ThaiPublica > คอลัมน์ > น้ำโขงที่รัก : จาก “แลนด์บริดจ์” เวอร์ชันฝรั่งเศสถึงชายโขงมุกดาหาร

น้ำโขงที่รัก : จาก “แลนด์บริดจ์” เวอร์ชันฝรั่งเศสถึงชายโขงมุกดาหาร

18 กุมภาพันธ์ 2024


ปิติคุณ นิลถนอม

“โขงสีปูนมูลสีคราม” เป็นถ้อยคำอธิบายช่วงที่แม่น้ำโขงสบกับแม่น้ำมูลบริเวณอำเภอโขงเจียม จ.อุบลราชธานี สร้างจินตภาพให้ผู้ได้ยินนึกลักษณะของน้ำโขงได้ประการหนึ่ง แต่ภาพแม่น้ำโขงในความทรงจำของผมนั้นคงหนีไม่พ้นลมเย็นสบายที่ปะทะหน้าตอนวิ่งออกกำลังกายเมื่อมีโอกาสได้กลับบ้านที่มุกดาหาร

อันที่จริงผมเกิดและเติบโตที่กรุงเทพฯ มาโดยตลอด แต่มีความคุ้นเคยกับแม่น้ำโขงเมื่อครั้งเดินทางไปทำงานแถบอีสานเหนือ ทั้งอุดรธานี หนองคาย และบึงกาฬเมื่อกว่า 10 ปีก่อน หลังแต่งงานกับภรรยาเมื่อปี 2560 ผมก็เดินทางเทียวจากกรุงเทพฯ ไปมุกดาหารเป็นประจำทุกเดือน ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำสายนี้อยู่เนืองๆ

ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสกลับไปที่บ้าน แต่ขณะวิ่ง ณ จุดที่ผมชอบหยุดมองแม่น้ำโขงแถววัดศรีบุญเรืองกลับเต็มไปด้วยหมอกควัน ทั้งที่ภาพจำของผมเบื้องหน้าจะต้องเป็นสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 รวมถึงฝั่งสะหวันนะเขต แต่ก็ไม่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 ที่ไม่สามารถมองเห็นได้เลย! รวมถึงเกาะทรายขนาดใหญ่ที่ปกติก็ผุดขึ้นมารับแสงอาทิตย์สะท้อนให้เห็นอย่างสะดุดตาในช่วงเวลาเดียวกันนี้ของทุกปี แต่ปีนี้กลับมีขนาดใหญ่และยาวกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด

…ผมรู้ได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้ความรู้วิทยาศาสตร์แต่อย่างใดว่ามันต่างจากแม่น้ำโขงที่ผมเคยรู้จัก…

แม่น้ำโขงบริเวณวัดศรีบุญเรือง อ.เมืองมุกดาหาร เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2567 ที่มาภาพ ผู้เขียน

อาจกล่าวได้ว่าแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติเส้นสำคัญสายหนึ่งของโลก ที่ยาวกว่า 4,900 ก.ม. มีความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมของแต่ละชาติพันธุ์สูง เอาแค่ง่ายๆ ชื่อเรียกมหานทีสายนี้ที่ไหลผ่านบริเวณต่างๆ ก็แตกต่างกันออกไปตั้งแต่ “ต้าจู” ซึ่งเป็นชื่อเรียกในเขตปกครองตนเองทิเบต “หลานชางเจียง” ในจีนแผ่นดินใหญ่ “แม่ของ” ใน สปป.ลาว “แม่น้ำโขง” ที่คนไทยเรียกติดปาก “ตนเลธม” หรือแม่น้ำใหญ่ที่ชาวกัมพูชาคุ้นเคย และ “กิ๋วล่อง” ที่แปลว่า 9 มังกรในความหมายของชาวเวียดนามซึ่งสะท้อนลักษณะทางกายภาพของน้ำโขงที่แตกเป็นสายย่อยๆ ก่อนลงทะเลไป

มินับรวมถึงความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติตั้งแต่บริเวณที่แคบที่สุดที่ปากบ้อง อ.โพธิ์ไทร แห่งเมืองอุบลฯ ที่มีระยะห่างจากฝั่งลาวเพียง 50 กว่าเมตรจนตะโกนสื่อสารกันรู้เรื่อง หรือแม้แต่บริเวณที่กว้างที่สุดคือสี่พันดอน ในแขวงจำปาสัก สปป.ลาว ที่มีเกาะแก่งมากมายทอดขยายตัวกว้างกว่า 15 กิโลเมตร

