ThaiPublica > คอลัมน์ > ปรากฏการณ์ “ชัชชาติเอฟเฟกต์”: ฉาบฉวยหรือยั่งยืน เราได้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง?

ปรากฏการณ์ “ชัชชาติเอฟเฟกต์”: ฉาบฉวยหรือยั่งยืน เราได้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง?

22 กรกฎาคม 2022


ปิติคุณ นิลถนอม

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/chadchartofficial

หลังจากชาวกรุงเทพฯ ได้ผู้ว่าราชการคนใหม่ที่ชื่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สังคมมีความตื่นตัวกันอย่างยิ่ง ซึ่งนอกเหนือจากความตื่นเต้นที่ได้ผู้ว่า กทม. คนใหม่หลังจากที่ไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ มาหลายปี ต้องยอมรับว่าความตื่นตัวดังกล่าวมีปัจจัยประการหนึ่งมาจากสีสันทางการเมืองที่อาจารย์ทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำ การวิ่งตรวจพื้นที่ในทุกเช้า หรือการลงเยี่ยมแต่ละเขตทุกๆ สัปดาห์ในวันหยุด ที่ทำให้ประชาชนได้รู้ได้เห็น ผ่านการสื่อสารโดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ ที่ใช้เพียงโทรศัพท์มือถือของทีมงาน ซึ่งขยายออกไปในวงกว้างผ่านการส่งต่อ message ดังกล่าวโดยสื่อมวลชนกระแสหลักและดิจิทัลมีเดียอีกทีหนึ่ง ยิ่งเป็นแรงขับเคลื่อนให้กระแสชัชชาติฟีเวอร์เพิ่มมากขึ้น พร้อมกับความหวังของประชาชนที่อยากเห็นปัญหาต่างๆ ถูกคลี่คลายลงก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ต้องยอมรับว่าอาจารย์ชัชชาติมีความเป็น “เซเลบ” อยู่แล้วตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจนได้ฉายาว่ารัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นนักการเมืองลำดับต้นๆ ที่คนนำรูปมาทำเป็น “มีม” มากที่สุด โดยเฉพาะภาพคุ้นตาที่เป็นภาพสวมชุดวิ่งสีดำ ไม่ใส่รองเท้า และมือถือถุงที่เตรียมไปใส่บาตร

รูปภาพยอดฮิตของอาจารย์ชัชชาติที่มีผู้นำไปทำมีมจำนวนมาก
ที่มาภาพ : https://www.matichon.co.th/social/news_3371411/attachment/yxjjagl2zs80njq2mza

อย่างไรก็ตาม มีบางคนมองว่าการใช้สังคมออนไลน์ในการถ่ายทอดสดการทำงานแทบจะตลอดเวลาของอาจารย์ชัชชาติอาจเป็นการประชาสัมพันธ์ที่เป็นความบันเทิงทางการเมือง หรือ politainment ซึ่งอาจส่งผลกระทบทำให้คนมองภาพแบบฉาบฉวย และยึดถือแต่ภาพลักษณ์ของตัวบุคคล ไม่ได้มองถึงสารัตถะของเนื้องานหรือปัญหาที่เกิดขึ้นจริง หรือไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ทางการเมืองหรือหน้าที่พลเมืองที่แท้จริง

แต่ก็นั่นแหละครับ สมัยผู้เขียนเรียนกฎหมายมีคำกล่าวที่ว่า “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา” ประชาชนก็คงต้องติดตามกันต่อไป เพราะยังไงก็ตามคนที่สร้างภาพก็ไม่สามารถทำได้ตลอด แต่คนที่ทำจริงจะเกิดอะไรขึ้นเขาก็จะทำอยู่อย่างนั้น นี่ก็คงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องจับตาดู ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีเพราะผู้ว่า กทม. เป็นผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองที่ต้องถูกตรวจสอบ

  • กลยุทธ์ปรากฏการณ์ “ชัชชาติ” ไลฟ์ เส้นบางๆ… “โซเซียล” แคมเปญที่ไม่ใช่ “พีอาร์”
  • อาจกล่าวได้ว่า ถึงวันนี้การสื่อสารกับประชาชนของอาจารย์ชัชชาติถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมความโปร่งใส ความพร้อมรับผิด และการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของกรุงเทพฯ ซึ่งจะเกิดผลดีต่อสังคมในหลายประการ เช่น

    ประการแรก ความโปร่งใส (transparency) สิ่งนี้ทำให้ทุกภาคส่วน ทั้งที่ชอบหรือไม่ชอบอาจารย์ชัชชาติได้เห็นภาพการทำงาน ว่าแต่ละวันได้ทำอะไรบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจจะไม่ค่อยได้เห็นว่าผู้ว่าฯ กทม. ทำอะไรบ้างในแต่ละวัน ทำงานคุ้มเงินเดือนหรือไม่ สิ่งนี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้ลดโอกาสการทำงานที่ไม่โปร่งใส อาจกล่าวได้ว่าหน่วยงานใดไม่ได้เปิดเผยข้อมูลหรือแสดงให้เห็นว่ามีกระบวนการทำงานมีวิธีการทำงานอย่างไรย่อมเกิดความเสี่ยงที่จะมีการกระทำที่ไม่สุจริตเกิดขึ้น เปรียบได้กับการอยู่ในมุมมืดที่ไม่มีกล้อง CCTV ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้บุคคลที่คิดทุจริตตัดสินใจกระทำผิด ต่างจากองค์กรที่เปิดเผยข้อมูลหรือโชว์ให้เห็นวิธีการทำงาน ที่เปิดยิ่งมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นผลดีต่อประชาชนเท่านั้น นอกจากนี้เมื่อประชาชนเห็นการทำงานแล้วพบว่าแนวไม่ตอบโจทย์ หรือแก้ไม่ถูกที่ ประชาชนก็จะสามารถร้องเรียน ท้วงติง หรือให้คำติชมต่อผู้ว่าฯ หรือเจ้าหน้าที่ กทม. เพื่อให้แก้ไขให้ตรงจุดได้

    ประการที่ 2 คือเรื่องของความพร้อมรับผิด (accountability) เจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมืองหรือฝ่ายประจำย่อมมีหน้าที่และอำนาจในการทำงาน การจัดทำบริการสาธารณะให้กับประชาชน ซึ่งมีผลต่อการใช้จ่ายงบประมาณทั้งสิ้น ทั้งการจัดทำโครงการใดๆ หรือแม้แต่เงินดาวน์เงินเดือน เบี้ยเลี้ยง เบี้ยประชุมต่างๆ ก็ล้วนแต่มาจากภาษีของพี่น้องประชาชนทั้งสิ้น ดังนั้นประชาชนย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะรู้ว่าเงินดังกล่าวถูกใช้จ่ายไปอย่างไรบ้าง ถูกต้องแล้วเหมาะสมหรือไม่ ดังนั้น การฉายภาพให้ประชาชนเห็นว่าอาจารย์และทีมงานมีการบริหารงานอย่างไร ทำงานอย่างไร หรือเมื่อเจอปัญหาแล้วแก้ไขปัญหาอย่างไร ก็ย่อมทำให้ประชาชนเห็นว่าภาษีที่จ่ายไปคุ้มค่าหรือไม่ เลือกตั้งครั้งหน้าจะยังเลือกเข้ามาอีกหรือไม่ เป็นต้น

    ประการที่ 3 เกิดผลกระทบเชิงบวก (greater positive impact) ในหลายมิติ อาจกล่าวได้ว่า การสื่อสารต่อทุกภาคส่วนจะทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกที่กว้างขวางมาก ทั้งที่เป็นการทำงานของบุคลากร กทม. ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียภายใน (internal stakeholder) เอง รวมถึงประโยชน์ที่เกิดกับประชาชน

    กล่าวคือ ในมุมของผลกระทบต่อบุคลากร กทม. นั้น การถ่ายทอดสดการทำงานผ่านสื่อโซเชียลเป็นการสื่อสารให้เห็นการทำงานของอาจารย์ชัชชาติ ซึ่งถือเป็นการทำให้ดูเป็นตัวอย่างอย่างตรงไปตรงมาว่าจะขับเคลื่อนกรุงเทพมหานครอย่างไร (tone at the top) ทำให้เหล่าบุคลากรทั้งผู้บริหาร ผอ. เขต เจ้าหน้าที่ มีความตื่นตัวในการทำงานตามกฎหมายและนโยบายของผู้ว่า แล้วยังทำให้เกิดไฟและแรงบันดาลใจในการทำงานด้วย อันเป็นการสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ที่เป็นการทำเชิงรุกเพื่อประชาชน รวมถึงเป็นการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ที่อาจจะยังเฉยชา ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วหันมาทำประโยชน์ให้กับประชาชน

    นอกจากนี้ การทำงานแบบถึงลูกถึงคนโดยการวิ่งหรือเดินเข้าไปในสถานที่ต่างๆ แล้วพบกับเจ้าหน้าที่ของ กทม. เช่น เข้าไปทักทายถามไถ่ทุกข์สุขรวมถึงการทำงานของพนักงานรักษาความสะอาด การขึ้นรถร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เดินทางไปเก็บขยะเพื่อให้เห็นภาพว่าการทำงานเป็นอย่างไร หรือภาพชินตาที่เห็นในสื่อว่าอาจารย์จะขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ช่วยทำงาน หรือในบางครั้งมีการนั่งทานข้าวและรับฟังปัญหาของเจ้าหน้าที่ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นภาวะผู้นำแบบครอบคลุมหรือ inclusive leadership ที่ผู้นำฟังเสียงสะท้อนจากเจ้าหน้าที่โดยตรงไม่ว่าจะทำหน้าที่ใด ตำแหน่งเล็ก หรือใหญ่ ถือเป็นการสร้างกำลังใจ รวมถึงความรู้สึกเป็นเจ้าของ (sense of ownership) ในงานที่ กทม. สร้างประโยชน์ให้กับประชาชน

