ThaiPublica > คอลัมน์ > TES เผยผลสำรวจเด็กไทย ชี้กฎระเบียบต้องแก้ไข เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต กดดันกับอนาคต

TES เผยผลสำรวจเด็กไทย ชี้กฎระเบียบต้องแก้ไข เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต กดดันกับอนาคต

13 มกราคม 2024


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

กรุงเทพฯ, 13 มกราคม 2567 – แอปพลิเคชัน Teacher Evaluation System (TES) ประกาศผลสำรวจ “รับวันเด็ก 2567” เปิดเผยความคิดเห็นของเด็กและนักเรียนต่อการศึกษาไทยในปี 2566 จากการสำรวจความคิดเห็นคนรุ่นใหม่ 2,113 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม – 8 ตุลาคม 2566

ผลสำรวจพบว่า วิธีการจัดการและกฎระเบียบในโรงเรียนมีผลต่อสภาพจิตใจของนักเรียนโดยตรง เรื่องที่เด็กๆ ระบุว่าเป็นอุปสรรคที่สุดในโรงเรียน ได้แก่ วิชาที่ไม่จำเป็น (54.07%), กฎระเบียบต่าง ๆ ในโรงเรียน (53.22%), และการบ้าน (38.83%) ทั้งยังพบว่า 43.8% ของนักเรียนไม่อยากไปโรงเรียน นอกจากนี้ นักเรียนไทย 34.75% เคยถูกครูผู้สอนด่าหยาบคาย และรู้สึกไม่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น ยิ่งไปกว่านั้น 32.77% ของนักเรียนไทยคิดอยากลาออก และ 31.01% เคยถูกลงโทษอย่างไม่สมเหตุสมผล

ในมิติสภาพจิตใจ นักเรียนไทย 72.6% สงสัยว่าตนเองมีปัญหาสุขภาพจิต, 47.3% รู้สึกเบิร์นเอาต์, 45.2% นอนหลับไม่เต็มอิ่มและมีปัญหาการนอนหลับ โดย 60.6% ของนักเรียนต้องการให้เริ่มเรียน 9 โมงเช้า และ 14.3% มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย เมื่อมีปัญหาความกดดัน นักเรียนไทย 82.5% เลือกจะบอกเพื่อน ในขณะที่ส่วนน้อยเลือกจะบอกพ่อแม่และครู โดยนักเรียนไทยราว 1 ใน 3 หรือ 31.5% ระบุว่า ไม่มีครูที่ไว้วางใจ

ในด้านค่าใช้จ่าย นักเรียนกรุงเทพมหานครได้เงินมาโรงเรียนมากที่สุด สูงสุดถึง 3,000 บาท/วัน โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 158.13 บาท/วัน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยค่าขนมของประเทศอยู่ที่ 105.1 บาท/วัน ในขณะที่อุทัยธานี มุกดาหาร และตราด นักเรียนได้เงินค่าขนมเฉลี่ยน้อยสุดในประเทศ อยู่ที่ 56.67, 65.85 และ 66 บาท ตามลำดับ โดยนักเรียนระบุว่า รู้สึกถูกบังคับจ่ายเงินกับค่ากิจกรรมในวิชา 37.12%, ค่าเครื่องแบบ 32.72%, ค่าแบบเรียน 19.32%, ค่าทัศนศึกษา 13.97% และธนาคารโรงเรียน 10.94%

ในด้านกฎระเบียบพบว่า นักเรียน 55.4% ต้องการให้แก้ไขกฎต่างๆ ในโรงเรียน มีเพียง 6.8% ที่พอใจมาก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทรงผมและเครื่องแบบ รวมทั้งพบว่า 54.8% ของโรงเรียนไทยไม่มีช่องทางการร้องเรียน และนักเรียนไทยยังระบุว่า ห้องน้ำมักเป็นพื้นที่อันตรายที่สุดในโรงเรียน

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า นักเรียนไทย 93.3% มีความตั้งใจเรียนต่ออย่างแน่นอน และมี 43.8% รู้สึกกดดันกับอนาคต รวมทั้ง 39% ตั้งใจไม่มีลูก โดยนักเรียนอยากให้มีชมรมที่เกี่ยวข้องกับความสนใจ ได้แก่ ชมรมด้านการแสดง, ความคิดสร้างสรรค์, ทำอาหาร, ภาพยนตร์, คอมพิวเตอร์กราฟิก, สอนแต่งหน้า, การให้คำปรึกษาปัญหาต่าง ๆ และการค้นหาตัวเอง รวมถึงชมรมด้านสุขภาพจิตและการเงิน การลงทุน

