ThaiPublica > คอลัมน์ > ว่าด้วยความรุนแรงของการเป็นเด็กไทย

ว่าด้วยความรุนแรงของการเป็นเด็กไทย

21 กุมภาพันธ์ 2024


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ทุกวันนี้ภาพครูประจำชั้น ป.1 ลากเพื่อนออกมาฟาดหน้าห้องจนทรุดลงไปกองกับพื้นและยังกระหน่ำฟาดซ้ำแล้วซ้ำเล่ายังวนอยู่ในหัว คิดถึงเมื่อไรภาพก็ชัดเหมือนเดิม ผมเคยแลกเปลี่ยนบทสนทนากับคนซึ่งเรียกร้องเรื่องการกระทำทรมาน-อุ้มหาย ที่แน่นอนว่าสำคัญมาก แต่โดยบอกว่า ถ้าไม่เรียกร้องเรื่องนี้วันหนึ่งก็จะเกิดขึ้นกับลูกคุณ แต่กับสิ่งที่เกิดกับลูกคุณและเกิดกับคุณทุกๆ คนไปแล้วคือความรุนแรงในโรงเรียน ซึ่งกลับถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีใครพูดถึง ไม่มีโครงการพยายามแก้ปัญหาอะไรทั้งสิ้น โครงการทางการศึกษาแทบทั้งหมดที่มีอยู่ มีแต่ส่งเสริมคุณงามความดีครูให้มีพระคุณมากขึ้นไปอีก

ราวสี่ปีก่อนในงานอบรมเรื่องความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน (Tranformative Justice) โดยไอเดียคือ เราจะเปลี่ยนผ่านเหตุการณ์อยุติธรรมอำมหิตในอดีตสู่สังคมที่เป็นธรรมได้อย่างไร เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุเลวร้ายอีกครั้ง คืนความยุติธรรมกับผู้ถูกกระทำ และสถาปนาหลักนิติรัฐและหลักสิทธิมนุษยชนในสังคม การเมือง วัฒนธรรม ในงานอบรมมีเวิร์กชอปให้ผู้เข้าร่วมรวมถึงผมเลือก 1 โจทย์ที่นำมาใช้เวิร์กชอป ผมเลือกเรื่องความรุนแรงในโรงเรียน และได้รับโหวตจากเพื่อนในกลุ่มเป็นเอกฉันท์ เสียดายแต่ว่า ผู้จัดการมูลนิธิด้านสิทธิมนุษยชนแห่งหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าภาพกลับห้ามไม่ให้ทำ ด้วยเหตุผลว่า ความรุนแรงในโรงเรียนไม่ใช่เรื่องใหญ่ แม้ผมจะยืนยันว่า โจทย์ดังกล่าวมีผู้ได้รับผลกระทบมหาศาล ใครบ้างไม่เคยถูกกระทำในโรงเรียน อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาและเสียอารมณ์เพื่อนร่วมกลุ่ม ผมจึงตัดสินใจออกจากเวิร์กชอป

ต่อให้ครูไม่ได้ตีเรา แต่การตีคนอื่นต่อหน้าเราก็คือความรุนแรงอยู่ดี ผมหวังจะเห็นความยุติธรรมที่เด็กได้ปกป้องสิทธิของตัวเองเร็วพอๆ กับที่ครูใช้ตัดสินลงโทษ ผมอยากให้มีกองทุนเพื่อคืนความยุติธรรมทางการศึกษา สนับสนุนให้คนที่เรียนจบไปแล้วได้รับความยุติธรรมย้อนหลัง

เมื่อนักเรียนทำผิดมีกฎระเบียบและวัฒนธรรมมากมายคอยจัดการ แต่เมื่อครูทำผิดแทบไม่มีช่องทางร้องเรียน เมื่อพิจารณาจากระเบียบแล้ว ครูมีสิทธิลงโทษนักเรียน ซึ่งต้องได้รับมอบหมายจากฝ่ายบริหารโรงเรียนเท่านั้น จะตัดสินใจลงโทษด้วยตนเองไม่ได้ ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2550 (ฉบับที่ 2) คือ 1. ว่ากล่าวตักเตือน 2. ทำทัณฑ์บน 3. ตัดคะแนนความประพฤติ 4. กิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 5. พักการเรียน ไม่มีข้อใดเลยที่ระบุว่าครูมีสิทธิ์ถอดเสื้อในนักเรียน สั่งให้กราบเต้าหู้ เอารองเท้าตบหน้า จับแก้ผ้า เฆี่ยนตี ด่าทอ หน่วงเหนี่ยวกักขัง ยิ่งมีเจตนาส่อว่าทำไปด้วยความอาฆาต พยาบาท โกรธแค้น หรือสะใจ ครูเหล่านี้อาจถูกโดนปลดออกหรือไล่ออกโทษฐานผิดวินัยอย่างร้ายแรง และต้องรับโทษฐานกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 การกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และตามความเห็นของอาวา เบลล์ นักเรียนชาวอังกฤษคือ การลงโทษเช่นนี้ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม ตามอนุสัญญาเจนีวาปี 1949

