ThaiPublica > คอลัมน์ > Antinatalism เมื่อโลกเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน รู้จักแนวคิดต่อต้านการเกิด

Antinatalism เมื่อโลกเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน รู้จักแนวคิดต่อต้านการเกิด

31 ธันวาคม 2021


เรียบเรียงโดย เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

พื้นที่ทางความคิดเรื่องการเกิด-การตาย

การไม่มีลูก นอกจากเป็นกระแสที่ได้ยินบ่อยครั้งเวลาสำรวจความคิดเห็นคนรุ่นใหม่ และที่ปรากฏในหน้าเว็บไซต์ต่างๆ เมื่อเซิร์ชคีย์เวิร์ดดังกล่าว ในไทยเองอย่าว่าแต่การมีลูกเลย การแต่งงานซึ่งควรเป็นเรื่องส่วนตัวก็ถูกสะกิดถามเมื่อพบปะญาติผู้ใหญ่จนเป็นวัฒนธรรม ทำให้หลายต่อหลายคนหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับความคิดที่ว่า จริงๆ แล้วเราควรมีลูกหรือไม่ หรือเรามีลูกเพื่ออะไร จนเป็นที่น่าสนใจว่า สังคมไทยคุ้นเคยกับการถูกท้าทายเรื่องความตาย เช่น ไอเดียเรื่องภพชาติ การตายแล้วเกิดใหม่ การเลือกที่จะตายอย่างสมัครใจ มากกว่าปัญหาเรื่องการเกิด และไม่ว่าคำตอบจะเป็นเช่นใด เราจะมีพื้นที่ให้ความคิดและบทสนทนาต่อเรื่องดังกล่าวในทางปรัชญาและศีลธรรมได้มากกว่านี้หรือไม่ สำหรับสังคมไทยเรา

การมีลูกผิดศีลธรรมหรือไม่

การมีลูกถือว่าผิดศีลธรรมหรือไม่ David Benatar นักปรัชญาผู้สนับสนุนแนวคิดต่อต้านการเกิดโต้แย้งว่า การไม่มีอยู่นั้นหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด ซึ่งแตกต่างจากการดำรงอยู่ แต่เขาถูกต้องหรือไม่ สิทธิในการเจริญพันธุ์จริงๆ แล้วควรหมายความว่าอย่างไร

มีเหตุผลมากมายที่ใครสักคนจะตัดสินใจมีลูก การมีลูกนอกจากเป็นหรือถูกทำให้เป็นความต้องการส่วนบุคคลในการสำเร็จความฝันบนฐานะพ่อแม่ผู้ปกครองตามอุดมคติแล้ว ยังเป็นความต้องการของรัฐ โดยเฉพาะยิ่งในวิกฤติขาดแคลนแรงงานและอัตราการเกิดต่ำ การมีลูกจึง “แทนหูแทนตาได้ชื่อว่ารักชาติชูเชิด”

สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจหัวข้อบทความ เป็นไปได้ว่าอาจมีลูกอยู่แล้ว หรือวางแผนจะมีลูก หรือตัดสินใจจะไม่มีลูกไปตลอดชีวิต หนึ่งในแนวคิดที่ขัดแย้งกันของปัญหานี้คือ…

จริงๆ แล้วการมีลูกเป็นสิ่งผิดหรือไม่ เราควรสร้างคนขึ้นมาจริงๆ หรือ หรือแม้แต่เราเองก็อาจไม่ควรถูกสร้างขึ้นมาเช่นกัน

มี 2-3 เรื่องที่ต้องพิจารณา ประการแรก หากเราตระหนักถึงคำถามที่ว่า “ผิดหรือเปล่าที่เราถูกสร้างขึ้นมา” เราต้องแยกแยะว่า คำถามนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคำถามคล้ายๆ กันคือ “เราดีใจไหมที่ยังมีชีวิตอยู่” ความรู้สึกว่าโชคดีที่มีชีวิตอยู่นั้นเป็นความคิดหลังเกิดขึ้นมาแล้ว

ประการที่สอง การมีชีวิตอยู่อาจดีสำหรับเราทุกคน เพราะเราถูกสร้างขึ้นมาในครอบครัวที่อบอุ่น สังคมที่ปลอดภัย เพราะเราน่ารักและเป็นของขวัญพิเศษล้ำค่าสำหรับโลกใบนี้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันดีสำหรับเราทั้งหมดและตลอดชีวิต

นักปรัชญานาม David Benatar กล่าวว่า การเกิดถือเป็นเรื่องอันตราย เขาเรียกสิ่งนี้ว่า “ความไม่สมดุลระหว่างความเจ็บปวดและความสุข” การไม่มีความเจ็บปวดเป็นเรื่องที่ดี หากใครสักคนโตมาอย่างปลอดภัย ไร้ซึ่งการถูกกระทำ แต่เมื่อพิจารณาถึงการขาดความสุข เมื่อมีใครสักคนพลัดพรากขาดหายไป การขาดความสุขนี้เองที่สร้างความเจ็บปวดอย่างแท้จริง

