ThaiPublica > คอลัมน์ > ความพร้อมรับผิดในการจัดการระบบสาธารณสุขของภาครัฐ : โลกทิพย์หรือความเป็นจริง

ความพร้อมรับผิดในการจัดการระบบสาธารณสุขของภาครัฐ : โลกทิพย์หรือความเป็นจริง

10 พฤษภาคม 2021


ว่าที่ร้อยเอก ปิติคุณ นิลถนอม

วัคซีนล็อตแรกมาถึงไทย

การแพร่ระบาดของ covid 19 ระลอกที่ 3 นี้หนักหน่วงยิ่งกว่าทุกๆครั้ง ดังจะเห็นได้จากผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมถึงมีบางกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่าผู้ป่วยติดต่อโรงพยาบาลไม่ได้ หรือในบางกรณีแม้จะติดต่อได้แต่ก็ไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีจนถึงขั้นเสียชีวิต

วัคซีนที่เป็นความหวังของประชาชนก็ยังคงมีปัญหาติดขัด ซึ่งในวันที่เขียนบทความนี้ภาครัฐก็ยังไม่สามารถจัดให้ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เท่าเทียม และทั่วถึง

ในสภาวะสับสนวุ่นวายนี้ทั้งประชาชน ภาคธุรกิจ หรือแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ต่างก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของภาครัฐว่าไม่มีประสิทธิภาพทำให้การแพร่ระบาดในระลอกที่ 3 นี้หนักกว่าทุกครั้ง จนอาจทวีความรุนแรงไปจนถึงขั้นที่เอาไม่อยู่

เมื่อพูดถึงการแสดงความคิดเห็นแล้วย่อมถือได้ว่าเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองโดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือ Universal Declaration of Human Rights และรัฐธรรมนูญแทบทุกประเทศในโลกประชาธิปไตยสมัยใหม่ก็กำหนดให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่พึงกระทำได้ ซึ่งสำนักความคิดกฎหมายธรรมชาติ (School of Natural Law) เชื่อว่าสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิที่มีอยู่ตามธรรมชาติคู่กับมนุษย์อยู่แล้ว กฎหมายเพียงแต่รับรองให้เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น

เสรีภาพในการแสดงความเห็นและแสดงออกเป็นสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่มาภาพ : https://twitter.com/RawanDamen/status/1068794964883267584/photo/1

นอกจากนี้ประชาชนในฐานะผู้เป็นเจ้าของเงินภาษีที่นำไปใช้บริหารประเทศ ย่อมมีสิทธิ์ในการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ได้ เรียกได้ว่าพวกเราทุกคนคือ auditor ที่จะตรวจสอบการทำงานของภาครัฐได้โดยชอบธรรม

อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติย่อมมีความแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรมการเมืองของแต่ละประเทศ ซึ่งวัฒนธรรมหลายอย่างก็เป็นเครื่องกีดกั้นการเข้ามามีส่วนร่วมในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานภาครัฐ เช่น ทัศนคติที่เห็นว่าการทำงานของรัฐบาลเป็นเรื่องไกลตัว และไม่สนใจ โดยเฉพาะสังคมแบบเอเชียในยุคเก่าที่ยึดถือความอาวุโสเป็นสำคัญ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า power distance ที่สูง หากผู้ใหญ่ว่าอย่างไรแล้ว ผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าก็ไม่อาจที่จะแสดงความเห็นที่แตกต่างได้ หากขืนทำไปย่อมถือเป็นการ “ปีนเกลียว” หรือ “ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง” นอกจากนี้ยังเป็นสังคม high-context คือมักจะพูดอ้อมๆ เมื่อไม่เห็นด้วย (indirect negative feedback) เพื่อหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งและการเผชิญหน้า (avoids confrontation)

แนวคิดเหล่านี้มักจะถูกปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก ดังจะเห็นได้จากบรรยากาศในห้องเรียนที่ครูบาอาจารย์พูดอะไรไปแล้วย่อมเป็นที่สุด นักเรียนจะเอ่ยปากเห็นต่างหรืออย่างไรคงเป็นเรื่องยาก หากยกมือแสดงความเห็นต่างในขณะที่เพื่อนๆนั่งเฉยคงต้องอาศัยความกล้าหาญมาก และอาจตกเป็นเป้าให้อาจารย์ไม่พอใจจนอาจส่งผลต่อการตรวจข้อสอบปลายภาคก็เป็นได้ เมื่อคิดถี่ถ้วนดีแล้วการเปลี่ยนใจและคล้อยตามคนส่วนใหญ่ที่นั่งอยู่เฉยๆจะดีกว่า ภายใต้อคติที่เรียกว่า conformity bias