    การทำให้ทุกคนรู้สึกมีคุณค่า สบายใจที่เป็นตัวของตัวเอง ร่วมมือกัน ให้กำลังใจกัน ส่งเสริมให้สบายใจที่จะพูด เห็นอกเห็นใจ คือคุณลักษณะที่ดีของความเป็นผู้นำแบบครอบคลุมหรือ inclusive leadership ที่มาภาพ : https://re-link.org/6-must-have-qualities-for-inclusive-leadership/

    นอกเหนือจากบุคคลากร กทม. การสื่อสารดังกล่าวยังทำให้ประชาชนตื่นตัวและเข้ามามีส่วนในการรับรู้การทำงานการของ กทม. ร่วมตรวจสอบ และการแสดงความเห็น ให้คำแนะนำ หรือข้อร้องเรียนต่างๆ อันจะเป็นข้อมูลสำคัญที่สามารถนำไปพิจารณาปรับปรุงกระบวนงาน การริเริ่มโครงการ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างตอบโจทย์มากขึ้น เกาถูกที่คันมากขึ้น เมื่อการทำงานตอบโจทย์ประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินภาษีมากขึ้น ก็ย่อมทำให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณะที่ดีขึ้นสมกับภาษีที่เสียไป

    ยิ่งปัจจุบันมีช่องทางในการแสดงความเห็นและร้องเรียนที่หลากหลายทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ เช่น การแจ้งผู้ว่าฯ โดยตรง การร้องเรียนไปยังสำนักงานเขต หรือแม้แต่การใช้ช่องทางเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง ท่านพี่ฟ้องดู หรือ Traffy Fondue (ทราฟฟี่ฟองดูว์) ที่มีระบบติดตามข้อร้องเรียนว่าได้รับการแก้ไขหรือยัง มีตัวชี้วัดชัดเจน ซึ่งการสะท้อนปัญหาไปแล้วและมีการตอบสนองอย่างไม่ชักช้า รวมถึงการที่ประชาชนสามารถติดตามการแก้ไขปัญหาลักษณะนี้ ส่งผลโดยตรงในการสร้างวัฒนธรรมการเมืองอย่างใหม่ให้กับสังคมและก่อให้เกิดความเชื่อมั่น (public trust)

    นอกจากนี้ การลงพื้นที่ที่เข้าถึงยากอย่างต่อเนื่อง เช่น ชุมชนแออัด เพื่อเข้าถึงประชาชนในทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งมักเป็นผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการสาธารณะ และไม่สามารถสะท้อนเสียงที่อยากจะสื่อออกไปได้ด้วยปัจจัยหลายอย่างเช่น ความพิการ ความชราภาพ ที่ไม่สามารถออกไปไหนได้ รวมถึงการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะสะท้อนเสียงออกไปได้ การเข้าถึงประชาชนกลุ่มนี้และการรับฟังเชิงรุก (active listening) ว่าเขาต้องการสิ่งใด รวมถึงคำตำหนิ เพื่อนำเสียงตอบรับมาใช้ในการทำงาน ก็สอดคล้องกับหลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หรือ leave no one behind โดยเฉพาะการเข้าถึงคนที่ถูกทอดทิ้งที่สุดหรือ reach the furthest behind first เพื่อสร้างสังคมสำหรับทุกคน (inclusive society)

    อาจสรุปได้ว่า สิ่งต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาถือเป็นการสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และความพร้อมรับผิด รวมถึงการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้เกิดกับการทำงานของ กทม. เอง และการให้บริการประชาชน ผ่านการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

    การชื่นชอบนักการเมือง หรือนโยบาย หรือการทำงาน อาจเป็นรสนิยมทางการเมืองของแต่ละคนอย่างไรก็ตามการที่นิยมชมชอบแบบสุดโต่งโดยไม่สนเรื่องอื่นถึงขนาดเป็นลัทธิบูชาตัวบุคคล (cult of personality) ก็จะไม่เป็นผลดี ประชาชนอย่างเราๆ คงต้องติดตามตรวจสอบไม่ว่าจะเป็นคนที่เราชอบหรือไม่ชอบ

    อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ของอาจารย์ชัชชาตินี้ หากเราหลับตาลง แล้วจินตนาการว่าสิ่งที่อาจารย์ชัชชาติทำมาทั้งหมดเป็นการกระทำของ นาย ก นาย ข หรือใครก็ตามที่เราไม่รู้จัก เพื่อตัดอคติที่เกิดจาก รัก เกลียด หลง กลัว ออกไป หลายคนก็คงจะเห็นสอดคล้องกันว่า เราก็คงอยากได้คนที่มีลักษณะของนักการเมืองที่พึงประสงค์ทำนองนี้

    แม้ว่า กทม. คือเวทีการเมืองท้องถิ่น แต่เรื่องนี้ย่อมสั่นสะเทือนเวทีการเมืองระดับชาติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อดคิดไม่ได้ว่าภูมิทัศน์ในการทำงานเพื่อประชาชนของฝ่ายการเมืองและภาครัฐ คงได้รับผลจากแรงกระเพื่อมในเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย สังเกตได้จากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ รวมถึงฝ่ายการเมืองเริ่มขยับและทำงานในเชิงรุกมากขึ้น การรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งหน้าเพื่อมัดใจประชาชนคงจะมีอะไรเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย