ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อวัยรุ่นปัจจุบันมีจิตแพทย์เป็นไอดอล

เมื่อวัยรุ่นปัจจุบันมีจิตแพทย์เป็นไอดอล

16 พฤษภาคม 2023


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

เมื่อวัยรุ่นปัจจุบันมีจิตแพทย์เป็นไอดอล

“หลายคนมีคนดังๆ ในประวัติศาสตร์เป็นไอดอล แต่ของเรา เรามีจิตแพทย์เป็นไอดอล” ผู้ให้สัมภาษณ์เข้ารับการรักษาโรคที่เรียกว่า Mood Disorder ต่อเนื่องกับจิตแพทย์ที่เขากล่าวถึงเป็นเวลามากกว่า 2 ปีแล้วและไม่เคยตัดสินใจเปลี่ยนจิตแพทย์สักครั้งเดียว

บทความนี้จะชวนสำรวจมุมมองของเขาในฐานะคนไข้ต่อจิตแพทย์ของตนเอง เมื่อจิตแพทย์เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อชีวิตวัยรุ่นในปัจจุบัน

จิตแพทย์เหล่านี้เป็นใครในสายตาของเขาเหล่านั้น และในความสัมพันธ์ที่เขาต้องรักษาระยะห่างและมีขอบเขต เขามีจินตนาการต่อจิตแพทย์ของตนอย่างไร

“เราไปหาจิตแพทย์คนนี้ครั้งแรกเพราะแฟนแนะนำ แฟนเห็นเราอารมณ์สวิงง่าย เราเคยไปหาจิตแพทย์ของแฟนแล้ว เลยไม่ได้คิดมาก และพอจะเข้าใจว่ามันต่างจากการไปหาจิตแพทย์ในละครที่คนป่วยคือต้องเป็นบ้า เสียสติอะไรแบบนั้น”

ผู้ให้สัมภาษณ์เลือกจะไปหาจิตแพทย์ในโรงพยาบาลเดียวกับแฟนของเขา เพราะความสะดวก แต่ผลที่ได้ตามมาคือ ความรู้สึกเหมือนเจอคนที่ใช่ “ครั้งแรกจำได้ว่า หมอให้เราเตรียมสิ่งที่เรียกว่า life review ไป ซึ่งก็คือกระดาษเอสี่ประมาณ 3 หน้าที่เราเขียนบรรยายว่าเราเจออะไรมาในชีวิตบ้าง หมออ่านทุกคำที่เราเขียนไป รวมถึงคำในวงเล็บก่อนจะบอกว่า อารมณ์เราเยอะมาก และค่อยๆ ถามถึงเหตุการณ์ต่างๆ เราเองคิดว่า ทั้งชีวิตเรา เราก็เล่าให้คนนั้นคนนี้ฟังบ้างนะ สิ่งที่เราเจอแต่ไม่เคยมีใครถามเราแบบนี้มาก่อน”

ทุกครั้งก่อนออกจากห้องตรวจ ผู้ให้สัมภาษณ์บอกว่า สิ่งที่เขาได้รับจากจิตแพทย์วันนั้นคือ คำชม

“พอโตเกินเด็กแล้วก็ไม่ค่อยมีใครชมหรอก ยิ่งถ้าไม่ได้มีหัวหน้าดีๆ ด้วยแล้ว ถ้าจะมีใครสักคนชมเรา ก็คงมีแต่จิตแพทย์”

“หมอบอกว่า เราเป็นจีเนียส และจีเนียสจำนวนมากในโลกก็มีประสบการณ์ทางอารมณ์ที่เยอะ และหลายคนก็บอกว่าสุดท้ายแล้วเค้าภูมิใจที่เค้าสามารถสัมผัสเหตุการณ์ต่างๆ ได้มากกว่าคนอื่น การรักษาจะช่วยให้เราอยู่กับอารมณ์ได้โดยไม่กระทบกับความคิดสร้างสรรค์ของเรา” 

“เรามองเค้าเป็นมากกว่าคนที่มาคอยรับฟังและจ่ายยา แน่นอนเราเคยพยายามหาเฟซบุ๊กเค้า เซิร์ชชื่อเค้าในยูทิวบ์ แต่ไม่เจออะไรเลย เจอแค่ว่าเค้าทำงานที่ไหนบ้าง แค่นั้น เค้า low profile มากซะจนเราก็คิดว่าแง่หนึ่งก็ดีเหมือนกัน เพราะสิ่งที่เรารู้จักเค้า ก็คือการรู้จักผ่านห้องตรวจนี่แหละ”

ผู้ให้สัมภาษณ์เล่าถึงขอบเขตที่เกิดขึ้นระหว่างความสัมพันธ์ของตัวเขากับจิตแพทย์ ที่แม้จะเป็นคนที่คอยรับฟังและมีคำแนะนำดีๆ ให้ทุกเรื่อง แต่ก็มีกำแพงบางอย่างที่ไม่อาจก้าวข้ามไปได้

“การจะติดต่อกับหมอในเวลาฉุกเฉินก็แปลกหน่อย แต่ไม่ยุ่งยาก คือเราโทรหาโรงพยาบาล โรงพยาบาลก็ให้ถือสาย สักพักหมอก็โทรกลับด้วยเบอร์ที่ไม่ใช่เบอร์มือถือ” 

“เราว่า เค้า (จิตแพทย์ที่หาอยู่) เป็นคนมีสมดุลในชีวิต เราเห็นเค้านอกจากทำงานในโรงพยาบาลที่เราหาแล้วก็ทำงานที่อื่นซึ่งดูเป็นบริการเพื่อสังคมด้วย เท่าที่เรารู้จักเค้า เค้าน่าจะใช้เวลาส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รักษาคนไข้ไปกับการอ่านงานวิจัยด้านสุขภาพจิตใหม่ๆ เพราะเค้ามีอะไรมาเล่าตลอด เราปรึกษาเค้าทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องอาการ แต่เรื่องอนาคต เรื่องครอบครัว เรามองเค้าเป็นต้นแบบ” ผู้ให้สัมภาษณ์ยังพูดทีเล่นทีจริงว่า หากวันหนึ่งแต่งงานก็อยากเชิญหมอมาพูดในวันงานดู

“คุยกับแฟนเสมอว่า เวลารู้สึกแย่ๆ ก็ให้นัดจิตแพทย์เพราะอยากฟังอะไรคล้ายๆ wisdom word จากหมอ เราว่ามันบำบัดเราจริงๆ”

นอกจากนี้ ผู้ให้สัมภาษณ์ยังมีนัดกับนักจิตวิทยาด้วย เราจึงมีโอกาสได้สอบถามถึงประสบการณ์ของเขาต่อนักจิตวิทยาที่หาอยู่ “จริงๆ ตอนแรกเราเจอนักจิตวิทยานอกโรงพยายาลก่อน แล้วไม่โอเคมากๆ เหมือนมาฟังคนบ่นสิ่งที่สังคมรู้อยู่แล้ว เสียดายเงินมาก จนกระทั่งมีช่วงนึงย้ายจังหวัดไปอยู่ภาคเหนือ ก็บังเอิญได้เจอนักจิตวิทยา เราไม่ได้เจอเค้าตรงๆ ในครั้งแรกนะ แฟนไปหาก่อน เพราะแฟนต้องบำบัดด้วยกระบวนการสมัยใหม่บางอย่าง แล้วนักจิตคนนี้เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญ พอแฟนกลับมาบ้านก็ชมแล้วชมอีก แล้วบอกว่าเราน่าจะลองไปหาดูนะ”

ผู้เขียนสัมภาษณ์ไปก็แอบอิจฉาในความโชคดีของการมีแฟนที่ซัพพอร์ตกันเรื่องสุขภาพจิต เพราะในประสบการณ์ของผู้เขียนเองซึ่งก็ไปหาจิตแพทย์เกือบทุกเดือน แฟนนอกจากไปรับไปส่งในครั้งแรกๆ ก็ไม่เคยเข้าไปเจอหมอด้วยกันเลยแม้จะชวนกี่ครั้งก็ตาม ต่างจากผู้ให้สัมภาษณ์ซึ่งเล่าหลังสัมภาษณ์จบว่าแฟนมีดอกไม้มาให้ด้วยหลังออกจากห้องตรวจ

“เราก็เลยลองไปหาดู เพราะอยากรู้ว่า ที่แฟนพูดเป็นยังไง เอาจริงๆ เราตอนนั้น การไปใช้บริการทางสุขภาพจิต เหมือนเป็นงานอดิเรกเลย”

ผู้ให้สัมภาษณ์บอกว่า งานที่ตัวเองทำไม่ต้องเข้าออฟฟิศและไม่ได้กำหนดเวลา ขอให้งานเสร็จออกมามีคุณภาพเป็นพอ จึงมีเวลาไปเข้าร่วมกิจกรรมทางสุขภาพจิตหลากหลาย “เราก็ว้าวเลย นักจิตคนนี้ไม่เหมือนกับคนก่อนหน้า เป็นอีกคนที่เราชื่นชมไลฟ์สไตล์แกมากๆ แกแตกต่างจากหมอนะ เพราะหมอเราแทบไม่รู้จักด้านอื่นๆ เลยแต่นักจิตเรารู้ว่าแกอะไรทำบ้างนอกจากทำงานที่โรงพยาบาล แล้วก็เป็นกิจกรรมที่เราสนใจทั้งหมด เรามีไลน์แกด้วย คิดไว้ตลอดว่าอนาคตอยากเป็นแบบนี้ ไม่ใช่นักจิตวิทยานะ แต่เป็นคนที่จัดวางความสัมพันธ์และดูแลชีวิตตัวเองได้ดีขนาดนี้”

“เราว่า การไปหานักจิตวิทยาและจิตแพทย์เป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของคนรุ่นเรานี่แหละ มันทำให้เราเรียนรู้ประสบการณ์เดิมของเราในมุมมองใหม่ ช่วยเติมความหวังในการใช้ชีวิต คงเหมือนไปตรวจสุขภาพกายประจำปี สุขภาพจิตก็เหมือนกัน เราก็ควรหมั่นไปเช็คบ่อยๆ ยิ่งถ้าเจอนักจิตหรือจิตแพทย์ที่ใช่ ก็เหมือนได้หลักประกันบางอย่างในชีวิต”