ThaiPublica > คอลัมน์ > “ทัวร์ลง” แล้วยังไงต่อ ?

“ทัวร์ลง” แล้วยังไงต่อ ?

4 กันยายน 2023


ปิติคุณ นิลถนอม

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมาประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เรียบร้อยแล้วหลังจากที่ต้องรอลุ้นกันมา ต้องยอมรับว่ากว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ มีการเจรจาจับขั้ว สลับขั้ว หรือสลายขั้ว สุดแท้แต่จะประดิษฐ์วาทกรรมใดมาอธิบายเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ฝั่งตน

ความสับสนวุ่นวายดังกล่าวเป็นผลโดยตรงที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ทัวร์ลง” การเกิดขึ้นของ “นายแบก นางแบก” ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นสภาวการณ์ที่โกลาหลอย่างพิลึกพิลั่น อาจเป็นเพราะในปัจจุบันข่าวสารบ้านเมืองมิได้จำกัดเฉพาะสื่อกระแสหลักเพียงอย่างเดียว แต่ยังปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ที่ทุกคนสามารถส่งต่อข่าวสารถึงกันได้ตลอดเวลา

ต้องยอมรับว่าเสียงสะท้อนจากประชาชนเรื่องหนึ่งที่มีคือความเชื่อมั่นในตัวนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ปรากฏในสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทวิตเตอร์ที่ในแต่ละวันร้อนแรงมาก มีการใช้แฮชแท็ก มีการตั้งคำถามแรงๆถึงนักการเมืองบางคนและพรรคการเมืองบางพรรคถึงจุดยืนทางการเมืองอยู่แทบทุกวัน

ความไม่แน่นอนในจุดยืนของนักการเมืองบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อตัวนักการเมือง พรรคการเมืองและภาพรวมของการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากงานวิชาการที่ผ่านๆมาได้ชี้ให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของสาธารณชน (Public Trust) เป็นสิ่งสำคัญ หากขาดความเชื่อมั่นจากประชาชนแล้ว ย่อมก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ เป็นต้นว่า ประชาชนแตกแยกออกเป็นฝักฝ่าย (polarization), ไม่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ, ทำตัวเป็น free rider ที่พยายามเลี่ยงภาษีเพราะไม่อยากจ่ายเงินให้รัฐแต่ก็ยังใช้บริการสาธารณะอยู่ รวมไปถึงการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้ง และการ “ลงถนน” ประท้วงด้วย

เรื่องนี้เป็นปัญหาที่แทบทุกประเทศประสบพบเจอ เช่นในประเทศอังกฤษ ประเด็นการขาดความเชื่อมั่นในตัวนักการเมือง รวมถึงรัฐบาล ก็นับเป็นปัญหาที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศเลยทีเดียว นอกจากนี้ในภาพรวมของโลกเรานั้น เลขาธิการสหประชาชาติเคยกล่าวว่าความไม่เชื่อมั่นในบุคลากรหรือองค์กรทางการเมืองนั้นเกิดขึ้นทั่วโลก ในขณะที่กลุ่มประเทศ OECD ก็มีวาระที่จะมุ่งปรับปรุงความเชื่อมั่นในภาครัฐของชาติสมาชิกเช่นกัน

ที่มาภาพ https://www.cagle.com/randy-bish/2013/05/do-you-trust-the-government

ในเรื่องนี้มีงานวิจัยที่น่าสนใจของ Daniel Devine นักวิจัยมหาวิทยาลัย Oxford ที่ศึกษาในประเด็นความเชื่อมั่นที่มีต่อฝ่ายการเมือง ที่หมายความรวมถึงทั้งพรรคการเมือง นักการเมือง รัฐสภา และรัฐบาล โดยใช้ชื่อเรื่องว่า Trust Matters: A meta-analysis on the consequences of political trust.

