ThaiPublica > เกาะกระแส > เอ็กโก กรุ๊ป เปิดแผนลงทุนปี 2567 ทุ่มงบ 3 หมื่นลบ.เพิ่มพลังงานสะอาด

เอ็กโก กรุ๊ป เปิดแผนลงทุนปี 2567 ทุ่มงบ 3 หมื่นลบ.เพิ่มพลังงานสะอาด

13 กุมภาพันธ์ 2024


นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) หรือเอ็กโก กรุ๊ป

EGCO หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดแผนลงทุนปี 2567 ทุ่มงบอีก 30,000 ล้านขยายกำลังผลิตไฟ 1,000 เมกะวัตถ์ เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน โดยไม่มีการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม เร่งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม “หยุนหลิน” ให้แล้วเสร็จในปีนี้

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) หรือเอ็กโก กรุ๊ป เปิดแผนลงทุนในปี2567 ว่าได้ตั้งเป้างบลงทุนปี 2567 ประมาณ 30,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่อีก 1,000 เมกะวัตต์ โดยจะซื้อกิจการโรงไฟฟ้า (M&A) เข้ามาเพิ่มเติม จากกำลังผลิตปัจจุบันที่มีโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วและโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 6,996 เมกะวัตต์ และจะเพิ่มสัดส่วนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าจะมีผลดำเนินงานเติบโตขึ้นกว่าปีก่อน เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าใหม่ที่จ่ายไฟเชิงพาณิชย์(COD)ได้แล้วในปีนี้และสามารถรับรู้รายได้ทันทีหลายแห่ง

“การลงทุนในปี2567 นอกจากทำการดีลซื้อกิจการโรงไฟฟ้า (M&A) เข้ามาเพิ่มเติม  จะไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าแบบ Conventional  (แบบเก่า) ในปีหรือสองปีนี้ โดยจะให้น้ำหนักมากขึ้นในเรื่องของพลังงานหมุนเวียน ที่จะเป็นโครงการพลังงานหมุนเวียนบิ๊กล๊อตที่ส่งเข้าไปประกวดราคา แต่สัดส่วนจะเพิ่มขึ้นมากน้อยขนาดไหนขึ้นอยู่กับการปิดดีลได้  แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าในปี 2573 จะเพิ่มเป็น 30 % ตามเป้าหมาย Net Zero”

นายเทพรัตน์  ยอมรับว่า การเพิ่มพลังงานสีเขียวยังต้องเดินคู่ไปกับการ โรงไฟฟ้า Conventional เพราะว่าบริษัทยังต้องมีเงินหมุนเวียน ซึ่งโรงไฟฟ้าแบบเก่ายังทำกำไรได้มากกว่า ทำให้ต้องเดินไปคู่กัน ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะไม่มีการลงทุนใหม่

สำหรับ EGCO  POWER PLANT  PORTFOLIO  ปัจจุบันมีกำลังผลิต 6,996 เมกะวัตต์  แบ่งเป็นกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรวม 1,440 เมกะวัตต์ สัดส่วน 21% ของกำลังผลิตทั้งหมด ทั้งจากชีวมวล พลังน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมทั้งบนบกและในทะเล เซลล์เชื้อเพลิง และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ โดยโรงไฟฟ้าและโครงการต่าง ๆ ตั้งอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา ขณะที่โรงไฟฟฟ้าก๊าซธรรมชาติยังเป็นสัดส่วนหลัก 4,200 เมกะวัตต์คิดเป็นสัดส่วน 60% ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่มีกำลังการผลิต 1,356 เมกะวัตต์ หรือสัดส่วน 19 %

ลุยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในสหรัฐ

นายเทพรัตน์ ยังได้เปิดเผยถึงการลงทุนโรงไฟฟ้าในในต่างประเทศว่า เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566 เอ็กโกโดยบริษัทย่อยได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับโคเจนทริก ไรเซ็ก ซีพีโอซีพี โฮลดิ้งส์ แอลแอลซี (Cogentrix RISEC CPOCP Holdings, LLC) และโคเจนทริก ไรเซ็ก ซีพีพี ทู โฮลดิ้งส์ แอลแอลซี (Cogentrix RISEC CPP II Holdings, LLC)เพื่อเข้าถือหุ้นสัดส่วน 49% ในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมไรเซ็ก (RISEC) ในเมืองจอห์นสตัน รัฐโรดไอแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีกำลังผลิตสูงสุดที่ 609 เมกะวัตต์ โดยจะจำหน่ายไฟฟ้าผ่านตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้านิวอิงแลนด์ (ISO-NE)

