ThaiPublica > คอลัมน์ > รู้จัก “ความเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัล” สำรวจความหมายใหม่ของคำว่า “พลเมือง” ผ่านมุมมองด้านสื่อ

รู้จัก “ความเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัล” สำรวจความหมายใหม่ของคำว่า “พลเมือง” ผ่านมุมมองด้านสื่อ

14 มิถุนายน 2021


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า คำว่า “ปฏิวัติ” ถูกใช้แทนคำว่า “รัฐประหาร” หรือ “ยึดอำนาจ” เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 เช่นเดียวกันกับคำว่า “รัฐธรรมนูญ” เเละ “ประชาธิปไตย” ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นแทนคำจากภาษาต่างประเทศ ด้วยเหตุผลของอดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน พระองค์วรรณฯ ที่ว่า “การที่จะเข้าสู่ประชาชนและเข้าถึงประชาชน เราจะใช้คำอังกฤษซึ่งยังไม่ได้ซึมซาบเข้าไปในระบบความคิดของเรานั้นไม่ได้”

คำใดๆ ที่ไม่มีศัพท์บัญญัติ ก็ยากจะจินตนาการถึงความหมายของมันในทางความรู้สึก การทำงานกับความหมายคำ โดยเฉพาะคำที่มีผลต่อสำนึกของสังคมซึ่งเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นการทำงานทางวัฒนธรรม

คำว่า “พลเมือง” ก็เช่นเดียวกัน ที่อาจมองว่า เป็นคำซึ่งให้ความหมายของประชาชนที่เป็นเพียงพละกำลังของเมือง มิใช่มันสมอง หรือจะมองว่า พลัง ไม่ได้หมายถึงเพียงพลังกาย แต่รวมถึงพลังใจและพลังความคิดด้วย และไม่ว่าจะมองอย่างไร คำว่าพลเมือง ก็ถูกยึดครองความหมาย ปิดกั้นการตีความ และถูกทำให้เป็นสำนึกสำเร็จรูปผ่านการสร้างค่านิยมพลเมืองดี (ต่อสถาบันรัฐ ชาติ ศาสนา และทุน) มากกว่าการทบทวนความหมายของคำว่าพลเมืองซึ่งเป็นปัจจุบัน

ทำให้เวลาพูดถึงความเป็นพลเมืองไทย จึงอยู่ในวิสัยของพลเมืองแบบไทยนิยม ไม่ใช่พลเมืองแบบไทยสากล หรืออาจพูดติดตลกได้ว่า คนไทยไม่ได้เกิดมาเป็นคนไทย แต่ถูกทำให้เป็นคนไทยอีกที ซึ่งขัดแย้งกับความเป็นจริงในปัจจุบันของสังคมโลกาภิวัตน์

27 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับชวนให้ร่วมดำเนินรายการเวทีสัมมนาวิชาการ ผ่านช่องทางออนไลน์ของเครือข่าย Thai Civic Education โดยตั้งต้นจากผลศึกษาโครงการการศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาเพื่อออกแบบสื่อส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการเด็กและวัยรุ่นเพื่อความเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัล (สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์) มี ผศ. ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ เป็นหัวหน้าคณะผู้จัดทำ ร่วมกับที่ปรึกษาโครงการ คุณทัศนวรรณ บรรจง ผู้อำนวยการมูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย และ ผศ. ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โจทย์ใหญ่ของงานคือ กองทุนสื่อฯ จะมีบทบาทสร้างความเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัลของวัยรุ่นได้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อคำว่า “พลเมือง” ถูกตีความไม่เหมือนกัน ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ครูปิ่น ผศ. ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ, คุณนานา วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้ก่อตั้ง Thaiconsent.in.th และนักออกแบบเพื่อการแก้ปัญหาสังคม, ครูโอ ปราศรัย เจตสันติ์ เครือข่าย Thai Civic Education, คุณศุภวุฒิ แพร่แสงเอี่ยม ประธานสภานักเรียนเทพศิรินทร์ และผู้เขียน เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ จึงอยากสรุปประเด็นสำคัญของแต่ละวิทยากรเพื่อชวนคิดต่อ ถึงนิยาม “พลเมืองในยุคดิจิทัล” และผู้เขียนต้องขอบคุณคุณนานา วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ที่ช่วยรวบรวมข้อเสนอต่างๆ อย่างครบถ้วน