Daniel ระบุว่า ความเชื่อถือเชื่อมั่นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีงานวิจัยมาอย่างน้อยก็ย้อนกลับไปเมื่อปี 1960 ที่มีวรรณกรรมหลายๆเรื่องพูดตรงกันว่า ความเชื่อมั่นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความชอบธรรมของผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ

ในปี 1975 ก็มีการตีพิมพ์หนังสือชื่อ Crisis of Democracy ที่ต่อว่าต่อขานรัฐบาลและระบุว่าการขาดความเชื่อมั่นเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ขึ้น สิ่งต่างๆเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่เห็นว่าความเชื่อถือในรัฐบาลมีส่วนสำคัญที่จะสร้างความชอบธรรมในการมานำพาประเทศไปข้างหน้า

เพราะประชาชนเชื่อว่าผู้ที่มาเป็นผู้นำหากเชื่อถือได้ก็สามารถฝากผีฝากไข้ได้ กล่าวได้อีกอย่างว่าไว้ใจที่จะเอาเงินภาษีใส่ในมือเขาและวางใจได้ว่าเขาจะใช้จ่ายไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนตามที่สัญญาเอาไว้ ทั้งตอนหาเสียง และที่แถลงต่อสภา รวมถึงใช้จ่ายเงินงบประมาณประจำปีที่สภาอันเป็นผู้แทนประชาชนอนุมัติโดยไม่รั่วไหลไปเข้ากระเป๋าใคร นอกจากนี้ความเชื่อมั่นที่มีต่อพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลมีส่วนสำคัญต่อความเชื่อถือในองค์กรต่างๆ ภายใต้การนำของฝ่ายการเมืองด้วย เช่น ข้าราชการประจำในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย

Daniel กล่าวต่อไปว่า แม้เราจะรู้ว่าความเชื่อมั่นในตัวนักการเมือง พรรคการเมืองและรัฐบาลจะมีผลโดยตรงแต่ก็ยังไม่มีงานวิจัยที่แสดงผลเป็นที่ประจักษ์ว่ามันมีผลมากน้อยเพียงใด

Daniel จึงมุ่งมั่นในการทำวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลวิเคราะห์อภิมาน หรือ meta-analysis ที่เป็นการรวบรวมข้อมูลที่มีการศึกษามาแล้วทั้งหมดมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบ โดย Daniel ได้ขวนขวายรวบรวมงานวิจัยต่างๆในอดีตที่ผ่านมา รวม 58 เรื่อง และได้จำแนกแยกแยะข้อมูลเป็นรายประเทศ, ประเภทของคำถามที่ใช้ในการวัดความเชื่อมั่น รวมถึงสถิติต่างๆที่เกี่ยวข้อง และประเด็นที่เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ที่เกิดในสังคม ตั้งแต่การออกไปเลือกตั้ง การตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใด ความพึงพอใจในการใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาล รวมถึงเรื่องการจัดการกับโควิด 19 เช่น การจัดซื้อวัคซีน เป็นต้น

หลังการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ และทำการสรุปเชิงปริมาณจึงได้ข้อสรุปว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น มีสหสัมพันธ์กับความเชื่อมั่นอย่างไร

Daniel พบว่า งานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อมั่นในตัวนักการเมืองและพรรคการเมือง เพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ซึ่งคาดว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ที่ก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง และเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังปี 2019 อันเป็นปีที่โควิด 19 แพร่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลโดยเฉพาะการจัดการกับการแพร่ระบาด

จากงานวิจัยทั้งหมด มีงานที่ศึกษาเฉพาะภายในประเทศใดประเทศหนึ่งหรือภาพรวมที่เกิดขึ้นมากกว่า 1 ประเทศ โดยประเด็นที่ศึกษามักจะเป็นเรื่องความเชื่อมั่นกับความชื่นชอบในนโยบาย ความเชื่อมั่นกับการใช้สิทธิ์เลือกตั้งว่าจะเลือกพรรคการเมืองใด