เมื่อพูดถึงสี่พันดอนแล้ว ครั้งหนึ่งบริเวณนี้เคยเป็นอุปสรรคที่จะนำพาฝรั่งเศสไปตีท้ายครัวจีนตอนใต้ ซึ่งเป็นที่หมายปองของนักล่าอาณานิคมเบอร์ใหญ่ของโลกทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส โดยอังกฤษพยายามเข้าทางพม่า ส่วนฝรั่งเศสนั้นได้ใช้พื้นที่อินโดจีนที่ครอบครองอยู่ในการรุกคืบขึ้นไปโดยอาศัยการล่องเรือขึ้นไปทางแม่น้ำโขง แต่ก็ประสบปัญหาจากสภาพแม่น้ำในช่วงสี่พันดอนที่เต็มไปด้วยเกาะแก่งและน้ำตกน้อยใหญ่ ทำให้เรือไม่สามารถไปได้

สภาพน้ำตกและเกาะแก่งน้อยใหญ่บริเวณสี่พันดอน ที่มาภาพ : https://southeastasiabackpacker.com/destinations/laos-2/four-thousand-islands/

แต่ด้วยความพยายามของฝรั่งเศสโดยคณะกรรมาธิการสำรวจแม่น้ำโขง (Mekong Exploration Commission) ก็ได้สร้าง “แลนด์บริดจ์” ในเวอร์ชันของตัวเองเป็นเส้นทางรถไฟขนถ่ายสินค้าข้ามฝั่งน้ำ (Portage Railway) เมื่อปี พ.ศ. 2436 เพื่อเชื่อมเกาะดอนเดด กับเกาะดอนคอนเข้าด้วยกัน โดยผู้ใช้เส้นทางดังกล่าวจะต้องยกเรือขึ้นรถไฟแล้วขนส่งทางรางรถไฟไปจนถึงอีกฝั่งของเกาะแล้วจึงเอาเรือลงน้ำอีกรอบเพื่อล่องต่อไป จนทำให้สามารถขนสินค้าระหว่างกันภายในอินโดจีนได้

การยกเรือขึ้นรถไฟแล้วขนส่งทางรางผ่าน “แลนด์บริดจ์” เมื่อครั้งฝรั่งเศสครอบครองอินโดจีน ที่มาภาพ : https://travel.kapook.com/view85618.html

ครั้นเมื่อมองดูลักษณะของแม่น้ำโขงในช่วงเวลานั้น รวมถึงในอดีตเมื่อสืบย้อนไปไกลกว่านั้นสักหน่อยก็จะพบว่า มีบันทึกของนักเดินทางที่สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของน้ำโขง ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายของชาติพันธุ์ที่ต่างพึ่งพาแหล่งน้ำแห่งนี้ เมื่อเปรียบเทียบภาพที่เห็นแม่น้ำโขงทุกวันนี้กับเรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้ ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดความกังวลขึ้นมากมาย

ในเรื่องนี้มีหลายองค์กรพยายามที่จะจับตาและเฝ้าระวังปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงองค์กรตรวจเงินแผ่นดินด้วย กล่าวคือ เมื่อปี พ.ศ. 2564 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไทย (สตง.) นำโดย ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์ ได้ร่วมกับประเทศในกลุ่มลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นสมาชิกของ สตง. เอเชีย หรือ ASOSAI ทำการศึกษาเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขงโดยเน้นแง่มุมการมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG) ทั้งนี้ จะเป็นการดำเนินการคู่ขนานกันในแต่ละประเทศเฉพาะในเขตอำนาจและกรอบของกฎหมายประเทศตน โดยในส่วนของประเทศไทยจะมีขอบเขตของการประเมินอยู่ 4 เรื่อง คือ ปริมาณน้ำ การเซาะกร่อนของตะกอน ระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในน้ำ และความเป็นอยู่ของประชาชนบริเวณลุ่มน้ำโขง เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการแก้ไขปรับปรุงวิธีการจัดการกับปัญหาต่อไป