อย่างไรก็ตามเยาวชนรุ่นใหม่ทั่วโลกที่เติบโตในยุคการปฏิวัติดิจิทัล (Digital revolution) มีโอกาสในการรับข่าวสารและเรียนรู้อย่างไม่มีข้อจำกัด อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมืองสูง และเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง

แม้ทิศทางในการเข้ามามีส่วนร่วมจะมีเพิ่มมากขึ้น แต่ในหลายประเทศก็มีกระบวนการ “สกัดดาวรุ่ง” โดยการใช้กลยุทธ์การดำเนินคดีทางกฎหมายอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (Strategic Lawsuit Against Public Participation หรือ SLAPP) ดำเนินคดีกับผู้ที่แสดงความคิดเห็นหรือแจ้งเบาะแส อันเป็นต้นทุนที่สูงมาก จนทำให้หลายคนขยาด ไม่อยากจะหาเรื่องใส่ตัว และเลือกที่จะเพิกเฉย

ในทางกลับกันผู้ที่ฟ้องแก้เก้อมักมีต้นทุนที่ต่ำกว่ามากเพราะมักจะใช้วิธีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อให้รัฐดำเนินคดีให้ อันเป็นค่าใช้จ่ายที่ใช้ภาษีประชาชนทั้งสิ้น ทั้งเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรในกระบวนการไม่ว่าจะเป็น พนักงานสอบสวน อัยการ หรือแม้แต่ศาลที่จะพิจารณาคดี แทนที่จะจ้างทนายความฟ้องคดีเองซึ่งเสียค่าใช้จ่ายสูง เรียกได้ว่าต้นทุนของแต่ละฝ่ายไม่เท่ากันจริงๆ และแม้ท้ายที่สุดผู้ถูกฟ้องจะอ้างข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้หากแสดงความเห็นโดยสุจริตและเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา แต่กว่าจะถึงวันนั้นก็เสียอะไรมาตั้งมากมายแล้ว ทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย และชื่อเสียง

นอกจากนี้หากมองในมุมความพร้อมรับผิดในการบริหารงานของภาครัฐแล้ว ก็มีความแตกต่างกันไปภายใต้บริบทของแต่ละประเทศ โดยหากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนก็ย่อมจะต้องฟังเสียงของประชาชนและปรับปรุงการทำงานของตน เพราะหาก “ไม่หือไม่อือ” แล้วเลือกตั้งสมัยหน้าก็คงได้รู้กัน

แต่ในบางประเทศที่รัฐบาลตั้งอยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยเสียงของประชาชน เช่นประเทศในเอเชียกลางหรือแอฟริกาในสมัยก่อน ที่ผู้นำอยู่ในอำนาจเป็นสิบๆปี และบ่มเพาะวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด (culture of impunity) ที่ทำอะไรตามอำเภอใจโดยไม่ฟังเสียงประชาชน และไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ก็ย่อมไม่ต้องฟังเสียงประชาชน เพราะยังไงก็อยู่ได้แบบสบายๆ อยู่แล้ว หรือแม้แต่ในบางประเทศที่มีกฎหมายที่ดี แต่ในบางครั้งการบังคับใช้กฎหมายให้เกิดผลจริงกลับมีปัญหา กรณีอย่างนี้ก็เกิดขึ้นอยู่เนืองๆในหลายๆประเทศ

“ทุกอย่างเรียบร้อยดี..รัฐบาลกล่าว..ไม่มีอะไรที่จะต้องรู้อีกแล้ว” การ์ตูนเสียดสีการบังคับใช้กฎหมาย Sunshine Law ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่กำหนดให้ภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆที่ใช้ในการพิจารณาหรือปฏิบัติหน้าที่ต่อสาธารณชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาตรวจสอบ ที่มาภาพ : https://www.kissclipart.com/government-transparency-clipart-open-government-05umhq/

