ThaiPublica > Sustainability > Climate Action > “เอ็กโก กรุ๊ป” กับเป้าหมาย Net Zero 2050 – ลุยปรับพอร์ตสู่พลังงานสีเขียว

“เอ็กโก กรุ๊ป” กับเป้าหมาย Net Zero 2050 – ลุยปรับพอร์ตสู่พลังงานสีเขียว

15 ธันวาคม 2023


นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวถึงการดำเนินธุรกิจของเอ็กโก กรุ๊ป ที่ผลิตไฟฟ้าและพลังงานครบวงจรมากว่า 31 ปี ณ ปัจจุบัน มีกำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 7,067 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรวม 1,418 เมกะวัตต์ (คิดเป็น 20% ของกำลังผลิตทั้งหมด) ทั้งจากชีวมวล พลังน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เซลล์เชื้อเพลิง และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าและโครงการต่าง ๆ ตั้งอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ ธุรกิจให้บริการงานเดินเครื่อง งานวิศวกรรมและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม ดำเนินการโดยบริษัท เอ็กโก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด โครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “ทีพีเอ็น” โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม “เอ็กโกระยอง” ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค “ซีดีไอ” ในประเทศอินโดนีเซีย บริษัทด้านการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม “อินโนพาวเวอร์” และบริษัทเทคโนโลยีด้านการเงิน “เพียร์ พาวเวอร์” เป็นต้น

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป

เดินหน้าสู่ Net Zero 2050

นายเทพรัตน์ กล่าวต่อว่า จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากโลกร้อนมาสู่ภาวะโลกเดือด เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจัง ประกอบกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในยุคเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงาน (Energy Transition) เอ็กโก กรุ๊ป จึงขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน “Cleaner, Smarter, and Stronger to Drive Sustainable Growth” พร้อมประกาศเป้าหมายการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำครั้งแรกในปี 2021 โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่

  • เป้าหมายระยะกลาง ภายในปี 2030 คือ การลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emissions Intensity) ลง 10% และการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30%
  • เป้าหมายระยะยาว ภายในปี 2050 คือ การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)
  • อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เอ็กโก กรุ๊ป เล็งเห็นศักยภาพของเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกใหม่ ๆ เช่น ไฮโดรเจน ที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำมีความเป็นไปได้มากขึ้นและมีแนวโน้มรวดเร็วมากขึ้น

    “เอ็กโก กรุ๊ป จึงทบทวนเส้นทางการขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และประกาศเป้าหมายใหม่ที่ท้าทายและเข้มข้นกว่ามากขึ้น โดยขยับเป้าหมาย Carbon Neutral ให้เร็วขึ้นจากเดิม 10 ปี เป็นปี 2040 และเพิ่มเป้าหมายใหม่ คือ การบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 เพื่อร่วมผลักดันอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าและพลังงานในการช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก” นายเทพรัตน์ กล่าว

    ปัจจุบันเป้าหมายใหม่ของเอ็กโก กรุ๊ป ในการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

      1.เป้าหมายระยะสั้น ภายในปี 2030 ลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emissions Intensity) ลง 10% และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30%
      2.เป้าหมายระยะกลาง ภายในปี 2040 บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral)
      3.เป้าหมายระยะยาว ภายในปี 2050 บรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

    นายเทพรัตน์ กล่าวต่อว่า แนวทางการขับเคลื่อนไปสู่ 3 เป้าหมายข้างต้น ได้แก่

      1. ไม่ลงทุนในเชื้อเพลิงหรือโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่เพิ่มเติม (No New Coal Investment)
      2. ปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลังงานหลัก (ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน) ที่อยู่ในพอร์ตโฟลิโอให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การใช้เทคโนโลยีการนำไฮโดรเจนและแอมโมเนียมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสม (Hydrogen or Ammonia Co-firing)โดยร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ
      3. การใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) หรือเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) หลังการเผาไหม้
      4. เน้นการลงทุนพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก เช่น
      – ไฮโดรเจน ที่มีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมไฟฟ้า
      – เห็นโอกาสและศักยภาพของ Small Modular Reactors – SMRs 50-300 เมกะวัตต์
      5. การเข้าร่วมในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต หรือ IREC
      6. การดูแลทรัพยากรธรรมชาติและฟื้นฟูป่าต้นน้ำเพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนผ่านการดำเนินงานของมูลนิธิไทยรักษ์ป่า

      ความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม

      ในปี 2566 เอ็กโก กรุ๊ป มีความสำเร็จในการเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม คือ การปรับปรุงโรงไฟฟ้าที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผสม “ลินเดน โคเจน หน่วยที่ 6” กำลังผลิต 172 เมกะวัตต์ ที่เมืองลินเดน รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ให้เครื่องกังหันก๊าซสามารถรองรับก๊าซที่เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันเบย์เวย์ของบริษัท ฟิลิปส์ 66 ที่มีไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสมกับก๊าซธรรมชาติได้ โดยการใช้เชื้อเพลิงผสมดังกล่าว ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้า “ลินเดน โคเจน หน่วยที่ 6” ในภาพรวมลงประมาณ 10% จากระดับปกติ ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถช่วยปรับปรุงโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก ให้ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลงได้ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดและสังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต

      นอกจากนี้ เพื่อให้การเติบโตและระดมทุนของบริษัทสอดคล้องกับทิศทางดังกล่าว เอ็กโก กรุ๊ป จึงเสนอขายหุ้นกู้กรีนบอนด์เป็นครั้งแรก ต่อนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ มูลค่ารวม 7,000 ล้านบาท ในเดือนพฤศจิกายน 2566 แม้สภาวะตลาดในขณะนั้นมีความผันผวนทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน แต่การออกกรีนบอนด์ของเอ็กโก กรุ๊ป ก็ประสบความสำเร็จและได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากกว่า 80 ราย ที่แจ้งความจำนงความต้องการลงทุนเป็นจำนวนกว่า 3 เท่าของมูลค่าการเสนอขาย ซึ่งนักลงทุนที่สนใจจองซื้อหุ้นกู้ในครั้งนี้ ได้แก่ กองทุนภายใต้การบริหารของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย ธนาคารพาณิชย์ กลุ่มสหกรณ์ และนักลงทุนประเภทอื่น ๆ

      นายเทพรัตน์ กล่าวเสริมว่า การสนับสนุนดังกล่าวทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสม โดยบริษัทมีแผนจะนำวงเงินระดมทุนนี้ไปใช้ชำระคืนเงินทุนสำหรับโครงการเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประเภทพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมของบริษัทและบริษัทในเครือ ภายใต้กรอบการจัดหาเงินทุนเพื่อโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และขับเคลื่อนสู่ Net Zero ภายในปี 2050 ตามเป้าหมาย

      แผนลงทุนพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน

      ส่วนแผนการลงทุนพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนของเอ็กโก กรุ๊ป นายเทพรัตน์กล่าวว่า เอ็กโก กรุ๊ป ตั้งงบลงทุนระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2021-2025 วงเงิน 150,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยแล้วปีละ 30,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า รวมถึงธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง

      โดยปี 2567 เอ็กโก กรุ๊ป ตั้งงบลงทุน 30,000 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายจะเพิ่มกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นอีก 1,000 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะการลงทุนในโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นในยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) กลุ่มประเทศเป้าหมาย คือ อาเซียน (ที่มีฐานการลงทุนอยู่แล้ว) ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงและมีโอกาสการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและก๊าซธรรมชาติค่อนข้างมาก

      “ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2566 เอ็กโก กรุ๊ป ประสบความสำเร็จในการลงนามสัญญาซื้อขายหุ้น เพื่อเข้าถือหุ้นสัดส่วน 50% ใน “พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ” ซึ่งคาดว่าจะปิดดีลได้ภายในปี 2566 หรือไม่เกินต้นปี 2567 และสามารถรับรู้รายได้ทันที” นายเทพรัตน์กล่าว

      สำหรับ “คัมแพซ” เป็นพอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 3 แห่ง กำลังผลิตรวม 1,304 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ มาร์คัส ฮุก 912 เมกะวัตต์ มิลฟอร์ด 205 เมกะวัตต์ และไดตัน 187 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ใกล้กับศูนย์กลางของเมืองใหญ่ที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงมาก ได้แก่ ฟิลาเดลเฟีย บอสตัน และพรอวิเดนซ์ โดยพื้นที่เหล่านี้มีข้อจำกัดอย่างมากในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ และมีนโยบายมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจำเป็นต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เสริมความมั่นคงให้แก่ระบบ

