ThaiPublica > เกาะกระแส > ในระยะเวลา 48 ปี ทำไมมีเพียง 13 ประเทศที่หลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง”

ในระยะเวลา 48 ปี ทำไมมีเพียง 13 ประเทศที่หลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง”

22 สิงหาคม 2018


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : theconversation.com

ในหนังสือที่โด่งดังชื่อ Why Nations Fail เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์ของสำนักคิดด้านเศรษฐกิจสถาบัน ผู้เขียน Daron Acemoglu และ James A. Robinson ได้กล่าวเปรียบเทียบภาวะเศรษฐกิจที่ย้อนแย้งกันของเมือง Nogales เมืองที่มีกำแพงแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ครึ่งหนึ่งของเมืองนี้ขึ้นกับเขต Santa Cruz รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ส่วนอีกครึ่งหนึ่งขึ้นกับเขต Sonora เม็กซิโก

ประชากรที่อาศัยในฝั่งสหรัฐฯ มีรายได้เฉลี่ยคนละ 30,000 ดอลลาร์ต่อปี เด็กในช่วงวัยรุ่นเข้าโรงเรียนมัธยม ประชากรมีสุขภาพดี เมื่ออายุถึง 65 ปี ได้รับบริการด้านสาธารณสุขตามโครงการ Medicare รัฐบาลให้บริการพื้นฐานที่สำคัญ คือ ไฟฟ้า โทรศัพท์ ระบบบำบัดน้ำเสีย ตลอดจนเครือข่ายถนน ที่เชื่อมโยงส่วนอื่นๆ ของอเมริกา และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เป็นเมืองที่มีหลักนิติธรรมกับความสงบเรียบร้อย

ส่วนฝั่งที่ขึ้นกับเม็กซิโก ประชาชนมีรายได้ 1 ใน 3 ของฝั่งสหรัฐฯ คนมีอายุส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนจบระดับมัธยม เด็กวัยรุ่นจำนวนมากไม่ได้เข้าโรงเรียน บริการสาธารณสุขไม่มีคุณภาพ ทำให้ประชาชน มีอายุเฉลี่ยน้อยกว่าฝั่งสหรัฐฯ ถนนหนทางอยู่ในสภาพที่แย่ หลักนิติธรรมกับความเป็นระเบียบอยู่ในสภาพที่เลวร้าย อัตราการเกิดอาชญากรรมสูง การริเริ่มทำธุรกิจใหม่ เสี่ยงจะถูกปล้น การขอใบอนุญาตประกอบการ ก็ยากลำบาก และของคนเมือง Nogales ในเม็กซิโก มีชีวิตอยู่กับการเมืองที่คอร์รัปชัน

เมืองเดียวกัน แต่มีสถาบัน 2 แบบ

ทำไมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ 2 ส่วนของเมืองเดียวกัน แต่คนละประเทศ จึงแตกต่างกันมาก ทั้งๆที่มีสภาพเหมือนๆ กันในด้านภูมิศาสตร์ สภาพอากาศ หรือภาวะโรคภัยไข้เจ็บ แต่คำอธิบายที่ชัดเจนคงจะอยู่ที่ว่า ประชาชนในเมือง Nogales รัฐแอริโซนา เข้าถึงสถาบันเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ทำให้ประชาชน สามารถเลือกอาชีพได้อิสระ เยาชนสามารถเข้าศึกษาในโรงเรียน เพื่อฝึกทักษะต่างๆ นายจ้างสามารถลงทุนในเทคโนโลยีดีที่สุด ทำให้คนงานมีรายได้สูงขึ้น

พวกเขายังเข้าถึงสถาบันการเมือง ที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประชาธิปไตย ในการเลือกผู้แทนการเมือง เพราะในที่สุดแล้ว ผู้แทนการเมืองคือ คนที่จะให้บริการพื้นฐานแก่ประชาชน เช่น บริการสาธารณสุข ถนนหนทาง ตลอดจนการยึดหลักนิติธรรม และความสงบเรียบร้อย

เพราะเหตุนี้ ประชาชนในเมือง Nogales ที่แบ่งแยกเป็น 2 ส่วน จึงมีชีวิตอยู่ในสังคมที่แตกต่างกัน แต่ละส่วนต่างก็มีสถาบันที่แตกต่างกัน สถาบันสังคมที่แตกต่างกัน สร้างคุณภาพของแรงจูงใจที่แตกต่างกัน ต่อประชาชน นักลงทุน และผู้ประกอบการ แรงจูงใจที่ถูกกำหนดจากสถาบันที่แตกต่างกันคือเหตุผลหลักที่อธิบายว่า ทำไมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจจึงแตกต่างกันระหว่างพื้นที่ 2 ส่วนของเมือง Nogales และระหว่างสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโก ที่แต่ละส่วนของเมืองตั้งอยู่

