จิตติศักดิ์ นันทพานิช
งานสัมมนาทั้งบนเวทีและหน้าจอระยะนี้ ประเด็นเศรษฐกิจหลังโควิดถูกยกขึ้นมากล่าวถึงมากเป็นพิเศษ “เศรษฐกิจหลังโควิด” น่าจะหมายถึงช่วงเวลาที่โควิด-19 ถูกลดชั้นจากจากโรคระบาดใหญ่ เป็นโรคประจำถิ่น ตามที่คุณหมอเกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คาดว่าจะเกิดขึ้นใน 4 เดือนหลังจากนี้ หรือราวๆ เดือนมิถุนายนนี้
เศรษฐกิจหลังโควิดนั้น นอกจากเป็นช่วงเวลาฟื้นฟูทั้งภาคเศรษฐกิจและภาคเอกชนแล้ว ยังต้องมองไกลออกไปถึงอนาคตด้วย อย่างที่รับรู้กันว่าเศรษฐกิจไทยออกอาการล้ามาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ระบาดในปี 2563 เศรษฐกิจเติบโตในทิศทางที่ชะลอตัวและขยายตัวไม่เต็มศักยภาพ ซึ่งบรรดาผู้รู้ทั้งหลายระบุว่าเป็นผลจากเศรษฐกิจไทยสปีดไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่เริ่มเลี้ยวขวาไปสู่โลกเศรษฐกิจใหม่โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นพลังขับเคลื่อน
การมาของยุคดิจิทัลสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับปรากฏการณ์มากมาย ผู้ชนะอาจกลายเป็นผู้แพ้ชั่วข้ามคืน การเคลื่อนไหวธรรมดาแบบเดิมๆ ไม่พอแล้ว ต้องก้าวกระโดดหรือถึงขั้นต้องตีลังกากลางอากาศร่วมด้วย ถึงจะมีโอกาสรอดในยุคเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเครือข่ายและข้อมูล
ที่ผ่านมา รัฐบาลประยุทธ์ตั้งแต่ยุค คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) มาจนถึงรัฐบาลประยุทธ์ปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจใหม่ด้วยการประกาศทั้งวาระและแผนในการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งพอจัดกลุ่มได้เป็น 3 ส่วนหลัก
ทั้ง 3 ส่วนเปรียบเหมือนจุดสตาร์ทก่อนเข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-2570) ซึ่งกำหนดทิศทางหลักไว้ว่า พลิกโฉมประเทศสู่สังคมก้าวหน้าสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน
ทั้งแผนและวาระข้างต้นมีความคืบหน้าให้เห็นพอสมควร เช่น เศรษฐกิจชีวภาพหมุนเวียน-สีเขียว หรือ BCG สัปดาห์ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว พ.ศ. 2564-2570 ตั้งงบประมาณไว้ 40,972.60 ล้านบาท และต้องไฮไลต์ไว้ด้วยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นเจ้าภาพดูแลเรื่องนี้ด้วยตนเอง ส่วนอีอีซีที่โปรโมตกันมาหลายปีผู้บริหารแถลงว่า มีการอนุมัติลงทุนไปแล้ว 1.6 ล้านล้านบาท เป็นไปตามแผน โดยปี 2564 มีบริษัทจดทะเบียนใหม่ในอีอีซี 6,698 ราย ส่วนนี้บีโอไอคาดว่าตัวเลขอาจจะถึง 6,800 ราย
แต่รูปธรรมที่สุดสำหรับการแสวงหาโมเดลเศรษฐกิจใหม่ คือ การยกเครื่องอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นสู่ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่รัฐบาลประกาศมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนออกมาแล้ว และการมาตรการวีซ่าพำนักระยะยาวที่รัฐบาลหวังดูดเอาชาวต่างชาติผู้มั่งคั่งเข้ามาใช้ชีวิตหรือทำงาน โดยตั้งเป้าไว้ 1 ล้านคน