แต่ในความเป็นจริง มีครูสักกี่คนที่เป็นข่าว และน้อยกว่านั้นคือถูกลงโทษทางวินัยและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

2 ปีที่แล้ว ผมได้รับเรื่องจากนักศึกษาคนหนึ่งถึงการที่อาจารย์ให้เกรดเธอไม่แฟร์ จนนักศึกษาคนดังกล่าวออกมาโพสต์ว่า ตนเองพยายามมากขนาดไหน แม้จะทราบและอยากแนะนำนักศึกษาผู้นั้นว่าอาจฟ้องนิติกรรมปกครองได้ แต่ความยุติธรรมของผู้ถูกกดขี่ก็ล่าช้าเสมอ หากเล่าต่ออีกสักนิด เธอเลือกที่จะร้องเรียนต่อคณบดี ก่อนอาจารย์ผู้กดขี่จะยอมแก้เกรดให้พร้อมคำสร้อยในอีเมลตัดพ้อถึงความยากลำบากในขั้นตอนการแก้ไขคะแนน

“แม่ที่ abuse เรา บริจาคเงินให้ UNICEF Thailand ทุกเดือน โดยไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าสิทธิเด็กคืออะไร เข้าใจว่าที่ทำคือบริจาคให้เด็กยากไร้ เด็กไร้บ้าน เลยอยากเอาเงินที่แม่บริจาคมาทำอะไรที่มันไม่ได้นำเสนอการสงเคราะห์เด็กน่าสงสาร” ผมได้รับส่วนหนึ่งของ statement นี้จากผู้สมัครโครงการซึ่งได้ทุนภายใต้ UNICEF หลายปีก่อนอีกเช่นกัน อันที่จริง ไม่เพียงแต่ผู้บริจาคยูนิเซฟที่บกพร่องความเข้าใจเรื่องสิทธิเด็ก-วัยรุ่นในฐานะมนุษย์ แต่ยังมีมูลนิธิ องค์กร และแหล่งทุนจำนวนมากที่ต้องการแก้ปัญหาเยาวชนบนอคติต่อเยาวชนเสียเอง

การทำงานกับกลุ่มที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรหรือไม่ได้ถูกสปอตไลต์ในเชิงคุณค่า เช่น กลุ่มผู้เข้ารับหรือถูกบังคับบำบัดอาการทางจิตเวช กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่ม G กลุ่มผู้มีความต้องการเฉพาะบางอย่าง (หลายองค์กรเรียกรวมๆ ว่า กลุ่มเปราะบาง ซึ่งผมไม่เห็นด้วยที่เรียกเช่นนี้ คนเหล่านี้ไม่ได้เปราะบาง สังคมต่างหากที่เปราะบาง และหากจะมีใครสักคนที่เปราะบาง ก็คงจะเป็นคนทำงานพัฒนาเยาวชนต่างหากที่เปราะบางเกินกว่าจะเรียกร้องหรือต่อสู้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แทนที่จะอนุรักษ์ภาพแห่งความสงสารในนามของการสงเคราะห์ไปเรื่อยๆ) ปัญหาไม่ใช่คนกลุ่มนี้อยู่นอกเมืองหรืออยู่ในชายขอบของสังคมแต่อย่างเพียงเดียว แต่ปัญหาคือ ไม่ว่าจะคนกลุ่มไหน หากคุณเกิดเป็นเด็กไทย คุณต้องอยู่ในกรอบ อยู่ในโอวาท และอยู่ภายใต้ข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากร ต่อให้คุณรวยมาก แต่หากผู้ปกครองไม่เห็นด้วยที่คุณจะทำการบางอย่าง ที่คุณจะมีแฟน หรือที่คุณจะย้ายที่อยู่ วัฒนธรรมอำนาจนิยมและกฎหมายให้อำนาจพ่อแม่คุณอย่างเต็มที่ในการลากตัวคุณกลับ หากแก้ปัญหาทัศนคติต่อการทำงานวัยรุ่นไม่ได้ ต่อให้แก้กฎหมาย มีกระทรวง มีกองทุนมหาศาล งานพัฒนาวัยรุ่นก็จะวนอยู่ที่เดิม ที่ที่งานพัฒนาวัยรุ่นไม่ใช่ของวัยรุ่น เพื่อวัยรุ่น และโดยวัยรุ่น เป็นงานพัฒนาประชาชนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า ผู้กำหนดนโยบาย นักการเมือง คนทำงานเด็กเยาวชน เป็นเด็กเยาวชนหรือไม่ แต่อยู่ตรงที่คนเหล่านี้ยังเชื่ออยู่หรือเปล่าว่า เด็กเยาวชนต้องการความยุติธรรม คนเหล่านี้ต้องยืนอยู่ข้างนักเรียน ไม่ใช่แค่ในวันที่โรงเรียนอยู่ข้างครู แต่จะอยู่ข้างนักเรียนไปตลอดถ้าเขาต้องการต่อสู้เพื่อสิ่งที่เขาเชื่อ

