ThaiPublica > คนในข่าว > ‘เอ็กโก กรุ๊ป’ เปิดกลยุทธ์เปลี่ยนผ่านจากพลังงานดั้งเดิม สู่ ‘พลังงานหมุนเวียน’ กับเป้า ‘Carbon Neutrality’

‘เอ็กโก กรุ๊ป’ เปิดกลยุทธ์เปลี่ยนผ่านจากพลังงานดั้งเดิม สู่ ‘พลังงานหมุนเวียน’ กับเป้า ‘Carbon Neutrality’

14 ธันวาคม 2021


นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)
หรือเอ็กโก กรุ๊ป (EGCO)

‘เอ็กโก กรุ๊ป’ เปิดกลยุทธ์เปลี่ยนผ่านจากพลังงานดั้งเดิมสู่ ‘พลังงานหมุนเวียน’ กับความสำเร็จบนแนวทาง ESG ให้องค์กร คู่ค้าและนักลงทุน

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป (EGCO) เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าว่า จากสถานการณ์สภาพแวดล้อมโลกที่กดดันธุรกิจการผลิตไฟฟ้าหรืออุตสาหกรรมไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อย Co2 สูงสุด และยังมีแรงกดดันจากสภาวะแวดล้อมอื่นๆ เป็นสาเหตุที่องค์กรหรือภาคธุรกิจในอุตสาหรรมพลังงานไฟฟ้าต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้จากนโยบายของกระทรวงพลังงานเพื่อรองรับยุคดิสรัปชั่น ด้วยนโยบาย 4D และ 1E คือ

Digitalization เทคโนโลยีเข้ามา มีบทบาทสำคัญในการกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งในอุตสาหกรรมไฟฟ้า หรือระบบสื่อสารคมนาคมต่างๆ

Decarbonization จากสถานการณ์โลก โดยเฉพาะ climate change เป็นสภาวะที่มีผลกระทบรุนแรงที่สุด เป็นแรงกดดันจากสภาวะแวดล้อมโลกเข้ามา ที่มีผลกระทบต่อธุรกิจผลิตไฟฟ้าโดยตรง โดยเฉพาะการต่อต้านโรงไฟฟ้าแบบฟอสซิล และสนับสนุนให้ใช้พลังงานหมุนเวียนทดแทน

Decentralization ระบบการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบเดิมๆ เป็นการผลิตแบบรวมศูนย์และกระจายออกไป แบบone way แต่วันนี้การผลิตไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องยาก ทุกคนสามารถผลิตได้เอง อาทิ โซลาร์เซลล์หลังคาบ้าน ต่อไปการผลิตไฟฟ้าจะเป็น Decentralization จะเป็น two way

Deregulation กฎกติกาของโลกกดดันเพิ่มมากขึ้น เช่น การกำหนดมาตรการภาษี CO2 หรือการหาแหล่งเงินทุนต่างๆ ที่หลายสถาบันก็ไม่สนับสนุนธุรกิจที่ลงทุนในถ่านหิน กฎ กติกาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะกดดันให้หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

Electrification ต่อไปอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ใช้น้ำมันเตา เครื่องยนต์ดีเซล แก๊สธรรมชาติ ก็จะหันมาใช้ไฟฟ้ามากยิ่งขึ้นหรือการเดินทาง จะมีรถ EV มาแทนที่มากขึ้น เหล่านี้เป็นตัวผลักดันให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้นนโยบาย 4Dและ 1E ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า และล่าสุดก็มีตัวเร่งรัดคือโควิด-19 ให้มีการเปลี่ยนแปลงเร็วยิ่งขึ้น กดดันให้ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจำเป็นต้องมีการปรับตัว

เอ็กโกกรุ๊ป เดินหน้าสู่พลังงานหมุนเวียน

“ถามว่าแรงกดดันรอบๆ ด้าน ส่งผลให้ EGCO ปรับตัวอย่างไร จริงๆ EGCO ให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนมาตั้งแต่ปี 2543 เราเริ่มมีโรงไฟฟ้าไบโอแมสโรงแรก หลังจากนั้นมีการบริหารพอร์ต เติมพลังงานหมุนเวียนเข้ามาในการลงทุนของเราหลากหลายมาก อาทิ พลังงานน้ำ, พลังงานลม, พลังงานแสงอาทิตย์, ชีวมวล, Hydro Power Plant, พลังงานความร้อนใต้พิภพ (ลงทุนที่อินโดนีเซีย )ล่าสุดโรงไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง ปัจจุบันได้กระจายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนไป 8 ประเทศ วันนี้เรามีพลังงานหมุนเวียนในพอร์ตประมาณ 1.6 กิ๊กกะวัตต์”

    ปัจจุบันเอ็กโก กรุ๊ป มีกำลังผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 6,016 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 29 แห่ง คิดเป็นกำลังผลิตตามสัญญาซื้อขายตามสัดส่วนการถือหุ้น 5,695 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 โครงการ คิดเป็นกำลังผลิตตามสัญญาซื้อขายตามสัดส่วนการถือหุ้น 321 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนสูงถึง 1,364 เมกะวัตต์ ทั้งจากชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานความร้อนใต้พิภพ และเซลล์เชื้อเพลิง

    ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าและโครงการต่างๆ ตั้งอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ โครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง ตลอดจนยังได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย

นายเทพรัตน์กล่าวต่อว่า “ในปีนี้ ความเข้มข้นเรื่องความต้องการลด CO2 ถูกท้าทายรุนแรงขึ้นจากการประกาศใน COP26 และรัฐบาลไทยด้วย ประกอบกับเราเองก็ประกาศเจตนารมณ์ในปี ค.ศ. 2050 ที่เราตั้งเป้า carbon neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน อาจจะดูไกลไป แต่เป้าหมายระยะกลางในปี 2030 การลดความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อเมกกะวัตต์หรือ Carbon Intensity ต้องลดลงไม่น้อยกว่า 10% จากปีปัจจุบัน”

นายเทพรัตน์กล่าวต่อว่า “วันนี้ต้องยอมรับว่าพลังงานหมุนเวียนยังไม่สามารถเป็นพลังงานหลักได้ ที่เห็นการลงทุนพลังงานหมุนเวียนเยอะๆ จริงๆ ยังเป็นสัดส่วนไม่มากนัก ถ้าเทียบกับพลังงานไฟฟ้าดั้งเดิม การลงทุนของ EGCO เองยังต้องลงทุนในพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นก๊าซ ฯลฯ แต่เราก็พยายามเลิกลงทุนในถ่านหิน แต่เราเน้นไปที่โรงไฟฟ้าก๊าซ ยังมีความจำเป็นอยู่ นั่นหมายถึงเรายังต้องปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ แต่เราจะต้องบาลานซ์โดยการดึงเอาพลังงานหมุนเวียนให้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดความเข้มข้นต่อเมกกะวัตต์ของคาร์บอนไดออกไซด์ให้ลดลง”

โบโคร็อค วินด์ฟาร์ม พลังงานลม

ความท้าทายที่สวนทางกัน…

จากปัจจุบันที่ความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องลดคาร์บอนไดออกไซด์ลงด้วย จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก นายเทพรัตน์กล่าวว่า ปัจจุบันพลังงานหมุนเวียนที่ใช้อยู่ส่วนใหญ่มาจากสายลม แสงแดด ซึ่งเป็นพลังงานที่มีความไม่แน่นอน เป็นพลังงานที่ยังพึ่งพาไม่ได้มากนัก จึงยังไม่สามารถเป็นพลังงานหลักได้ ทำให้ความจำเป็นในการลงทุนพลังงานดั้งเดิมยังต้องมีอยู่

พร้อมอธิบายถึงที่มาที่ไปเพิ่มเติมว่า “การที่พลังงานหมุนเวียนมีความไม่แน่นอน ซึ่งความไม่แน่นนอนคือ “ความแพง” เหตุผลเพราะไม่รู้(แสงแดดและสายลม)จะมาตอนไหน ไปตอนไหน เวลาบริหารความมั่นคงด้านไฟฟ้า มันต้องสร้างสมดุลระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ตลอดเวลา(ซัพพลายและดีมานด์) เพราะไฟฟ้าเป็นสินค้าประเภทเดียวที่ต้องรอ ถ้าบอกว่าคนสองคนซื้อขายไฟกันได้ ใช่ แต่จริงๆ มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะไฟฟ้ามันต้องเทเข้าไปกองกลางและเข้าระบบส่ง ซึ่งในระบบส่ง จะต้องมีความสมดุลตลอดเวลาระหว่างผู้ผลิตกับผู้ใช้”

นายเทพรัตน์เล่าต่อว่าในอดีตอุตสาหกรรมไฟฟ้าเป็นการควบคุมแบบศูนย์กลาง เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าไม่กี่โรง ขณะที่ฝั่งผู้ใช้ ก็มีโรงงานอุตสาหกรรมตามจังหวัดต่างๆ ดังนั้นการบริหารความมั่นคง ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเราสามารถดึงโรงไฟฟ้าแต่ละโรงมาสร้างความสมดุลกับดีมานด์ได้ตลอดเวลา

“แต่ปัจจุบันการมีพลังงานหมุนเวียนเข้ามามากขึ้น เป็นพลังงานที่ไม่แน่นอน เราไม่รู้ว่า(แสงแดดและลม)จะมาตอนไหน ไปตอนไหน และไม่รู้ว่าผลิตจากหลังคาบ้านไหนบ้าง ขณะที่โรงไฟฟ้าใหญ่ๆ มีการลงทะเบียนแน่นอนว่าอยู่ตรงไหน แต่วันนี้แต่ละหลังคาบ้าน ต่างคนต่างติดโซลาร์เซลล์ และเอาเข้าระบบ แม้จะไม่ขายเข้าระบบ เวลาแดดหายไปก็ต้องการไฟฟ้าไปช่วยเสริม กล่าวโดยสรุปทุกคนใช้ระบบ back up หมด ปัญหานี้ทำให้เกิดต้นทุนแฝง วันดีคืนดี เวลาแดดมา ทุกคนก็ใช้ไฟจากแสงแดด ทำให้เครื่องผลิตไฟฟ้าจากระบบเดิม ต้องหรี่เครื่องลงเพื่อรักษาสมดุล (เมื่อแดดมาจัดๆ เขาหรี่ลงเพราะแดดจ่ายไฟแทน) พอแดดหายก็ไปเร่งเครื่อง ทำให้มีปัญหา เพราะเครื่อง ramp rate ไม่ได้ออกแบบให้ปรื๊ดปร๊าด เปรียบเสมือนรถบรรทุก อัตราเร่งเครื่องไม่เหมือนรถสปอร์ต ดังนั้นการที่โรงไฟฟ้าหลายๆ โรง จำเป็นต้องหรี่เครื่องลงและเร่งเครื่องเวลาแดดหาย เวลาเราเร่งเครื่องไม่ทัน ก็จะเร่งแล้วเบรก เหมือนเวลาขับรถ ถ้าเร่งและเบรก มันกินเชื้อเพลิงหนัก เครื่องยนต์ก็จะสึกหรอเร็ว โรงไฟฟ้าก็เช่นเดียวกัน มันเดินขึ้น-ลง เหมือนการขับรถกระชากไปมา เกิดการสึกหรอของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่ ทำให้ต้นทุนการรักษาสูงขึ้น แต่ก่อนรอบบำรุงรักษา 12 ปี ตอนนี้เหลือ 6-8 ปี”

เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษามากขึ้น มันกินเชื้อเพลิงมากขึ้น มีผลให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าทั้งระบบแพงขึ้น นี่คือปัญหาที่เกิดจากพลังงานหมุนเวียนที่ไม่แน่นอน

“บางคนอาจจะบอกว่าไฟฟ้าฟรี แต่ไฟมันมาไม่แน่นอน ถ้าให้ไฟคุณฟรีๆ แต่ปัญหาคือคุณต้องเปิดใช้ตอนที่เราให้ และไม่ใช้ตอนที่เราไม่ให้ แต่ผู้ใช้ไฟก็ไม่รู้ว่าคุณจะให้ไฟตอนไหน จะเปิดพัดลมก็รอจังหวะ นี่คือความไม่แน่นอน นั่นหมายความว่ามันไม่ฟรี”

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป (EGCO)

ความมั่นคงทางพลังงานและความท้าทายของอุตสาหกรรมไฟฟ้า

นายเทพรัตน์กล่าวถึงความท้าทายด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้าว่า โจทย์ใหญ่ของการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ คือประเด็นทำอย่างไรให้มีเสถียรภาพสูงที่สุด แม้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP (Power Development Plan) จะกำหนดให้ระบบไฟฟ้าต้องพัฒนาระบบเชื่อมต่อและส่งข้อมูลของระบบไฟฟ้า (Grid Modernisation) แต่ในทางปฏิบัติระบบยังไม่สามารถทำได้เท่าไรนัก เนื่องจากการสร้างโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง (Flexibility Power Plant) จะพัฒนาให้มีการเดินเครื่องที่มีอัตราการทำงานเท่ากับโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม

ความท้าทายถัดมาคือ Grid Scale จะต้องมีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะตัวจ่ายไฟก็ต้องเป็นดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงการติดตั้ง Energy Storage System เพื่อให้โรงไฟฟ้าสามารถเป็นได้ทั้งแบตเตอรี่และปั๊มชาร์จไฟฟ้าได้

“แบตเตอรี่มีความไวในการตอบสนองสามารถรองรับการกระชากของระบบได้ เวลาแดด-ลมหายไป ก็ให้แบตจ่ายไฟไปก่อน ทำให้ระบบมีความยืดหยุ่นทำงานประสานกันมากขึ้น เห็นได้จากตัวอย่าง โรงไฟฟ้าเขื่อนสิรินธร ซึ่งเป็น Hydro floating Sora Hybrid และระบบ Pump Storage System คือการเอาพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งควบคุมไม่ได้มาทำงานควบคู่กับพลังงานน้ำที่ควบคุมได้ พอแดดหายไปน้ำจะมาเดินเครื่องทดแทน ทำงานผสมผสานโดยจ่ายไฟเข้าระบบอย่างคงที่”

“จริงๆเราพยายามบูรณาการทุกประเภทของพลังงานต่างๆ ที่จะ Hybrid ที่เรียกว่า Virtual Power Plant แต่การจะทำได้ต้องมีการคาดการณ์พยากรณ์อากาศล่วงหน้าที่แม่นยำ ว่าจะมีลมกับแดดจะผลิตไฟฟ้าในระบบได้เท่าไร ความแม่นยำจะแม่นขึ้นเรื่อยๆจาก 7 วัน เป็น 1 วัน เป็น 1 ชั่วโมง ต่อไปจะใช้ AI ความแม่นยำจะมากขึ้น สามารถบอกได้ว่าใน 1 ชั่วโมงข้างหน้า แดด ลม จะหายไปแค่ไหน หากรู้ล่วงหน้า ก็เอามาควบคุมได้มากขึ้น ซึ่งทางกฟผ.ดำเนินการอยู่”

ความท้าทายสุดท้าย Demand Respond Control Center คือการควบคุมไฟฟ้าจากผู้ใช้งาน โดยเน้นไปที่การนำ IOT (Internet of Things) ช่วยให้ระบบไฟฟ้ามีเสถียรภาพและรองรับพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

นายเทพรัตน์อธิบายว่า ระบบไฟฟ้าในปัจจุบันสามารถติดตั้ง IOT เพื่อควบคุมการเปิด-ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ โดยจะเห็นประโยชน์ชัดเจนในโรงงานขนาดใหญ่ที่สามารถใช้ไฟตามที่ตกลงกันได้ และกำหนดให้ฝั่งผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถควบคุมการใช้ไฟฟ้าผ่าน IOT ตามข้อตกลงร่วมกัน

“ถามว่าการลงทุนเหล่านี้คุ้มหรือไม่คุ้ม ผมว่ามันจำเป็นต้องทำ เพราะเราไม่สามารถต้านกระแสโลกได้ โลกต่อต้านพลังงานฟอสซิลมากขึ้น บางทีความคุ้มค่ามองได้หลายมิติ อย่างวันนี้ การส่งสินค้าไปบางประเทศ เขาจะโดนกำแพงภาษี CO2 ถ้าผลิตสินค้าจากพลังงานถ่านหินหรือฟอสซิล มีต้นทุนสูงขึ้นแน่นอน แต่ต้องดูว่าจะเป็นโอกาสของธุรกิจที่จะทำให้เกิดการยอมรับจากตลาดโลกหรือไม่ มันเห็นแนวโน้มว่าต้องลงทุนเพิ่มขึ้น”

นายเทพรัตน์กล่าวย้ำว่า แม้โลกจะให้มุ่งไปยังทิศทางพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพลังงานแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นฟอสซิลหรือถ่านหินยังเป็นพลังงานหลักของโลกนี้ เพราะยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง

เอ็กโกกรุ๊ป Go Green

นายเทพรัตน์กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนเป้าหมายนี้ให้บรรลุผลสำเร็จ เอ็กโก กรุ๊ป ได้กำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจเพื่อมุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน คือ “Cleaner, Smarter and Stronger to Drive Sustainable Growth” โดย

Cleaner ก็คือการลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน

Smarter เป็นการสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าและการลงทุนในธุรกิจที่มีการเติบโตสูง (New S-Curve) เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Digital Disruption)

Stronger การสร้างผลตอบแทนสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้นด้วยการหาพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน

จากเป้าหมายดังกล่าว เอ็กโก กรุ๊ป ก็จะดำเนินการภายใต้แผนกลยุทธ์ 4I ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงานอย่างรอบด้าน ประกอบด้วย

Invest ลงทุนในสินทรัพย์ที่เติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว มุ่งเน้นธุรกิจรูปแบบใหม่และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แอลเอ็นจี และ New S-Curve เป็นต้น

Increase เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการเงิน

Improve ปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน (Operation performance) และบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้มีความเป็นเลิศ ในระดับสากล

Innovate ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรมและสร้างกระบวนการทำงานอย่างยั่งยืน ให้พร้อมเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

โรงไฟฟ้าขนอม

ความยั่งยืนบนหลัก ESG

นอกจากนี้บริษัทได้ขับเคลื่อนความยั่งยืนร่วมกับมูลนิธิไทยรักป่ามาเป็นเวลากว่า 20 ปี โดยบริษัททำ MOU ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อดูแลและป้องกันป่าต้นน้ำ ตลอดจนส่งมอบเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ทั้งในภาคเหนือที่ดอยอินทนนท์ ภาคใต้ในจังหวัดนครศรีธรรมราช อุทยานแห่งชาติเขาหลวงที่จังหวัดชัยภูมิ ทั้งหมดเพื่อชดเชยส่วนการปล่อยคาร์บอนและดูดซับกลับเข้ามา

ในด้าน “ธรรมาภิบาล (Governance) เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญ วันนี้ก็มีนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชัน เราประกาศเป็นนโยบายรับเรื่องร้องเรียน และกำหนดแนวทางปฏิบัติ ให้ความเป็นธรรมกับผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้าของเราทุกระดับ ยืนยันความโปร่งใสตรวจสอบได้”

“นโยบาย No Gift Policy เราเปลี่ยนนโยบายเป็นสโลแกน ‘เปลี่ยนของขวัญปีใหม่ เป็นกำลังใจสู่สังคม’ วันนี้เวลาไปสวัสดีปีใหม่ สมัยก่อนหิ้วของขวัญไป เดี๋ยวนี้เป็น gift voucher ให้คนมอบของขวัญใช้เพื่อไปบริจาคตามรายชื่อมูลนิธิ ให้เขาเลือกบริจาคในสิ่งที่ต้องการ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการไม่จ่ายไม่ว่าบนโต๊ะหรือใต้โต๊ะ เรื่องเหล่านี้ทำให้เรามาเขียนนโยบายนำไปสู่วิธีการปฏิบัติ”

พร้อมกล่าวต่อว่า “ล่าสุดเรามีคู่มือความยั่งยืนองค์กร Coroporate Sustainability Mannual และคู่มือแนวทางการลงทุนสีเขียว Green Investment Guidline ทั้งสองคู่มือนี้จะเอาไปทดลองใช้ที่โรงไฟฟ้าขนอมและเป็นแนวทางทดลองให้พลังงานหมุนเวียนของเรา เพราะความยั่งยืนต้องมีคู่มือด้วย ไม่ใช่อยู่ๆ จะยั่งยืนได้ นี่เป็นแนวทางให้มีวิธีการมาตรฐานไม่ใช่ทำตามอำเภอใจ”

เมื่อถามว่านักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความความสำคัญเรื่องความยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน นายเทพรัตน์กล่าวว่า “นักลงทุนต่างชาติที่เป็นนักลงทุนสถาบันจะสนใจในบริษัทที่ทำเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น และ ECGO เป็นบริษัทที่ติดอันดับ DJSI ปี 2021 กลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ ประเภทสาธารณูปโภคไฟฟ้าต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ตอกย้ำวิสัยทัศน์ “บริษัทชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจพลังงานอย่างยั่งยืน ด้วยความใส่ใจที่จะธำรงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคม”