ThaiPublica > คอลัมน์ > สำรวจตลาดการเมืองคนรุ่นใหม่ (ตอนที่ 2) ปฏิรูปการศึกษาใหม่ มองผู้เรียนในฐานะมนุษย์

สำรวจตลาดการเมืองคนรุ่นใหม่ (ตอนที่ 2) ปฏิรูปการศึกษาใหม่ มองผู้เรียนในฐานะมนุษย์

19 มกราคม 2021


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ต่อจากตอนที่ 1 สำรวจตลาดการเมืองคนรุ่นใหม่ (ตอนที่ 1) กระทรวงวัยรุ่น

เวลามีข่าวการปฏิรูปการศึกษา ข้อเสนอจำนวนมากมักจำกัดอยู่เพียงเรื่องงบประมาณ, รูปแบบการเรียนการสอน, อาคารสถานที่ และตัวบทกฎหมาย แต่ไม่อาจเอื้อมไปสู่มณฑลที่แท้จริงของสิ่งที่ผู้เรียนประสบ คือ ปัญหาในเชิงอำนาจนิยมและการกดขี่ ทั้งจากกฎระเบียบ วัฒนธรรม เนื้อหาสาระ และตัวบุคลากร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่า เหตุใดหัวข้อสำคัญอย่างความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างครูและผู้เรียน ระบบการร้องเรียนเมื่อมีครูหรือผู้อำนวยการกระทำผิด หรือสิทธิของผู้เรียนในฐานะมนุษย์ จึงไม่ถูกนับรวมเป็นหนึ่งในหัวข้อของเวทีปฏิรูปการศึกษาอย่างเท่าที่ควรจะเป็น

จากผลสำรวจของ Newground องค์กรวิจัยอิสระด้านการพัฒนาประชากรในอนาคต ในหัวข้อ “เรามั่นใจขนาดไหนเมื่อ…” พบว่า เยาวชนให้คะแนนความมั่นใจของตัวเอง “เมื่อมีปัญหากับผู้ใหญ่ ครู หรือคนที่มีอำนาจมากกว่า แล้วจะได้รับความยุติธรรม” เพียง 29.82 คะแนน เต็ม 100 คะแนน ในขณะเดียวกัน ในหัวข้อ “เราเป็นตัวเองขนาดไหน เมื่อพูดคุยกับผู้ใหญ่” เยาวชนให้คะแนนเฉลี่ย 39.42 เต็ม 100 คะแนน ซึ่งหากตัดเกรด ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ไม่ผ่าน ต้องปรับปรุง ทั้งสิ้น

ยิ่งไปกว่านั้น จากการสำรวจ 500 กระทู้ล่าสุด ในบอร์ด ปัญหาที่โรงเรียน เว็บไซต์ Dek-D.com ในระหว่างวันที่ 22 กันยายน – 6 ตุลาคม 2560 พบว่า ในกระทู้หัวข้อร้องเรียน จำนวน 45 กระทู้ มีสัดส่วนปัญหาหลากหลาย ตั้งแต่ รับน้อง, กีฬาสี, รด.จิตสีขาว, ทรงผมเครื่องแบบ, ลวนลาม, การปฏิเสธผู้ใหญ่, โต๊ะเลกเชอร์, ลาเรียนไม่ได้ แต่สัดส่วนที่เยอะที่สุด คือ “มีปัญหากับครู” สูงถึง 67%

จะเห็นว่า ในขณะที่นักปฏิรูปการศึกษาวุ่นวายอยู่กับการจัดสรรงบประมาณ นักเรียนไทยกำลังประสบกับปัญหาด้านความสัมพันธ์กับครู รวมถึงวัฒนธรรมที่ไม่เอื้อให้พวกเขาสามารถต่อรองได้

“อำนาจในตัวนักเรียน” จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่สุด ที่ถูกทำให้หายไปจากเวทีปฏิรูปเสมอ