ทำไมความรุนแรงถึงกลายเป็นความปกติ จะด้วยสื่อที่ยัดเยียดทุกวัน จะด้วยหนังสือวรรณกรรมบังคับอ่านในห้องเรียน จะด้วยมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น หรือจะด้วยอะไรก็ตามแต่ ก็คงเช่นที่นักดาราศาสตร์ในอดีตกล่าวว่า การเคลื่อนที่เป็นวงกลมของวัตถุบนท้องฟ้าทำให้เกิดเสียง แต่เราไม่ได้ยิน เพราะเราได้ยินมันทุกวัน ยังไม่นับความรุนแรงแฝงเร้นตามนิยามสมัยใหม่ เช่น ความรุนแรงในรูปแบบของโครงสร้างทางภาษา การควบคุมอัตลักษณ์ของปัจเจก และโครงสร้างเศรษฐกิจกดขี่

ทำไมผู้ถูกกระทำจึงยอมรับสภาพการละเมิด ไม่ว่าจะด้วยทฤษฎีกบต้มซึ่งมักใช้ในโลกการเงินและมีความพยายามพิสูจน์ในภายหลังว่าเป็นเรื่องผิด ที่ว่า หากเราโยนกบลงไปในน้ำเดือด มันจะโดดออกทันที แต่หากเราใส่มันในน้ำอุ่น แล้วค่อยๆ เร่งไฟ มันจะชินจนตายโดยไม่รู้ตัว หรือไม่ว่าจะอธิบายด้วย Stockholm syndrome อาการที่ผู้เป็นตัวประกันเกิดความผูกพันและเห็นอกเห็นใจคนร้าย หนึ่งในคำอธิบายที่หนักแน่นคือ หากมีพ่อแม่ 1 หรือ 2 ครอบครัวตบตีลูกอาจเป็นเพราะพ่อแม่เหล่านั้นเป็นคนชั่วร้าย แต่การที่ในสังคมมีพ่อแม่หลายพันครอบครัวตบตีลูก นั่นเป็นเพราะการกระทำเหล่านี้มีโครงสร้างทางวัฒนธรรมรองรับ

