ThaiPublica > คอลัมน์ > สองปีวิกฤติโควิด แนวรบยังไม่เปลี่ยนแปลง

สองปีวิกฤติโควิด แนวรบยังไม่เปลี่ยนแปลง

31 ธันวาคม 2021


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

วิกฤติโควิดครบ 2 ปี ในวันที่ 3 มกราคม 2565 โดยนับจากวันแรกที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งด่านคัดกรองผู้เดินทางจากต่างประเทศในสนามบินหลัก เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2563 หลังมีรายงานพบผู้ป่วยปอดอักเสบจากเมืองอู่ฮั่น ก่อนที่องค์การอนามัยโลก จะเรียกโรคอุบัติใหม่นี้ว่า “โควิด-19” ในเวลาต่อมาไม่ถึงเดือนนับจากประเทศไทยนับหนึ่งมาตรการรับมือโควิด กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศพบการติดเชื้อ โควิด-19 ในประเทศครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 มกราคม ปีเดียวกัน

ฉากที่ตามมาต่อจากนั้นคือ จำนวนผู้ป่วยใหม่ค่อยๆขยับขึ้นๆ อย่างต่อเนื่อง และทำนิวไฮครั้งแรกเมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นไปที่ 118 คน ในวันที่ 22 มีนาคม 2563 อันเป็นผลพวงจากจากคลัสเตอร์ สนามมวยและผับทองหล่อครั้งที่หนึ่ง คลื่นระบาดระลอกแรก ได้ยกระดับความกังวลขึ้นทั้งประเทศ จนป่วนไปทั้งระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจ

อาการทางเศรษฐกิจเริ่มที่ “ตลาดหุ้น “ เป็นจุดแรกๆ นักลงทุนแห่เทขายหุ้น เมื่อรู้สึกว่าสถานการณ์เริ่มคาดเดายากขึ้น จนสร้างสถิติใหม่ๆให้กับตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายรายการ อาทิ วันที่ 12 มีนาคม 2563 ดัชนีตลาดหุ้น ลดลงต่ำในสุดในรอบเกือบ 8 ปี เมื่อการ ซื้อ-ขายระหว่างวัน ดัชนีดิ่งฮวบลงไป 154.32 จุด ลงไปอยู่ที่ 1,095.37 จุด ก่อนปิดตลาดที่ 1.114.91 จุด ต่อมาวันที่ 23 เดือนเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องหยุดการซื้อ-ขาย ชั่วคราวทั้ง 3 ครั้งเพื่อลดความร้อนแรงจากการ ถล่มขายของนักลงทุนที่ผวา โควิด-19 อย่างไม่ยั้งมือ

ขณะเดียวกัน บลจ.ทหารไทย ตัดสินใจปิด 2 กองทุนใหญ่ หลังนักลงทุนแห่ขายคืนเพราะไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น จนแบงก์ชาติต้อง ตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องและความเสี่ยงของตราสารหนี้ในภาคเอชน(บีเอสเอฟ) และพ.ร.ก.ห้นกู้ 4 แสนล้านบาท ออกมาเป็นหลังพิงให้ตลาดตราสารหนี้ที่ทำท่าจะเกิดโดมิโนจากสถานการณ์ในห้วงเวลานั้น

ด้านสาธารณสุข รัฐบาลตัดสินใจใช้มาตรการล็อกดาวน์ประเทศแบบเต็มรูปแบบ ก่อนวันสงการนต์ ( 2563 ) เพื่อควบคุมการระบาดแม้ยาแรงชุดนั้น ประสบความสำเร็จทางด้านสาธารณสุข สามารถชะลอการติดเชื้อโควิด-19 ลงได้ แต่ภาคเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก จีดีพี ไตรมาส 2 ปีนั้น ติดลบ 12.2 % ถดถอยสุดในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ เป็นรองแค่ไตรมาส 2 ปี 2540 ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งที่ จีดีพี ติดลบ 12.8 % เท่านั้น

การลดภาระค่าครองชีพชาวบ้าน ด้วยมาตรการ แจกเงิน ลด ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ ของรัฐบาลและการดำเนินมาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษของแบงก์ชาติ คณะกรรมการนโยบายการเงิน( กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 3 ครั้ง เริ่มจากเดือนกุมภาพันธ์ และลดลงต่ำสุดในประวัติศาสตร์แบงก์ชาติเหลือ 0.50 % ในเดือนพฤษภาคม 2563 ซึ่งเป็นอัตราที่กนง. ยืนมาจนถึงวันนี้ควบคู่ไปกับมาตรการพักหนี้

ความสำเร็จในการสกัดระบาดระลอกแรกไม่ให้ลุกลาม ทำให้ระบบสาธารณสุขไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ การคลายล็อกดาวน์ในเดือน พฤษภาคม การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน ในเดือนกันยายน (2563) พ่วงด้วย พ.ร.ก. เอสเอ็มอี 5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.หุ้นกู้ 4 แสนล้านบาท (ที่ไม่มีใครไปใช้บริการ) ล้วนเป็นปัจจัยให้ ศบค. มั่นใจว่าแนวโน้มการระบาดช่วงต่อไปคงไม่รุนแรงมากไปกว่านี้ ด้านรัฐบาลเองก็เริ่มขยับจะเปิดประเทศเพื่อเข้าสู่โหมดฟื้นฟู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ(รมว.) กระทรวงกลาโหมชูหลักคิดสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับสาธารณสุข ในการบริหารวิกฤติโควิด เช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุขที่หันมาเน้นแนวทางอยู่ร่วมกับโควิดแทน จัดการโควิดให้เหลือผู้ป่วยศูนย์รายดังเช่นที่ผ่านมา

แต่สถานการณ์ระบาดระลอกต่อมาไม่ได้เป็นไปตาม “ฉากทัศน์” ที่ ศบค.คิด หลังเกิดคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้งที่จังหวัดสุมทรสาคร ซึ่งเชื่อมโยงกับแรงงานผิดกฎหมายจากพม่าที่ทำงานในตลาดและแพร่เชื้อผ่านพ่อค้าแม่ค้าที่มาซื้อของในตลาด ก่อนลามตามเส้นทางค้ากุ้ง ระบาดไปทั่วประเทศ การระบาดระลอกนื้คือระลอกที่สอง

ประเทศไทยฉลองครบรอบ 1 ปี การมาของโควิด-19 ด้วยยอด ผู้ป่วยสะสมทะลุหลักหมื่นรายครั้งแรกในวันที่ 9 มกราคม 2564 แม้คลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้งเริ่มซาลงในเดือนเมษายน แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่ทันได้ย้ายโรงพยาบาลสนามออกจากพื้นที่ระบาด คลัสเตอร์ผับทองหล่อภาคสองก็อุบัติตามมาติดๆ คลัสเตอร์สถานบันเทิงรอบนี้ฉาวกว่าภาคแรกมาก เพราะเกี่ยวพันทั้งตำรวจใหญ่ นักการเมือง ที่ถูกขยายความเป็นเรื่องอภิสิทธิ์ชนที่ใช้ชีวิตสำราญโดยไม่ต้องยกการ์ดให้สูงเหมือนชาวบ้านทั่วไป การระบาดระลอกนี้หรือระลอก3 เริ่มต้นในวันที่ 1 เมษายน 2563 นับเป็นฝันร้ายที่สุดของคนไทย

เมื่อการระบาดระลอก 3 เริ่มขึ้น มีการพูดถึงไวรัสโควิดสายพันธุ์อัลฟาที่กำเนิดในอังกฤษ ซึ่งคาดว่าซึมเข้าไทยผ่านทางชายแดนกัมพูชา ก่อนที่โควิดอัลฟาสามรถยึดพื้นที่ระบาดส่วนใหญ่ในไทยไว้ได้ในช่วงสั้นๆ วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุข ออกมายืนยันเป็นทางการว่าพบการติดเชื้อโควิดเดลต้า (อินเดีย) ในประเทศรายแรกของไทย จากแรงงานในแคมป์ย่านหลักสี่

เพียงสองเดือนเศษหลังจากนั้น โควิดเดลต้ารุกยึดครองพื้นที่ระบาดในไทยได้อย่างเบ็ดเสร็จ กราฟจำนวนผู้ติดเชื้อ นับจากเดือนกรกฎาคม ถึง สิงหาคม พุ่งชันขึ้นๆทำนิวไฮซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยวันที่ 13 สิงหาคม จำนวนผู้ป่วยใหม่พุ่งขึ้นไปที่ 23,418 ราย ซึ่งเป็นสถิติผู้ป่วยใหม่รายวันสูงสุดนับแต่โควิดระบาดในไทยมาจนบัดนี้

ตอนนั้นระบบสาธารณสุขไทยเฉียดหายนะ มีคนรอเตียงจนตายที่บ้าน เป็นข่าวให้ชวนสลดได้อย่างต่อเนื่อง ยอดผู้เสียชีวิตทะลุสองหมื่นคนทุกโรงพยาบาลต้องเสริมห้องไอซียู นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขยอมรับในเวลานั้นว่าไม่สามารถเพิ่มเตียงได้อีก สถานการณ์เวลานั้นทั้งบีบคั้นและกดดันจิตใจคนไทย

รัฐบาลรับมือกับวิกฤติในช่วงเวลานั้น ด้วยการประกาศล็อกดาวน์แบบหลวมๆในเดือนกรกฎาคม แต่พล อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงกลาโหม ยืนยันว่าไม่ใช่ล็อกดาวน์ แต่เป็นการ “ควบคุมพื้นที่เป็นกลุ่มๆ” และไม่มีเคอร์ฟิว “แค่ลดเวลาลงบ้าง”? พร้อมเร่งระดมฉีดวัคซีนด้วยการประกาศวาระวัคซีนแห่งชาติ (7มิ.ย.64)โดยหวังว่าอย่างน้อยวัคซีนจะช่วย ลดอาการป่วยไม่ให้เจ็บหนักหรือทรุดลงจนเสียชีวิตได้ พร้อมประกาศเปิดประเทศใน 120 วัน และเรียกร้องให้ประชาชนป้องกันตัวเองขั้นสูงสุด

มาตรการดังกล่าวได้ผล ตัวเลขผู้ติดเชื้อผ่านจุดสูงสุดในช่วงปลายเดือนสิงหาคม และค่อยๆลดลงเช่นเดียวกับจำนวนผู้เสียชีวิตที่ลดลงในทิศทางเดียวกัน วันที่ 20 ธันวาคม 2564 จำนวนผู้ป่วยใหม่ลดลงเหลือเพียง 2,525 ราย ก่อนที่การระบาดระลอกสามจะปิดฉาก เมื่อกระทรวงสาธารณสุข ออกมายืนยันในวันเดียวกันว่า พบการติดเชื้อโอมิครอนในไทยคนแรกเป็นหญิงวัย 49 ปี ที่รับเชื้อมาจากสามีชาวโคลอมเบียวัย 62 ปี อีก 7 วันถัดมา ศบค. รายงานว่าประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโอมิครอนสะสม 514 ราย โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า อัตราการแพร่กระจายของโอมิครอน อยู่ที่ 8.54 สูงกว่าโควิดสายพันธุ์อื่นที่เคยอาละวาดในช่วงก่อนหน้านี้ทุกสายพันธ์ การระบาดระลอก 4 เริ่มต้นแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสและโรคระบาด ฟันธงว่าต้นปีหน้าโอมิครอน ไวรัสโควิดกลายพันธุ์สัญชาติแอฟริกาใต้จะยึดพื้นที่ระบาดในไทยจากเดลต้าได้อย่างเบ็ดเสร็จแน่นอน นพ.เกียรติภูมิ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงคาดการณ์สถานการณ์ระบาดของโอมิครอนในช่วงท้ายปีว่ามีฉากทัศน์อยู่ 3 แบบ

หนี่ง กรณีเลวร้ายสุดๆ คือไม่มีมาตรการประชาชนไม่ให้ความร่วมมือทำตัวตามสบายไม่ป้องกัน ไม่ระวัง เป็นไปได้ที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันจะทะลุขึ้นไปถึงระดับ 30,000 รายต่อวัน และยอดผู้เสียชีวิตอยู่ระหว่าง 170-180 คนต่อวัน

สอง กรณีปานกลางมีโอกาสติดเชื้อเพิ่มหลัง ปีใหม่ ตัวเลขอยู่ราว 15,000 -16,000 ราย ต่อวันและค่อยๆทรงตัวก่อนลดลงในที่สุด มีผู้เสียชีวิต 80-100

ฉีดวัคซีนให้ประชาชน โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ รังสิต ที่มาภาพ : เฟซบุ๊กโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์

สาม คือฉีดวึคซีนได้เร็วในทุกกลุ่ม ลดกิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมาก มีผู้ติดเชื้อหลักหมื่นต้นๆ สามารถควบคุมโรคได้ภายใน 1-2 เดือน มีผู้เสียชีวิตวันละ 70-80 คนต่อวัน แต่ต้องมีมาตรการค่อนข้างมาก ทั้งนี้ไม่ว่าการระบาดระลอก 4 ที่กำลังเริ่มต้นจะมีฉากทัศน์ออกมาแบบไหน จำนวนผู้ติดเชื้อก็ยังจะเพิ่มขึ้นจาก ณ ปัจจุบันนี้อยู่ดี

การมาของโอมิครอนตอกย้ำว่าโรคโควิด-19 ยังไม่เปลี่ยนเป็นโรคประจำถิ่นในเร็วๆนี้อย่างที่เคยเชื่อกันและคาดหวังว่า วิกฤติโควิดจะจบใน 2 ปีหลังเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ วัคซีนที่เริ่มฉีดเข็มแรกตั้งแต่ปลายปี 2563 ไม่ใช่ปัจจัยเบ็ดเสร็จที่จะพลิกเกมระบาดของ โควิด-19 ดังที่เคยฝากความหวังกันไว้ก่อนหน้านี้ และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2565 แม้หลายสำนักมั่นใจและยังไม่ปรับลดคาดการณ์จีดีพีที่ว่าจะขยายตัวประมาณ 4 % แต่มุมมองดังกล่าวยังคงถูกปกคลุมด้วยความไม่แน่นอน จากทิศทางวิกฤติโควิดที่ยากจะคาดเดาดังที่เคยเป็นตลอด 2 ปีที่ผ่านมา