ThaiPublica > คอลัมน์ > SICK LONELY AND HOPELESS สามคำนิยามวัยรุ่นปัจจุบัน

SICK LONELY AND HOPELESS สามคำนิยามวัยรุ่นปัจจุบัน

21 กันยายน 2023


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

คนในเจเนเรชั่นนี้ล้วนแต่ต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตที่มากขึ้น ทั้งป่วยกายและป่วยใจ ไหนจะอนาคตที่ริบหรี่ อาจกำลังให้วัยรุ่นปัจจุบันตกอยู่ใต้คำนิยามว่าเป็นเจเนอเรชั่นแห่งความป่วย เหงา และสิ้นหวัง

เมื่อมองย้อนกลับมายังบ้านเราจะพบว่า สังคมมักคาดหวังที่จะใช้วัยรุ่น มากกว่า ให้วัยรุ่น เนื่องจากเป็นว่าที่กำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศและประคับประคองสังคมสูงวัยที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นการมองวัยรุ่นในฐานะแรงงาน มากกว่าในฐานะมนุษย์ ซึ่งมีความเปราะบาง โดยเฉพาะยิ่งในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ ทั้งยังเป็นเวลาแห่งการต้องเลือกสิ่งสำคัญในชีวิต ทั้งสายการเรียน คณะ มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน และความสัมพันธ์

ปัญหาสุขภาพจิตที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง ความทุกข์ที่ซับซ้อนมากขึ้น ความเหงาและโดดเดี่ยวที่ถูกตอกย้ำผ่านโลกออนไลน์และสภาพความเป็นจริง รวมถึงความหมดหวังต่ออนาคตที่ไม่มั่นคง ไร้ซึ่งตาข่ายทางสังคมใด ๆ รองรับแรงกดดันเหล่านี้ นำไปสู่ความรู้สึกที่คนยุคนี้ต่างมีร่วมกัน

ในบ้านเรามีทรัพยากรที่ทำงานกับวัยรุ่นจำนวนมาก แต่เป็นการทำงานผ่านโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เข้าใจปัญหาที่วัยรุ่นประสบอยู่ เป็นการมองวัยรุ่นเป็นปัญหา มากกว่า มองปัญหาที่วัยรุ่นกำลังเผชิญ

ผู้เขียนรู้สึกอย่างจริงจังว่า ไม่มีช่วงวัยไหนอีกแล้วที่ปราศจากสิ่งยึดเหนี่ยวเท่าช่วงวัยนี้ ความสัมพันธ์กับครอบครัวที่ห่างเหินกว่าแต่ก่อน ความเป็นอื่นจากเพื่อน ๆ ที่แต่ละคนต่างมีชีวิตของตัวเอง และความแปลกประหลาดจากความคาดหวังของสังคม ไม่ได้ช่วยให้รู้สึกถึงการมีอิสระที่จะได้เลือกใช้ชีวิตในแบบของตนเอง ตามความเข้าใจที่เคยคิดว่า วัยรุ่นคือวัยรุ่นที่เป็นอิสระจากการถูกปกครองและยังไม่ต้องปกครองใคร

ผู้เขียนหวังจะเห็นทรัพยากรที่จะกลายเป็นทั้งโอกาสและข้อมูลในการตัดสินใจใช้ชีวิต ถูกทำให้เข้าถึงได้อย่างเป็นระบบ เป็นธรรม ไม่ต้องรู้จักใคร ไม่ต้องอาศัยโชค และไม่มีสถานะ ช่วงวัย เพศ หรือความเป็นอื่นใด ๆ เป็นเหตุให้ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรนั้นได้ อยากมีระบบพัฒนาและสนับสนุนวัยรุ่น ที่ไม่ต้องให้ผู้เคยเป็นวัยรุ่นมาเลือกให้เช่นที่มักเป็นอยู่

แต่วัยรุ่นได้ตัดสินใจเลือกด้วยตัวเอง ผ่านการมีหรือเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ทำงาน ศึกษา และสำรวจรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นวัยรุ่นในเชิงคุณค่าและวัฒนธรรม

หากเรามีการสำรวจแรงกดดันในการใช้ชีวิต มีระบบแวดล้อมที่สนับสนุนการเพิ่มศักยภาพและการมีส่วนร่วมของวัยรุ่น มีการผลักดันให้เกิดการรับรองสิทธิ อิสรภาพและความรับผิดชอบด้วยกฏหมายและนโยบาย

เราอาจเห็นงานวิจัยเพื่อค้นหาว่า พ่อแม่ไทยกลัวอะไร ?