“ความคิดแบบ ‘วันวาน’ ไม่สามารถเข้าใจเด็กในวันนี้”

ครูปิ่น ผศ. ดร.มรรยาท อัครจันทโชติ

ดร.มรรยาท ให้นิยาม “พลเมืองในยุคดิจิทัล” ไว้ว่า “พลเมืองในยุคดิจิทัล มีขอบเขตกว้างกว่าแค่การใช้สื่อ หรือสร้างการรู้เท่าทันสื่อ แต่มีมิติที่ทับซ้อนไปสู่โลกของสิทธิ การตระหนักถึงสิทธิของตนเอง ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น และเห็นพลังของตนในการร่วมเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานย้อนกลับมาทำให้เด็กและวัยรุ่นสามารถใช้สื่อและการสื่อสารที่มีคุณภาพ เพื่อร่วมขับเคลื่อนสังคมได้อย่างยั่งยืน” ในมิติของการสนับสนุนทุน ภายใต้บทบาทของกองทุนสื่อฯ ดร.มรรยาทย้ำว่า “การให้ทุนหรือการผลิตสื่อจึงต้องไปไกลกว่าแค่ประเด็น การรู้เท่าทันสื่อ ไปสู่ประเด็นการรู้เท่าทันสิทธิ และการรู้เท่าทันสังคม”

“หากผู้ผลิตสื่อหรือผู้สนับสนุนการสร้างสรรค์สื่อยังคงมุ่งเน้นนำเสนอเนื้อหาที่หยุดนิ่ง มุ่งใช้สื่อเพื่อสั่งสอนหรือนำเสนอภาพเด็กและวัยรุ่นผ่านสื่อที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมหลักชุดใหม่ ก็มีแนวโน้มที่เด็กและวัยรุ่นจะไม่สนใจ ไม่ยอมรับ หรืออาจถึงขั้นต่อต้าน” — ดร.มรรยาท

ดังนั้น เด็กและวัยรุ่นจึงเป็นส่วนหนึ่งของ “พลเมืองดิจิทัล” ที่สนใจใช้สื่อออนไลน์ ในขณะเดียวกันก็เป็น “พลเมืองในยุคดิจิทัล” ที่มีการใช้ชีวิต มีสังคม ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ร่วมกับผู้อื่นด้วย

การออกแบบสื่อที่เกี่ยวข้องกับความเป็นพลเมือง จึงต้องพัฒนาให้เด็กและวัยรุ่น “ตระหนักต่อสิทธิและเสรีภาพของตน ไม่ละเมิดผู้อื่น มีความรับผิดชอบต่อสังคม และตระหนักว่าตนสามารถสื่อสารได้หลากหลายวิธีเพื่อเป็นผู้นำร่วมในการขับเคลื่อนสังคมประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้” ดร.มรรยาทเสริมว่า แพลตฟอร์มในการพัฒนาสื่อเป็นเรื่องสำคัญ ควรพัฒนาให้มีความหลากหลายทั้งในโลกออนไลน์ ออฟไลน์ และออนกราวด์ “เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทั่วถึง ตามกลุ่มเด็กและวัยรุ่นที่มีความสามารถในการเข้าถึงแพลตฟอร์มที่แตกต่างกัน”

