ThaiPublica > คอลัมน์ > 2565 ปีแห่งความแปรปรวน

2565 ปีแห่งความแปรปรวน

29 ธันวาคม 2022


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

ปี 2565 ที่กำลังผ่านไปนับเป็นปีที่เศรษฐกิจทั้งของโลกและของไทย มีความแปรปรวนมากสุดในรอบกว่าทศวรรษ อันเนื่องมาจากผลของสงครามรัสเซีย–ยูเครน ที่ปะทุขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรอาวุธทางเศรษฐกิจ ที่สหรัฐฯ กับพันธมิตรนำมาเล่นงานรัสเซีย ขณะเดียวกัน รัสเซียในฐานะผู้ค้าน้ำมันอันดับสองของโลกและผู้ขายก๊าซรายใหญ่ให้ยุโรป ได้ใช้พลังงานในมือมาเป็นข้อต่อรองในแนวรบทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน

ช่วงเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งขึ้นเหนือระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล นับเป็นสถิติสูงสุดใหม่นับจากปี 2557 ปลายเดือนมิถุนายน ราคาซูเปอร์พาวเวอร์ โซฮอล 95 พุ่งทำสถิติขึ้นไปแตะกว่า 50 บาทเศษต่อลิตร ขณะที่เบนซิน 96 ขึ้นไปที่ 52 บาทเศษต่อลิตร ..

ราคาพลังงานที่พุ่งทะยานอย่างฉับพลัน ทำให้เงินเฟ้อก่อตัวยกระดับป็นพายุไซโคลน ซัดกระหน่ำไปทั่วโลก ทุกประเทศต้องเผชิญกับสถิตินิวไฮของเงินเฟ้อในรอบกว่าทศวรรษทั้งสิ้น เช่น สหรัฐฯ เบอร์หนึ่งทางเศรษฐกิจของโลก เงินเฟ้อเดือน มิถุนายน พุ่งขึ้นไป 9.1% สูงสุดในรอบ 41 ปี เยอรมนี เงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม พุ่งขึ้นไป 7.9% สูงสุดในรอบ 40 ปี อังกฤษเงินเฟ้อทำนิวไฮในเดือนตุลาคม 11.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี

ส่วนญี่ปุ่น เงินเฟ้อเดือนตุลาคมอยู่ที่ 3.6% ทำลายสถิติเดิมที่ยืนยาวมากว่า 40 ปีลงโดยสิ้นเชิง ที่ฟิลิปปินส์ เดือนพฤศจิกายนเงินเฟ้อ 8% สูงสุดในรอบ 14 ปี ส่วนประเทศไทย เงินเฟ้อทำนิวไฮ 7.86% ในเดือนสิงหาคม นับเป็นสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 13 ปี เป็นต้น

ในปี 2565 แบงก์ชาติเกือบทั้งโลกเปลี่ยนนโยบายการเงิน จากผ่อนปรนในช่วงโควิดมาเป็นเข้มงวด ยกระดับดอกเบี้ยนโยบายเพื่อหยุดพายุไซโคลนเงินเฟ้อ ภายใต้สโลกแกนว่า เงินเฟ้อร้ายกว่าดอกเบี้ยแพง เฟด (ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ) มีฐานะเป็นผู้นำในเรื่องนี้ เฟดขึ้นดอกเบี้ย 7 ครั้งจากช่วงดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 0.00-0.25% มาอยู่ที่ 4.25-4.50% ในเดือนธันวาคม 2565

ธนาคารกลางอังกฤษ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 8 ครั้งมาอยู่ที่ 3.50% ออสเตรเตรเลีย ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 8 ครั้งเช่นกัน มาอยู่ที่ 3.1% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปี ธนาคารกลางมาเลเชีย ถึงเดือนพฤศจิกายน 2565 ขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 4 ครั้ง มาอยู่ที่ 0.275% ธนาคารกลาง ฟิลิปปินส์ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ 5.50% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปี

ส่วนประเทศไทย แบงก์ชาติโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขับเคลื่อนนโยบายการเงินแบบสายกลาง โดยพยายามดึงเวลาขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาจนถึงเดือนสิงหาคม และขึ้นในอัตราไม่แรง ครั้งละ 0.25% รวม 3 ครั้งจาก ระดับ 0.50% มาอยู่ที่ 1.25% ในเดือนธันวาคม 2565 เพราะเกรงว่า หากถอนคันเร่งจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่ใช้มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่เกิดกฤติโควิด จะกระทบจังหวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจะและหนี้ครัวเรือน

