ThaiPublica > คอลัมน์ > วัยรุ่นใช้จ่ายอย่างไร ในฐานะคนใช้เงินของพ่อแม่

วัยรุ่นใช้จ่ายอย่างไร ในฐานะคนใช้เงินของพ่อแม่

20 พฤศจิกายน 2022


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

วัยรุ่นใช้จ่ายอย่างไรในฐานะคนใช้เงินพ่อแม่ สำรวจความคิดวัยรุ่นที่ยังไม่มีเงินเดือนเป็นของตัวเอง และยังต้องพึ่งพาเงินจากพ่อแม่อยู่ว่า พวกเขาคิดอย่างไร เวลาต้องควักกระเป๋าใช้จ่ายสิ่งต่าง ๆ ท่ามกลางการดำรงชีวิตอยู่ในยุคทุนนิยมที่การใช้เงินคือการตามให้ทันเพื่อน ๆ

อะไรซ่อนอยู่ตรงกลางระหว่างทัศนคติดังกล่าวกับเงินที่ไม่ใช่ของตัวเอง

ในบรรดาโปรเจ็คต์ที่ผมมีโอกาสได้คลุกคลีตลอดช่วงปีที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นคือ Living in Generation ที่เราสนใจสำรวจโลกวัยรุ่นผ่านเรื่องเล่าและประสบการณ์ มากกว่า ข้อมูลในเชิงสถิติ หรือ งานวิจัย บนความร่วมมือของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทำให้ผมได้ใช้เวลาพูดคุยกับคนในเจเนอเรชั่นแห่งยุคสมัยเหล่านี้

ผมมีโอกาสได้สัมภาษณ์วัยรุ่นมหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งที่มีไลฟ์สไตล์ร่วมสมัยกับยุคปัจจุบัน พวกเขาจับจ่ายใช้สอยผ่านการกินเที่ยวในวันหยุด มีโทรศัพท์มือถือแบรนด์มาตรฐานของสังคม มีเครื่องสำอางอย่างดี และหิ้วกระเป๋าแบรนด์เนม ถึงจะมีรายได้จากการช่วยทำการบ้านอยู่บ้าง แต่พวกเขาเหล่านี้ไม่มีเงินเดือนประจำเป็นของตัวเอง และยังพึ่งพาเงินจากพ่อแม่เป็นหลัก

“แม่ให้เดือนละ 9,000 บาททุกเดือน ไม่รวมค่าหอพัก ค่าหาหมอ ค่ายาจิตเวช กับค่าเทอม” ในขณะที่อีกบางคนในกลุ่มได้ถึงเดือนละ 15,000 บาท โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกเช่นกัน สำหรับนักศึกษากลุ่มนี้ เงินที่ได้มาส่วนใหญ่แล้วถือว่า เพียงพอแล้วต่อไลฟ์สไตล์ในแบบนักศึกษาปัจจุบัน

“พ่อแม่ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรจากเงินที่ให้มานะ จะใช้ยังไงก็ใช้ เราก็ไม่เคยขอเพิ่ม คิดว่า เขาคงอยากให้เราโฟกัสที่การเรียนเป็นหลัก ไม่ต้องมากังวลเรื่องเงิน ไม่ต้องเอาเวลาไปทำงานพิเศษเพิ่มเติม”

ผู้ให้สัมภาษณ์อีกคนหนึ่งมีโอกาสได้ไปศึกษาในระดับปริญญาตรีที่ต่างประเทศ และพบว่า เพื่อน ๆ ที่นั่นแทบทุกคน ทำงานเพื่อส่งตัวเองเรียน และมีไลฟ์สไตล์ที่ประหยัดกันพอสมควร เช่น กินฟาสต์ฟู้ด อยู่หอแบบแชร์กันหลาย ๆ คน รวมถึงใช้เวลาหลังหรือก่อนเรียนไปกับการทำงานร้านอาหาร งานเดลิเวอรี่ งานเลี้ยงเด็กเฝ้าบ้าน ตลอดจนขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ ในมหาวิทยาลัย กระทั่งผู้ให้สัมภาษณ์กลับไทยเพื่อเรียนให้ครบตามหลักสูตร ก็พบสิ่งที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เช่นเดียวกันกับที่เรากำลังพูดคุยกับวัยรุ่นนักศึกษากลุ่มนี้

“เราใช้ไอโฟน 13 มีแมคบุคส์ อยู่คอนโดกับแฟนสลับกับบ้านพ่อแม่ เดินซื้อเครื่องสำอางวันหยุด แล้วก็กินคาเฟ่ กินอาหารตามร้าน ไม่ได้ต้องหารายได้เพิ่มเติม เรามองว่า นักศึกษาไม่ได้มีหน้าที่แค่การเรียน แต่ยังต้องรักษาการเข้าสังคม พบปะเพื่อน ๆ เพื่อไม่ให้ mental breakdown ไปกว่านี้” แรงกดดันที่แต่ละคนต้องแบกรับในช่วงวัยรุ่นดูจะเป็นอีกปัจจัยหลักที่ได้รับการเยียวยาลงบ้างจากการใช้จ่าย

“เราก็เกรงใจแม่นะ เค้าไม่ได้รวยอะไร ทุกวันนี้ก็ยังทำงานอยู่ หลาย ๆ ครั้งก็ช่วยเค้าเซฟ เวลาตัดสินใจจะซื้อของซักอย่าง ก็มักนึกถึงเค้าด้วย เช่น ถ้าซื้อเครื่องสำอาง มีของแถมดี ๆ เราก็ให้เค้าตลอด”

“เราว่า เราประหยัดที่สุดในแบบของเรา เช่น กดโปรลดราคา Grab ลดค่าอาหาร หรือ เลือกซื้อของช่วงเซลล์อะไรแบบนั้น”

เมื่อถามถึงสินค้าแบรนด์เนม เช่น กระเป๋า หรือ โทรศัพท์ คำตอบที่ได้คือ “เรามองว่า ของพวกนี้เป็นการใช้จ่ายที่คุ้มค่าเหมือนซื้อโน้ตบุกส์มาเรียนหนังสือนั่นแหละ เหมือนแต่งตัวไปคาเฟ่” เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการอาศัยอยู่ในวัฒนธรรม Visual culture ซึ่งจำเป็นต้องบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยบ้างเพื่อรักษาความมั่นใจบางประการไว้ “เราเลยมองว่า โอเค เรารู้ว่า เรื่องไหนควรประหยัด เพราะเป็นเงินของพ่อแม่ ทุกบาทเราก็เกรงใจที่จะจ่ายนะ แค่เราไม่ได้ขอเงินเค้ามาจ่ายอะไรเพิ่ม เราใช้เงินที่เหลือ รวม ๆ กันหลายเดือน พอมันอยู่ในบัญชี มันก็เป็นเงินที่ใช้ไม่หมดในเดือนนั้น เราก็รู้สึกว่า มันน่าจะถือเป็นเงินของเรานะ เพราะเราอุตส่าห์ประหยัดตั้งแต่หลายเดือนก่อน”

พอเงินที่ได้จากพ่อแม่เหลือเก็บกลายเป็นเงินออม วัยรุ่นก็รู้สึกว่า ตัวเองสามารถใช้เงินนั้นได้ด้วยความเกรงใจที่ลดลง

“ไม่ได้คิดเรื่องเงินออมอะไรเลย คือบางเดือนเหลือเยอะ ก็บอกให้พ่อแม่โอนมาน้อยลง คงเพราะเดี๋ยวยังไงพอเรียนจบ อนาคตมาถึง ก็ต้องคิดอยู่ดี ค่อยไปคิดตอนนั้นละกัน” ผู้ให้สัมภาษณ์กล่าวต่อว่า “วัยเรียนมีเรื่องให้ต้องคิดเยอะแยะไปหมด ทั้งงานมหาวิทยาลัย กิจกรรม งานกลุ่ม เพื่อน ๆ ความสัมพันธ์ และสุขภาพจิต”

ระหว่างการสัมภาษณ์นี้ ผมนึกถึงสิ่งที่เป็นหน้าที่ที่มากกว่าการเรียน วัยรุ่นเป็นช่วงเวลาแห่งการค้นหาตัวตนบนมาตราฐานทางสังคมบางประการ ซึ่งการเรียนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการผจญภัยนี้ ยังมีเรื่องอีกมากมายให้ต้องคิด ต้องรู้สึก และต้องยอมจ่ายบ้าง เพื่อยืนยันคำถามยาก ๆ ที่ว่า เราคือใคร บนมาตราฐานขั้นต่ำของประชากรช่วงวัยนี้ที่อาจจะเป็นการไปคาเฟ่ทุกวันหยุด และมีกระเป๋าแบรนด์เนมถือ

“แม่เสนอว่า ถ้าเราต่อ ป.โท ก็จะยังออกค่าใช้จ่ายให้เรา พร้อมค่าเทอม เราเอามาคิดบ่อย ๆ ว่า ถ้าถึงตอนนั้นจะเป็นยังไงกัน ที่แน่ ๆ คือ ถ้าเรียนไม่หนักไป เราคงเลือกจะทำงานเสริมไปด้วย” จากคำพูดข้างต้น ผมรู้สึกได้ถึงความคาดหวังจากผู้ปกครองที่มองการให้เงินเดือนประจำกับลูกที่ยังเรียนไม่จบเป็นหนึ่งในการลงทุนกับอนาคตที่ดี ลงทุนกับหลักประกันว่า หากลูกมีการศึกษาดี ๆ ติดตัวแล้ว ยามที่ยากลำบากก็คงเอาตัวรอดได้

“ในกรณีของเรา แม่ก็บอกให้ประหยัด ๆ บ้างนะ แต่เค้าไม่เคยมายุ่งว่า เราควรใช้เงินยังไง เหมือนเค้าให้มาเท่านี้บาทต่อเดือน ถ้าเราไม่ได้ขอเกินนี้ อยู่ในลิมิต ก็เป็นอันรับได้ สิ่งนี้ทำให้เรารู้สึกว่า เค้าเคารพการตัดสินใจของเรา”