เมื่อแร็วๆ นี้ได้อ่านข่าวที่ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าคนแรกของรัฐบาลประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์สื่อ เกี่ยวกับการมุ่งหน้าสู่เศรษฐกิจใหม่ผ่านอุตสาหกรรมเป้าหมายไว้หลายประเด็น อ่านแล้วมองเห็นภาพชัดชึ้นว่าทำไมประเทศไทยต้องเปลี่ยนและจะเปลี่ยนอย่างไร อย่างแรกที่สุด ม.ล.ชโยทิต บอกว่า หลังโควิด-19 ทุกประเทศจะแข่งกันดึงทุนนอก คู่แข่งของไทยในอาเซียน อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยจะใช้เป็นหัวหอกเชิงรุกชิงเงินลงทุนกับประเทศอื่น คือ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และท่องเที่ยว ที่เจาะจง 3 อุตสาหกรรมดังกล่าวเพราะว่า
“…..หากปรับแนวทางการส่งเสริมการลงทุน และการทำงานเชิงรุกในการดึงนักลงทุนและนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้าไทย จะมีเม็ดเงินลงทุนรอบใหม่ในประเทศไทย 1 ล้านล้านบาทในระยะเวลา 2 ปี คิดเป็นการเพิ่มขึ้นของจีดีพี จะเพิ่มขึ้นได้ 6.7 %”
ตัวเลขเม็ดเงินลงทุนเป้าหมายข้างต้น ม.ล.ชโยทิต แจกแจงว่า มาจากเงินลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ประมาณ 360,000-400,000 ล้านบาท การลงทุนอิเล็กทรอนิกส์ส่วนที่ลงทุนเพิ่มในสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์อีก 200,000 ล้านบาท และที่เหลือ มาจากนักท่องเที่ยวกลุ่มไฮเอนด์
“อุตสาหกรรมทั้ง 3 ส่วนนี้ถือว่ามีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยมาก คิดเป็นสัดส่วน 50% ของจีดีพี และเป็นเรื่องสำคัญต้องปรับเปลี่ยนเพื่อดึงดูดการลงทุน ไม่เช่นนั้นจีดีพีส่วนนี้จะหายไปในระยะ 8-10 ปี แล้วเราไปตามกลับมาไม่ได้ ซึ่งลูกหลานของเราจะเดือดร้อนแน่ๆ” ม.ล.ชโยทิต ย้ำ
ประกอบความเคลื่อนไหวข้างต้นเข้าด้วยกันแล้วพอเห็นภาพว่า ประเทศไทยกำลังเลี้ยวขวาตามโลก โดยโฟกัสไปที่เศรษฐกิจสีเขียว, อุตสาหกรรม New S-curve และเศรษฐกิจดิจิทัล แต่อย่างไรก็ดี กับแผนการใหญ่ของประเทศไทยครั้งนี้ ยังมีข้อกังวลจากหลายฝ่ายถึงปัญหาปัจจุบัน ที่มีแนวโน้มยกระดับเป็นอุปสรรคสำคัญในวันข้างหน้า ตัวอย่างเช่น
รายงานวิเคราะห์ภาคเอกชนไทย ที่ธนาคารโลกสาขาประเทศไทยทำร่วมกับ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี) ระบุว่ากฎเกณฑ์ในการเข้ามาลงทุนของต่างชาติใช้มากกว่า 20 ปีแล้วขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน (รายงานไม่ได้ระบุว่า อินโดเซียหรือเวียดนาม) ได้ปรับปรุงจนล้ำหน้ากว่าประเทศไทยแล้ว ปัญหาขาดแคลนแรงงานทักษะสูง และมีแนวโน้มว่าจะเผชิญกับปัญหาคนวัยทำงานลดลงในอนาคตจากปัญหาเด็กเกิดน้อยในปัจจุบัน รวมไปถึงปัญหาคอร์รัปชันที่เพิ่มต้นทุนให้สังคมมหาศาล ฯลฯ
การพลิกโฉมประเทศทุกมิติ ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างสิ้นเชิง จะบรรลุเป้าหมาย ขนาดไหน หรือไม่ อย่างไร นอกจากเดินตามวาระและแผนแล้ว การจัดการกับปัญหาของเป้าหมาย มีความสำคัญไม่แพ้กัน