อาจมีมูฟเม้นต์รณรงค์ความเข้าใจลูก อาจรื้อถอนวัฒนธรรมความรุนแรงที่เกิดกับเราสมัยเป็นนักเรียนมาพิจารณาใหม่ในกระบวนการยุติธรรม

เราจะได้เห็นนโยบายซึ่งมองวัยรุ่นเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เพียง ว่าที่แรงงาน หลักประกันผู้ปกครองในวัยชรา หรือ ตัวเลขในงานวิจัย ที่จะทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับสังคมและประเทศได้โดยอายุ สถานะ รูปร่าง เพศ ความต้องการเฉพาะบางอย่าง และพื้นฐานครอบครัว ไม่ใช่เครื่องกีดกัน เพื่อให้เห็นโอกาสที่จะมีชีวิตโดยไม่ถูกจองจำจากประเพณี ความเชื่อที่ห้ามพิสูจน์ กฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรม และมีทางเลือกในชีวิตที่หลากหลาย เห็นการพัฒนาประชากรและประเทศด้วยเหตุผลและข้อมูล มากกว่า ความเชื่อว่าปัญหาเกิดจากความล้มเหลวทางศีลธรรมของปัจเจกบุคคล เราอยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ในประเทศที่อาศัยอยู่ แต่ในทุกที่

ผู้เขียนอยากมีที่ซึ่งคนผู้บาดเจ็บทางอารมณ์ภูมิใจจะเรียกว่า บ้าน เป็นบ้านที่แท้จริง เป็นเพื่อนในวันที่รู้สึกอย่างรุนแรงว่า กำลังเป็นอื่นจากคนทั้งโลก

เป็นบ้านของผู้คนที่เคยผิดหวังจะได้ฟื้นฟูจิตวิญญาณ ทบทวนความหมาย แลกเปลี่ยนรสชาติชีวิตด้วยมิตรภาพ รื่นรมย์ ปลอดโปร่ง และได้ทำสิ่งสร้างสรรค์

ผู้เขียนเชื่อว่ายุคแห่งความเจ็บป่วย เป็นอื่น และหมดหวังนี้จะไม่จบลงในเร็ววัน บนหนทางอีกยาวไกลนี้ คงมีถนนเพียงสองสายจะนำเราไปจนถึงปลายทาง สายหนึ่งคือ การพยายามทำความเข้าใจวัยรุ่นในสิ่งที่พวกเขาเป็นอย่างจริงจัง ด้วยหวังว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง อีกสายหนึ่งคือ รอเวลาหมักบ่มความเจ็บปวดเหล่านี้จนย่อยสลายและสูญสิ้นไปเอง สุดท้ายแล้วจะเป็นเส้นทางสายใดนั้น คำตอบยังอยู่ในสายลม

อย่างที่เราทราบกันดีคือ ตลอดหลายสิบปี โรคซึมเศร้ากลายเป็นหนึ่งในนิยามสำคัญของเจเนเรชั่นปัจจุบัน วัฒนธรรมการทำงานที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ถูกคาดหวังให้ต้องทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกันมากขึ้น แข่งขันมากขึ้น แบกรับภาระที่มีต่ออนาคตมากขึ้น นอนน้อยลง เวลานอนกลายเป็นความไร้ค่าหากไม่สามารถทำเงินได้ ในขณะที่นโยบายและทรัพยากรต่าง ๆ ที่คอยรองรับกลับมีน้อยลง

เราล้วนป่วยด้วยโรคซึมเศร้าจากโครงสร้างทางสังคม แต่เมื่อเราป่วยกลับถูกบอกให้เรารับผิดชอบมันโดยปัจเจก ไปกินยา หาหมอ รับฟัง ไปบำบัด การเรียกร้องให้ยาจิตเวชฟรี มีบริการทางสุขภาพจิตที่เดินเข้าหาวัยรุ่น โรงเรียน บ้าน ที่ทำงานที่สร้างแรงกดดันในชีวิตน้อยลง เป็นเรื่องต้องทำ

แต่นั่นไม่เพียงพอ ถ้าเรายังอยู่ในระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

บางทีแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดที่ทุกคนช่วยคนที่เจ็บป่วย โดดเดี่ยว และสิ้นหวังนี้ อาจไม่ใช่การรับฟัง แต่คือการร่วมกันเปลี่ยนแปลงระบบนี้ให้ดีขึ้นต่างหาก