การไม่มีอยู่แต่แรกจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่าในมุมมอง David Benatar เพราะนอกจากไม่ต้องเสี่ยงใช้ชีวิตที่อาจเจ็บปวดทุกข์ทรมานแล้ว ยังไม่ต้องเสี่ยงที่จะพบเจอกับการขาดความสุขแม้เพียงชั่วครู่ด้วย

Benatar กล่าวว่า ความไม่สมดุลระหว่างความเจ็บปวดและความสุขนี้อธิบายได้ว่า ทำไมเราถึงควรคิดว่าการสร้างใครสักคนจึงเรื่องที่ผิด หากพวกเขาต้องทนทุกข์ ในทัศนะของ Benatar เชื่อว่า การไม่มีอยู่นั้นช่วยหลีกเลี่ยงการเผชิญกับความทุกข์ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

เพราะในที่สุดแล้ว หากเราตัดสินใจจะสร้างใครสักคนขึ้นมา เราควรต้องรับผิดชอบต่อความเจ็บปวดทั้งหมดที่พวกเขาได้รับ แม้ว่าพวกเขาจะมีชีวิตแสนเพอร์เฟกต์ก็ไม่อาจเลี่ยงความเจ็บปวดที่ย่อมมีอยู่บ้าง และเนื่องจากความไม่สมดุลของความเจ็บปวดและความสุขดังกล่าว มันจึงดีกว่าสำหรับพวกเขาที่จะไม่เกิดมาแต่แรก แม้ว่าพวกเขาจะมีชีวิตที่น่าอัศจรรย์ แต่ด้วยความเจ็บปวดแม้เพียงวินาที ก็ยังจะดีกว่าถ้าพวกเขาไม่เคยถูกสร้างมาแต่แรก เด็กๆ ไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ทรมานใดๆ เนื่องจากพวกเขาไม่มีตัวตน และด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงไม่สนใจที่จะพลาดความสุขด้วยเช่นกัน

เกมรัสเซียนรูเลตต์ ที่ปืนบรรจุกระสุนเต็มแม็ก

David Benatar เชื่อว่า คุณค่าเดียวของการมีชีวิตคือการเริ่มต้นชีวิตที่ปราศจากความเจ็บปวดโดยสิ้นเชิง ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นคือการไม่มีชีวิต Benatar อยู่ในกลุ่มผู้สนับสนุนแนวคิดต่อต้านการเกิดหรือ antinatalist ซึ่งเชื่อว่า คนไม่ควรมีลูก และการมีลูกเป็นเรื่องไม่ควรทำ ด้วยหลากหลายสาเหตุ เช่น เหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับ Benatar เขาเชื่อว่า…

การมีลูกนั้นเป็นการทำร้ายลูก เหมือน “การให้กำเนิดเกมรัสเซียนรูเลตต์ ที่ปืนบรรจุกระสุนเต็มแม็ก”

Benatar คิดว่า เรามีหน้าที่ไม่มีลูกจริงๆ ซึ่งหมายความว่าไม่มีใครสามารถมีสิทธิในการสืบพันธุ์ได้ เขาเชื่อว่า เรายังสามารถรับเลี้ยงเด็กที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ และเราก็ไม่จำเป็นต้องถูกบังคับให้ทำหมัน เพียงยุติการกำเนิดและหยุดสานต่อเผ่าพันธุ์มนุษย์ “ถ้าพระเจ้าสร้างมนุษยชาติขึ้นจริง ก็ถือว่าเป็นอาชญากรรมทางศีลธรรมอย่างร้ายแรงจากพระเจ้าด้วยเช่นกัน”

ในหนังสือ Why Have Children? โดย Christine Overall นักปรัชญาเฟมินิสต์ ระบุว่า การมีลูกเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจบนศีลธรรมอย่างจริงจัง บนความท้าทายมหาศาล เช่น คำถามที่ว่า รู้ได้อย่างไรว่าการไม่เกิดมาจะดีกว่าการได้เกิดมา แต่ปัญหาคือ ดีกว่าอะไร? แย่กว่าอะไร? ในเมื่อหากไม่เกิดมาตั้งแต่แรก เราก็ไม่ต้องอยู่ในสถานะของการถูกเปรียบเทียบ

การคิดเชิงปรัชญาเกี่ยวกับการมีลูกทำให้เราตระหนักถึงการตัดสินใจเรื่องนี้อย่างรอบคอบ รวมถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบทั้งหมดที่มาพร้อมกับคนๆ หนึ่ง ทั้งยังชวนให้เราคิดถึงคำถามที่ใหญ่กว่านั้น คือ ชีวิตมนุษย์ที่ดีควรจะเป็นอย่างไรสำหรับทุกคน

ปัจจุบันมีกลุ่มสนับสนุนแนวคิด antinatalism ทั้งใน Reddit และ Facebook Group มีกิจกรรมนัดพบปะพูดคุยกันเป็นระยะ ท่านใดสนใจก็ขอเชิญชวนเข้าไปติดตามและแลกเปลี่ยนกัน

อ้างอิง
-David Benatar, “Better Never to Have Been”
-John Broome, “Should We Value Population?” in The Journal of Political Philosophy
-Christine Overall, “Why Have Children?”
-Philosophy Tube “Is Having Children Wrong?”