อำนาจนิยม: ปัญหาเรื้อรังที่ไม่มีใครแก้ไข

นักเรียนไทยใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ของวัน ไปกับชีวิตในสถานศึกษา โดยยังไม่นับรวมเวลาทำการบ้านและเรียนพิเศษ ซึ่งไม่เพียงสอนทักษะ ประสบการณ์ ความรู้ เพื่อสร้างประชากรพร้อมเสิร์ฟตลาดแรงงาน แต่ต้องเป็นแรงงานที่ดีตามความหมายของรัฐด้วย ผ่านการยัดเยียดโฆษณาชวนเชื่อในนามของวิชาความรู้ ที่แฝงมากับเนื้อหาในตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ และวิชาภาษาไทย ที่จะได้อ่านสามัคคีเภทคําฉันท์ สุภาษิตสอนหญิง แต่ไม่ใช่วรรณกรรมอย่าง ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ หรือ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ของคุณสายพิน แก้วงามประเสริฐ เป็นแน่

รวมทั้งลัทธิบังคับกดขี่ ในนามของวินัยและความอดทน ผ่านพิธีกรรมการเข้าแถว ถอดรองเท้าขึ้นชั้นเรียน บังคับสวดมนต์ หรือบังคับเรียนลูกเสือ ทั้งที่ในโลกโลกาภิวัตน์ วินัยและความอดทนที่ว่า ควรหมายถึงวินัยต่อการตั้งคำถาม และความอดทนต่อความแตกต่างหลากหลาย

โรงเรียนจึงไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ไว้เรียนรู้ แต่ยังถูกทำให้เป็นเครื่องจักรแห่งการข่มขืนทางสติปัญญา หรือในคำที่คุ้นชินกว่าอย่างปลูกฝังและหล่อหลอม

และอาจรุนแรงอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่วันหนึ่งคุณอาจสำนึกได้ว่า คุณไม่ได้อยากเรียนพุทธศาสนา แต่เพราะคุณถูกยัดเยียดบทสวดภาษาบาลีและทำนองสรภัญญะเข้าหัวไปแล้ว 15 ปี จะลืมหรือเอามันออกอย่างไรก็ไม่ได้ และถ้าเรื่องนั้นไม่ใช่เพียงศาสนา แต่หมายรวมถึงความเข้าใจที่คุณมีต่อการเมือง สังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การปฏิบัติต่อความแตกต่างหลากหลาย วิธีคิดเรื่องครอบครัว กรอบในการมองเรื่องเพศ หน้าที่การงาน กระทั่งความหมายของชีวิต เวลา 15 ปีพรากอะไรไปและใส่อะไรเข้ามาในความคิดของผู้เรียนบ้าง

โรงเรียน นอกจากทำหน้าที่สั่งสอนแล้ว ยังมีหน้าที่สอดส่องผู้เรียนในเวลาเดียวกัน เป็นเหตุให้สถานศึกษา มีสถานะเป็นชุมชนกลางๆ ไม่ใช่สังคมขนาดใหญ่ที่รัศมีของกฎหมายสามารถฉายถึง หรือกลุ่มปัจเจกชน อย่างครอบครัว ที่อาศัยกฎหมู่ในการอยู่ร่วมกันเป็นหลัก สถานภาพชุมชนกลางๆ นี้ทำให้โรงเรียนกลายเป็นสังคมกฎหมู่ขนาดใหญ่ ที่ปริมณฑลของกฎหมายไม่อาจส่งผลครอบคลุม เช่น เราทราบดีว่า การกระทำให้อีกฝ่ายได้รับบาดเจ็บนั้น ย่อมมีผลพวงทางกฎหมาย และผลทางสังคม เช่น พวกที่ใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ ย่อมถูกรังเกียจ ถูกติฉินนินทา แต่เมื่อการกระทำนี้อยู่ในชุมชนโรงเรียน ผลทางกฎหมายและทางสังคม กลับปรากฏแตกต่างกันอย่างชัดเจน ภาพครูทำร้ายร่างกายนักเรียน แสดงให้เห็นผ่านสื่อต่างๆ ในฐานะเรื่องปกติของสังคม และยังรายล้อมไปด้วยวัฒนธรรมสนับสนุน เช่น มายาคติในสุภาษิตสำนวนไทย สังคมอาวุโสนิยม หรือด้วยความสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกับบุตรหลานตนเองของพ่อแม่ผู้ปกครอง

School is watching you.