ข้อเสนอต้อนรับวันเด็ก 2567

  • สถานศึกษา
  • จากผลสำรวจพบว่า การแก้ปัญหาการศึกษาไทยที่เป็นอยู่นั้นกำลังแก้แบบแยกส่วน ไม่ได้แก้เป็นองค์รวม โดยมุ่งแก้ที่ปัญหาด้านค่าใช้จ่ายและเด็กที่หลุดจากระบบเป็นหลัก เป็นการมองปัญหาการศึกษาในแง่ของการควบคุมให้เด็กเข้าถึงการศึกษา มากกว่าการพัฒนาการศึกษาที่เด็กเข้าถึงให้มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน โดยจะเห็นว่า อุปสรรคในการเรียนรู้จากนักเรียนส่วนใหญ่อยู่ที่ “วิชาที่ไม่จำเป็น” “กฎระเบียบต่างๆ” และ “การบ้าน” ซึ่งเป็นเรื่องที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานบริหารจัดการสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพ จึงมีข้อเสนอให้มีการทบทวนแก้ไขกฎระเบียบในโรงเรียนด้วยการเปิดให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทั้งในระดับกระทรวงศึกษาธิการและระดับโรงเรียน โดยใช้กลไกสภานักเรียนในระดับสถานศึกษาให้มีประสิทธิภาพและเป็นตัวแทนที่ผู้เรียนเลือกมามากขึ้น และตั้งคณะกรรมการทบทวนกฎระเบียบระดับโรงเรียน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้เรียนมากกว่ากึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือประกอบด้วยครู ผู้ปกครอง ตัวแทนฝ่ายบริหาร และมีสัดส่วนกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งด้วย

    นอกจากนี้ ในบางโรงเรียนปัจจุบันจัดให้มีระบบการจัดตารางเรียนเอง เพื่อลดรายวิชาที่ไม่จำเป็นลง ในระดับโรงเรียนสามารถเปิดให้ผู้เรียนจัดแนวทางการเรียนรู้ร่วมกับครูแนะแนวหรือครูที่ปรึกษาได้ โดยอ้างอิงจากความสนใจของผู้เรียน และความสามารถในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนเป็นหลัก เป็นการจัดการเรียนการสอนรายบุคคล

    ในส่วนของการบ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปสรรคหลักของผู้เรียนนั้น มีข้อเสนอให้จำกัดปริมาณเวลาในการทำการบ้าน ให้ทุกวิชารวมแล้วไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยครูผู้สอนที่จำเป็นต้องสั่งการบ้านต้องได้รับการอนุมัติผ่านครูประจำชั้นหรือครูหัวหน้าระดับก่อน เพื่อให้ระยะเวลาในการทำการบ้านไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด รวมถึงพิจารณายกเลิกการบ้าน โดยจัดให้มีชั่วโมงทำการบ้านในเวลาเรียน เช่น คาบสุดท้ายก่อนเลิกเรียน เพื่อเคารพเวลาส่วนตัวผู้เรียน และสร้างวัฒนธรรมการไม่ติดต่องานนอกเวลาในอนาคต รวมไปถึงการบ้านในลักษณะที่ต้องใช้ค่าใช้จ่าย เช่น สิ่งประดิษฐ์ งานที่จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์ต่างๆ จำเป็นต้องมีการกำหนดค่าใช้จ่ายร่วมกันโดยผู้เรียนทุกคนสามารถจ่ายไหว และควรต้องมีกองทุนอุปกรณ์การเรียนกลางในแต่ละชั้นปี

    ในหมวดปัญหาด้านสุขภาพจิต ประกอบด้วย 2 ข้อเสนอหลัก

    1. ข้อเสนอเพื่อลดแรงกดดันในการเรียนรู้ ได้แก่ การปรับเวลาเรียนให้เริ่มสายขึ้น โดยจากผลสำรวจอยู่ที่ 9 โมงเช้า และตัดกระบวนการอบรมหน้าเสาธงและการเข้าแถวออก โดยการสวดมนต์ปรับให้เป็นกิจกรรมอิสระ ไม่เป็นการบังคับ รวมไปถึงการจำกัดชั่วโมงการบ้าน นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้เรียนมีความกังวลต่อค่าใช้จ่าย เช่น ค่ากิจกรรมในวิชา ค่าเครื่องแบบ ค่าแบบเรียน ค่าทัศนศึกษา ธนาคารโรงเรียน และเงินที่ต้องให้เพื่อน ตามลำดับ โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ได้ผ่านการลดไปจนถึงยกเลิกเครื่องแบบ ลดหรือยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนเป็นการให้ยืมแบบเรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดการทัศนศึกษา และไม่บังคับฝากธนาคารโรงเรียน