การเป็นอื่นจากกรอบดังกล่าว เช่น การที่ลูกหรือนักเรียนลุกขึ้นต่อต้าน ไม่ยอมให้ถูกกระทำอีกต่อไป จึงไม่ใช่เรื่องที่ปรากฏในหน้าสื่อกระแสหลักนักในสมัยก่อน ไม่ใช่เรื่องที่จะอยู่ในวิชาว่าด้วยความปลอดภัยและทักษะชีวิตที่สอนกันในโรงเรียน ไม่ใช่เรื่องที่พระจะเทศน์ในค่ายคุณธรรม ไม่ใช่สิ่งที่จะเห็นในโฆษณาหรือแม้แต่ในสปอตรณรงค์ที่มักเสนอภาพให้ผู้ถูกกระทำปรับตัว โดยปราศจากภาพของผู้ถูกกระทำลุกขึ้นปกป้องสิทธิของตนเอง การเป็นอื่นจากกรอบดังกล่าวจึงกลายเป็นความผิดปกติในสังคมที่มีมาตรฐานทางวัฒนธรรมที่เอื้อต่อความรุนแรงนี้ เป็นความไม่เข้าพวก ไม่ยอมรับกฏเกณฑ์และค่านิยมประดามีที่ยัดเยียดปลูกฝัง ดังที่อีริก ฟรอมม์ เปรียบเปรยสังคมลักษณะนี้ว่าเป็นสังคมมาโซคิสม์ ที่ซึ่งลึกๆ แล้วต่างปรารถนาการถูกกดขี่บีฑาจากกลไกของระบบ เป็นสังคมที่ปฏิเสธการมีอยู่ของตัวตนที่หลากหลาย หากมีใครคิดหรือแสดงอัตลักษณ์ที่แตกต่าง เช่น การยืนหยัดไม่ให้พ่อแม่ทำร้าย คนที่โหยหาการกดขี่เหล่านี้จึงต้องออกตัวต่อต้านเพื่อรักษามาตรฐานของสังคมไว้ คนเหล่านี้เลือกที่จะหลีกหนีเสรีภาพ และทำทุกวิถีทางเพื่อธำรงรักษาเสาหลักที่เขายึดถือ

การมาของคลิปไวรัล Joy to the World ซึ่งนักเรียนตบผู้กระทำกลับ จึงเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม แน่นอนว่า เราไม่ควรจะน้อมรับการกระทำดังกล่าวในฐานะความปกติ แต่ในบรรยากาศเช่นนี้ นักเรียนคนดังกล่าวมีเลือกอะไรบ้าง แจ้งความ? กลายเป็นเหยื่อ?

ครอบครัว ยังเป็นพื้นที่กลางๆ ที่ทั้งรัฐและประชาสังคมสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากไม่ได้ใหญ่ขนาดสังคมที่อยู่ภายใต้การสอดส่องของกฎหมายและไม่ได้เล็กระดับปัจเจกที่ทรัพยากรจะเพียงพอต่อการ tailor-made พื้นที่กลางๆ อย่างครอบครัวนี้เอง เป็นพื้นที่ที่รัศมีของกฎหมายมักฉายไปไม่ถึง และโดยส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยกฎหมู่ภายในครอบครัว ซึ่งถูกควบคุมผ่านค่านิยมหลักของรัฐ ทุน และศาสนาอีกทีหนึ่ง คนทำงานพัฒนาเด็กและเยาวชนจำนวนมากจึงเลือกจะเริ่มที่ครอบครัว ส่วนจะพัฒนาไปทางไหน คำตอบในเวลานี้ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า งานพัฒนาเด็กเยาวชนในไทยจำนวนมากถูกครอบงำและผูกขาดผ่านองค์กรสงเคราะห์เอกชนไม่กี่รายที่พยายามรักษาภาพความน่าสงสารของผู้ใช้บริการ ทั้งเพื่อเป้าหมายในการบริจาค ศีลธรรมส่วนบุคคล แรงงานเด็กปราศจากค่าใช้จ่าย และเพื่อกดไม่ให้ผู้ใช้บริการลุกขึ้นปกป้องสิทธิของตนเอง องค์กรจำนวนน้อยนี้แม้ต้องต่อสู้กับการเข้าถึงสื่อสมัยใหม่ของเด็กในปกครอง แต่บรรดาภาคีเครือข่ายในทุกระดับที่ตนสร้างไว้หลายแรมปีกลับช่วยกันพยุงและปิดบังความละอายให้หลบอยู่หลังเขา และช่วยกันซ่อนมันจากเงาของกฎหมายอย่างแข็งขัน

หนึ่งในหนังสือการ์ตูนที่ผมชอบหน้าปกมากชื่อ THE REVOLUTION STARTS AT HOME การปฏิวัติเริ่มต้นที่บ้าน ปัญหาความรุนแรง ความเหลื่อมล้ำในสังคม กระบวนการยุติธรรมผุพัง หล่อเลี้ยงและถ่ายทอดวัฒนธรรมกดขี่มายังครอบครัว ครอบครัวกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะวัฒนธรรมความรุนแรงจำนวนมากที่หลายครั้งกฎหมายไม่อาจเอื้อมถึง การปฏิวัติจึงต้องเริ่มจากในบ้านด้วย

