ThaiPublica > คอลัมน์ > การเรียนกับสุขภาพจิตวัยรุ่น

การเรียนกับสุขภาพจิตวัยรุ่น

16 กรกฎาคม 2023


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

“หมอบอกให้ลาเรียนเพราะวันนั้นเรามีอาการแพนิก เราเลยหยุด วันต่อมาเอาใบลาไปให้ครู แต่ครูเช็คขาด และด่าว่า เรามโน”

หนึ่งในความคิดเห็นของนักเรียนวัยมัธยมปลายต่อสภาพชีวิตของเขาในโรงเรียน หลังวันที่ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตของตนเอง 

ดูเหมือนว่า นักเรียนหลายคนจะมีชีวิตจริง ๆ ก็หลังเสียงออดรอบที่สองของวันดัง

เมื่อก้าวพ้นประตูโรงเรียน กิจกรรมที่พวกเขารักจึงเกิดขึ้น การได้ทดลองทำกิจกรรมเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการรู้จักตนเอง รู้ว่าตนเองเหมาะกับอะไร ชอบอะไร และมีแพสชั่นกับเรื่องใด ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญต่อการจัดวางตนเองให้เหมาะสมกับโลกใบนี้

ช่วงเวลาของสถานการณ์โควิด19 สถานศึกษาจำนวนมากต้องปรับตัวสู่การเรียนออนไลน์ สิ่งเหล่านี้ได้สร้างแรงกดดันที่เดิมก็ยังไม่ถูกสะสางให้เพิ่มมากขึ้น กลายเป็นภาวะเครียด วิตกกังวล

“เราหัวไม่แล่น มันเอื่อยไปหมด ตอนแรกก็รู้สึกตามเพื่อนไม่ทันแต่พอได้คุยกับเพื่อน เลยรู้ว่า ไม่มีใครตามครูทันเลย”

“ครูบางวิชาก็พยายามสอนให้สนุกขึ้น เช่น พอเป็นออนไลน์ก็เปิดคลิป เปิดยูทิวบ์ให้ดูเยอะขึ้น แต่บอกตรง ๆ ว่า พอต้องเรียนนั่งแบบนี้วันละ 5-6 ชั่วโมง มันแย่มาก เหมือนเราต้องจดจ่ออยู่กับจอข้างหน้าตลอดเวลา”

สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งคำถามใหญ่กว่าว่า เราจะเรียนกันอย่างไรให้ยังคงไว้ซึ่งสุขภาพจิตที่ดีได้ และการเรียนการสอนสามารถปรับเพื่อให้สอดคล้องกับนักเรียนที่มีเงื่อนไขทางสุขภาพจิตได้อย่างไรบ้าง

“เราทะเลาะกับแม่จนไม่อยากมาเรียน ร้องไห้ทั้งวัน ครูประจำชั้นเห็นเราซึม ๆเลยเรียกไปคุย และบอกให้ลองปรึกษาครูแนะแนว เราก็ไปหาครูแนะแนวสิ่งที่ได้รับกลับมาคือ คำแนะนำให้ไปขอโทษแม่และสวดมนต์” ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวกับเราถึงประสบการณ์ด้านสุขภาพจิตในโรงเรียนที่ไม่มีใครเข้าใจ

วัยรุ่นในปัจจุบันต้องเผชิญกับแรงกดดันและความคาดหวังในชีวิตจำนวนมาก และดูเหมือนว่าโรงเรียนจะมีส่วนสำคัญในการสร้างแรงกดดันดังกล่าว แทนที่จะมีหน้าที่ลดหรือบรรเทามันลง หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์บอกกับเราว่า หากไม่รวมเวลานอน เขาต้องใช้เวลาไปกับภาระในการเรียนทั้งวัน เมื่อสอบถามในรายละเอียดเพิ่มเติม ก็พบว่า ไม่ใช่เขาคนเดียวที่ประสบกับปัญหานี้

“เราเดินทางไปเรียนไปกลับประมาณ ชั่วโมงครึ่ง วันไหนฝนตกก็สองชั่วโมง เรียนตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงบ่ายสอง บางวันก็บ่ายสาม กลับบ้านมาก็ทำการบ้านอีก ยิ่งช่วงมัธยมปลาย ครูสั่งงานเป็นโปรเจ็คต์ ต้องใช้เวลาทำเยอะมาก และก็เรียนพิเศษเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยอีกอาทิตย์ละ 4 วัน ถ้าวันไหนต้องช่วยแม่ล้างจาน กวาดบ้าน ก็ไม่เหลือเวลาทำอย่างอื่น”

ในขณะที่หลายประเทศกำลังพิจารณาเรื่องการไม่มีการบ้าน และในบางประเทศการติดต่องานนอกเวลาถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ในบ้านเรานักเรียนยังต้องใช้เวลาส่วนตัวไปกับการทำการบ้านที่รบกวนเวลาค้นหาตัวเอ งและพักผ่อนของพวกเขา

“เราว่า ครูควรคุยกันว่า วิชานี้สั่งการบ้านแล้วนะ งั้นวิชานั้นไม่สั่งละกัน ไม่ก็ควรมีข้อกำหนดว่า การบ้านที่สั่ง ห้ามใช้เวลาทำเกิน 1 ส่วน 3 ของวิชาเรียน” 

นอกจากนี้หลายกิจกรรมในโรงเรียนยังสร้างแรงกดดันต่อผู้เรียน ยกตัวอย่าง การบังคับให้พูดหน้าห้องเรียน หรือ ทำการแสดงต่อสาธารณะ
รวมถึงการลงโทษเพื่อให้อับอาย และกิจกรรมบังคับเข้าร่วมต่าง ๆ

“พอกลับมาเรียนในโรงเรียน (หลังจากเรียนออนไลน์) ส่วนที่ดีที่สุดคือการได้ออกจากบ้าน ได้เจอเพื่อน แต่พอต้องมาเข้าแถว สวดมนต์
หรือเรียนบางวิชาที่ไม่ชอบอย่างลูกเสือ กระบี่กระบองแล้ว ก็อยากกลับไปเรียนออนไลน์จะดีกว่า”

นอกจากข้อเสนอในปัจจุบันของหลาย ๆ ที่คือ สนับสนุนให้โรงเรียนมีนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์มาเช็คอัพนักเรียนเป็นระยะ ๆ แล้ว การที่บุคลากรในสถานศึกษามีความรู้และทักษะในการดูแลใส่ใจสุขภาพจิตของนักเรียนก็เป็นเรื่องที่จำเป็น

“โรงเรียนควรให้ลาหยุดได้โดยที่เราไม่ต้องกังวล ถ้าเรามีปัญหาสุขภาพจิตดีกว่าให้เราต้องมาแบกรับความกดดันเพิ่ม”

ยิ่งไปกว่านั้นโรงเรียนยังควรมีความรู้ในการปฏิบัติกับนักเรียนที่มีเงื่อนไขทางสุขภาพจิต เช่น นักเรียนที่เป็น ASD เป็นซึมเศร้า หรือ มีปัญหาหนักใจเรื่องอื่น ๆ เพราะนักเรียนไม่ได้มีชีวิตแค่ในมิติด้านการเรียนอย่างเดียว แต่ยังมีครอบครัว มีความฝัน มีความสุข ความทุกข์ สมหวัง ผิดหวัง รอยยิ้ม และน้ำตาด้วย

ในปัจจุบันที่สถานการณ์ด้านสุขภาพจิตเป็นปัญหาใหญ่ของชีวิตวัยรุ่นและนำไปสู่สาเหตุของการออกจากโรงเรียน ทำร้ายตัวเอง หรือ จบชีวิตสิ่งนี้อาจสำคัญกว่าการสอนอย่างดุดันเพื่อให้ได้เกรดดี ๆ หรือการแข่งขันกันสอบเพื่อให้ได้อันดับต้น ๆ การมีพื้นฐานทางอารมณ์ที่มั่นคง และรู้สึกว่ามีใครซักคนคอยซัพพอร์ตจิตใจอาจจะเป็นเป้าหมายใหม่ที่ทำให้ช่องว่างระหว่างโรงเรียนและผู้เรียนใกล้ชิดกันมากขึ้น

“คงจะดีมาก ๆ ถ้ามีครูที่เข้าใจปัญหาของเรา ยืนอยู่ข้างเราในวันที่เรายืนอยู่คนเดียวและไม่รู้จะเดินไปทางไหน”