ThaiPublica > คอลัมน์ > พักหนี้นโยบายที่ ไอเอ็มเอฟ ไม่แนะนำ

พักหนี้นโยบายที่ ไอเอ็มเอฟ ไม่แนะนำ

5 กุมภาพันธ์ 2024


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

สัปดาห์ปลายเดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยแพร่ ผลสรุปจากการประชุมติดตามและประเมินผลภาวะเศรษฐกิจไทยร่วมกับแบงก์ชาติ ซึ่งข้อสรุปครอบคลุมมุมองต่อเศรษฐกิจ ทั้ง สภาพความเป็นไปของเศรษฐกิจปัจจุบัน มุมหนุนนโยบาย คำเตือน รวมถึงข้อเสนอแนะถึงสิ่งที่ ไทย ควรและไม่ควรทำ

ภาพรวม ไอเอ็มเอฟ ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทรงฟื้นตัว แต่ทว่า กำลังสูญสียโมเมนตัมการฟื้นตัว โดยอ้างถึงเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจาก 2.6 % ในปี 2565 ลงมาสู่ 1.9 % ในช่วงไตรมาสที่ 1-3 ของปี 2566 จากการส่งออกที่หดตัว และการลงทุนในประเทศที่อ่อนแอ แม้การบริโภคภาคเอกชนยังแข็งแกร่งและการท่องเที่ยวที่คึกคักขึ้นก็ตาม ก่อนสรุปว่าเศรษฐกิจปีที่ผ่านมาจะโต 2.5 %

แต่…ไอเอ็มเอฟมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังไม่ราบรื่นทีเดียวนัก ยังมีคลื่นเศรษฐกิจภายนอก-ภายในให้โต้ฝ่าออกไปทั้งความเสี่ยงจาก ข้างนอก และ ภายใน ความเสี่ยงจากข้างนอกเช่น การชะลอตัว อย่างกะทันหันของ (เศรษฐกิจ)ทั่วโลก รวมจีน การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน รวมทั้งภาวะการเงินทั่วโลกที่เข้มงวดกว่าที่คาดไว้ ตามด้วยการแยกขั้วทางเศรษฐกิจที่ลึกขึ้น

ส่วนความเสี่ยงจากภายใน เช่น การขาดวินัยการคลังที่อาจทำลายเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค หนี้ภาคเอกชนที่สูงขึ้นซึ่งคุกคามเสถียรภาพการเงิน และการพึ่งพาท่องเที่ยวมากเกิน จะเพิ่มความเสี่ยงที่มาจากผลกระทบภายนอก

ถัดจากความเสี่ยงข้างต้นแล้ว ไอเอ็มเอฟ ยังชี้ว่า ปัญหาของเศรษฐกิจไทยตอนนี้คือ ฟื้นตัวช้ากว่าชาติอื่นในอาเซียน อีกทั้งเผชิญกับความไม่แน่นอน จากพื้นที่ทางการคลังมี่มีจำกัด และปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีมายาวนาน

ด้วยปัญหาที่กล่าวมานั้น ไอเอ็มเอฟแนะให้ ไทยปฎิรูปโครงสร้างอย่างเข้มข้นเพื่อเพิ่มผลิตภาพ และการเติบโตอย่างมีศักยภาพ และการสร้างความพร้อมในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาส เพื่อแก้ปัญหาข้างต้น

นอกจากนี้ไอเอ็มเอฟ มองว่ายุทธศาสตร์การคลัง(ของไทย)ในระยะกลาง (ราว 3 -5 ปี) ควรพุ่งเป้าไปที่ทำให้หนี้สาธารณะลดลง พร้อมๆกับ การกันพื้นที่ทางการคลังไว้สำหรับการลงทุนในทุนมนุษย์ และทุนกายภาพ ลดความเสี่ยงจากรัฐวิสาหกิจ และกองทุนนอกงบประมาณ เพิ่มการจัดการเก็บรายได้โดยค่อยๆเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ควบคู่ไปกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณ และยกเลิกการอุดหนุนราคาพลังงานที่มีราคาแพง ทั้งหมดคือสิ่งที่ควรทำในลำดับต้นๆ

รายงานสรุปผลของไอเอ็มเอฟยังกล่าวถึงเรื่องพักหนี้ไว้ด้วยว่า คณะกรรมการ ไอเอ็มเอฟ สนับสนุนให้รัฐบาล ดำเนินการลดหนี้เอกชน และหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ด้วยการสนับสนุนการปรับโครงสร้าง ส่งเสริมให้มีการกู้ยืมอย่างมีความรับผิดชอบ และเสริมสร้างกรอบการทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงเชิงระบบบ แทนมาตรการ พักชำระหนี้ ที่อาจก่อปัญหา Moral Hazard หรืออันตรายทางจริยธรรม ในกรณีนี้หมายถึงมาตรการพักหนี้อาจสร้างแรงจูงใจให้ลูกหนี้หยุดชำระหนี้

ก่อนหน้านี้แบงก์ชาติเคยทักท้วงนโยบายพักหนี้เกษตรกรและเอสเอ็มอี นาน 3 ปี และ 1 ปี โดยมีเกษตรลูกค้า ธนาคารเพื่อการเกษตร และ สหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าร่วมโครงการพักหนี้ 2.698 ล้านราย คิดเป็นยอดหนี้ 283,327 1.99 ล้านบาท (ก.ย. 2566) โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. อัตรา 4.5 % ต่อปี คิดเป็นยอดรวม 11,096 ล้านบาทต่อปี

ผู้ว่าแบงก์ชาติ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ มองว่า แนวทางพักหนี้ดังกล่าวจะไม่สามารถ ปิดจบหนี้ได้ เนื่องจาก ลูกหนี้ราวครึ่งหนึ่งของ ธ.ก.ส. เป็นหนี้เรื้อรัง พร้อมเสนอว่ารัฐบาลไม่ควรยึดมาตรการพักหนี้เป็นเครื่องมือหลัก แต่ควรเน้นไปที่การแก้ไขกลุ่มหนี้เรื้อรัง และมีมาตรการดูแลลูกหนี้ดี เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ไม่แห่ร่วมพักหนี้ไปด้วย พร้อมกับอ้างถึงประสบการณ์ก่อนหน้า ที่มีการพักหนี้มาแล้ว 13 ครั้งในรอบ 9 ปี แต่ สถานการณ์ หนี้ไม่เคยดีขึ้น

แม้ข้อแสนอแนะจากไอเอ็มเอฟ ตั้งอยู่บนหลักวิชาการอิงกับสถานการณ์เศรษฐกิจจริงของไทย และไม่ใช่เรื่องใหม่ ส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่เคยพูดถึงในวงต่างๆมาแล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าปัญหาเชิงโครงสร้าง ข้อจำกัดด้านการคลัง รวมทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือน การขึ้นภาษี ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข

หากใช้สำนวนแบงก์ชาติที่ว่า มองไปข้างหน้า มีความเป็นไปได้ มาก ถึง มากที่สุด ว่า เมื่อมาตรการพักหนี้รอบนี้ครบกำหนดในปี 2569 การเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคการเมืองทุกพรรคต้องมี พักหนี้อยู่ในนโยบายหาเสียงพราะถือว่าเป็น สิ่งต้องมี และรัฐบาลในอนาคตคงดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบไปตายเอาดาบหน้าเช่นเดิม