สองสามเดือนก่อน ผมมีโอกาสได้รู้จักกับโปรแกรมพัฒนาครอบครัวหนึ่งชื่อ PLH (Parenting for Lifelong Health) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลก ยูนิเซฟ และเครือข่ายมหาวิทยาลัย เป็นโครงการที่ต้องการขจัดความรุนแรงในเด็กและอาศัยครอบครัวที่มีความเข้าใจในการเลี้ยงดูเด็กที่จะทำให้เด็กมีสุขภาพที่ดีตลอดชีวิต เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่โครงการดังกล่าวริเริ่มในไทยแล้ว จากการนัดสนทนากับ ดร.แอมมาลี แม็คคอย จากมูลนิธิศานติวัฒนธรรม ผู้มีบทบาทหลักในการนำร่อง ได้ความว่า ผลประเมินขององค์การสหประชาชาติพบว่า มีเด็กถูกกระทำความรุนแรงถึง 50% หรือคิดเป็นจำนวนเด็กกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยพบว่า เด็กอายุ 1-14 ปี 75% ถูกลงโทษทางร่างกายและจิตใจในเดือนที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้สร้างผลกระทบทั้งต่อตัวเด็กเองและทางสังคม ความรุนแรงต่อเด็กมีผลร้ายทั้งในระยะสั้นทันทีและระยะยาวที่ส่งผลไปถึงช่วงวัยผู้ใหญ่ มีผลให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงมีพฤติกรรมบางอย่างเพื่อจัดการกับผลกระทบต่อจิตใจจากประสบการณ์เลวร้าย เช่น พฤติกรรมเสพติด พฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการเป็นโรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองแตก และมะเร็ง

ในงานทบทวนการวิจัยจากงานวิจัย 364 ชิ้น เรื่องผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงต่อเด็กเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้พบว่า ประสบการณ์ความรุนแรงในวัยเด็กส่งผลเสียต่อกายและใจส่งต่อสู่วัยผู้ใหญ่ เพิ่มโอกาสในการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เสี่ยงต่อความคิดฆ่าตัวตาย และพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไป 4 เท่า ([Fry, McCoy, & Swales. (2012). The consequences of maltreatment on children’s lives: A systematic review of data from the East Asia and Pacific region. Trauma, Violence & Abuse, 13(4), 209-233.)

โปรแกรม PLH เป็นหลักสูตรอบรมให้ครอบครัวมีทักษะการเลี้ยงดูเด็กผ่านการสั่งสอนเชิงบวก การฝึกทักษะทางสังคมและอารมณ์ การดูแลเด็กที่เหมาะสมตามระดับพัฒนาการ พบว่า ผู้ปกครองที่ได้รับการอบรมมีความเครียดน้องลงและจัดการกับพฤติกรรมปัญหาได้ดีขึ้น การทารุณกรรมเด็กและการเลี้ยงดูแบบก้าวร้าวรุนแรงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ปัญหาพฤติกรรมเด็กและปัญหาสุขภาพจิตผู้ปกครองดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ การทำงานเรื่องความรุนแรงในเด็กนอกจากในระดับครอบครัวแล้ว บทบาทรัฐ องค์กรเอกชน และสื่อมวลชนก็มีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการทำงานกับเด็กเองให้สามารถลุกขึ้นปกป้องสิทธิของตนเองได้ รวมไปถึงมีหน่วยงานติดตามกรณีความรุนแรงที่เด็กถูกกระทำ โดยเฉพาะจากผู้มีอำนาจมากกว่า เช่น ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่ พระ หมอ ตำรวจ รื้อคดีละเมิดสิทธิเด็กและนักเรียนทั้งหมดมาทบทวนใหม่ ให้สามารถเอาผิดผู้กระทำได้ แก้ไขโครงสร้างรุนแรงที่กดขี่เด็กและนักเรียน การทำโทษละเมิดสิทธิ กิจกรรมบังคับเข้าร่วม สร้างวัฒนธรรมการปกป้องสิทธิ ส่งเสริมสิทธิในการปฏิเสธ สิทธิในการตรวจสอบ ส่งเสริมกิจกรรมที่สมัครใจ ไม่ละเมิด เปิดเผย และส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตย มีระบบเยียวยานักเรียนและเด็กที่ถูกกระทำ ระบบคุ้มครองพยาน มีกลไกเอาผิดผู้กระทำที่ชัดเจน และมีการเก็บข้อมูลเป็นระบบทั้งกระบวนการ