ThaiPublica > คอลัมน์ > Toxic Fandom วัฒนธรรมเป็นพิษของลัทธิบูชาตัวบุคคล

Toxic Fandom วัฒนธรรมเป็นพิษของลัทธิบูชาตัวบุคคล

4 กุมภาพันธ์ 2024


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

fandom เป็นเครือข่ายทางสังคมหรือชุมชนในวัฒนธรรมย่อย ที่ไม่ว่าจะเป็นแฟนคลับของศิลปินจากซีกโลกไหนก็มีจุดร่วมกันอย่างหนึ่ง คือ เป็นการรวมกลุ่มกันภายใต้วัฒนธรรมบริโภค อันนำมาซึ่งการจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการของศิลปินคนนั้น ตั้งแต่บัตรดูคอนเสิร์ต ตุ๊กตา ของสะสม บัตรจับมือ เป็นการประกอบสร้างไลฟ์สไตล์อันเป็นส่วนหนึ่งของโลกทุนนิยมอย่างแนบเนียน

ในชุมชนหนึ่งๆ โดยเฉพาะพรมแดนโลกออนไลน์ นอกจากเครือข่ายทางสังคมนี้จะหมุนรอบตัวศิลปินแล้ว ยังเปิดโอกาสให้สมาชิกหรือแฟนคลับได้แสดงอัตลักษณ์และความคิดเห็นส่วนบุคคลด้วย เช่น การทำป้ายเชียร์ การแต่งตัวในธีมใกล้เคียงกับศิลปิน อัตลักษณ์รวมกลุ่มนี้สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในชุมชนบนข้อแม้ว่า การแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์นั้นจะต้องเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับคนหมู่มาก

หากแต่จะเป็นอย่างไรถ้าเราในฐานะแฟนคลับมีความเห็นแย้งกับอัตลักษณ์รวมหมู่ที่ว่า เช่น เห็นว่าศิลปินควรหรือไม่ควรมีท่าทีต่อประเด็นทางสังคมบางอย่าง และอาจรวมถึงการวิจารณ์ผลงานและรายละเอียดปลีกย่อย เช่น การแต่งตัว นิสัยใจคอ ความสัมพันธ์ การวางตัว หรือมิติอื่นๆ เท่าที่ศิลปินในฐานะมนุษย์คนหนึ่งจะมีได้

การรวมตัวกันในรูปแบบ fandom จึงแตกต่างออกไปจากการเป็นผู้เสพงานศิลปะ ผลงานเพลง ภาพยนตร์ ภาพวาดของศิลปิน เพราะอย่างหลังไม่ว่าจะเสพงานในสายตาแบบ formalism หรือสนใจในตัวผลงานเป็นหลัก หรือจะด้วยสายตาแบบ auteur ซึ่งให้คุณค่ากับตัวตนของศิลปิน ก็ตาม คนกลุ่มนี้ยังมีทัศนคติที่ดำรงอยู่แยกขาดจากอัตลักษณ์รวมหมู่ ไม่ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน fandom อันเหนียวแน่น สามารถวิพากษ์วิจารณ์ผลงานและตัวตนของศิลปินได้อย่างอิสระ

วัฒนธรรม fandom ในหลายครั้งจึงนำมาการกีดกันไม่ให้อัตลักษณ์หรือความคิดเห็นอื่น ๆ ซึ่งอาจแตกต่างออกไป เพราะต้องยึดเสาหลักใดเสาหนึ่งไว้ เป็นการสร้างอัตลักษณ์รวมหมู่ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้

ความแตกต่างในชุมชน fandom จึงกลายเป็นความเป็นอื่น และเป็นความแปลกประหลาดในท้ายที่สุด ในแง่นี้การนิยามว่าใครสักคนผิดปกติ อาจไม่ใช่เพราะเขาผิดปกติจริงๆ (ในแง่ที่ถูกประเมินบนพื้นฐานของเคมีในสมอง) เพียงแต่เขาไม่อาจเดินควบคู่ไปกับไม้บรรทัดวัดมาตรฐานของสังคมนั้นๆ ได้ เขาจึงต้องผิดปกติต่อสังคมนั้น ความผิดปกตินี้ไม่ได้เป็นเพียงการไม่เข้าพวก ทว่าเป็นการยืนหยัดที่จะไม่ปรับตัว หรือไม่ยอมลดอัตลักษณ์เพื่อเข้าสังคมให้ได้ ในกรณีของเราเอง ก็เลือกที่จะติดตามศิลปินเช่นเดิม แต่ไม่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแฟนคลับอีกต่อไป

