดส่งไฟฟ้า

    ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศอยู่ที่ 3,600 เมกะวัตต์ โดยผลิตจากบริษัทจีนคิดเป็นประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ และ 56% ของการลงทุนในภาคการผลิตไฟฟ้าของเมียนมา ตามข้อมูลในรายงานของสถาบันยุทธศาสตร์และนโยบายเมื่อเดือนสิงหาคม 2565

    ค่าธรรมเนียมจัดการสินค้าที่ท่าเรือเวียดนามต่ำสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/industries/cargo-handling-fees-at-vietnamese-ports-lowest-southeast-asia-4576904.html

    ท่าเรือเวียดนามเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขนถ่ายสินค้าต่ำที่สุด Terminal Handling Charge หรือ THC ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากข้อมูลของ Vietnam Logistics Business Association

    ค่าธรรมเนียมการจัดการท่าเทียบเรือ (THC) เทียบเท่ากับหนึ่งในสามของค่าธรรมเนียมที่สายการเดินเรือเรียกเก็บจากเจ้าของสินค้า รองประธานสมาคมนาย เล กว่าง จุง กล่าวในการสัมมนาเรื่อง World Logistics Passport Initiative ที่จัดขึ้นในนครโฮจิมินห์เมื่อวันพุธ (1 มี.ค.)

    สายการเดินเรือระหว่างประเทศเรียกเก็บค่า THC ที่ 140 เหรียญสหรัฐต่อตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต แต่จ่ายให้ผู้ประกอบการท่าเรือเวียดนามซึ่งเป็นผู้ขนถ่ายตู้สินค้าเพียงประมาณ 52 เหรียญสหรัฐ ซึ่งต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นายจุงกล่าวพร้อมชี้ว่า ในกัมพูชา ท่าเรือจะจ่ายสูงถึง 90 เหรียญสหรัฐ และ 115 เหรียญสหรัฐในสิงคโปร์

    “นี่เป็นข้อเสียเปรียบสำหรับท่าเรือเวียดนามจริงๆ เพราะพวกเขาลงทุนไปหลายร้อยล้านดอลลาร์ รัฐบาลกำลังพิจารณาที่จะขึ้นค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ”

    ในทางกลับกัน ระยะเวลาการผ่านพิธีการที่ยาวนานสร้างความยากลำบากให้กับธุรกิจโลจิสติกส์ของเวียดนาม

    นายเหงียน ง็อก เถวี่ยน จาก World Logistics Passport ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มระดับโลกที่นำโดย UAE และออกแบบมาเพื่อทำให้การค้าโลกไหลลื่น ปลดล็อกการเข้าถึงตลาด และมอบประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจแก่สมาชิก กล่าวว่า เวลาผ่านพิธีการศุลกากรที่ท่าเรือเวียดนามคือประมาณ 52 ชั่วโมง

    นายบาเดอร์ อับดดุลลาอัล มาทรูชิ เอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประจำเวียดนาม กล่าวว่า โครงการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณสินค้าที่ขนส่งจากเวียดนามไปยังตลาดใหม่ได้ 0.5-27%

    ค่าเช่าที่ดินอุตสาหกรรมทางตอนใต้สูงกว่าทางเหนือถึง 42% ในเวียดนาม

    นิคมอุตสาหกรรมตัน เถาในเขต บิ่นห์ ถันห์ นครโฮ จิมินห์ เวียดนาม ที่มาภาพ:https://e.vnexpress.net/news/business/property/southern-industrial-rents-42-higher-than-in-north-4576341.html
    ค่าเช่าที่ดินอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยในภาคใต้สูงกว่าทางเหนือถึง 42% จากข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ Cushman & Wakefield Vietnam

    ในศูนย์กลางทางตอนใต้ ซึ่งดึงดูดการลงทุนได้ก่อนและเร็วกว่าทางเหนือหลังจากที่สหรัฐฯ ยกเลิกการกีดกันหลังสงคราม ค่าเช่าภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ 159 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตารางเมตรต่อรอบการเช่า แต่ในภาคเหนืออยู่ที่ 112 เหรียญสหรัฐ

    ปัจจุบันค่าเช่าในโฮจิมินห์ซิตี้เฉลี่ยอยู่ที่ 300 เหรียญสหรัฐต่อตารางเมตร ซึ่งสูงที่สุดในเวียดนาม เทียบกับ 235 เหรียญสหรัฐในฮานอย

    จ่าง บุย กรรมการบริหารของ Cushman & Wakefield Vietnam กล่าวว่า ค่าเช่าพื้นที่อุตสาหกรรมทางตอนใต้สูงกว่าทางตอนเหนือ เนื่องจากตลาดทางตอนใต้พัฒนามาก่อนและยาวนานกว่า

    อย่างไรก็ตาม เธอกล่าวว่า สวนอุตสาหกรรมทางตอนเหนือได้รับประโยชน์จากการวางแผนที่ดีกว่า เพราะสร้างขึ้นในภายหลัง

    จากข้อมูลของ CBRC บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เวียดนาม อยู่ใกล้จีนและมีการแข่งขันด้านค่าเช่าที่ดินอุตสาหกรรมมากกว่าคู่แข่งในภาคใต้ นิคมอุตสาหกรรมในภาคเหนือกำลังได้รับการโยกการผลิตจากยุทธศาสตร์ China+ ของบริษัทผู้ผลิตต่างชาติมากขึ้น

    พื้นที่ทางตอนเหนือที่มีนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง เช่น บั๊กนิญและฮึงเอียน มีอัตราค่าเช่าเพิ่มขึ้นอย่างมากประมาณ 7% ต่อปี ตลาดให้เช่าที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมในภาคเหนือคาดว่าจะขยายไปยังจังหวัดต่างๆ เช่น ท้ายบิ่ญ และ กว่างนิญ ในอนาคตอันใกล้นี้ ภาคเหนือมีที่ดินมากกกว่า ที่จะพัฒนาเขตอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งจะเป็นการเพิ่มอุปทานและรักษาค่าเช่าให้มีเสถียรภาพและแข่งขันได้มากขึ้น ขณะที่อุปทานที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมในภาคใต้ยังคงกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดที่อยู่ติดกับนครโฮจิมินห์เป็นหลัก หรือที่ท่าเรือกายแหม็บและกัตลาย ทำให้ภาคใต้มีแนวโน้มขาดแคลนที่ดินสำหรับพัฒนาอุตสาหกรรมมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ค่าเช่าสูงขึ้น

    ทั้ง Cushman & Wakefield และ CBRE คาดการณ์ว่าค่าเช่าที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามจะเพิ่มขึ้น 5-10% ในปีนี้

    สิงคโปร์เพิ่มเงินลงทุนขั้นต่ำสำหรับคนรวยต้องการสถานะผู้พำนักถาวร

    ที่มาภาพ:https://www.visitsingapore.com/see-do-singapore/places-to-see/marina-bay-area
    บุคคลทั่วไปที่ต้องการ(Permanent Resident-PR)สถานะผู้พำนักถาวร ผ่าน Global Investor Program (GIP) ของสิงคโปร์จะต้องลงทุนเพิ่มในเร็วๆ นี้อย่างน้อย 10 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในธุรกิจ หรือ 25 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในกองทุนที่ได้รับอนุมัติ ผู้ที่จัดตั้งสำนักงานครอบครัวต้องลงทุนและคงเงินลงทุนไว้ที่รักษาอย่างน้อย 50 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในการลงทุนประเภทใดก็ได้ในบรรดาสี่ประเภทที่กำหนด

    เกณฑ์ใหม่จะมีผลในวันที่ 15 มี.ค. สำหรับผู้ยื่นขอรายใหม่ แต่เกณฑ์เดิมจะยังคงใช้กับ GIP PR และใบอนุญาตที่ได้รับก่อนวันที่ 15 มีนาคม

    คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (EDB) กล่าวว่า ด้วยเขตปกครองหลายแห่งที่ “แข่งขันกันเพื่อดึงดูดเจ้าของธุรกิจที่มีความสามารถสูงและเจ้าของเงินทุน” จึงมีเป้าหมาย เพื่อคัดเลือกผู้ที่สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นและ “ฝังรากในสิงคโปร์” ผู้สังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมกล่าวว่า การปรับเกณฑ์นั้นได้จังหวะพอดีและจะจำกัดขอบเขตให้แคบลงเหลือผู้สมัครที่มีคุณภาพสูงกว่า

    ลิ้ม เข่อซิน หุ้นส่วนด้านภาษีของ PricewaterhouseCoopers (PwC) สิงคโปร์กล่าวว่า “สิ่งที่เราต้องการคือ บุคคลที่สามารถสร้างผลที่กว้างได้” “ด้วยเหตุนี้ บางทีเราอาจช่วยให้กรองผู้ยื่นขอประเภทคุณภาพต่ำออกไปได้”

    EDB ให้รายละเอียดในวันพฤหัสบดี (2 มี.ค.) หลังจากรัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม กัน กิ่ม หย่ง กล่าวเมื่อวันอังคารว่า จะมีการเพิ่มเงินขั้นต่ำจากปัจจุบัน 2.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์สำหรับทั้งสามทางเลือก การปรับเปลี่ยนนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทบทวนอย่างต่อเนื่องของ EDB เพื่อให้แน่ใจว่า GIP มีประสิทธิภาพในการ “ดึงดูดเฉพาะเจ้าของธุรกิจระดับสูงที่สนใจผลักดันการเติบโตของธุรกิจและการลงทุนจากสิงคโปร์”

    GIP รับรองสถานะ PR ของนักลงทุนทั่วโลกที่ได้รับสิทธิ์ โดยมีทางเลือกการลงทุนสามทาง แต่ละแแนวทางมีข้อกำหนดเพิ่มเติมสำหรับ PR ดังกล่าวเพื่อให้ได้รับการต่ออายุใบอนุญาตกลับเข้าประเทศ (REP) หลังจากห้าปี

    ทางเลือก A คือการลงทุนในธุรกิจใหม่หรือธุรกิจเดิมในสิงคโปร์ เงินลงทุนขั้นต่ำใหม่คือ 10 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ รวมทุนชำระแล้วที่มีอยู่

    ทางเลือก B คือการลงทุนในกองทุน GIP-select ซึ่งได้รับการคัดเลือกจาก EDB ด้วยเงินใหม่ขั้นต่ำ 25 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์

    ทางเลือก C ในปัจจุบันคือการลงทุน 2.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในสำนักงานครอบครัวเดี่ยวแห่งใหม่หรือที่มีอยู่แล้วในสิงคโปร์ โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ AUM อย่างน้อย 200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งอย่างน้อย 50 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ต้องเป็นการถือครองในสิงคโปร์

    ปัจจุบัน ทั้งสามทางเลือก เงื่อนไขการต่ออายุ REP คือการจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10 คน โดยเป็นชาวสิงคโปร์อย่างน้อย 5 คน และมีรายจ่ายทางธุรกิจทั้งหมด (TBE) 2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ภายในปีที่ห้าของสถานะ PR ส่วนทางเลือกของสำนักงานครอบครัว อย่างน้อยพนักงานสามคนต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน

    ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม เป็นต้นไป นักลงทุนจะต้องจัดตั้งสำนักงานครอบครัวเดี่ยวในสิงคโปร์ โดยเงินลงทุน AUM 200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์จะต้องลงทุนในประเภทใดประเภทหนึ่งจาก 4 ประเภทภายใน 12 เดือนนับจากการอนุมัติขั้นสุดท้าย

    สิงคโปร์ผู้นำการลงทุนจากต่างประเทศในเวียดนาม

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/singapore-leads-foreign-investment-in-vietnam/249124.vnp

    สิงคโปร์ยังคงเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนามในบรรดา 51 ประเทศและเขตปกครอง ที่เข้าลงทุนในเวียดนามในช่วงสองเดือนแรกของปี 2566 ด้วยมูลค่า 978.4 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเกือบ 31.6% ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่จดทะเบียนทั้งหมดในประเทศ ลดลง 42.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี กระทรวงการวางแผนและการลงทุน (MPI) รายงาน

    ไต้หวัน (จีน) รั้งอันดับสองด้วยมูลค่าเกือบ 407.1 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 13.1% ของทั้งหมด และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 3.85 เท่า เนเธอร์แลนด์อยู่อันดับสามด้วยเงินเกือบ 369 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 11.9% ของทั้งหมด

    จีนเป็นผู้นำในโครงการลงทุนใหม่ในเวียดนาม คิดเป็นเกือบ 17.2% ในขณะเดียวกัน สาธารณรัฐเกาหลีเป็นผู้นำในแง่ของการปรับทุน (21.1%) และการสมทบทุนและการซื้อหุ้น (30.5%)

    ธุรกิจต่างชาติลงทุนใน 39 จังหวัดและเมืองทั่วประเทศในช่วงที่สำรวจ

    จังหวัดบั๊ก ซาง เป็นผู้นำระดับท้องถิ่นในการดึงดูด FDI ด้วยมูลค่า 824.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 26.6% ของทั้งหมด เพิ่มขึ้น 8.4 เท่าจากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 นครโฮจิมินห์อยู่ในอันดับที่สองด้วยโครงการใหม่ 103 โครงการ มูลค่า 369.1 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 11.9% ของทั้งหมด

    กระทรวงฯ ระบุว่า ทุนจดทะเบียนใหม่ ทุนที่ปรับแล้ว เงินสมทบทุน และการซื้อหุ้นของนักลงทุนต่างชาติทั้งหมดอยู่ที่ 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 38% เมื่อเทียบเป็นรายปี

    ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ มีการเบิกจ่ายเงินลงทุนจากต่างประเทศมากถึง 2.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

    บริษัทต่างชาติได้อัดเงินทุนเข้าไปใน 17 ภาคธุรกิจจาก 21 ภาคธุรกิจของเวียดนาม โดยอุตสาหกรรมการแปรรูปและการผลิตเป็นผู้นำด้วยมูลค่ากว่า 2.17 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 70.1% ของทั้งหมด ตามมาด้วยอสังหาริมทรัพย์ 396.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นกว่า 12.8%

    ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เพื่อดึงดูดโครงการ FDI มากขึ้นในอนาคต เวียดนามจำเป็นต้องปรับปรุงกิจกรรมทั้งหมดโดยพื้นฐาน ตั้งแต่การส่งเสริมการลงทุนไปจนถึงการสร้างและยกระดับสถาบันและนโยบายด้านการลงทุนจากต่างประเทศให้สอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนา การเทียบชั้นมาตรฐานสากล มีความสม่ำเสมอ การประชาสัมพันธ์ ความโปร่งใส และความสามารถในการแข่งขัน