คนชั้นกลางมีครึ่งหนึ่งในโลก

Linda Yueh กับหนังสือ The Great Economists ที่มาภาพ : bondvigilantes.com

ในบทความชื่อ On the prosperity of countries ผู้เขียนคือ Linda Yuen จาก London School of Economics (LSE) กล่าวว่า หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2008 เศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่และกำลังพัฒนามีสัดส่วนมูลค่ารวมกันมากกว่าเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว ปี 2012 ประเทศร่ำรวยมีสัดส่วนอยู่ราวๆ 45% ส่วนประเทศกำลังพัฒนา 55% สิ่งนี้เป็นเครื่องบ่งชี้หรือไม่ว่า ประเทศกำลังพัฒนา กำลังก้าวเดินไปสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

แต่จากข้อเท็จจริงที่ผ่านมา มีเพียง 1 ใน 4 ของประเทศในโลกที่มีฐานะมั่งคั่งร่ำรวย แสดงว่ายังเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ที่ประเทศต่างๆ จะก้าวไปสู่ความมั่งคั่ง ข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่า ในปี 1960 ประเทศที่มีฐานะรายได้ปานกลางมีจำนวน 101 ประเทศ ในปี 2008 มีเพียง 13 ประเทศเท่านั้น ที่พัฒนาจนกลายเป็นประเทศร่ำรวย ได้แก่ อิเควทอเรียลกินี (Equatorial Guinea) กรีซ ฮ่องกง ไอร์แลนด์ อิสราเอล ญี่ปุ่น มอริเชียส โปรตุเกส เปอร์โตริโก เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สเปน และไต้หวัน

การที่ประเทศกำลังพัฒนามีมูลค่าเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้ประชาชนหลายร้อยล้านคนกลายเป็นคนชั้นกลาง จากการวิจัยขององค์กร OECD ระบุว่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในปี 2030 ประชากรโลก 50% จะเป็นคนชั้นกลาง คือ 4.9 พันล้านคน จากทั้งหมด 8.6 พันล้านคน สหประชาติเองก็คาดหมายว่า จากแนวโน้มที่เป็นอยู่ ในปี 2030 คนชั้นกลาง 2 ใน 3 ของโลก หรือ 3 พันล้านคน จะอยู่ในเอเชีย ส่วนคนชั้นกลางในยุโรปและสหรัฐฯ จะลดสัดส่วนลงเหลือ 1 ใน 3 ของโลก

หลุดจาก “กับดักรายได้ปานกลาง”

Linda Yueh กล่าวว่า ความสำเร็จทางเศรษฐกิจดังกล่าวมาจากปัจจัยสำคัญ ที่นักเศรษฐศาสตร์หันมาให้ความสำคัญกับการที่สังคมจะมีสถาบันทางเศรษฐกิจที่ดี Douglass North คือนักเศรษฐศาสตร์ ที่ให้ความสำคัญกับบทบาทของสถาบัน ในการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ Douglass North ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 1993

ที่ผ่านมาแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบนีโอคลาสสิก มองเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับปัจจัยที่วัดผลได้ เช่น แรงงาน การลงทุน หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทุกวันนี้ การวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมาก ยังอยู่ใน “กรอบคิดที่สะดวกแบบนี้” (comfort zone) แต่แนวคิดแบบนีโอคลาสสิกโมเดล ไม่สามารถอธิบายว่า ทำไมเศรษฐกิจบางประเทศจึงเจริญเติบโตได้ดี และทำไมการพัฒนาเศรษฐกิจของบางประเทศจึงล้มเหลว

Linda Yueh กล่าวว่า Douglass North คือนักเศรษฐศาสตร์ที่เอาตัวเองออกจากกรอบคิดที่เคยชินแบบเดิมๆ โดยหันมาทำความเข้าใจในเรื่องการเมือง จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ รวมทั้งกลยุทธ์ เพื่อจะหาทางอธิบายว่า ทำไมบางประเทศประสบความสำเร็จในการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และทำไมบางประเทศจึงล้มเหลว และก็เน้นหนักว่า ไม่มีเหตุผลที่จะมาลบล้างว่า ทำไมประเทศต่างๆ จะเรียนรู้ไม่ได้ในเรื่องความสำเร็จของประเทศอื่น

การเรียนรู้ดังกล่าวเกิดขึ้นในทศวรรษ 1990 ทั้งจีน อินเดีย และอดีตประเทศยุโรปตะวันออก ได้เปลี่ยนแนวทางเศรษฐกิจ คือ กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก โดยการละทิ้งระบบเศรษฐกิจแบบการวางแผนจากส่วนกลาง และนโยบายทดแทนการนำเข้า แล้วหันมาใช้นโยบายของประเทศที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจมากกว่า

อย่างเช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงของจีน สามารถลดความยากจนลงไปได้มาก นโยบายเปิดประเทศทำให้การผลิตของจีนกลายเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก เป็นต้น อินเดียยกเลิกนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ และมุ่งสู่การส่งออก ส่วนประเทศในยุโรปตะวันออก ทิ้งระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ หันมายอมรับเศรษฐกิจทุนนิยม ยอมรับและสร้างสถาบันเศรษฐกิจแบบใหม่ขึ้นมา เพื่อผลักดันเศรษฐกิจสู่ระบบตลาด และหลายประเทศก็เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

ที่มาภาพ : thetelegraph.co.uk

ในหนังสือชื่อ The Great Economists (2018) Linda Yueh กล่าวว่า Douglass North เชื่อว่า บทบาทของสถาบันเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ผ่านมา การอธิบายของนักเศรษฐศาสตร์การพัฒนาไม่ได้ให้คำตอบที่น่าพอใจว่าทำไมในหลายสิบปีที่ผ่านมาประเทศกำลังพัฒนาจึงมีสภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน

Douglass North กล่าวว่า “สิ่งที่ขาดไปคือความเข้าใจในเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับการประสานงานและความร่วมมือของผู้คนในสังคม อดัม สมิท ไม่ได้สนใจแต่เพียงรูปแบบความร่วมมือของคนเราที่จะนำไปสู่การผูกขาดเท่านั้น แต่ยังสนใจรูปแบบความร่วมมือที่จะก่อให้เกิดดอกผลที่จะมาจากการค้าขายอีกด้วย”

สำหรับ Douglass North คำว่า “สถาบัน” หรือ institution หมายถึงกฎเกณฑ์ของสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้สังคมมีโครงสร้างการดำเนินชีวิตประจำวัน ช่วยลดภาวะความไม่แน่นอน สถาบันอาจเป็นแบบทางการ คือ กฎหมายต่างๆ หรือแบบไม่เป็นทางการ เช่น ธรรมเนียมปฏิบัติ ที่ควบคุมพฤติกรรมคนในสังคม “สถาบันต่างๆ จะส่งผลต่อการดำเนินงานของเศรษฐกิจ เพราะจะมีผลกระทบต่อต้นทุนของธุรกรรม เช่น การแลกเปลี่ยน และการผลิต” ในกรณีแบบสุดขั้ว หากสถาบันการเมืองไม่มั่นคง เศรษฐกิจก็แทบจะไม่เติบโต

การเชื่อมโยงระหว่างสถาบันของสังคมกับการพัฒนาเศรษฐกิจ นำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูป Douglass North เปรียบเทียบความสำเร็จของสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับประเทศในลาตินอเมริกาว่า ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีลักษณะระบบสหพันธรัฐ มีระบบตรวจสอบถ่วงดุล และมีโครงสร้างพื้นฐานเรื่องสิทธิในทรัพย์สิน ที่เป็นปัจจัยส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่วนลาตินอเมริกา เป็นระบบการรวมศูนย์อำนาจส่วนกลาง ที่เป็นมรดกจากสเปนกับโปรตุเกส ทำให้ต้องต่อสู้เพื่อหลุดจากฐานะประเทศรายได้ปานกลาง

สถาบันของสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนา ประกอบด้วย หลักนิติธรรม และการเปิดกว้างต่อเศรษฐกิจโลก สถาบันในลักษณะดังกล่าว สร้างแรงจูงใจแก่คนเรา ที่จะประกอบธุรกิจและการผลิต จึงนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ สถาบันที่สนับสนุนกลไกตลาดจึงมีความสำคัญ การขาดสถาบันทางเศรษฐกิจที่ดีดังกล่าว ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง

นอกจากนี้ ในหลายประเทศ สถาบันทางสังคมไปส่งเสริมการผูกขาด มากกว่าการสร้างการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ไปจำกัดโอกาส มากกว่าที่จะไปขยายมัน Douglass North จึงให้ความสำคัญกับการตัดสินใจของสังคมในอดีตผ่านมาว่า จะสร้างข้อจำกัดต่อการตัดสินใจในปัจจุบัน ที่เรียกว่า path dependence เพราะทำให้ปัญหาต่างๆ ยังวนอยู่ในวงจรแบบเก่า เช่น การแก้ปัญหาความยากจน เป็นต้น

แนวคิดของ Douglass North จึงทำให้โลกเรามองเห็นหนทางที่สดใสมากขึ้น ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจหลายอย่าง เช่น การขจัดความยากจน หรือปัญหาที่ว่า ทำไมหลายประเทศจึงประสบความสำเร็จในการพัฒนา และทำไมบางประเทศจึงล้มเหลว

เอกสารประกอบ
The Great Economist: How Their Ideas Can Help Us Today, Linda Yueh, Viking, 2018.
On the prosperity of countries, 05 August 2018, Linda Yueh, voxeu.org