…แล้วระบบที่ควรจะเป็นหน้าตาเป็นแบบไหน…

ความโปร่งใส และความพร้อมรับผิด เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาครัฐตอบสนองการบริการให้กับประชาชนได้อย่างเต็มที่ โดยภาครัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูลการบริหารงาน ทั้งแผนงาน งบประมาณและผลการทำงานอย่างเปิดเผยในช่องทางที่เข้าถึงง่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย และต้องมีความพร้อมที่จะถูกตรวจสอบ และพร้อมที่จะอธิบายการทำงาน และผลงานต่างๆทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว

ทั้งนี้ องค์ประกอบหนึ่งของความพร้อมรับผิด (accountability) คือการรับฟังความเห็นหรือการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนผู้ซึ่งมอบอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะให้รัฐ รวมถึงผู้เป็นเจ้าของเงินงบประมาณแผ่นดิน และการตอบสนองต่อเสียงเหล่านั้นโดยการนำไปพิจารณาปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเห็นว่าเสียงของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ดังคำกล่าวของ Ken Blanchard ที่ว่า feedback is the breakfast of champions

ในประเด็นนี้องค์กร Transparency & Accountability Initiative ได้ฉายภาพว่าความโปร่งใสและความพร้อมรับผิดจะเป็นกุญแจที่นำไปสู่การรับรู้ข้อมูลของประชาชน และทำให้ภาครัฐเปิดรับรวมถึงตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำบริการสาธารณะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

วิสัยทัศน์ของ Transparency & Accountability Initiative ที่มาภาพ : https://www.transparency-initiative.org/who-we-are/

หากกล่าวโดยเฉพาะเจาะจงลงไปในกระบวนการบริหารงานสาธารณสุข มีองค์กรที่มีชื่อว่า The Primary Health Care Performance Initiative (PHCPI) ซึ่งก่อตั้งโดย มูลนิธิ Bill & Melinda Gates, องค์การอนามัยโลก และธนาคารโลก ได้ส่งเสริมให้ทุกประเทศนำแนวทางที่เรียกว่า Social Accountability ไปใช้ในการจัดการ และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการบริหารงานสาธารณสุข รวมถึงการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน โดยนำเสียงของประชาชนไปพิจารณาปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

กรอบแนวคิด Social Accountability ของ PHCPI ที่มาภาพ : https://improvingphc.org/improvement-strategies/governance-leadership/social-accountability

โลกจะไม่เกิดการพัฒนาเลยหากไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ และสะท้อน feedback อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น แต่ตบมือข้างเดียวย่อมไม่อาจดังได้ เมื่อมีเสียงสะท้อนไปแล้วภาครัฐทุกๆประเทศก็จะต้องตอบสนองต่อเสียงดังกล่าว เรื่องไหนที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ (constructive criticism) ก็ควรนำไปพิจารณา เรื่องไหนไม่เข้าท่าก็คงต้องปล่อยไป เรื่องใดที่เป็นการจงใจสร้าง fake news ก็ต้องดำเนินการทางกฎหมายไป แต่ต้องไม่ใช่การเพิกเฉยต่อเสียงของสาธารณชน

โลกเช่นว่านี้อาจเป็นเพียงโลกทิพย์ที่อาจไม่มีอยู่จริง หากแต่มันจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อประชาชนตื่นตัวในการแสดงความคิดเห็นที่เกิดประโยชน์ ในขณะที่ภาครัฐก็จะต้องใจกว้างพอที่จะรับฟังเสียงประชาชน ตลอดจนตอบสนองต่อเสียงเหล่านั้นโดยมีเจตจำนงที่จะทำเพื่อประชาชนจริงๆ เสียงปรบมือที่เกิดขึ้นจากมือทั้งสองข้างคงจะทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ไม่น้อย

ขอเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ ภาคส่วนต่างๆ และทุกๆท่านก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้โดยปลอดภัยด้วยใจที่เข้มแข็งครับ

ข้อมูลประกอบการเขียน

https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_6359537

https://www.un.org/en/about-us/universal-declaration-of-human-rights

https://twitter.com/RawanDamen/status/1068794964883267584/photo/1

https://thaipublica.org/2020/01/pitikhun-nilthanom-06/

https://thaipublica.org/2020/05/pitikhun-nilthanom-09/

https://www.transparency-initiative.org/who-we-are/

https://www.transparency-initiative.org/wp-content/uploads/2020/05/tai-strategy-document-2020-2024.pdf

https://www.imf.org/en/News/Articles/2015/09/28/04/53/sp012705

https://www.kissclipart.com/government-transparency-clipart-open-government-05umhq/

https://improvingphc.org/improvement-strategies/governance-leadership/social-accountability