      “การลงทุนใน “พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ” สอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการเข้าซื้อหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีคุณภาพสูง ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนและกำไรได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานของโลกไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคต” นายเทพรัตน์กล่าว

      นอกจากนี้ เอ็กโก กรุ๊ป มีแนวโน้มจะลงทุนพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการถือหุ้น 17.46% ใน “เอเพ็กซ์” (Apex) ผู้พัฒนาพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา โดยเอเพ็กซ์ได้รับประโยชน์จากกฎหมายว่าด้วยการปรับลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ของสหรัฐอเมริกา ที่ส่งเสริมการลงทุนพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ
      ทั้งนี้ โมเดลธุรกิจของเอเพ็กซ์เป็นแบบไฮบริด คือ พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนเพื่อเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เองบางส่วน และจำหน่ายโครงการออกไปบางส่วน ทำให้แนวทางการดำเนินธุรกิจของเอ็กโก กรุ๊ป เปลี่ยนจาก “ผลิตไฟฟ้า ขายไฟฟ้า” เพียงอย่างเดียว เป็น “ผลิตโรงไฟฟ้า ขายโรงไฟฟ้า” ด้วย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเอ็กโก กรุ๊ป ในระยะยาว เนื่องจากการพัฒนาโครงการของเอเพ็กซ์สามารถทดแทนโครงการโรงไฟฟ้าที่กำลังจะทยอยหมดอายุสัญญาและสร้างการเติบโตใหม่ให้เอ็กโก กรุ๊ป ไปพร้อมกัน

      ปัจจุบัน “เอเพ็กซ์” มีโครงการที่อยู่ใน Pipeline รวม 243 โครงการ กำลังผลิตรวม 58,900 เมกะวัตต์ (ณ สิ้นเดือน ก.ย. 66) ประกอบด้วย
      -กำลังพัฒนา 234 โครงการ กำลังผลิต 57,638 เมกะวัตต์
      -กำลังก่อสร้าง 7 โครงการ กำลังผลิต 968 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ตั้งแต่ปลายปี 2566 ถึงปี 2567
      -เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 2 โครงการ กำลังผลิต 294 เมกะวัตต์

      โครงการระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ ภายใต้ “เอเพ็กซ์”
      โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้ “เอเพ็กซ์”

      มุ่งลงทุนเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านพลังงานสะอาด

      นายเทพรัตน์กล่าวต่อว่า ตามที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ เอ็กโก กรุ๊ป อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักที่มีอยู่ในพอร์ตโฟลิโอให้ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง โดยร่วมมือกับพันธมิตรศึกษาความเป็นไปได้ในการนำไฮโดรเจนและแอมโมเนียมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผสม (Hydrogen or Ammonia Co-firing) รวมถึงการใช้เทคโนโลยี CCS หรือ CCUS

      ในขณะเดียวกัน เอ็กโก กรุ๊ป ยังมีนโยบายส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โดยเชื่อมั่นว่าเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจะเป็นพลังงานทางเลือกที่สำคัญและมีศักยภาพรองรับการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสีเขียว รวมถึงมุ่งมั่นผลักดันการใช้เชื้อเพลิงต่าง ๆ ที่สะอาดขึ้นและพัฒนาเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยร่วมมือกับพันธมิตรศึกษาเทคโนโลยีและแสวงหาโอกาสลงทุนในซัพพลายเชนไฮโดรเจน ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง และการประยุกต์ใช้งาน โดยเฉพาะในประเทศซาอุดิอาระเบียและออสเตรเลียที่มีศักยภาพสูง

      นอกจากนี้ เอ็กโก กรุ๊ป ยังได้ร่วมกับ กฟผ. และ ราช กรุ๊ป ลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมพลังงานและเทคโนโลยีแห่งอนาคต ผ่าน “บริษัท อินโนพาวเวอร์ จํากัด” เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานสะอาดด้วยการนํานวัตกรรมมาต่อยอดเชิงธุรกิจและมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน