ThaiPublica > เกาะกระแส > ครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศที่มีคอร์รัปชันมากที่สุด อินโดนีเซียทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดด

ครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศที่มีคอร์รัปชันมากที่สุด อินโดนีเซียทำอย่างไรจึงประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดด

23 พฤษภาคม 2019


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ภาพวาดแสดงการสนับสนุน KPK บนเสาค้ำยันของโมโนเรลจาการ์ตาที่ถูกทิ้งร้างว่า…คุณต้องการกำจัดการทุจริตคอร์รัปชันหรือกำจัด KPK ? ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/1/10/KPKMural.png

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 16 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย ปี 2018 เศรษฐกิจอินโดนีเซียมีมูลค่า 1.0 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 2 เท่าของเศรษฐกิจไทย แต่อินโดนีเซียกลับเป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับว่ามีปัญหาคอร์รัปชันมากที่สุดมาอย่างยาวนาน

ในปี 1995 องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้จัดอันดับประเทศต่างๆ ในเรื่องคอร์รัปชันขึ้นมาเป็นครั้งแรก อินโดนีเซียติดอันดับท้ายสุดของ 41 ประเทศ แต่ในปี 2018 อินโดนีเซียเลื่อนขึ้นมาอยู่อันดับที่ 89 จากจำนวนทั้งหมด 180 ประเทศ นับได้ว่ามีความคืบหน้ามากในเรื่องการต่อสู้เพื่อขจัดปัญหาคอร์รัปชัน แม้ว่าอันดับที่ 89 นี้จะยังอยู่ห่างจากประเทศอันดับที่ 1 อย่างเดนมาร์ก แต่ก็ถือว่าอยู่ห่างไกลจากประเทศอันดับท้ายสุดที่ 180 อย่างโซมาเลีย

ประวัติย่อคอร์รัปชันในอินโดฯ

ในหนังสือชื่อ Global Corruption from a Geographic Perspective (2019) กล่าวไว้ว่า คอร์รัปชันในอินโดนีเซียมีมาตั้งแต่สมัยเป็นอาณานิคมของพวกดัตช์ เจ้าหน้าที่บริษัทดัตช์อีสต์อินเดีย (Dutch East India) จะได้รับส่วนแบ่งจากการเก็บภาษีจากชาวนา ทำให้นับตั้งแต่อดีต เกิดการพร่ามัวในเรื่องเส้นแบ่งแยกว่าอะไรคือผลประโยชน์ส่วนรวม กับอะไรคือผลประโยชน์ส่วนตัว การได้เอกราชในปี 1949 ก็ไม่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะหน้าที่รัฐยังอาศัยวิธีการนอกงบประมาณ มาสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง

แต่ในสมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โต (1965-1998) คอร์รัปชันกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมอินโดนีเซีย เพราะผู้นำสูงสุดอาศัยระบบอุปถัมภ์ที่กว้างขวางมาเป็นการให้รางวัลแก่ผู้สนับสนุนและช่วยค้ำจุนอำนาจ เมื่อซูฮาร์โตรวมศูนย์อำนาจทั้งหมดมาไว้ที่ตัวเองและครอบครัว ก็หมายความว่า ระบบคอร์รัปชันได้ขยายตัวและระบาดสู่จุดสูงสุดของอำนาจ เพราะเหตุนี้ ในปี 1994 องค์กรความโปร่งใสนานาชาติจึงจัดให้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีคอร์รัปชันมากที่สุด แต่วิกฤติการเงินในเอเชียปี 1998 ทำให้เศรษฐกิจของอินโดนีเซียพังทลาย รวมทั้งการคอร์รัปชันของซูฮาร์โตก็ถูกเปิดโปงออกมา จนในที่สุดซูฮาร์โตก็หมดอำนาจลงไป

ปัญหาคอร์รัปชันมาดีขึ้นมากในสมัยประธานาธิบดีโจโก “โจโควิ” วิโดโด (Joko “Jokowi” Widodo) ที่ได้รับเลือกตั้งในปี 2014 และเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็ได้รับเลือกเป็นสมัยที่ 2 วิโดโดได้ชื่อว่า เป็นนักการเมืองมือสะอาด แม้ว่าจะเกิดกรณีคอร์รัปชันขึ้นมาหลายครั้งในสมัยของเขา แต่นักวิเคราะห์ก็เห็นว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประเทศที่ระบบประชาธิปไตยเพิ่งจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ที่จะต่อสู้กับคอร์รัปชัน เพราะปัญหานี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายสิบปี

องค์กรขจัดคอร์รัปชัน

สำนักงาน KPK ในกรุงจาร์กาต้า ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Corruption_Eradication_Commission#/media/File:KPKHQ.jpg

อินโดนีเซียประสบความสำเร็จอย่างมากขึ้นในการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน เพราะว่าในปี 2003 ได้มีการตั้งองค์กรที่ชื่อว่า “คณะกรรมการขจัดคอร์รัปชัน” (Corruption Eradication Commission) เรียกเป็นภาษาอินโดนีเซียว่า Komisi Pemberantasan Korupsi หรือ KPK ที่ผ่านๆ มา KPK มีผลงานในระดับธรรมดาๆ เพราะมักจะดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐระดับล่างๆ จำนวนหลายพันคน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น หรือนายกเทศมนตรี

การดำเนินคดีของ KPK จะพุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่รัฐระดับล่าง เหมือนกับการเก็บผลไม้สุกที่อยู่ต่ำ เพราะคนพวกนี้ไม่สามารถใช้อำนาจปกปิดความผิดของตัวเอง ทำให้ปัญหาคอร์รัปชันส่วนใหญ่จึงยังแก้ไม่ได้ มีการฟ้องร้องคดีคอร์รัปชันไม่กี่ราย ที่จำเลยถูกยึดทรัพย์ ทำให้คนที่ถูกลงโทษเห็นว่า สิ่งที่ตัวเองได้ไปและยังเหลืออยู่ให้ประโยชน์มากกว่าต้นทุนที่เสียไป แต่ปี 2018 KPK ก็จับปลาตัวใหญ่ได้ เมื่อนายเซทยา โนวันโต (Setya Novanto) อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี ข้อหาคอร์รัปชันในโครงการทำบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ โดยไปเรียกเงินจากบริษัทที่ผลิตบัตรดังกล่าว

บทความของนิตยสาร The Atlantic เรื่อง How the (Once) Most Corrupt Country in the World Got Clean(er) กล่าวว่า ความสำเร็จในการปราบปรามคอร์รัปชันของอินโดนีเซียเกิดจากผลงานของคณะกรรมการขจัดคอร์รัปชัน ที่คนท้องถิ่นเรียกชื่อเป็นตัวย่อว่า KPK หน่วยงานนี้ตั้งขึ้นมาเป็นองค์กรอิสระในปี 2002 โดยมีอำนาจในการสอบสวนและฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐ ในข้อหาคอร์รัปชันทุกประเภท KPK สามารถทำคดีคอร์รัปชันได้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 คดี แต่การฟ้องคดีคอร์รัปชันของ KPK มีอัตราความแม่นยำสูงมากเกือบถึง 100% และเจ้าหน้าที่ของอินโดนีเซียกว่า 1,000 คนถูกตัดสินลงโทษไปแล้ว

เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายฟ้องร้องของ KPK ชื่อ เฟอร์เดียน นูโกรโฮ (Ferdian Nugroho) กล่าวกับ The Atlantic ว่า ความสำเร็จของ KPK ในการทำงานต่อสู้กับคอร์รัปชันมาจากปัจจัย 3 ประการ ประการแรก คือ ความเป็นอิสระในการทำงาน ประการที่สอง คือ การมีอำนาจพิเศษ เช่น KPK สามารถดักฟังโทรศัพท์ได้เลยโดยไม่ต้องขออำนาจจากศาล และประการที่สาม คือ KPK ดำเนินการเรื่องคอร์รัปชันกับทุกกลุ่มการเมือง อินโดนีเซียมีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ราว 10 พรรค และพรรคเล็กๆ อีกมากมายจำนวนนับไม่ถ้วน

ที่มาภาพ : https://www.theatlantic.com/international/archive/2019/05/lessons-indonesia-fighting-corruption/588358/

ผลงานความสำเร็จ

บทความของ The Atlantic กล่าวว่า สิ่งที่เป็นความสำเร็จมากที่สุดในการต่อสู้กับคอร์รัปชันของ KPK คือ การสร้างวัฒนธรรมเรื่องความรับผิด (accountability) แม้ว่าจะยังไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ จากการดำเนินงานของ KPK นับจากตั้งขึ้นมาถึงปัจจุบัน ทำให้ในแต่ละปีอินโดนีเซียสามารถไต่อันดับดัชนีคอร์รัปชันขององค์กรความโปร่งใสนานาชาติได้สูงขึ้นมาตลอด จากระดับต่ำสุด มาอยู่ที่ระดับกึ่งกลางในปัจจุบัน

ในบทความชื่อ The challenge of eliminating corruption from Indonesia ในเว็บไซต์ Sydney.edu.au นายลาโอเด ไซอาริฟ (Laode Syarif) หนึ่งในคณะกรรมการของ KPK ที่มีทั้งหมด 5 คน กล่าวว่า งานของ KPK เป็นสิ่งที่อันตรายมาก ในเดือนเมษายน 2017 เจ้าหน้าที่สอบสวนของ KPK คนหนึ่งถูกคนร้ายสาดน้ำกรด ขณะที่เดินกลับจากการทำละหมาด ทำให้เสียตาไปข้างหนึ่ง แต่การสืบสวนของเจ้าหน้าที่คนนี้ก็นำไปสู่การจับกุมประธานสภาผู้แทนราษฎร

แม้จะมีศัตรูที่มีอิทธิพลทางการเมือง แต่ KPK ก็ได้รับการสนับสนุนจากคนอินโดนีเซีย จากการสำรวจความเห็นของคนอินโดนีเซีย KPK ได้คะแนนความนิยมสูงถึง 80% ในแต่ละปี คนอินโดนีเซียจะให้เบาะแสทางโทรศัพท์ในเรื่องคอร์รัปชันกว่า 7,000 กรณี ในการประท้วงต่างๆ ของคนอินโดนีเซียมักจะมีป้ายข้อความที่เขียนประท้วงเรื่องคอร์รัปชัน (korupsi) การฮั้วกัน (kolusi) และการเล่นพรรคเล่นพวก (nepotisme)

ลาโอเด ไซอาริฟ เชื่อว่า การขจัดคอร์รัปชันคือ กุญแจของอนาคตอินโดนีเซีย ประเทศที่มีทรัพยากรที่สมบูรณ์ ทั้งทอง ทองแดง นิกเกิล และน้ำมัน แต่เป็นเวลาหลายสิบปี ที่ความมั่งคั่งนี้ถูกถลุงให้หมดไปจากการบริหารที่ฉ้อฉลและคอร์รัปชัน ทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องมีชีวิตที่ยากจน เขากล่าวว่า “คนอินโดนีเซียนั้น เอือมระอาในเรื่องคอร์รัปชัน คนในรัฐบาลจำนวนมากมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับธุรกิจ และคนพวกนี้ยังต้องการให้วันเวลาในอดีตที่ดีๆ ยังคงอยู่ต่อไป” เนื่องจากเคยศึกษาระดับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยซิดนีย์ เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลออสเตรเลียเลือก ลาโอเด ไซอาริฟ ให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของปี 2018

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ประสบปัญหาคอร์รัปชันมาตั้งแต่อดีต รวมทั้งตลอดช่วงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ส่วนผลกระทบของคอร์รัปชันต่ออินโดนีเซียนั้น ธนาคารโลกเคยเขียนไว้ว่า “คอร์รัปชันทำให้ความสามารถของรัฐอ่อนแอลงในการให้บริการพื้นฐานและบริการที่สำคัญ ตลอดจนทำลายกฎระเบียบที่จะเป็นตัวทำให้สังคมได้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิผล ดังนั้น คอร์รัปชันจึงเหมือนกับภาษีที่เก็บกับคนยากจนและกับคนส่วนใหญ่ แต่เหนืออื่นใด สิ่งนี้เป็นการทำลายความชอบธรรมและความน่าเชื่อถือของรัฐ ในสายตาของประชาชน”

เอกสารประกอบ
How the (Once) Most Corrupt Country in the World Got Clean(er). Jonah Blank, 02 May 2019, theatlantic.com.
Corruption Eradication Commission (KPK), Wikipedia.org
Global Corruption from a Geographic Perspective, Barney Warf, Springer, 2019.
The challenge of eliminating corruption from Indonesia, 31 August 2018 sydney.edu.au