ThaiPublica > คอลัมน์ > ซ่อมบำรุง – เรือรบ – งบประมาณ : บทเรียนจากกองทัพเรืออเมริกัน

ซ่อมบำรุง – เรือรบ – งบประมาณ : บทเรียนจากกองทัพเรืออเมริกัน

23 กุมภาพันธ์ 2023


ปิติคุณ นิลถนอม

เมื่อปลายปีที่ผ่านมามีเหตุโศกนาฏกรรมเรือหลวงสุโขทัยอับปางลง เป็นเหตุให้กำลังพลเสียชีวิต 24 นาย และสูญหาย 5 นาย นำความเศร้าโศกเสียใจมายังครอบครัวอันเป็นที่รัก

ประเด็นหนึ่งที่เป็นข้อสังเกตของสื่อมวลชนและประชาชนที่ตั้งคำถามกลับไปคือการซ่อมบำรุง

ครั้งใหญ่ช่วงปี พ.ศ. 2561-2563 ที่ใช้เงินประมาณ 1,300 ล้านบาทต่อปี นั้นมีปัญหาหรือไม่ เหตุใดเสียเงินไปขนาดนี้แล้วแต่เรือก็ยังมีปัญหา แต่จากการชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรในศึกซักฟอกอภิปรายรัฐบาลแบบไม่ลงมติเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รมช. กลาโหมก็ชี้แจงว่าการซ่อมบำรุงเรือเป็นไปตามขั้นตอน ได้มาตรฐาน และโปร่งใส ซึ่งในส่วนของการสอบสวนนั้น ในขณะที่เขียนบทความฉบับนี้ มีอัปเดตล่าสุดจากกองทัพเรือ โดย ผบ.ทร. แจ้งว่า ได้ทำการสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องรวม 289 ปากแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการสรุปผลการสอบสวน ประชาชนอย่างเราๆ คงต้องรอผลการตรวจสอบและสรุปสาเหตุสำคัญของเหตุการณ์ดังกล่าว ว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่

เมื่อพูดถึงบทบาทของกองทัพเรือในโลกนี้ ที่ถือเป็นแนวหน้าจนได้ชื่อว่าเป็นตำรวจโลกคงหนีไม่พ้นสหรัฐอเมริกาที่มีฐานทัพอยู่ทั่วโลก งบประมาณที่ใช้ในกิจการของกองทัพเรือสหรัฐฯ มีจำนวนมหาศาล ซึ่งนอกเหนือจากการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว งบจำนวนนี้ถูกใช้ไปในการบำรุงรักษายุทโธปกรณ์ต่างๆ ในบทความนี้จึงอยากชวนทุกท่านไปสำรวจตรวจตราว่า งบประมาณและการเบิกจ่ายเงินการซ่อมบำรุงระบบอาวุธของเรือรบ ที่ประจำการในกองทัพเรือสหรัฐอเมริกานั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง และเราจะเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ได้บ้าง

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา หน่วยงานตรวจสอบภาครัฐของสหรัฐอเมริกาหรือ U.S. Government Accountability Office (GAO) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบการซ่อมบำรุงระบบอาวุธในเรือรบของกองทัพเรือสหรัฐฯ จำนวน 151 ลำ ครอบคลุมประเภทเรือจำนวน 10 กลุ่มประเภท (ship classes) ตั้งแต่เรือบรรทุกเครื่องบิน เรือพิฆาต หรือแม้แต่เรือยกพลขึ้นบก

เรือรบ USS Stethem (DDG 63) ขณะทำการซ่อมบำรุงที่ศูนย์ซ่อมบำรุงเขตตะวันตกเฉียงใต้ เมืองแซนดีเอโก รัฐแคลิฟอเนียร์ เมื่อปี ค.ศ. 2019 ภาพโดย Laura Lakeway ที่มา: https://www.marinelog.com/news/gao-reports-on-navy-ship-maintenance-under-mac-mo/

GAO ทำการตรวจสอบเรื่องนี้เนื่องจากเป็นเรื่องสืบเนื่องที่ทำการตรวจสอบมาก่อนหน้านี้ รวมถึงเพื่อเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย William M. (Mac) Thornberry National Defense Authorization Act มาตรา 802 ที่กำหนดให้ GAO ตรวจสอบโดยโฟกัสเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงของกองทัพที่เพิ่มขึ้น

โดยขอบเขตของการตรวจสอบเป็นการเก็บข้อมูลย้อนหลังไป 10 ปี คือตั้งแต่ปีงบประมาณ 2011 จนถึง 2020 ซึ่งใช้วงเงินที่สูงมาก เฉพาะในปี 2020 ใช้เงินไปถึงหนึ่งหมื่นเจ็ดพันล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว

ในการทำงาน GAO ใช้วิธีการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน และการสอบถ้อยคำเจ้าหน้าที่กองทัพเรือที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการซ่อมบำรุง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาความลับเกี่ยวกับยุทธวิธีของกองทัพเรือ GAO จึงไม่เผยแพร่ข้อมูลที่ละเอียดอ่อนต่อความมั่นคงในรายงาน แต่ข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นว่ากองทัพเรือนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้จ่ายอย่างไร คุ้มค่าหรือไม่ ในส่วนนี้เป็นการเปิดเผยแบบ “เต็มคาราเบล” เลยทีเดียว

รายงานผลการตรวจสอบของ GAO ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 ที่มา https://www.gao.gov/products/gao-23-106440

ผลการตรวจสอบระบุว่ากระบวนการซ่อมบำรุงของกองทัพเรือไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดผลกระทบทางลบต่อภารกิจของกองทัพและงบประมาณ โดยมีไฮไลท์ที่น่าสนใจ สรุปได้ดังนี้

1. วงเงินงบประมาณที่กองทัพเรือใช้ในการซ่อมบำรุงที่ถูกตรวจสอบมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยค่าใช้จ่าย operating & support cost (O&S) เพิ่มขึ้น 17.3% มีค่าซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้น 24% และมีเรือเพิ่มขึ้นในระหว่าง 10 ปีนี้จำนวน 33 ลำ

2. มีการรายงานว่าเรือเสียหายหรือชำรุด จำเป็นจะต้องเข้าซ่อมบำรุงเพิ่มสูงขึ้น

3. จำนวนวันซ่อมบำรุงที่ล่าช้าเกินกว่ากำหนดจากตารางเพิ่มสูงขึ้น

4. มีการสลับอะไหล่เรือโดยการถอดจากลำหนึ่งมาใช้กับอีกลำหนึ่ง หรือที่เรียกว่าวิธี “ถอดปรน” (cannibalization) เนื่องจากอะไหล่ขาดตลาด หรือไม่พอ หรือหาเปลี่ยนไม่ทัน ซึ่งเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้บ่อยครั้งขึ้น ทำให้เรือที่อยู่ในกระบวนการนี้ ทั้งลำที่ถูกถอดอะไหล่ออกมา และลำที่รออะไหล่ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการลาดตระเวนหรือการฝึกซ้อม

5. บุคลากรที่ทำหน้าที่ซ่อมบำรุง ทั้งวิศวกร ผู้เชี่ยวชาญหรือช่าง มีจำนวนไม่เพียงพอกับปริมาณงาน ทำให้เรือที่จะต้องเข้าซ่อมบำรุงต้องเสียเวลารอนานขึ้น

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ บุคลากรที่ทำหน้าที่ซ่อมบำรุงเรือรบไม่เพียงพอ ในภาพเจ้าหน้าที่กำลังเจียรอยเชื่อมเรือรบ USS Gerald R. Ford (CVN 78) ภาพโดย Sarah Mead ที่มา: https://www.hstoday.us/subject-matter-areas/maritime-security/gao-urges-navy-to-act-on-ship-maintenance-and-repair-to-increase-readiness/

6. เรือรบไม่ได้เข้ารับการบำรุงรักษาตามกำหนดเวลา ส่งผลให้อุปกรณ์ชำรุดเสียหายมากขึ้น ทำให้ต้องเสียเงินซ่อมเพิ่มขึ้นเพราะต้องไปซ่อมบำรุงในส่วนที่ไม่ควรต้องซ่อมด้วย กล่าวคือ หากซ่อมตามเวลากำหนด อุปกรณ์บางอย่างก็จะไม่เสื่อมหรือเสีย เข้าทำนองเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย

7. จำนวนวันที่เรือปฏิบัติการ (steaming hours) ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ทางยุทธวิธีหรือการฝึกซ้อมลดลง อันเป็นผลจากการจอดเรือซ่อมบำรุงที่นานกว่าปกติ

8. เมื่อเรือออกปฏิบัติหน้าที่น้อยลงแต่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เลยทำให้อัตราค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงต่อชั่วโมงปฏิบัติงานของเรือเพิ่มขึ้น

9. กองทัพเรือไม่มีระบบติดตามหรือประเมินผลที่แม่นยำในกระบวนการซ่อมบำรุง ทั้งเรื่องความพร้อมของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและความพร้อมของอะไหล่รวมถึงวัสดุครุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งตัวชี้วัดดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือประการสำคัญในการประเมินความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเรือรบ

10. แม้จะเคยมีข้อเสนอทำนองเดียวกันนี้ไปถึงกระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็ยังปรากฏว่ากองทัพเรือยังไม่ได้พัฒนาระบบตรวจสอบดังกล่าว

ภาพแสดงปัญหาที่เกิดกับเรือทั้ง 10 กลุ่มประเภท ที่หนักหน่วงที่สุด (เกิดกับ 9 กลุ่มขึ้นไป) คือ ประเด็นการขาดบุคลากรที่จะมาทำการซ่อมบำรุง, อะไหล่ขาดตลาดหรือมาถึงล่าช้า และความล่าช้าในการซ่อมใหญ่ระดับคลัง ที่มาภาพ : https://www.gao.gov/products/gao-23-106440

โดยสรุป หัวใจสำคัญของการตรวจสอบครั้งนี้คือการใช้จ่ายเงินจำนวนมหาศาลที่เพิ่มขึ้น แต่เรือรบที่มีอยู่กลับทำหน้าที่ได้น้อยลง!