โรงไฟฟ้าไรเซ็กยังมีรายได้มั่นคงเพราะทำสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดพร้อมทั้งให้บริการเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าอื่น ๆ ให้กับบริษัท เชลล์ เอ็นเนอร์ยี่ นอร์ธ อเมริกา (Shell Energy North America) จนถึงปี 2568 ตลอดจนโรงไฟฟ้าไรเซ็กมีศักยภาพในการลงทุนเพิ่มกำลังผลิต ด้วยการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Battery Energy Storage System) รวมถึงการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผสมในการผลิตไฟฟ้า

การลงทุนในสหรัฐของบริษัทฯยังประกอบด้วย Compass Portfolio กำลังผลิต 1,304 เมกะวัตต์ จากการเข้าไปถือหุ้น 50% กลุ่มโรงไฟฟ้า Compass ที่สามารถปิดดีลได้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยมีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 3 แห่ง ได้แก่ Marcus Hook กำลังผลิต 912 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในรัฐเพนซิลเวเนีย โรงไฟฟ้า Milford กำลังผลิต 205 เมกะวัตต์ และ โรงไฟฟ้า Dighton กำลังผลิต 187 เมกะวัตต์  โดยทั้งสองแห่งนี้ตั้งอยู่ในรัฐแมสซาชูเซตส์

ข้อดีของโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งคือ ตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้กับศูนย์กลางของเมืองใหญ่ที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงมาก ได้แก่ ฟิลาเดลเฟีย บอสตัน และโพรวิเดนซ์ โดยพื้นที่เหล่านี้มีข้อจำกัดอย่างมากในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ ขณะที่มีนโยบายมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจำเป็นต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เสริมความมั่นคงให้แก่ระบบ

นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ในสหรัฐสามารถขายไฟฟ้าและขายค่าความพร้อม หรือบริการเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าให้แก่ตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าในพื้นที่ที่แต่ละโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ด้วย โดยขายค่าความพร้อมจ่ายไปแล้ว 3 ปี

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) หรือเอ็กโก กรุ๊ป

ลงทุนกับ APEX รุก 7 โครงการพลังงานสะอาด

นายเทพรัตน์ ยังกล่าวอีกว่า บริษัทฯได้ลงทุนรูปแบบใหม่ กับ บริษัท เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง (APEX) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาหรือสร้างโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในสหรัฐ ที่พัฒนาโรงไฟฟ้าแล้วขายโรงไฟฟ้า และสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อขายไฟฟ้า เป็นการดำเนินการได้ทั้งสองรูปแบบ  จากเดิม ที่บริษัทฯลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าแบบมีสัญญา PPA ( Power Purchase Agreement )  หรือ สัญญาการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตกับผู้ซื้อซึ่งมีระยะเวลากำหนด ทำให้มีโรงไฟฟ้าหลายโรงกำลังจะหมดสัญญาและต้องพัฒนาใหม่

ทั้งนี้มีแผนขยายโครงการพลังงานหมุนเวียนของบริษัท เอเพ็กซ์ คลีน เอ็นเนอร์ยี โฮลดิ้ง (APEX) ที่เอ็กโก กรุ๊ปถือหุ้นอยู่ 17.46% ซึ่งรับรู้รายได้ตามสัดส่วนการถือหุ้น 2 โรงไฟฟ้าของเอเพ็กซ์กำลังผลิตรวม 294 เมกะวัตต์ที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว

นายเทพรัตน์ กล่าวว่า สหรัฐมีกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ มากกว่า 60,543 เมกะวัตต์ บริษัทฯ จึงเห็นความสำคัญที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังานหมุนเวียน ปัจจุบันมีโครงการที่เริ่มดำเนินการแล้วทั้งหมด 2 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Great Pathfinder กำลังการผลิต 224.25 เมกะวัตต์และโครงการโซลาร์ Mulligan Solar กำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์

นอกจากนี้มีโครงการพลังงานสะอาดที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างทั้งหมด 7 โครงการประกอบด้วย โครงการโซลาร์ฟาร์ม 3 โครงการ ได้แก่ Angelo Solar ซึ่งเป็นโครงการโซลาร์ฟาร์มกำลังผลิต 195 เมกะวัตต์ในรัฐเท็กซัส คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในไตรมาส 3 ปี 2567 โดยได้เริ่มทำสัญญาซื้อขายไฟกับ Meta โครงการ Big Elm Solar กำลังผลิต 200 เมกะวัตต์ เริ่มดำเนินการไตรมาส 3 ปี 2567 และโครงการ Wheatsborough Solar ในรัฐโอไฮโอ กำลังผลิต 125 เมกะวัตต์ เริ่มดำเนินการไตรมาส 2 ปี 2568

โครงการแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ Angelo Battery Storage ในรัฐเท็กซัสที่จะเริ่มดำเนินการในไตรมาส 2 ปี 2567 ด้วยกำลังผลิต 100 เมกะวัตต์ และโครงการ Great Kiskadee Storage ในรัฐเท็กซัส กำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ และจะเดินเครื่องไตรมาส 3 ปี 2567