ในการทำงานมีการใช้ต้นแบบที่เรียกว่า IDI SDG Audit Model หรือ ISAM มาเป็นแนวทางโดยเฉพาะการมองการบริหารภาครัฐแบบองค์รวม (whole-of-government approach) ความสอดคล้องของนโยบาย (policy coherence) การร่วมมือกันของทุกภาคส่วน (multi stakeholder engagement) และการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (leave no one behind)

งานชิ้นนี้มีประเด็นน่าสนใจคือ เรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกั้นน้ำโขงทางตอนบนก่อให้เกิดภาวะตะกอนตกอยู่ใต้เขื่อน เมื่อมีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนเพื่อประโยชน์ในการเดินเรือหรือในเรื่องอื่นก็ย่อมส่งผลให้เกิดการปล่อยน้ำไร้ตะกอนที่เรียกว่า “น้ำหิว” หรือ “hungry water” ลงมาสู่ตัวแม่น้ำ

ที่มาภาพ : https://www.thehindu.com/news/national/kerala/hungry-water-effect-blamed-for-flood-damage/article24820402.ece

…เพราะเป็นน้ำใสซึ่งดูผิวเผินจะมีสีครามสดใสสวยงาม แต่จริงๆ แล้วแฝงไปด้วยความร้ายกาจ เพราะเป็นน้ำที่มีความหิวตะกอนเป็นพิเศษ ซึ่งจะกลืนกินตะกอนชายตลิ่งและท้องน้ำที่ขวางหน้าแบบดุดันไม่เกรงใจใคร จนทำให้เกิดผลกระทบต่อวิถีผู้คนริมโขง ทั้งสิ่งปลูกสร้างพังทลายเพราะตลิ่งทรุด ทำการเกษตรไม่ได้ผลดีเหมือนเก่าเพราะตะกอนที่มีสารอาหารถูกชะล้างออกไป และยังส่งผลทำให้ท้องน้ำหรือร่องน้ำในแม่น้ำเปลี่ยนสภาพ ทำให้ปลาบางชนิดไม่สามารถวางไข่ได้…

ท้ายที่สุดได้มีการเสนอแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไขปัญหาทั้งการสร้างความตระหนักรู้และหาวิธีการในการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่ผลงานชิ้นนี้ในฐานข้อมูลของ สตง. โลก หรือ INTOSAI เพื่อเป็นแนวทางให้กับชาติอื่นสามารถนำบทเรียนนี้ไปใช้ในการทำงานเพื่อรักษาลุ่มน้ำในภูมิภาคของตนไว้

งานดังกล่าวเป็นความพยายามหนึ่งขององค์กรภาครัฐที่แสวงหาความร่วมมือในทางระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพของน้ำโขงที่เป็นแม่น้ำนานาชาติ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงมีลักษณะข้ามพรมแดน (transboundery problem) ที่ไม่มีชาติใดชาติหนึ่งจะแก้ได้โดยลำพัง การดำเนินการจึงต้องร่วมมือกัน

ผู้คนสองฝั่งโขงกว่า 60 ล้านคนที่พึ่งพาสายธารานี้มาตั้งแต่ยุคบรรพชนคงจะมีความสุขไม่น้อย หากแม่น้ำโขงที่เขาเคยรู้จักจะอยู่กับเขาไปจนชั่วลูกชั่วหลาน และคงเหมือนกับความฝันของผมที่อยากยืนริมโขงมุกดาหารซึมซับบรรยากาศและเสน่ห์ของแม่น้ำโขงไปตราบนานเท่านาน

อาจกล่าวไม่ผิดนักว่า ใจมนุษย์ที่คดเคี้ยวไม่แพ้ลำน้ำน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหา เมื่อมันเริ่มจากน้ำมือคนแล้ว คงมีแต่เราๆ ท่านๆ เท่านั้นที่จะทำให้รักษามหานาทีที่ชื่อว่าแม่น้ำโขงเอาไว้ได้

เอกสารประกอบการเขียน
https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=6479&lang=EN
https://www.historicvietnam.com/the-mysterious-khon-island-portage-railway/
https://intosai-cooperativeaudits.org/catalog/report/summary-report-of-the-results-of-the-cooperative-audit-of-the-management-of-water-sources-in-mekong-river-basin-in-line-with-the-implementation-of-the-sdgs
https://www.asosaithailand.com/activities