“เด็กในวันนี้ไม่เหมือนเด็กในวันวาน เพราะเด็กและวัยรุ่นเรียนรู้ชีวิตและเรื่องราวต่างๆ ผ่านการใช้สื่อ ซึ่งคนใน ‘วันวาน’ ย่อมไม่เข้าใจ ดังนั้นหากผู้ที่ทำสื่อใช้ความคิดแบบ ‘วันวาน’ ก็จะไม่สามารถสื่อสารหรือเกิดความเข้าใจร่วมกับเด็กในยุคดิจิทัลได้”

“เด็กและเยาวชนควรได้เห็นและเรียนรู้ด้วยตัวเองว่า สื่อที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมเป็นอย่างไร นั่นหมายความว่า เขาจะประเมินได้ว่าอะไรดีหรือไม่ดีด้วยวิจารณญาณของตนเอง เพราะที่ผ่านมาเรามีแต่การควบคุมทางลบ แต่ไม่มีการส่งเสริมทางบวก การควบคุมจึงควรเป็นการเปิดพื้นที่ในการเรียนรู้ ไม่ใช่ควบคุมอย่างจำกัด” ดร.มรรยาทสรุป

“ผู้ผลิตสื่อต้องไม่ประมาทความรู้คิดของเด็ก”

คุณนานา วิภาพรรณ วงษ์สว่าง

คุณนานา วิภาพรรณ วงษ์สว่าง เป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดโฟกัสกรุ๊ปพื่อสะท้อนมุมมองที่เด็กและเยาวชนมีต่อนิยามของคำว่า พลเมืองในยุคดิจิทัล “นักเรียนกลุ่มมัธยมต้นสะท้อนว่า ที่ผ่านมา ผู้ใหญ่มักเป็นคนเลือกและตัดสินใจชีวิตให้พวกเขา ดังนั้นการที่ปล่อยให้นักเรียนมัธยมต้นได้ฝึกคิดและตัดสินใจด้วยตัวเอง ก็จะเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจ ทั้งในแง่การใช้ความสามารถของตน และในแง่การฝึกฝนวิจารณญาณ”

นอกจากนี้ นักเรียนมัธยมต้นยังระบุว่า “เป็นเรื่องที่ดี หากวัยรุ่นสามารถรู้เท่าทันสื่อได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องกังวลว่าหากแสดงความคิดเห็นอะไรออกไปจะโดนผู้ใหญ่ดุอย่างที่เคยเป็น”

วิธีการสำคัญอีกอย่างที่เด็กและวัยรุ่นต้องการคือ “การให้ความสำคัญกับการค้นหาตัวตนและการสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพที่พวกเขามี” โดยเริ่มในระดับมัธยมต้น และต่อยอดไปจนถึงระดับมัธยมปลาย เพราะพวกเขามองว่า “บางคนอาจใช้เวลานานในการรู้จักศักยภาพของตน” ดังนั้นหากมีพื้นที่ที่ทำให้เขาได้ใช้เวลาตัดสินใจและสื่อสารได้ ก็คงเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย

เมื่อถามถึงบทบาทของกองทุนสื่อฯ คุณวิภาพรรณเสนอว่า การส่งเสริมสื่อที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเยาวชน ควรกำหนดโจทย์ร่วมกันระหว่าง ผู้ผลิตสื่อ–ผู้ให้ทุน–เยาวชน รวมทั้งหากมีการคัดเลือกผู้ผลิตสื่อที่เป็นมืออาชีพเข้ามาทำงาน ควรเป็นผู้ผลิตสื่อที่มีทัศนคติเชิงบวกกับเด็กและเยาวชน ไม่ประมาทความรู้คิดของเด็ก

โดยทัศนคติเชิงบวกในที่นี้หมายถึง…

“การมองเห็น ยอมรับ และเคารพในพลังของเด็กและวัยรุ่น ไม่ใช่การตั้งต้นแต่แรกว่าเด็กวัยรุ่นเป็นกลุ่มคนที่มีปัญหาหรือสร้างปัญหาให้สังคม”

“บทบาทของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ยังควรประชาสัมพันธ์ให้เยาวชนทราบ และเปิดให้เยาวชนเข้าถึงแหล่งทุน ไม่ว่าจะในฐานะผู้รับสื่อ ผู้รับสาร ผู้ให้ความคิดเห็น ผู้สนับสนุน หรือในฐานะผู้ผลิตก็ตาม”

คุณวิภาพรรณเสนอประเด็นเพิ่มเติมว่า นอกจากการกำหนดกรอบแล้ว กองทุนสื่อฯ ควรรับมือกับประเด็นเฉพาะหน้าที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม เพราะกระบวนการและวิธีการดำเนินการจากภาครัฐเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา “แต่เรื่องของเยาวชนดำเนินไปอย่างรวดเร็ว” ดังนั้นหากมีการเปิดพื้นที่ ให้สามารถรองรับประเด็นที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้ ก็จะช่วยให้หลายๆ ภาคส่วนสามารถเตรียมความพร้อมในการรับมือ และเปิดโอกาสให้ประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นมีพื้นที่ในการสื่อสาร ไม่ใช่รอถอดบทเรียนเพียงอย่างเดียว

“การศึกษาไม่ได้เน้นย้ำให้เด็กรู้ว่า พวกเขามีส่วนร่วมกับการสร้างสื่ออยู่ตลอดเวลา”

ครูโอ ปราศรัย เจตสันติ์

“หลักสูตรส่งเสริมสื่อในโรงเรียนส่วนมากเน้นเชิงเทคนิค ซึ่งเป็นไปตามความถนัดของอาจารย์ผู้สอน ผลผลิตของนักเรียนจึงเกิดบนมุมมองที่ว่า ‘สื่อคือทักษะเทคโนโลยีที่นำไปสู่การทำเงิน ทำอาชีพ’ แต่ไม่ได้ส่งเสริมว่า จะเล่าเนื้อหาอะไร จะสื่อสารอะไร เพื่ออะไร ดังนั้น มุมมองของผู้จัดการศึกษาควรตั้งคำถามให้เห็นว่า สื่อเป็นอะไรได้มากกว่านั้น” — คุณปราศรัย เจตสันติ์ หรือ ครูโอ จากเครือข่าย Thai Civic Education

“มุมมองการศึกษาให้ความสำคัญเรื่องนี้น้อย” ครูโอระบุเพิ่มเติมว่า ระบบการศึกษาไม่ได้เน้นย้ำให้เด็กตระหนักรู้ว่าพวกเขามีส่วนร่วมกับการสร้างสื่ออยู่ตลอดเวลา ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ พวกเขาไม่ถูกส่งเสริมให้คิดวิเคราะห์ว่า “ข้อความ (message) ที่จะสื่อสารออกไปเป็นอย่างไร” และไม่ได้คำนึงว่าเป้าหมายในการสื่อสารคืออะไร จะส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของสังคมอย่างไร

ครูโอมองว่า “การพัฒนาด้านการศึกษาควรเอาสองอย่างนี้ไปด้วยกัน” โดยไม่ได้เน้นแค่เรื่องเทคนิคการสร้างสื่อ แต่เน้นสารสำคัญที่ต้องการส่งต่อไปให้สังคม ในขณะเดียวกันกองทุนที่ให้ทุนผลิตสื่อ ก็ควรคำนึงว่าเป้าหมายการพัฒนาที่เกี่ยวกับสื่อนั้น คือการพัฒนาตัวเยาวชนเองให้เป็นพลเมืองที่ตระหนักในโลกปัจจุบัน ไม่ใช่ขายเทคนิค ขายแต่ความน่าสนใจ จนละเลยปัญหาหรือผลิตซ้ำปัญหาในสังคม ซึ่งหากคำนึงทั้งสองเรื่องไปพร้อมกันได้ จะทำให้เยาวชนและคนในสังคมคิดอย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น

ในส่วนของภารกิจกองทุนสื่อฯ ครูโอย้ำว่า “หากมีการให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครือข่าย โดยการสร้างครูที่มีความตระหนักรู้เช่นนี้ คงทำให้ขยายไปสู่นักเรียนได้เพิ่มมากขึ้น เพราะหลายโรงเรียนมีทุนเดิมเรื่องหลักสูตรสื่อและเทคโนโลยีอยู่แล้ว”

นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้เยาวชนได้คิด ฝึกวิจารณญาณ และคำนึงถึงช่วงวัย แต่ที่ต้องตระหนักมากคือ สื่อที่ดีคือสื่อที่มีการตั้งคำถามและทำให้เด็กต่อยอดจากการคิดไปได้จากประเด็นที่สื่อนำเสนอ ให้เขารู้ว่าคำตอบมันมีการคิดได้หลายมุมมอง อยู่ที่ว่าเราคิดจากบริบทและพื้นฐานอะไร ทำให้เขามีมุมมองที่กว้างขึ้น

ครูโอกล่าวว่า…

“เพราะการเรียนรู้เท่าทันสำคัญกว่าการปิดกั้น”

“เปลี่ยนจากทำสื่อเพื่อตอบโจทย์กรรมการ สู่การค้นหาและรู้จักตนเอง”

คุณแซก ศุภวุฒิ แพร่แสงเอี่ยม

“คนในวัย Gen Z ให้ความสำคัญกับการที่ตัวเขาเองสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ การพัฒนาเยาวชนควรเริ่มที่การรู้จักตัวเอง (self-awareness) และต่อยอดไปสู่การสร้างความตระหนักทางสังคม (social awareness)”

— คุณศุภวุฒิ แพร่แสงเอี่ยม หรือคุณแซก ประธานสภานักเรียนเทพศิรินทร์

“ปัจจุบันเยาวชนรู้วิธีการสร้างสรรค์และการใช้เทคนิคนำเสนอให้สื่อน่าสนใจ แต่ยังขาดโอกาสที่จะได้ลงลึกถึง key message และการสร้างผลกระทบต่อสังคม เพราะหลายครั้ง การทำสื่อของเยาวชนเป็นไปตามกลไกที่ตอบสนองต่อการให้รางวัล หรือเอาใจกรรมการผู้ตัดสิน”

หากการสนับสนุนสื่อของเยาวชนเปลี่ยนจากการส่งเสริมให้ทำเพื่อตอบโจทย์กรรมการ ไปสู่การสนับสนุนเรื่องการค้นหาตัวตนและรู้จักตนเอง (self-expression) ก็จะทำให้เกิดผลลัพธ์ใหม่ๆ ที่ยั่งยืนได้ โดยกลไกการทำสื่อเองก็จะเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ศึกษาและสำรวจประเด็นที่อาจจะยังไม่เคยรู้ หรือต้องการรู้ให้มากขึ้น ดังประโยคทิ้งท้ายที่ว่า “กระบวนการทำสื่อมันไม่ใช่แค่เรื่องปลายทางจะสวยงาม แต่สำคัญที่ระหว่างทางที่จะทำให้เราไปเจออะไรใหม่ๆ”

ผู้เขียนเองเชื่อว่า ถึงเวลาอัปเดตเวอร์ชันความหมายของคำกว้างๆ ที่ไม่ว่าจะหน่วยงานใดก็นิยมใช้อย่างคำว่า “พลเมือง” ให้ใช้งานได้ เป็นสากล และสอดคล้องกับยุคสมัย เช่นเดียวกันกับประเด็นหลักในงานเสวนา มากกว่าการมีค่านิยมชุดใดๆ กำหนดไว้แต่แรก และเชื่อว่า นิยามความเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัลนี้จะนำพาหน่วยงานด้านสื่อ ทั้งผู้ผลิตและผู้สนับสนุน โดยเฉพาะกองทุนสื่อฯ ไปสู่ก้าวใหม่ในการส่งเสริมบทบาทของทั้งเยาวชนและสื่อซึ่งไม่อาจแยกขาดกันอีกต่อไป