โครงการพลังงานลม 2 โครงการ ได้แก่ Timbermill Wind ในรัฐนอร์ทโคโรไลน่า โดยได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ Google ด้วยกำลังผลิต 189 เมกะวัตต์ คาดว่าเริ่มเดินเครื่องในไตรมาส 4 ปี 2567 และโครงการ Downeast Wind ในรัฐเมน คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องไตรมาส 4 ปี 2567 ด้วยกำลังผลิต 126 เมกะวัตต์

เร่งโรงไฟฟ้าพลังลมนอกชายฝั่งหยุนหลินเสร็จปี2567

ส่วนโครงการที่ถือเป็นไฮไลท์ คือโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมนอกชายฝั่งหยุนหลิน ในไต้หวัน ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถก่อสร้างได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 80 ต้น เนื่องจากปัญหา พายุ มรสุม และโควิด-19 ทำให้มีระยะเวลาในการทำงานที่ทำได้เพียง 5-6 เดือนต่อปี ปัจจุบันติดตั้งกังหันลมแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบแล้ว 33 ต้น แต่ภายในปี 2567 บริษัทฯจะต้องดำเนินการเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จครบ 80 ต้น

“ถือเป็นความท้าทายในการก่อสร้างมาก เพราะมีอุปสรรคพายุ คลื่นลม จากการติดตั้งเสาขนาด 1900 ตันกลางทะเล  แต่บริษัทไม่สามารถเลื่อนเวลาการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date) ไปมากกว่านี้แล้ว หากไม่สามารถติดตั้งได้ครบ 80 ต้น ภายในสิ้นปี 2567 ก็จะถูกปรับและยุติการติดตั้งกังหันลมส่วนที่เหลือ  และเพื่อให้ก่อสร้างได้เร็วขึ้นบริษัทฯได้ว่าจ้างเรือเพื่อขนเสากังหันลมขนาดใหญ่และหนักมาก จำนวน 2 ลำ เพื่อดำเนินการตอกเสากังหันลมในทะเลได้มากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ากังวลกับการก่อสร้าง เนื่องจากเดิม โครงการโรงไฟฟ้าพลังลมนอกชายฝั่งหยุนหลิน ต้องติดตั้ง 80 ต้น กำลังการผลิตรวม 640 เมกะวัตต์ ให้เสร็จในปี 2564-2565 แต่เกิดปัญหาล่าช้าขึ้น ปัจจุบันติดตั้งไปแล้ว 33 ต้น กำลังผลิตไฟฟ้า 264 เมกะวัตต์  แต่ได้เจรจาและทำสัญญากันใหม่กับไต้หวันจะติดตั้งกังหันลม 80 ต้น ภายในปี 2567 นี้

ลงทุนธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานในอินโดนีเซีย

นายเทพรัตน์ กล่าวด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เอ็กโกยังได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนในสัดส่วน 30% ในบริษัท พีที จันทรา ดายา อินเวสตาสิ (CDI) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ด้วยเงินลงทุน 194 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 6,800 ล้านบาท โดยเป็นธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ธุรกิจผลิตและส่งจ่ายน้ำ และธุรกิจบริหารจัดการคลังเก็บผลิตภัณฑ์เคมีและท่าเทียบเรือ

สำหรับธุรกิจและการลงทุนของ CDI ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ยุทธศาสตร์และนิคมอุตสาหกรรม เมืองซีเลกอน (Cilegon) และเมืองเซรัง (Serang) จังหวัดบันเต็น (Banten) เกาะชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมหลักขนาดใหญ่ของประเทศ ที่มีอุปสงค์ทางอุตสาหกรรมสูงและเติบโตอย่างรวดเร็ว และข้อดีในการลงทุนครั้งนี้คือ ไม่มีคู่แข่งเนื่องจากผลิตให้กับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม

เดินเครื่องโรงไฟฟ้า EGCO Cogeneration ส่วนขยาย

ส่วนในประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2567 ได้เดินเครื่องโรงไฟฟ้า EGCO Cogeneration ส่วนขยาย ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม มีกำลังผลิตสุทธิ 74 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าประเภท Cogeneration ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมระยอง ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง

โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กทดแทน (SPP Replacement) จำนวน 28 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 25 ปี และจำหน่ายไฟฟ้าส่วนที่เหลือและไอน้ำจากกระบวนการผลิตให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมระยองและพื้นที่ใกล้เคียงจำนวน 46 เมกะวัตต์

นายเทพรัตน์  กล่าวสั้นๆถึงการแต่งตั้งผู้ว่า กฟผ.ว่า รอบอร์ด กฟผ.ชุดใหม่เรียกเข้าไปหารือ และมีความพร้อมในการทำงานอยู่แล้ว

  • วัดใจรัฐบาลเศรษฐา ตั้ง-ไม่ตั้ง “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” ผู้ว่า กฟผ. ผ่านสรรหาโดยชอบธรรมมาแล้ว 7 เดือน