โรงเรียนไม่ใช่แค่กำลังสอนคุณอยู่ แต่กำลังจ้องมองผู้เรียนอยู่ด้วย ผ่านการตรวจตราจากภายนอก เช่น เล็บของเรา เส้นผมของเรา เครื่องแบบและถุงเท้าของเรา ถูกต้องตามที่ระเบียบกำหนดหรือไม่ พฤติกรรมของเรา เป็นไปตามระบบหรือไม่ และล่วงล้ำเข้ามาสอดส่องภายใน ผ่านการบังคับเรียนศาสนา การประกวดภาพวาดที่หัวข้อเหมือนเดิมทุกโรงเรียนและทุกปี การกำหนดระบบคะแนนจิตพิสัย คะแนนความดี กระทั่งเรื่องภายใต้ผิวหนัง เช่น โรงเรียนยังมีสถานะเป็นพื้นที่บริการทางสาธารณสุข ให้เข้าถึงกลุ่มเด็กเยาวชน อย่างการทำฟัน ฉีดยา หรือในหลายมหาวิทยาลัยยังบังคับนักศึกษาตรวจร่างกายและเอกซเรย์ปอดเพื่อสอบเข้า ทั้งที่ไม่มีความจำเป็น และควรยกเลิก หรือหากต้องตรวจจริง ก็ควรให้นักศึกษาไปตรวจเอง มีเคยรายงานถึงมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในอีสาน มีกลุ่มนักศึกษาร้องเรียนว่า ตอนเอกซเรย์ปอด เจ้าหน้าที่บังคับให้เปลือย (ในข้อมูลบอกว่า เปลือยเฉพาะผู้หญิงบางคน) พอร้องเรียนแล้ว มหาวิทยาลัยกลับไม่ทำอะไร หรือในเอกสารแนบใบสมัครเพื่อคัดเลือกเข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งระบุว่า นักศึกษาต้องเป็นผู้แข็งแรงสมบูรณ์ และใช้คำว่า “ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ”

กฎหมู่ในพื้นที่แห่งการสอดส่องอย่างแหวดระแวงนี้ มอบอาญาสิทธิในครูจำนวนหนึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งความรู้ ความถูกต้อง และความยุติธรรม พัฒนาความสัมพันธ์เชิงอำนาจและถ่างระยะห่างระหว่างผู้เรียนและผู้สอน สร้างปีศาจที่เด็กจำต้องเคารพกราบไหว้ และไม่อาจสงสัยในอำนาจนั้นได้

ถ้ามีครูหนึ่งคนทำร้ายนักเรียน นั่นอาจเพราะครูคนนั้นกระทำผิด แต่ถ้ามีครูร้อยคนทำร้ายนักเรียน นั่นอาจหมายถึง เรากำลังมีวัฒนธรรมบางอย่างรองรับพฤติกรรมเหล่านี้ ให้ครูเชื่อว่าตนเองสามารถทำได้ ข่าวครูทำร้ายนักเรียนที่มีอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ใช่เรื่องของครูคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของครูและผู้เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาทุกคน

การให้น้ำหนักกับปัญหาด้านอำนาจในโรงเรียนและแรงกดดันของผู้เรียนนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราตระหนักอยู่เสมอว่า ผู้เรียนมาเรียนในฐานะคน ไม่ได้มาทนในฐานะเหยื่อ ให้ระบบและวัฒนธรรมที่เป็นอยู่กระทำ

ถึงเวลาสร้างการศึกษาไทยสากล

ตลอดเส้นทางการปฏิรูปการศึกษา ไม่เคยมีครั้งไหนที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบกับการออกแบบสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตนเอง กฎระเบียบและวัฒนธรรมกดขี่ที่เป็นอยู่กำลังทำลายอำนาจในการต่อรอง พลังในการปกป้องสิทธิเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น ความคิดสร้างสรรค์ และความเชื่อมั่นในตนเองไปจากผู้เรียน เป็นการศึกษาแบบไทยนิยม ที่ต้องจำนนต่ออำนาจและผู้หลักผู้ใหญ่ ไม่ใช่ไทยสากล ที่ควรจำนนต่อเหตุผล ความถูกต้อง และเคารพซึ่งความแตกต่างหลากหลาย อย่างที่ควรจะเป็น

การปฏิรูปการศึกษาจำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่เปิดให้ผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วมออกแบบการศึกษา และสังคายนาแก้ไขกฎระเบียบให้ร่วมสมัยและเคารพสิทธิมนุษยชน โดยมีเป้าหมาย 6 ประการ ดังต่อไปนี้

1. สร้างการมีส่วนร่วมของผู้เรียน
เช่น งบที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผู้เรียนต้องให้นักเรียนเป็นผู้ตัดสินใจใช้เอง รวมถึงเงินกิจกรรมนักศึกษาต้องให้นักศึกษาเป็นผู้ตัดสินใจโดยตรง, ให้นักเรียนและนักศึกษาสามารถจัดตารางเรียนเองได้ และลดปริมาณวิชาบังคับ เพิ่มวิชาเลือกเสรี ให้ผู้เรียนได้กำหนดอนาคตของตนเองตามความสนใจให้มากที่สุด

2. ยกเลิกกฎระเบียบกดขี่สิทธิมนุษยชน
เช่น ยกเลิกบังคับตัดผมและข้องเกี่ยวกับเนื้อตัวร่างกายร้อยเปอร์เซ็นต์, ยุติการทำโทษที่ละเมิดสิทธิ, ยกเลิกกิจกรรมบังคับเข้าร่วมทั้งหมด, แก้ไขกฎระเบียบที่แบ่งแยกกีดกัน เช่น พ.ร.บ.หอพัก ที่จำกัดเพศ, กิจกรรมรับน้อง รับเพื่อนใหม่ ต้องสมัครใจ ไม่ละเมิด และเปิดเผยได้ รวมไปถึงมีช่องทางร้องเรียนความประพฤติของครูและบุคลากรในสถานศึกษา ที่รวดเร็ว ชัดเจน เป็นธรรม เป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ

3. ลดแรงกดดันในการพัฒนาตนเอง
เช่น ยกเลิกการบ้าน ขยายเวลาค้นหาตัวเอง เคารพเวลาส่วนตัวของผู้เรียน สร้างวัฒนธรรมที่เคารพสิทธิในการพักผ่อน, ยกเลิกการใช้คะแนนเฉลี่ยรวม หรือ GPAX ในการสอบเข้า, ยกเลิกคะแนนจิตพิสัยและคะแนนการเข้าเรียน รวมไปถึงยุติการเปิดเผยผลการเรียนกับผู้ปกครอง หากผู้เรียนไม่ยินยอม และพัฒนาระบบช่วยเยียวยาสุขภาพจิต และระบบให้คำปรึกษาและสนับสนุนคุณภาพชีวิตนักเรียน

4. ลดค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้
เช่น การสอบฟรีทั้งระบบ และการเรียนฟรีถึงระดับมหาวิทยาลัย รวมไปถึงการเทียบโอนย้ายฟรี และควบคุมเพดานค่าหน่วยกิตของสถานศึกษาเอกชน

5. พัฒนาการเรียนรู้ที่เข้าถึงง่ายขึ้น และพัฒนาโรงเรียนในฐานะสวัสดิการชีวิต
เช่น มีกองทุนสนับสนุนการเดินทาง ในพื้นที่ที่เดินทางยากลำบาก, มีอาหารที่ได้คุณภาพ, มีถุงยางอนามัย ตลอดจนยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ที่สามารถขอได้หากจำเป็น โดยไม่ต้องเปิดเผยชื่อ, ลดค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต

6. สร้างการศึกษาที่เป็นสากล
เช่น การชำระแบบเรียนและเนื้อหาสาระให้ร่วมสมัย รวมถึงสร้างความหลากหลายและทางเลือกในการเรียนรู้ เป็นต้น