ซึ่งผู้ตรวจสอบได้ชี้ให้เห็นว่า ผลการตรวจสอบมีผลกระทบสำคัญใน 2 ประการด้วยกัน คือ

1. การซ่อมบำรุงที่นานขึ้นทำให้เสียโอกาสในการนำเรือไปใช้ประโยชน์ รวมถึงความพร้อมที่จะออกปฏิบัติการตามภารกิจโดยเฉพาะภารกิจด่วน

2. เมื่อต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงสูงขึ้นทั้งที่ไม่ควรจะต้องเสีย จึงทำให้เสียโอกาสในการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นที่คุ้มค่าและเกิดผลสัมฤทธิ์มากกว่า

ผู้ตรวจสอบเลยมีข้อเสนอแนะในหลายประการ ซึ่งกองทัพเรือก็เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะดังกล่าว แต่ยังไม่ได้ปฏิบัติครบถ้วนทั้งหมด

ข้อเสนอแนะที่ว่ามีตั้งแต่การแนะนำให้กองทัพเรือมีการจัดทำเป้าหมายตัวชี้วัดที่ดีกว่าปัจจุบัน เพื่อบริหารจัดการอะไหล่และคลังสินค้า ที่เป็นสาเหตุของความล่าช้าจนทำให้มีเรือตกค้างไม่ได้รับการซ่อมแซมภายในเวลาที่ควร รวมถึงจัดให้มีระบบติดตามข้อมูล (tracking system) เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะการบำรุงรักษาตามวงรอบแต่ละครั้งของเรือรบ และประการสุดท้ายคือ ให้พิจารณาประเด็นการวางแผนบำรุงรักษาที่ทำได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมทุกครั้งที่มีการจัดหาเรือรบลำใหม่ ไม่ใช่สักแต่ซื้อหรือจ้างต่อเรือลำใหม่ โดยไม่ได้คำนึงถึงอนาคตว่าจะต้องบำรุงรักษาเรืออย่างไร ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรประจำเรือจะมีความปลอดภัยในการทำหน้าที่ และเรือมีความพร้อมที่จะรักษาน่านน้ำอย่างที่ควรจะเป็น

ภาพการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณกองทัพเรือสหรัฐฯ สะท้อนถึงปัญหาสำคัญในการใช้จ่ายเงินภาษีประชาชน อันเป็นบทเรียนที่แต่ละชาติสามารถศึกษาเรียนรู้ได้ กล่าวคือ การจัดหาเรือรบเพื่อปกป้องอธิปไตยและรักษาผลประโยชน์ของชาติ นอกจากจะต้องดูความจำเป็นว่าควรจะมีเรือรบและยุทโธปกรณ์ต่างๆ มากน้อยแค่ไหนและรูปแบบใด โดยเฉพาะในโลกศตวรรษที่ 21 ที่ความขัดแย้งและบริบทของการสู้รบมีความแตกต่างจากศตวรรษที่ 20 ยังมีประเด็นของเรื่องการตัดสินใจว่าจะซื้อหรือจะซ่อม และหากจะจัดหาใหม่ ก็จะต้องมีแผนรองรับว่าเรือลำใหม่ที่จัดหามีมาตรการในการซ่อมบำรุงที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะวงรอบการบำรุงรักษาในแต่ละครั้งที่จะต้องมีความพร้อมทั้งอะไหล่ และบุคลากร เช่น ทีมวิศวกรผู้ชำนาญการและช่าง มิฉะนั้น ก็จะประสบปัญหาแบบกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่เรือรบควรจะทำหน้าที่รักษาน่านน้ำ แต่กลับต้องจอดอยู่อย่างไร้ประโยชน์ในอู่ซ่อม เพราะต้องรอช่างและอะไหล่ ทำให้เสียโอกาสในการปฏิบัติหน้าที่ และก่อให้เกิดความเสียเปล่าของงบประมาณที่มาจากหยาดเหงื่อแรงกายของประชาชน

ข้อมูลประกอบการเขียน

https://waymagazine.org/htms-sukhothai-tax-spending/
https://www.matichon.co.th/politics/news_3816872
https://www.thaipbs.or.th/news/content/324654
https://www.gao.gov/products/gao-23-106440