ThaiPublica > คอลัมน์ > ลดพึ่งพาดอลลาร์ …นับหนึ่งสู่การเปลี่ยนแปลง

ลดพึ่งพาดอลลาร์ …นับหนึ่งสู่การเปลี่ยนแปลง

30 เมษายน 2023


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Global Taxes LLC

กระแสลดพึ่งดอลลาร์สหรัฐฯในฐานะสกุลเงินสำรองหลัก เพื่อการค้าขาย และชำระหนี้ของประเทศต่าง ๆ ปรากฎถี่ขี้น ๆ และขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ ล่าสุดในการประชุม รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนที่บาหลี ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกันที่จะใช้สกุลท้องถิ่นเพื่อลดการพึ่งพา ดอลลาร์สหรัฐฯ และ ยูโร

ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย เรียกร้องในที่ประชุมให้รัฐบาลต่าง ๆ ในอาเซียน เริ่มใช้บัตรเครดิตที่ออกโดยบรรดาธนาคารท้องถิ่น และค่อยๆ หยุดใช้ระบบการชำระเงินต่างประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมระบุว่าอาเซียนต้องตระหนักถึงมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯที่มีต่อรัสเซีย

ไล่เลี่ยกันนั้น อันวาร์ อิบราฮิม นายกฯมาเลเซีย ออกมาประกาศปัดฝุ่นแผน จัดตั้งกองทุนการเงินเอเชีย (Asian Monetary Fund) เพื่อลดพึ่งพา ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ตัวเองเคยผลักดันมาแล้วครั้งหนึ่ง สมัยเป็นรัฐมนตรีคลังในรัฐบาลดร.มหาเธร์ ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง (พ.ศ. 2540) ก่อนพับแผนเพราะสถานการณ์เวลานั้นยังไม่เอื้อ

แนวคิดลดพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐฯก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อรัสเซียหาทาง ฝ่าด่านมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ ยุโรป และพันธมิตรนำมาใช้เพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยมอสโกเจาะวงล้อม ด้วยการประกาศรับชำระค่าก๊าซเป็นเงินรูเบิลเท่านั้น เพราะมั่นใจว่าในฐานะผู้ค้าก๊าซรายใหญ่ในตลาดยุโรป มีอำนาจต่อรองในมือ มากพอที่จะทำให้ลูกค้าเหล่านั้นไม่กล้าปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว

ตามด้วยการเคลื่อนไหวผ่าน กลุ่ม BRICS หรือ บริกส์ กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจรวดเร็ว ซึ่งมีสมาชิก 5 ชาติ คือ รัสเซีย จีน อินเดีย บราซิล และแอฟริกาใต้ ด้วยการเชิญชวนให้ชาติสมาชิกใช้สกุลเงินท้องถิ่น ชำระหนี้ระหว่างกันแทนดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจูงใจด้วยข้อเสนอ ขายน้ำมัน ราคาพิเศษ ซึ่งราคาพุ่งทำนิไฮในช่วงเวลานั้น โดย อินเดีย เป็นชาติแรกๆที่โอเคกับข้อเสนอดังกล่าว พร้อม ๆ กันนั้นรัสเซียยังเชิญชวนให้ชาติในแอฟริกาค้าขายด้วยสกุลท้องถิ่นระหว่างกันอีกด้วย

ความพยายามลดอิทธิพลดอลลาร์สหรัฐฯ มีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อรัสเซียกับจีน จับมือกัน ซื้อ-ขายพลังงานโดยไม่ผ่านดอลลาร์สหรัฐ ฯ พร้อม ๆ กับที่จีนพยายามเพิ่มบทบาทหยวน โดยระหว่างร่วมประชุมสุดยอดกับผู้นำชาติอาหรับกับจีน ที่กรุงริยาด เมื่อปลายปีที่แล้ว ประธานาธิบดี สิ จิ้นผิง ของจีน ได้ออกมาเรียกร้องผู้นำชาติอาหรับว่า จีนต้องการจะซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติด้วยสกุลเงินหยวน ซึ่งสะท้อนเป้าหมายปักกิ่งที่ต้องการเพิ่มบทบาทของหยวน และ ลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมกันนั้นแบงก์ชาติจีน เริ่มทยอยลดน้ำหนัก ดอลลาร์สหรัฐฯและยูโรในตะกร้าเงินตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่ต่างจากการยืนยันว่า ปักกิ่งเอาจริงกับเรื่องนี้