จากหลักฐานพบว่าความเชื่อมั่นมีความเชื่อมโยงหรือสหสัมพันธ์กับหลายๆประเด็น ตั้งแต่การใช้จ่ายเงินของภาครัฐ การออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และที่สำคัญคือการตัดสินใจของประชาชนว่าจะโหวตให้กับพรรคคู่แข่งพรรคอื่นที่ไม่ใช่พรรครัฐบาล หรือพักนอกกระแสที่ไม่ใช่พรรคหน้าเก่าๆ

ผลการวิจัยนี้แปลความแบบง่ายๆได้ว่า เมื่อประชาชนมีความเชื่อมั่นแล้วก็จะออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งมากขึ้น แม้ภาครัฐจะใช้จ่ายเงินภาษีหมดไปกับโครงการต่างๆมากขึ้น ก็จะยังสนับสนุนอย่างแข็งขัน เห็นชอบและเชื่อมั่นในการออกนโยบายต่างๆของรัฐบาล เช่น การต่อสู้กับปัญหาโลกรวน เชื่อมั่นในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 และที่สำคัญคือจะไม่วอกแวกไปเลือกพรรคการเมืองอื่น
ตัวอย่างที่ดีคือการบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมา ประเทศที่มีรัฐบาลที่จัดการได้ดีก็ย่อมได้ความเชื่อถือเชื่อมั่นและศรัทธาจากประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล และแน่นอนส่งผลต่อการเลือกตั้งในครั้งต่อๆไป

สรุปได้ว่าหากพรรคการเมืองหรือนักการเมืองรักษาคำพูดและคำมั่นที่เคยให้ไว้ และมีความโปร่งใสในการทำงานโดยเฉพาะเมื่อเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินแล้วเงินทุกบาททุกสตางค์เอาไปใช้จ่ายตามที่สภาอนุมัติ ไม่รั่วไหล และเกิดผลสัมฤทธิ์ ย่อมมีผลโดยตรงต่อความเชื่อถือเชื่อมั่นของประชาชนโดยตรง

หลังจากนี้ไม่ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาท่านจะเลือกใคร พรรคใด มีรสนิยมทางการเมืองอย่างไร พวกเราซึ่งเป็นประชาชนผู้เสียภาษีทุกคนต้องจับตาดูว่าพรรคร่วมรัฐบาลสามารถผลักดันนโยบายต่างๆตอนหาเสียงไปได้มากน้อยแค่ไหน และใช้จ่ายเงินงบประมาณที่มาจากภาษีของเราอย่างไร

TrustGov เป็นอีกหนึ่งองค์กรวิชาการที่พยายามรณรงณ์ผ่านคำขวัญ “Trust but verify” คือยิ่งน่าเชื่อถือยิ่งต้องถูกตรวจสอบ โดยมุ่งให้ตรวจสอบฝ่ายการเมืองอย่างเสมอหน้าทุกคน ทุกฝ่าย

ที่มาภาพ https://trustgov.net/

คำพูดและการกระทำของฝ่ายการเมืองมีผลต่อความเชื่อถือเชื่อมั่นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ดังที่งานวิจัยดังกล่าวบอกไว้ชัดว่ามีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจออกไปเลือกตั้งว่าจะเลือกใคร หากยังชะล่าใจไม่ฟังเสียงประชาชน เลือกตั้งรอบหน้าไม่ว่าช้าหรือเร็วผลกระทบมาถึงหน้าประตูอย่างแน่นอน มิใช่เพียงรถทัวร์ที่ไปจอดหน้าบ้านในโลกออนไลน์ที่อาจเอาตัวรอดโดยการปิดคอมเม้นท์หรือไม่ก็ทำเป็นหลับหูหลับตาไม่สนใจความเห็นที่มีคนเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์อย่างที่ทำกันมา

ข้อมูลประกอบการเขียน

https://blogs.lse.ac.uk/politicsandpolicy/political-trust-meta-analysis/
https://www.dropbox.com/s/axnagp3qfaocf3b/trust_meta-draft.pdf?dl=0
https://www.oecd-ilibrary.org/governance/an-updated-oecd-framework-on-drivers-of-trust-in-public-institutions-to-meet-current-and-future-challenges_b6c5478c-en
https://trustgov.net/