ThaiPublica > คอลัมน์ > ไทยจะออกจากวิกฤติโควิดแบบไหน

ไทยจะออกจากวิกฤติโควิดแบบไหน

2 พฤศจิกายน 2020


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

ก่อนตอบคำถามข้างต้น เราต้องพิจารณาวิธีรับมือวิกฤติโควิดที่อยู่กับเรามากว่า 9 เดือนกันก่อน!!!

อย่างแรกที่ควรทำความเข้าใจคือ วิกฤติรอบนี้ต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ตรงที่ “วิกฤติโควิด” คือวิกฤติคู่ขนานระหว่างวิกฤติสาธารณสุขกับวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เพียงมูลค่าทรัพย์สินที่เสี่ยงสูญหายไป แต่ยังหมายรวมถึงความเสี่ยงต่อชีวิตอีกด้วย

ทางด้านสาธารณสุขนั้น ไทยยึดหลักบรรเทาชะลอการระบาดไม่ให้จำนวนผู้ป่วยมากจนระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหวเป็นแกนความคิดหลักในการรับมือกับวิกฤติโควิด ในช่วงเดือนมีนาคมที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นพรวดพราด จากกรณีสนามมวยลุมพินีและผับย่านทองหล่อ ซึ่งทั้ง 2 แห่ง กลายเป็นศูนย์กลางพ่นเชื้อโควิด จนอาจารย์หมอจากสำนักต่างๆ ออกมาส่งเสียงเตือนให้ระวังว่า หากไม่เพิ่มมาตรการเชิงรุก ประเทศไทยจะเจอปัญหาผู้ป่วยล้นเตียงเหมือนอู่ฮั่นในช่วงแรกๆ ซึ่งเป็นภาพที่สร้างความหดหู่ใจเป็นอย่างยิ่ง

แรงกดดันจากสถานการณ์ที่รุมเร้าในช่วงเวลานั้น คงเป็นปัจจัยลำดับต้นๆ ที่ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงกลาโหม ตัดสินใจประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่กฎหมายให้อำนาจการบริหารแบบเบ็ดเสร็จกับนายกฯ พร้อมกับประกาศวาระ “สุขภาพนำเสรีภาพ” ยกระดับศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดทางให้คณะอาจารย์หมอนำหลักวิชาการมารับมือกับวิกฤติโควิดโดยฝ่ายรบริหารทำหน้าที่สนับสนุน แทนการนำโดยฝ่ายการเมืองในช่วงก่อนหน้า

มาตรการที่ ศบค. ขับเคลื่อนภายใต้ร่มเงาของ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ล้วนเป็นมาตรการที่จำกัดการเคลื่อนย้ายประชากร โดยเฉพาะมาตรการล็อกดาวน์ (ปิดเมือง) ปิดพรมแดน ปิดน่านฟ้า การรณรงค์ให้ประชาชนทำงานที่บ้าน สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และการเว้นระยะห่างเมื่อยู่ในที่สาธารณะ ชุดมาตรการดังกล่าวประสบความสำเร็จในการชะลอคลื่นการระบาดระลอกใหญ่ สามารถกดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จากหลักร้อยโดยเฉลี่ยต่อวันในเดือนมีนาคมลงมาอยู่หลักสิบต่อวันโดยเฉลี่ยในเดือนถัดๆ มา

จำได้ว่าหลังสถานการณ์ระบาดผ่อนคลาย พล.อ. ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ออกทีวีรายงานความเป็นไปของสถานการณ์ ณ เวลานั้นและได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “เราเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” (17 มิ.ย. 2563) ต่อจากนั้นไม่นาน กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาประกาศว่าประเทศไทยผ่านพ้นการระบาดระลอกไปแล้วหลังไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ต่อเนื่อง 48 วัน

ความสำเร็จในการชะลอการระบาดระลอกแรก นอกจากแนวทางด้านสาธารณสุขที่ถูกต้อง โครงสร้างการบริหารที่ใช้ ศบค. เป็นศูนย์กลาง นายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. มีอำนาจสั่งการข้ามกระทรวง สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ทันท่วงทีแล้ว ความร่วมมือของชาวบ้านที่ตระหนักถึงความสำคัญในมาตรการป้องกันไม่ว่า สวมหน้ากากอนามัย อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ฯลฯ ล้วนเป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่ช่วยเปลี่ยนทิศทางขาขึ้นของจำนวนผู้ป่วยในช่วงเดือนมีนาคมต่อเนื่องเมษายนด้วยเช่นกัน

ผลสำเร็จจากการรับมือการระบาของโควิด-19 เป็นทั้งจุดแข็งและจุดขายของประเทศไทย ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นโอกาสทองของไทยที่จะใช้ความได้เปรียบตรงนี้ชิงจังหวะออกจากวิกฤติโควิด และกระแสดังกล่าวได้เปลี่ยนทิศทางการจัดการการระบาด จากเดิมที่ดูเหมือนว่าจะเน้นกวาดล้างให้จำนวนผู้ติดเชื้อเหลือ “ศูนย์” เหมือนจีนมาเป็นสร้างสมดุลระหว่างสาธารณสุขกับเศรษฐกิจแทน

พล.อ. ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวสุนทรพจน์ผ่านวิดีโอคอนเฟนเรนซ์ต่อที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 75 ตอนหนึ่งว่า “หยุดโควิดแต่ไม่หยุดเศรษฐกิจไทย” ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข หมาดๆ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ในงานสัมมนาภายในของกระทรวงว่า การควบคุมโรคโควิด-19 ไม่ใช่ทำให้เกิดการติดเชื้อเป็น 0 หรือ zero infection การติดเชื้อในพื้นที่สามารถเกิดขึ้นได้ ให้ถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่อย่าให้เกิดการระบาด และการออกมาตรการต่างต้องคำนึงด้านสังคม เศรษฐกิจ และชุมชนควบคู่กันไปด้วยกัน

หนึ่งในมาตรการรักษาสมดุลระหว่างสาธารณสุขกับเศรษฐกิจที่รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนออกมา คือการเปิดช่องให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวไทย หลังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหงายหลังตึงเมื่อโลกล็อกดาวน์ พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา แถลงเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนว่า 9 เดือนแรกปีนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 6.55 แสนล้านบาท ลดลง 1.57 ล้านล้านบาทเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า หรือรายได้หายไป 70.57% เป็นการทำสถิติตกต่ำสูงสุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย

ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเริ่มมีกลุ่มนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางเข้ามาตามโปรแกรมวีซ่าพิเศษและอยู่ยาว โดยก่อนหน้านั้นรัฐบาลอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทูตหรือคนต่างชาติที่ทำงานในไทย รวมถึงผู้ป่วยที่เดินเข้ามารักษาตัวตามโปรแกรมกักตัวในโรงพยาบาลและ ศบค. กำลังพิจารณา แนวทางการกักในสปา หรือการกักตัวแบบมาตีกอลฟ์ ฯลฯ

การเปิดประเทศ ด้วยการใช้โปรแกรม “กักตัว” ที่ได้กล่าวถึงข้างต้นเป็นโครงการนำร่อง ด้านหนึ่งคือโอกาสที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาทำงานตามปกติ ซึ่งเป็นมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุด แต่การเปิดประเทศในขณะที่อีกหลายๆ ประเทศเริ่มกลับมาล็อกดาวน์อีกรอบถือว่าเป็นความเสี่ยงไม่น้อย จริงอยู่ในวิกฤติมีโอกาส แต่ในโอกาสย่อมมีวิกฤติอยู่ด้วยเช่นกัน