ในชุมชน fandom เราอาจพบว่า หลายครั้งเป็นชุมชนที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนล้วนเป็นผลผลิตของแบบพิมพ์เดียวกัน เมื่อสังคมมีมาตรบางอย่างซึ่งชี้ถูกผิดให้กับพฤติกรรมของคนแล้ว การออกนอกลู่นอกทางจากมาตรฐานนี้ เท่ากับว่าเป็นคนไม่เข้าพวก ทั้งที่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วย่อมพบว่า คนที่ถูกหาว่าผิดปกตินี้เอง คือคนซึ่งไม่ยอมสูญเสียอัตลักษณ์ตัวตนของตัวเองเพียงเพื่อปรับตัวเข้ากับสังคมที่ทุกคนคิดหรือทำเหมือนๆ กันไปหมด

การควบคุมตัวตนในทางสังคมนี้ นำมาซึ่งประโยชน์ที่ส่งเสริมวัฒนธรรมบริโภคนิยมและอุตสาหกรรมบันเทิง ให้ง่ายต่อการผลิตสินค้าหรือบริการในรูปแบบเดียวกัน

เพราะเมื่อผู้คนในสังคมหนึ่งๆ ปราศจากความเชื่อมั่นในอัตลักษณ์ของตัวเองแล้ว ก็ย่อมโหยหาที่พึ่งเพื่อเหนี่ยวรั้งตัวเองไว้ให้เข้ากับสังคมหมู่มากได้ ดังนั้น พอมีคนคิดต่าง หรือแสดงอัตลักษณ์ตัวตน คนเหล่านี้ก็ย่อมต้องออกตัวต่อต้านเพื่อรักษามาตรฐานของสังคมไว้ และทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดคนซึ่งอาจสั่นคลอนเสาหลักที่เขายึดถือ

สิ่งนี้เองสำหรับเราซึ่งควรถูกนับเป็นหนึ่งในแฟนคลับศิลปิน ถือว่าเป็น toxic fandom แม้ในชุมชนโซเชียลมีเดียจะวางมาตรฐานในการรักษาความสงบไว้กว้างๆ เช่น การหลีกเลี่ยงการโพสต์หรือคอมเมนต์ที่นำไปสู่การกระตุ้นบาดแผลทางใจ (trigger warning) ของสมาชิกกลุ่ม การงดแชร์รูปภาพ ข้อความ วีดีโอที่รุนแรง ทั้งที่ชักนำหรือมีโอกาสชักนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง หรือการจบชีวิต โดยหากสมาชิกพบเห็นรบกวนให้รีพอร์ตแก่ทีมงาน เป็นต้น หรือเงื่อนไขและข้อควรระวังในการติดต่อกันเองระหว่างสมาชิกในชุมชนออนไลน์ ซึ่งอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

อย่างไรก็ตาม ชุมชนโซเชียลมีเดียยังมอบบทบาทในการเชิญสมาชิกออกจากกลุ่ม หรือการแบน โดยไม่เปิดโอกาสให้สมาชิกคนนั้นอุทธรณ์ได้ แม้ข้อความที่สมาชิกโพสต์จะไม่ได้ขัดต่อกฎหมาย หรือละเมิดสิทธิใครก็ตาม

สุดท้ายนี้ วัฒนธรรม toxic fandom นำไปสู่คำถามที่ใหญ่กว่านั้น คือ ศิลปินควรมีบทบาทอย่างไรต่อกลุ่มแฟนคลับซึ่งหมุนรอบตัวเองอยู่ตลอดเวลา การวางตัวเพิกเฉยต่อกลุ่มแฟนคลับ อาจไม่ต่างจากการมองกลุ่มแฟนคลับเป็นเพียงกลุ่มลูกค้าประจำที่ช่วยส่งเสริมกิจการและขยายฐานเสียงของตนให้กว้างไกลยิ่งขึ้น แทนที่จะมองแฟนคลับในฐานะมนุษย์ซึ่งมีทั้งความชอบ ความไม่ชอบ คำชม และคำวิพากษ์วิจารณ์ ที่ล้วนแล้วยังอยู่บนความต้องการสนับสนุนศิลปินในปลายทาง