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ โดยเฉพาะเฟดที่ดันดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ตลาดหันมาถือดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น ได้สร้างปรากฏการณ์ค่าเงินที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบทศวรรษเช่นกัน เช่น เงินยูโรอ่อนค่าลงไปแต่เท่ากับดอลลาร์สหรัฐครั้งแรกในรอบ 20 ปี ค่าเงินปอนด์อังกฤษไหลลงไปที่ระดับ 1 ปอนด์เศษกับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ

เงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่องและลงไปแตะระดับ 150 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐโดยประมาณ (ช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในรอบ 32 ปี จนธนาคารกลางญี่ป่นต้องออกโรงแทรกแซงค่าเงินเป็นครั้งแรกในรอบ 24 ปี) เช่นเดียวกับเงิน วอนเกาหลีใต้ ที่อ่อนค่าหลุดระดับ 1,400 วอนต่อ ดอลลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับอ่อนสุดในรอบเกือบ 10 ปี

ด้านเงินบาทตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ช่วงปลายเดือนกันยายนบาทอ่อนค่าลงมาแตะที่ระดับ 38.06 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี จน พล.อ. ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกฯ รักษาการนายกฯ ตอนนั้น สั่งรัฐมนตรีคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ให้หารือกับแบงก์ชาติ ให้ไปดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำเอาตลาดเงินส่งเสียงอื้ออึงมาแล้ว

วิกฤติเงินเฟ้อความปั่นป่วนของค่าเงิน สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่สถานการณ์ส่อยืดเยื้อข้ามปี ทำให้โลกเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ความกังวลดังกล่าวเริ่มส่งผลกระทบมาถึงภาคส่งออก

สัปดาห์ท้ายปี 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า มีมูลค่าการส่งออก 22,308.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 6% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า เป็นการติดลบต่อเนื่องเดือนที่ 2 นับจากเดือนตุลาคมที่ติดลบ 4.4% โดยนายจุรินทร์ระบุว่า เศรษฐกิจโลกชะลอเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ส่งออกเดือนตุลาคมติดลบทั้งที่เดือนมีนาคมก่อนหน้ามูลค่าส่งออกไทยเพิ่งทำสถิติ มูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบ 30 ปี

แม้เผชิญกับความแปรปรวนทั้งจากพายุไซโคลนเงินเฟ้อ ความผันผวนในตลาดเงิน และการส่งออกที่เริ่มส่งสัญญาชะลอตัวลง แต่แรงหนุนจากภาคท่องเที่ยว ที่จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับจากเดือนกรกฎาคม ที่ไทยเปิดประเทศเต็มรูปแบบ กระทั่งนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางเข้าไทยทะลุเป้า 10 ล้านคน ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2565 ที่ภาคท่องเที่ยวมีส่วนสนับสนุนให้เศรษฐกิจปี 2556 ขยายตัว 3.4% ซึ่งรัฐมนตรีคลังประกาศว่าสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย

แม้ความแปรปรวนที่ได้กล่าวมานั้นเริ่มคลี่คลายลงบ้าง แต่ผลที่ตามมายังคงอยู่ ตัวอย่างใกล้ตัวสุดคือ แบงก์พาณิชย์ประกาศขึ้นดอกเบี้ยโดยพร้อมเพรียงกัน 0.50% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม เป็นต้นไป หลังจากมาตรการอุดหนุนต้นทุนแบงก์พาณิชย์เพื่อไปลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าอีกทอดหนึ่งของแบงก์ชาติ ด้วยการลดเงินหักส่งกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 0.46% จากยอดเงินฝาก เหลือ 0.23% สิ้นสุดลงตั้งแต่ปลายปี 2565

สภาพัฒน์ฯ คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจปีนี้จะโต 3.8% บนพื้นฐานว่า นักท่องเที่ยวจีนจะกลับมา ซึ่งล่าสุดจีนได้ออกมาประกาศว่าจะเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2566 แม้การท่องเที่ยวฯ สามารถชดเชยส่วนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นกับประเทศโซนยุโรปและสหรัฐฯ แต่อีกด้านหนึ่งนั้น ปีนี้หรือปี 2566 ที่นักวิเคราะห์ให้คะแนนความสดใสมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา มาตรการอุดหนุนเพื่อลดภาระค่าครองชีพทั้งทางตรงและทางอ้อม เริ่มถูกดึงออกไป ..

ส่วนเรื่องดอกเบี้ยที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับการอุดหนุนค่าไฟฟ้า ที่รัฐบาลเลือกอุดหนุนครัวเรือนเป็นหลัก รวมไปถึงมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปีก่อนหน้าคนละครึ่ง หรือเราเที่ยวด้วยกัน ที่เริ่มถูกถอดออกไป หลังเศรษฐกิจเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ หรืออีกนัยหนึ่งคือปีนี้เศรษฐกิจไม่มีโปร