    2. ข้อเสนอด้านการป้องกันปัญหาและเสริมสร้างทักษะสุขภาพจิต ได้แก่ การปรับเปลี่ยนเงินประจำตำแหน่งครูลูกเสือเป็นเงินประจำตำแหน่งครูที่มีทักษะการให้คำปรึกษาเชิงจิตวิทยา, การเพิ่มช่องทางร้องเรียน แจ้งปัญหา ร้องทุกข์ และรับฟัง, ปรับปรุงให้เกิดห้องน้ำปลอดภัย เนื่องจากจากผลสำรวจห้องน้ำถือเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงอันดับ 1 ในโรงเรียนส่วนใหญ่ รวมทั้งมีการจัดอบรมให้เกิดทักษะด้านจิตวิทยาในการดูแลตัวเองและดูแลเพื่อน จากผลสำรวจพบว่า เมื่อผู้เรียนเกิดปัญหาสุขภาพจิต เพื่อนเป็นกลุ่มแรกที่ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตจะบอกกล่าวให้รับรู้

  • ครู
  • จากผลสำรวจพบว่า ปัญหาด้านความสัมพันธ์เชิงอำนาจเป็นเงื่อนไขหลักที่ทำให้ผู้เรียนเกิดแรงกดดันในการใช้ชีวิตในโรงเรียน รวมไปถึงปัญหาการถูกครูละเมิดสิทธิและความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็น จึงเสนอให้มีการจัดอบรมครูเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิดและจัดการความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่ รวมถึงมีรางวัลให้โรงเรียนที่ครูสามารถเป็นที่พึ่งทางใจของผู้เรียนได้ และมีกระบวนการประเมินครูรายบุคคลโดยผู้เรียนอย่างเป็นระบบ หนึ่งในต้นทุนเชิงบวกคือ ผู้เรียนมากกว่าครึ่งมีครูที่สนิทและไว้วางใจ จึงอาจมีการให้รางวัลครูดีเด่นประจำเดือน และมีข้อกำหนดไม่ให้ครูในโรงเรียนรับรายได้จากผู้เรียนทั้งในและนอกเวลาสอน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการที่ครูกดดันให้ผู้เรียนเรียนพิเศษเพิ่มนอกเวลากับตัวเองและกลายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน รวมทั้งจัดให้มีช่องทางการร้องเรียนครูที่ละเมิดสิทธิผู้เรียนที่ชัดเจน ได้ผล และเกิดการแก้ไข

  • เพื่อน ครอบครัว และตัวเอง
  • จากผลสำรวจเสนอให้มีการเพิ่มทักษะด้านการเยียวยาสุขภาพจิตและการเข้าใจจิตวิทยาเบื้องต้นกับกลุ่มเด็กนักเรียน เนื่องจากเพื่อนเป็นประตูบานแรกของผู้เรียนที่มีความกังวลต่อปัญหาด้านสุขภาพจิต นอกจากนี้ หนึ่งในแรงกดดันของชีวิตในโรงเรียนยังมาจากความรู้สึกถูกบังคับให้เงินเพื่อน จึงจำเป็นต้องมีชั่วโมงให้คำปรึกษาของครูประจำชั้นหรือครูที่ปรึกษาจัดไว้ในแต่ละสัปดาห์เป็นการเฉพาะ เช่น 1-2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยให้ผู้เรียนลงชื่อล่วงหน้าและเก็บเป็นความลับ นอกจากนี้ จากผลสำรวจพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีความตั้งใจเรียนต่อในอนาคต แต่มีส่วนน้อยที่มีเป้าหมายในชีวิต ในขณะที่เกือบครึ่งหนึ่งรู้สึกกดดันกับอนาคต และมากกว่า 1 ใน 3 ตัดสินใจที่จะไม่มีลูก จึงมีข้อเสนอให้ครอบครัวหรือผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนการเรียนรู้ในระดับหนึ่ง เช่น การทัศนศึกษา การจัดการเรียนรู้ การให้คำปรึกษา รวมถึงกิจกรรมในโรงเรียน และระเบียบข้อบังคับต่างๆ และสถานศึกษาสนับสนุนให้มีชมรมที่ช่วยพัฒนาความสนใจและเป้าหมายชีวิตของผู้เรียนได้

    TES ขอเชิญเด็กและนักเรียนไทยให้ความเห็นและคะแนนครู อาจารย์ สถานศึกษา รวมถึงรายงานกรณีการละเมิดสิทธิ ผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ https://www.tes-th.com/ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ปัจจุบันมีข้อมูลสถานศึกษาแล้วกว่า 1,400 แห่ง