นอกจากนี้จีนยังขยายบทบาทหยวนเข้าไปในลาตินอเมริกา โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ แบงก์ชาติจีน กับแบงก์ชาติอาร์เจนตินา ทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกันเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยข่าวรายงานว่า สัญญาดังกล่าวครอบคลุมเรื่องการแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อสนับสนุนทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ 130,000 ล้านหยวน (ราว 642,560 ล้านบาท) และการใช้เงิน 35,000 ล้านหยวน (ราว 173,000 ล้านบาท) เป็นกรณีพิเศษเพื่อชดเชยการดำเนินการในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา สื่อรายงานว่า รัฐบาลอาร์เจนตินาออกมาประกาศว่าในเดือนเมษายน อาร์เจนตินาตั้งเป้าที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่าประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ ในรูปของสกุลเงินหยวนแทนดอลลาร์ หลังจากนั้นจะซื้อสินค้านำเข้าจากจีนรายเดือนมูลค่าประมาณ 790 ล้านดอลลาร์ฯโดยจ่ายเป็นเงินหยวน

ไล่เลี่ยกัน ประธานาธิบดี ลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา แห่งบราซิล หนึ่งในห้าสมาชิกกลุ่ม บริกส์ เรียกร้องให้กลุ่มประเทศบริกส์ หาสกุลเงินใหม่เพื่อใช้แทนดอลลาร์สหรัฐ เมื่อทำการค้ากับประเทศอื่น การเคลื่อนไหวดังกล่าวล้วนสนับสนุนแนวคิด ลดพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐฯทั้งสิ้น

สำหรับประเทศไทย ‘อาคม เติมพิทยาไพสิฐ’ รัฐมนตรีคลังกล่าวกับสื่อก่อนนำมติจากที่ประชุมรัฐมนตรีคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่ผ่านมาว่า ร่างแถลงการณ์ฉบับนี้ครอบคลุมเรื่องสำคัญหลายเรื่อง รวมทั้งการส่งเสริมสกุลเงินท้องถิ่นให้มีการใช้แพร่หลายมากขึ้นในภูมิภาคอาเซียน

รัฐมนตรีคลังยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้เงินบาทมีบทบาทมากขึ้นในการใช้ซื้อ-ขายสินค้าบริเวณชายแดน ซึ่ง(คลัง)อยากจะผลักดันให้มีการใช้เงินบาทในการทำธุรกรรมกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคมากขึ้น และที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้มีการทดลองการใช้สกุลเงินท้องถิ่นร่วมกับบางประเทศ เช่น สิงคโปร์ ส่วนแบงก์ชาติ มีโครงการที่ทำร่วมกับอินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นและควรมีการส่งเสริมเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อทำให้การทำธุรกรรมระหว่างประเทศต่างๆ ในอาเซียนมีความสะดวกมากขึ้น

แนวคิดลดพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐฯ ที่กระจายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนในเวลานี้นั้น ส่วนหนึ่งถูกกระตุ้นจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ที่นำโดยสหรัฐฯและพันธมิตรโดยมีดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเครื่องมือ ซึ่งทำให้ชาติต่าง ๆ มองเห็นถึง ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต หากยังพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐฯเป็นหลักในการทำธุรกรรม

ท่ามกลางการเคลื่อนไหวดังกล่าวนั้นมี คำถามว่า หยวน มีโอกาสแค่ไหนที่จะผงาดขึ้นมาเทียบเคียงกับ ดอลลาร์สหรัฐฯที่ครองตำแหน่งเจ้าโลกเงินตรามาเกือบ 80 ปี

นักเศรษฐศาสตร์ในสหรัฐฯนายหนึ่งให้ความเห็นกับสื่อในประเด็นนี้ แบบฟันธงว่า ยาก โดยเขาให้เหตุผลว่า ปัจจุบันธุรกรรมในโลกมากกว่า 80 % ใช้ดอลลาร์สหรัฐฯเป็นตัวกลาง ขณะที่หยวนมีอยู่ราว 7 % เท่านั้น นอกจากนี้สหรัฐฯยังมีตลาดเงินที่ทั้งกว้าง ลึก และมีสภาพคล่องสูง และที่สำคัญ จีน คงไม่กล้าเปิดเสรีตลาดเงิน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเพิ่มบทบาทของ หยวน ในตลาดการเงินโลกทั้งสิ้น

กระแสลดพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐฯที่ปรากฎในหลายประเทศ ณ เวลานี้ กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าระบบเงินตราโลกอย่างช้าๆ